แง่ที่ ๔ ศิลปศาสตร์ มองในแง่เทศะ

15 สิงหาคม 2532
เป็นตอนที่ 7 จาก 10 ตอนของ

แง่ที่ ๔ ศิลปศาสตร์ มองในแง่เทศะ

รู้เขา รู้เรา คืออย่างไร?

การมองในแง่เทศะ คือ พิจารณาเรื่องราวนั้นๆ โดยสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ที่ตั้ง หรือแหล่งแห่งที่ เช่น มองว่าภายในหรือภายนอก มองในแง่สังคมไทยกับสังคมต่างประเทศ หรือมองในแง่ว่าเป็นวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมอื่น

การศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ จะต้องให้เกิดความรู้ความเข้าใจในแง่มุมเหล่านี้ จะต้องให้รู้จักตนเอง รู้จักสังคมของตนเอง รู้จักวัฒนธรรมของตนเอง ว่าเป็นมาสืบต่ออย่างไร อยู่ในสภาพอย่างไร และรู้จักวัฒนธรรมอื่น รู้จักสังคมอื่นว่าเขาเป็นมาอย่างไร ขณะนี้มีสภาพเป็นอย่างไร

การศึกษาศิลปศาสตร์จะต้องให้ได้ประโยชน์ ในทางที่จะสร้างสรรค์สังคมที่ตนอยู่ร่วม และมีส่วนรับผิดชอบ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มีการหลั่งไหลของวัฒนธรรมตะวันตกมาก จะต้องมีความรู้เท่าทันเกี่ยวกับความเป็นมา เป็นไป ตลอดจนสภาพที่เป็นอยู่ รวมทั้งจุดอ่อนจุดแข็ง ข้อดีข้อเสีย ข้อเด่นข้อด้อยของวัฒนธรรมเหล่านั้น ยิ่งในปัจจุบันนี้วัฒนธรรมไทยถูกทอดทิ้ง ละเลย เพิกเฉย เราก็ยิ่งจะต้องใช้สติปัญญาศึกษาให้มาก

ในขั้นของการมองในแง่เทศะนี้ การมองในแง่ก่อนๆ จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ คือพิจารณาองค์ประกอบทั้งสามของการดำรงอยู่ด้วยดีด้วย และพิจารณาสืบสาวเหตุปัจจัยโดยสัมพันธ์กับกาลเวลาและยุคสมัย ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตด้วย เพื่อให้รู้เข้าใจเทศะ คือ ถิ่นฐาน ชุมชน สังคม ตลอดจนวัฒนธรรมนั้นๆ อย่างถูกต้องชัดเจน

เราต้องรู้จักตนเอง ซึ่งหมายถึงว่าต้องรู้จักวัฒนธรรมของตัวเอง โดยเฉพาะในแง่ที่ว่าอะไรเป็นคุณค่าแท้จริง อะไรเป็นสิ่งที่ควรปรับเปลี่ยนแก้ไข ควรทิ้ง หรือควรเสริมเพิ่มขึ้นมา

ในแง่ของวัฒนธรรมอื่น ก็ต้องรู้จักว่าที่เขาเจริญนั้นเป็นอย่างไร แยกแยะวิเคราะห์ออกดูว่า ส่วนไหนแน่ที่เป็นความเจริญ กันส่วนอื่นที่ไม่เป็นความเจริญออกไป อะไรเป็นความเสื่อม ท่ามกลางภาพของความเจริญนั้น และสืบค้นว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยของความเจริญ อะไรเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อมนั้นๆ ของเขา

ไม่ใช่เห็นวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา เมื่อยอมรับกันหรือนิยมกันแล้วว่า อันนี้เป็นวัฒนธรรมของประเทศที่เจริญแล้ว ก็ต้องว่าดีและรับเอาไปเสียหมด ซึ่งจะกลายเป็นว่าไม่ได้ใช้สติปัญญากันเลย ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อนิยมกันว่าสังคมอเมริกันปัจจุบันเป็นสังคมที่เจริญสูงพัฒนามาก ก็ต้องมองดูว่าที่ว่าเจริญนั้นเขาเจริญในส่วนไหน และส่วนนั้นเจริญมาได้อย่างไร และถ้าจะค้นหาว่าอเมริกาเจริญมาได้อย่างไร ก็ต้องมองย้อนไปในอดีต ไม่ใช่มองเดี๋ยวนี้ ถ้าใครมองว่าอเมริกาเจริญแล้ว ไปคว้าเอาสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้มาทำตามโดยไม่ได้เลือกเฟ้นให้ดี อาจจะต้องผิดหวังและกลายเป็นการสร้างโทษก่อผลร้ายให้แก่สังคมของตนเอง

