แง่ที่ ๑ ศิลปศาสตร์ มองโดยความสัมพันธ์ กับวิชาชีพและวิชาเฉพาะต่างๆ

15 สิงหาคม 2532
เป็นตอนที่ 4 จาก 10 ตอนของ

แง่ที่ ๑ ศิลปศาสตร์ มองโดยความสัมพันธ์
กับวิชาชีพและวิชาเฉพาะต่างๆ

ศิลปศาสตร์มีจุดหมายปลายทางเพื่อสร้างบัณฑิต

ก่อนอื่นขอให้ระลึกไว้ในใจว่า วิชาศิลปศาสตร์มีอะไรบ้าง ลองทบทวนกัน วิชาศิลปศาสตร์ ได้แก่วิชา วรรณคดี ศาสนา ภาษา ปรัชญา ประวัติศาสตร์ (อารยธรรม) ศิลปะ (ประณีตศิลป์) สังคมวิทยา การปกครอง (รัฐศาสตร์) เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย (นิติศาสตร์) จิตวิทยา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นต้น วิชาเหล่านี้มีจำนวนเกือบจะเท่ากับวิชาศิลปศาสตร์โบราณ ๑๘ ประการ

เบื้องแรกขอให้ดูความแตกต่าง โดยเปรียบเทียบระหว่างวิชาศิลปศาสตร์ กับวิชาเฉพาะและวิชาชีพว่า วิชาสองหมวดนี้ทำหน้าที่ต่างกันอย่างไร ตามที่เราให้การศึกษากันอยู่ในปัจจุบันนี้ พูดได้ว่าวิชาพื้นฐานเป็นวิชาที่สร้างบัณฑิต คนจะเป็นบัณฑิตหรือไม่อยู่ที่วิชาศิลปศาสตร์ ถ้าไม่มีศิลปศาสตร์เป็นพื้นฐานแล้ว จะไม่สามารถสร้างความเป็นบัณฑิตได้

ถ้าอย่างนั้น วิชาชีพและวิชาเฉพาะอื่นๆ มีไว้สำหรับทำอะไร ในเมื่อวิชาศิลปศาสตร์เป็นวิชาสำหรับสร้างบัณฑิตแล้ว หน้าที่ของวิชาชีพและวิชาเฉพาะอื่นๆ นั้น ก็คือ เป็นวิชาสำหรับสร้างเครื่องมือหรืออุปกรณ์ให้แก่บัณฑิต หมายความว่า เราจะต้องทำคนให้เป็นบัณฑิต แล้วเราก็ให้เครื่องมือหรืออุปกรณ์แก่บัณฑิต สำหรับเอาไปใช้ทำงานหรือทำประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของวิชา หรือกิจกรรมนั้นๆ วิชาการสองพวกนี้จึงมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน วิชาชีพและวิชาเฉพาะต่างๆ นั้นเป็นอุปกรณ์ หรือเครื่องมือสำหรับบัณฑิตจะไปใช้ทำงาน

ตอนแรกนั้นเรายังไม่มีบัณฑิต เราจะต้องสร้างคนให้เป็นบัณฑิตขึ้นมาก่อน บัณฑิตนั้นหมายถึงคนมีสติปัญญา มีคุณธรรม และความดีงามอื่นๆ พร้อมอยู่ในตัว กล่าวคือมีสติปัญญาที่ได้พัฒนาแล้ว มีคุณธรรม มีจริยธรรมที่ได้พัฒนาแล้ว คนที่ได้พัฒนาแล้วเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เรียกว่าเป็นบัณฑิต แม้ถึงคนที่พัฒนาจวนจะสมบูรณ์ หรืออยู่ในระหว่างพัฒนาเพื่อเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ก็อนุโลมเรียกว่าบัณฑิตได้ บัณฑิตนี้มีความเป็นมนุษย์ มีคุณธรรม มีสติปัญญา ที่จะไปดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง ที่จะไปทำหน้าที่ของตนเองต่อชีวิตของตน ต่อสังคม และต่อโลก แปลอย่างสั้นว่า บัณฑิตคือผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา

แต่บัณฑิตนั้นจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่จะไปทำงาน คือจะต้องใช้วิชาชีพหรือวิชาเฉพาะต่างๆ ที่เรียกว่าวิชาชำนาญพิเศษเป็นเครื่องมือ จะเห็นว่า วิชาชีพและวิชาเฉพาะต่างๆ นี้เป็นเครื่องมือจริงๆ มันไม่ได้ให้อะไรมากมาย ให้แต่ความถนัดจัดเจนเฉพาะด้าน เพราะเป็นอุปกรณ์ หรือเป็นเครื่องมือเฉพาะ

