๑. จุดหมายของการพัฒนาคนและสังคม

24 กรกฎาคม 2540
เป็นตอนที่ 2 จาก 14 ตอนของ

๑. จุดหมายของการพัฒนาคนและสังคม

ชีวิตจะดีงามมีความสุข ประเทศชาติจะรุ่งเรืองมั่นคง และสังคมจะร่มเย็นเกษมศานต์ ด้วยปัจจัยสำคัญที่สุด คือ การพัฒนาคน ซึ่งจะทำให้คนเป็นคนดีมีความสุข และเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ การพัฒนาคนก็คือการศึกษา

คนที่มีการศึกษา ตลอดจนจบการศึกษาแล้ว เรียกว่า “บัณฑิต” ในประเพณีไทยโบราณเรียกคนที่บวชเรียนแล้วว่าเป็น “ฑิต” (ตามปกตินิยมเขียนเป็นคำชาวบ้านว่า “ทิด”) ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นคำกร่อนของ “บัณฑิต” ปัจจุบันเรียกคนที่ศึกษาจบปริญญาตรีแล้วว่า เป็น “บัณฑิต” เมื่อว่าโดยเนื้อหาสาระ บัณฑิต ก็คือคนที่ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท พัฒนาชีวิตของตนจนลุถึงประโยชน์ที่เป็นจุดหมายของชีวิต

ขอให้พิจารณาพุทธพจน์ต่อไปนี้

“บุคคลผู้ไม่ประมาท เข้าถึงจุดหมายทั้งสอง คือจุดหมายในเรื่องที่ตาเห็น และจุดหมายที่เลยตาเห็น ชื่อว่าเป็นบัณฑิต, บุคคลนั้นเรียกว่าเป็นบัณฑิต เพราะบรรลุประโยชน์ที่เป็นจุดหมาย”

(สํ.ส.๑๕/๓๘๐/๑๒๖)

“ดูกรภิกษุ ในสัตวโลกนี้ บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนตน ย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย, ย่อมคิดการที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน ย่อมคิดการที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น ย่อมคิดการที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ทั้งสองฝ่าย ย่อมคิดการที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกทั้งหมดทีเดียว; ดูกรภิกษุ ด้วยเหตุผลอย่างนี้แล บุคคลจึงชื่อว่าเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก”

(องฺ.จตุกฺก.๒๑/๑๘๖/๒๔๓)

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติ ทั้งเพื่อประโยชน์ตน และเพื่อประโยชน์ผู้อื่น กล่าวคือ ภิกษุ

  1. ทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยพฤติกรรมดี (ศีล) ด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นในการทำพฤติกรรมดี (ศีล) ให้ถึงพร้อม,
  2. ทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจิตที่ฝึกดี (สมาธิ) ด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นในการทำภาวะจิตที่ฝึกดี (สมาธิ) ให้ถึงพร้อม,
  3. ทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นใน การทำปัญญาให้ถึงพร้อม,
  4. ทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความมีจิตใจเป็นอิสระ (วิมุตติ) ด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นในการทำความมีจิตใจเป็นอิสระ (วิมุตติ) ให้ถึงพร้อม,
  5. ทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความหยั่งรู้หยั่งเห็นในวิมุตติด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นในการทำวิมุตติให้ถึงพร้อม;

ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น”

(องฺ.ปญฺจก.๒๒/๒๐/๑๕)

“ดูกรมหานาม เมื่อใดแล อุบาสกทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความเชื่อถือหลักการที่ถูกต้อง (สัทธา) ด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความเชื่อถือหลักการที่ถูกต้อง, ทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยพฤติกรรมดี (ศีล) ด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยพฤติกรรมดี, ทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความเผื่อแผ่เสียสละ (จาคะ) ด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความเผื่อแผ่เสียสละ, ทั้งเป็นผู้ใฝ่ใจไปเยือนหาพระภิกษุด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นให้ไปเยือนหาพระภิกษุ, ทั้งเป็นผู้ใฝ่ใจสดับ สัทธรรมด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นให้สดับสัทธรรม, ทั้งเป็นนักทรงจำหลักธรรมที่สดับแล้วด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นให้ทรงจำหลักธรรมไว้, ทั้งเป็นนักพิจารณาไตร่ตรองอรรถแห่งหลักธรรมที่ได้สดับแล้วด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นในการพิจารณาไตร่ตรองอรรถแห่งหลักธรรมที่ได้สดับแล้ว, ทั้งเป็นผู้รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นให้ปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักด้วย; ดูกรมหานาม ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ อุบาสกชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตน และเพื่อประโยชน์ผู้อื่น”

(องฺ.สตฺตก.๒๓/๑๑๖/๒๒๕)

ประโยชน์หรือคุณค่าที่เป็นจุดหมายของชีวิต เรียกว่า อัตถะ หรือ อรรถ มี ๒ ระดับ ถ้าแยกละเอียด แบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ความนำ— จุดหมาย ๓ ขั้น >>

No Comments

Comments are closed.