ถ้าจะเอาตัวอย่างจากเขามาถือตาม จะต้องพิจารณากลั่นกรอง เริ่มต้นดูว่าส่วนไหนเป็นคุณส่วนไหนเป็นโทษ ที่ว่าเจริญนั้น ส่วนไหนแน่ที่เป็นความเจริญและส่วนนั้นเกิดจากเหตุปัจจัยอะไรในอดีต และส่วนไหนในปัจจุบัน จะนำอเมริกาไปสู่ความเสื่อมความพินาศในอนาคต เราแยกได้หรือเปล่า

ถ้าไม่รู้จักแยก อะไรมาจากประเทศเจริญก็รับหมดด้วยความตื่นเต้น อย่างนี้เรียกว่าไม่ใช้สติปัญญา โดยเฉพาะไม่ใช่ผู้ที่ชื่อว่าได้ศึกษาศิลปศาสตร์

จะรู้เขาจริง ต้องรู้ถึงเหตุปัจจัย

นักศึกษาศิลปศาสตร์นั้น ไม่มองเฉพาะสิ่งปัจจุบันที่จะนำไปสู่ผลในอนาคต แต่มองด้วยว่าสิ่งที่เป็นผลในปัจจุบันมีเหตุปัจจัยอะไรมาจากอดีต

ทำไมอเมริกามีผลปรากฏที่เราเรียกว่าความเจริญ ก็ต้องไปสืบค้นดูในอดีต ซึ่งจะทำให้ต้องหยั่งลงไปถึงการศึกษาประวัติความเป็นมาของสังคมอเมริกัน ว่าทำไมอเมริกาจึงเจริญขึ้นมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม ถ้ามองดูเฉพาะปัจจุบันจะปะปนพร่าไป เพราะสังคมอเมริกันปัจจุบัน กลายเป็นสังคมบริโภคไปแล้ว

คนที่จะทำสังคมของตนให้เป็นสังคมอุตสาหกรรมได้นั้น จะต้องมีนิสัยผลิต ความเป็นนักผลิตนี้ เกิดขึ้นในอเมริกามานานมากแล้ว ถ้าจะดูอเมริกาในแง่นี้ จะต้องมองถอยหลังไป ๗๐-๘๐ ปี หรือร้อยกว่าปี และถ้าจะมองให้ชัดยิ่งขึ้น ก็ต้องย้อนไปถึงบรรพบุรุษของคนอเมริกันในยุโรป เช่น ในอังกฤษ มองย้อนอดีตตลอด ๒๐๐ ปี รวมความว่าจะต้องพิจารณา ๒ ขั้น

ขั้นที่ ๑ ความเจริญแบบสังคมอุตสาหกรรมอย่างอเมริกันนั้น เราควรจะรับเอาจริงหรือไม่ มันดีแน่หรือเปล่า มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง

ขั้นที่ ๒ ถ้ามันดีเราจะเอา หรือแม้จะเสียบ้างแต่จะต้องเอา ก็ต้องเลือกให้ได้ส่วนดี

แล้วก็ต้องศึกษาสังคมของอเมริกา ตลอดเวลา ๗๐-๘๐ ปี หรือ ร้อยกว่าปีมาแล้ว เอารากฐานเก่ามาวิเคราะห์ว่า อะไรทำให้เขาเจริญด้วยอุตสาหกรรม ไม่ใช่ไปเอาสภาพแบบนักบริโภคปัจจุบันมาใช้ ซึ่งที่จริงเป็นตัวสลายอุตสาหกรรม

พร้อมกันนั้น อะไรที่เป็นส่วนเสีย อะไรที่เป็นบทเรียนจากเขา ก็ต้องศึกษาเพื่อป้องกันไม่ให้เราต้องเดินซ้ำรอยความผิดพลาดของเขานั้น

สำหรับประเทศที่เขามีวัฒนธรรมของตัวเอง สืบทอดกันมาจากอดีตนั้น ในปัจจุบันเขาอาจจะมีสิ่งที่เป็นภาพปรากฏในด้านอื่น ที่ต่างจากวัฒนธรรมซึ่งสืบมาแต่เดิมบ้างก็ได้ แต่สิ่งที่เขาสะสมปลูกฝังมาแต่เดิมยังไม่หมดไป ซึ่งจะต้องแยกให้ดี ดังเช่น ความเป็นนักบริโภคในปัจจุบันกับการเป็นผู้ผลิตที่สืบมาจากอดีต