ถ้าเราไม่สร้างคนให้เป็นบัณฑิต เราให้เพียงอุปกรณ์หรือเครื่องมือ เขาก็อาจใช้อุปกรณ์ไปในทางที่ผิดพลาด หรือเลวร้าย ทำการที่ก่อผลร้าย เป็นโทษแก่สังคมและแก่เพื่อนมนุษย์ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่สามารถสร้างคนให้เป็นบัณฑิต เราอาจให้การศึกษาไปโดยกลายเป็นอย่างที่คนโบราณกล่าวว่า “ยื่นดาบให้แก่โจร” ซึ่งหมายความว่า วิชาการต่างๆ ที่เป็นวิชาชีพและวิชาเฉพาะนั้น มีอุปมาเสมือนเป็นดาบ หรือจะเป็นอุปกรณ์อื่นก็ได้ ซึ่งเมื่อให้ไปแล้วอาจจะนำไปใช้ในทางที่ดีหรือเลวก็ได้ ดังนั้น ในการให้การศึกษาแก่ผู้เข้าเรียน เราจะต้องสร้าง ๒ อย่าง คือ

๑. สร้างความเป็นบัณฑิต

๒. สร้างอุปกรณ์ หรือเครื่องมือให้บัณฑิตไปใช้ทำประโยชน์

วิชาการที่จะสร้างความเป็นบัณฑิตก็คือ วิชาพื้นฐาน ได้แก่วิชาประเภทศิลปศาสตร์นี้ ขอให้ไปวิเคราะห์ดูเอาเองว่าจริงหรือไม่

ศิลปศาสตร์ หรือวิชาพื้นฐาน เป็นวิชาที่สร้างบัณฑิต โดยพัฒนาคนให้มีความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ส่วนวิชาการอื่นๆ จำพวกวิชาเฉพาะและวิชาชีพเป็นวิชาการที่สร้างเครื่องมือ หรือสร้างอุปกรณ์ให้แก่บัณฑิต เพื่อผู้ที่เป็นบัณฑิตนั้น จะได้ใช้ความเป็นบัณฑิตของตนทำการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นแก่ชีวิต และสังคมได้อย่างแท้จริง หรือมีความสามารถ และมีประสิทธิภาพในการที่จะทำงานที่ตนประสงค์ให้ได้ผลดีโดยสมบูรณ์

วิชาศิลปศาสตร์จึงเป็นวิชาที่ทำคนให้เป็นคน ทำให้มีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ เป็นผู้มีความสามารถ และมีความพร้อมที่จะไปดำเนินชีวิตที่ดี รู้จักใช้วิชาชีพ และวิชาชำนาญเฉพาะด้าน ในทางที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง

อนึ่ง วิชาศิลปศาสตร์แต่ละอย่างนั้น นอกจากเป็นวิชาพื้นฐานแล้ว ยังอาจเลือกเอามาศึกษาเป็นวิชาเฉพาะ หรือเป็นวิชาชีพได้ด้วย โดยศึกษาให้มีชำนาญพิเศษจำเพาะในวิชานั้นๆ ในกรณีที่เลือกแยกออกมาศึกษาเพื่อความชำนาญพิเศษ หรือเพื่อเป็นวิชาชีพอย่างนั้น ก็จัดเข้าในจำพวกวิชาที่เป็นอุปกรณ์สำหรับบัณฑิตจะนำไปใช้ดำรงชีวิตและสร้างสรรค์ทำประโยชน์ด้วยเช่นกัน

ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นการพูดถึงจุดหมายปลายทางระยะยาวจนถึงจบการศึกษา ซึ่งเมื่อเรียนจบอุดมศึกษาแล้วก็เป็นบัณฑิต ดังที่กล่าวแล้วว่าเป็นบัณฑิตก็ด้วยศิลปศาสตร์โดยมีวิชาชีพและวิชาเฉพาะเป็นอุปกรณ์

ศิลปศาสตร์มีจุดหมายในระหว่างเพื่อสร้างนักศึกษา

อย่างไรก็ตาม วิชาศิลปศาสตร์ในฐานะที่เป็นวิชาพื้นฐานนั้น มิใช่จะทำหน้าที่สร้างสรรค์บัณฑิตเมื่อจบการศึกษาตลอดกระบวนการพัฒนาบุคคลแล้วเท่านั้น แม้ในระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ วิชาศิลปศาสตร์ก็ทำหน้าที่อย่างสำคัญตลอดกระบวนการศึกษานั้นด้วย

ในระหว่างกระบวนการศึกษา ก่อนที่จะจบเป็นบัณฑิตนี้เราเป็นอะไร? เราเป็นนักศึกษา อยู่ในกระบวนการเรียนการสอน หรือกระบวนการพัฒนา ในระหว่างนี้ วิชาการประเภทไหนสร้างความเป็นนักศึกษา? วิชาจำพวกศิลปศาสตร์นี้แหละ เป็นวิชาที่สร้างความเป็นนักศึกษา

ความเป็นนักศึกษาก็คือความเป็นบุคคลผู้พร้อมที่จะไปเล่าเรียนวิชาการต่างๆ และมีท่าทีที่ถูกต้องในการเล่าเรียนวิชาการเหล่านั้น เมื่อผู้เรียนมีความเป็นนักศึกษาแล้ว เขาจึงเป็นผู้พร้อมที่จะศึกษาเล่าเรียนวิชาการทั้งหลาย เช่น วิชาชีพ และวิชาเฉพาะทั้งหลายอย่างถูกต้องและได้ผลดี การเป็นผู้พร้อมที่จะเรียน และมีท่าทีที่ถูกต้องในการเรียนนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก และมีความหมายกว้างทีเดียว

ในบรรดาองค์ประกอบต่างๆ ที่จะทำให้ผู้เรียนเป็นนักศึกษา คือเป็นผู้พร้อมและมีท่าทีที่ถูกต้องในการเรียนนั้น สิ่งสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ก็คือ ความมีแรงจูงใจที่ถูกต้องในการศึกษาเล่าเรียน เป็นธรรมดาว่า คนเราจะต้องมีแรงจูงใจก่อนที่จะศึกษาเล่าเรียน แรงจูงใจ ในการศึกษาเล่าเรียนมี ๒ ประเภท คือ

ประเภทที่ ๑ คือ ความอยากได้ผลประโยชน์ และสถานะทางสังคม โดยอาศัยการศึกษาเล่าเรียนนั้นเป็นทางผ่าน หรือเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การมีอาชีพ รายได้ และผลประโยชน์ตอบแทนต่างๆ

ประเภทที่ ๒ คือ ความใฝ่รู้ความรักวิชาการนั้นๆ อยากจะรู้มีความสนใจใฝ่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อยากรู้ความจริงของวิชาการนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร และอยากทำให้ผลดีเกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์ของวิชาการนั้นๆ

ตัวอย่างเช่น คนที่จะเป็นครู เรียนครูเพื่ออะไร ถ้าเรียนด้วยแรงจูงใจประเภทที่ ๑ ก็คือ เรียนเพื่อจะได้มีงานทำ มีรายได้ อยากได้ยศได้ตำแหน่ง ส่วนแรงจูงใจประเภทที่ ๒ คือ รักความเป็นครู รักวิชาและรักการทำหน้าที่ของครู อยากจะฝึกอบรมสอนเด็กให้เป็นคนดีมีความรู้อยากจะรู้วิชาการต่างๆ ที่จะไปสอน และรักที่จะให้ความรู้แก่ผู้อื่น

การที่จะศึกษาเล่าเรียนอย่างถูกต้อง จะต้องมีแรงจูงใจที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ตรงไปตรงมาตามธรรมชาติ มุ่งไปยังผลโดยตรงของสิ่งที่เราจะทำ แรงจูงใจที่ถูกต้องตรงตามธรรมชาติ สำหรับการศึกษาเล่าเรียนนั้นก็คือ ความใฝ่รู้ความรักวิชาการนั้นๆ ที่เราจะไปศึกษา

การสอนวิชาพื้นฐานนั้นมีความประสงค์อย่างหนึ่งคือ เพื่อสร้างความเป็นผู้พร้อมที่จะศึกษาเล่าเรียน และมีท่าทีที่ถูกต้องต่อการศึกษาเล่าเรียน คือ ทำให้ผู้เรียนมีความใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา รักวิชาการ นอกจากนี้จะต้องเตรียมให้เขาเป็นคนที่เรียนเป็น จึงจะได้ความรู้จริง การที่จะเรียนเป็นก็ต้องรู้จักคิดเป็น ค้นคว้าเป็น คือต้องเป็นคนใฝ่รู้ชอบค้นคว้า และต้องรู้วิธีค้นคว้า จึงต้องเตรียมสิ่งเหล่านี้เพื่อให้เขาเป็นคนที่เรียกได้ว่า เป็นผู้พร้อมที่จะศึกษาเล่าเรียน