ปัจจุบันนี้ สังคมอเมริกันเขาเรียกว่าเป็นสังคมที่ฟุ่มเฟือย แต่ความเป็นผู้ฟุ่มเฟือยนั้น เป็นสภาพการเสวยผลของสิ่งที่สร้างสรรค์สะสมสืบมาแต่อดีต เมื่อมองลึกลงไปเบื้องหลัง ก็จะเห็นนิสัยแห่งความเป็นนักผลิต ซึ่งสะสมกันมานานแล้ว เป็นเหตุจากอดีต รวมทั้งการสั่งสมนิสัยรักงาน ความใฝ่รู้ ความประหยัด เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ต้องสร้างมาแต่อดีตในระยะเวลายาวนาน และยังคงเหลือเร้นอยู่ มิได้หายหมดไป

ที่ว่ารู้เขา รู้เรานั้น รู้ไปเพื่ออะไร?

การวิเคราะห์อย่างที่กล่าวมานี้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการรู้จักตนและรู้จักผู้อื่นอย่างแท้จริงนั้น เป็นทั้งความหมายของวิชาศิลปศาสตร์ และเป็นจุดมุ่งหมายของการศึกษาศิลปศาสตร์ ขอให้สำรวจตรวจสอบวิชาศิลปศาสตร์ดู จะเห็นว่าประกอบด้วยวิชาการที่มีเนื้อหาสาระทำนองนี้ นี่คือการมองในแง่เทศะ หากทำได้ตามนี้แล้วเราก็จะ

๑. ไม่หลงตนเอง แต่ก็ไม่ลืมตนเอง (ลืมในแง่ว่าละเลยทอดทิ้ง) คนจำนวนมาก ไม่รู้จักวัฒนธรรมของตัวเอง ไม่เข้าใจความเป็นมาเป็นไป และความหมายที่แท้จริง พวกหนึ่งก็สละละทิ้งเลย ส่วนอีกพวกหนึ่งก็ยึดมั่นหลงใหลตัวเองว่า ถ้าเป็นไทยละก็จะต้องดีทั้งนั้น จะเอาแต่ศรัทธา คือ เชื่อว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วยึดมั่นกันไป เป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง จะต้องศึกษาวิเคราะห์ให้เห็นด้วยปัญญาว่าส่วนใดดีส่วนใดไม่ดี และมีเหตุปัจจัยเป็นอย่างไร

๒. ไม่หลงใหลตื่นตามผู้อื่น แต่ก็ไม่ใช่ปฏิเสธไปหมด นี่ก็เช่นเดียวกัน ต้องรู้จักเขาตามที่เป็นจริง ไม่ยึดมั่นยืนทื่อ แต่ก็ไม่เลียนแบบตื่นตามอย่างไร้สติปัญญา

ปัญหาของเราปัจจุบันนี้ก็คือ พวกหนึ่งยึดมั่นยืนทื่ออยู่ ส่วนอีกพวกหนึ่งก็เลียนแบบเขาดุ่ยไป ทั้งสองอย่างนี้กลายเป็นปัญหาของสังคมไทย เราควรศึกษากันจริงๆ และศึกษาความเป็นจริง เมื่อได้ศึกษาเรื่องของเราแล้ว เห็นส่วนใดดีที่ตนมีก็มีความมั่นใจในตนเอง

ปัจจุบันนี้เรากำลังพูดกันมากถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น พูดกันว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นกำลังสูญสลาย แล้วเราก็บอกกันว่าเราจะต้องฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้น อันนี้ก็เป็นนิมิตดีอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาโดยใช้สติปัญญาอย่างถูกต้อง ถ้าเราเห็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถูกต้องแท้จริง เห็นประโยชน์เห็นคุณค่า แล้วเราก็มีความมั่นใจในตัวเอง และเกิดความชัดเจนกับตนเองว่าควรจะทำอะไรอย่างไร ในเวลาเดียวกัน เราก็สามารถที่จะศึกษาสังคมอื่น และวัฒนธรรมอื่น โดยแยกแยะเลือกรับเอาส่วนที่ดีจากภายนอกมาเสริมให้กับตนเองและปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ การรู้จักเลือกรับจากภายนอก ก็จะมาประสานกับการรู้จักสืบทอดของดีในภายใน ทำให้เกิดประโยชน์ที่เป็นคุณค่าที่แท้จริงแก่สังคม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< แง่ที่ ๓ ศิลปศาสตร์ มองโดยสัมพันธ์กับกาลเวลา ยุคสมัย และความเปลี่ยนแปลงแง่ที่ ๕ ศิลปศาสตร์ มองในแง่การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ >>

No Comments

Comments are closed.