วิชาศิลปศาสตร์นั้นเป็นวิชาการสำหรับสร้างคนให้เป็นนักศึกษา คือ ให้เป็นผู้มีความพร้อมและมีท่าทีที่ถูกต้องในการที่จะศึกษาเล่าเรียน เมื่อเขามีความพร้อมและมีท่าทีที่ถูกต้องแล้ว เขาก็จะสามารถไปเล่าเรียนวิชาชีพและวิชาเฉพาะต่างๆ อย่างได้ผลดี และเล่าเรียนได้อย่างถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ เพื่อเขาจะได้ไปพัฒนาชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ตนเองและแก่สังคม ให้เกิดประโยชน์สุขที่แท้จริง ตามความมุ่งหมายของวิชาชีพและวิชาเฉพาะนั้นๆ มิใช่เล่าเรียนเพียงเพื่อหาผลประโยชน์อย่างเดียวในทางที่เห็นแก่ตัว ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ในทางที่ผิดพลาด

รวมความที่เป็นสาระสำคัญในตอนนี้ว่า วิชาศิลปศาสตร์นั้นเป็นวิชาที่ ถ้ามองในแง่จุดหมายระยะยาว ก็เป็นวิชาสำหรับสร้างความเป็นบัณฑิต หรือถ้ามองช่วงสั้นในระหว่างกระบวนการ ก็เป็นวิชาสำหรับสร้างความเป็นนักศึกษา ส่วนวิชาชีพและวิชาเฉพาะต่างๆ นั้น ก็เป็นวิชาสำหรับสร้างอุปกรณ์ให้แก่บัณฑิต และเป็นสิ่งที่นักศึกษาผู้มีความพร้อมและมีท่าทีที่ถูกต้องแล้วนั้นจะมาศึกษาเล่าเรียน

พูดย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ศิลปศาสตร์หรือวิชาพื้นฐาน

ก) มีจุดหมายในระหว่าง เพื่อสร้างนักศึกษา คือ ผู้มีความพร้อมและมีท่าทีที่ถูกต้องในการพัฒนาตน และในการเล่าเรียนฝึกฝนวิชาชีพและวิชาเฉพาะทั้งหลาย

ข) มีจุดหมายปลายทาง เพื่อสร้างบัณฑิต คือผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญาที่จะนำวิชาชีพและวิชาเฉพาะนั้นๆ ไปใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคม

องค์ประกอบ ๓ ประการของความเป็นบัณฑิต

บัณฑิตหรือมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งสร้างขึ้นด้วยการศึกษาตามหลักแห่งวิชาศิลปศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานนั้น จะมีคุณสมบัติสำคัญ ๓ ประการดังต่อไปนี้

๑. เป็นผู้มีปัญญา รู้สัจจธรรม สอดคล้องกับจุดหมายอันดับแรกของการศึกษา กล่าวคือ การที่เราเล่าเรียนศึกษาสิ่งต่างๆ ก็เพื่อที่จะเข้าถึงความจริงของสิ่งนั้นๆ

๒. เมื่อรู้สัจจธรรมด้วยปัญญาแล้ว ก็ปฏิบัติต่อชีวิตและสังคมได้ถูกต้อง โดยใช้ปัญญาที่รู้สัจจธรรมนั้นมาดำเนินชีวิตของตนเอง และปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย ให้เกิดผลเกื้อกูลไร้โทษ การดำเนินชีวิตและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องนี้ เรียกว่าเป็นจริยธรรม พูดง่ายๆ คือเมื่อปฏิบัติถูกต้องตามสัจจธรรมให้เกิดผลดี ก็เรียกว่าเป็นจริยธรรม

๓. เมื่อดำเนินชีวิตและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง คือทำตามหลักจริยธรรมแล้ว ก็แก้ปัญหาได้สำเร็จ ถึงจุดหมาย เป็นบุคคลที่สามารถแก้ปัญหาและป้องกันปัญหาได้ พ้นทุกข์ พบความสุข และบรรลุอิสรภาพ

เท่าที่กล่าวมา จะเห็นว่า วิชาศิลปศาสตร์ในความหมายที่ถูกต้องอย่างนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายๆ มันเป็นวิชาพื้นฐานในฐานะที่รองรับวิชาการอื่นๆ ไว้ให้มีความหมายและมีผลที่แท้จริง ฉะนั้น ในการสอนวิชาศิลปศาสตร์หรือวิชาพื้นฐานนี้ จึงมีคติอย่างหนึ่งซึ่งคู่เคียงกับการสอนวิชาเฉพาะว่า “สอนวิชาชีพวิชาเฉพาะให้ใช้ผู้เชี่ยวชาญ แต่จะสอนวิชาพื้นฐานต้องใช้นักปราชญ์”

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๒ การศึกษาศิลปศาสตร์แง่ที่ ๒ ศิลปศาสตร์ มองโดยความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่มนุษย์เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยดี >>

No Comments

Comments are closed.