คำนำสำนักพิมพ์
เมืองไทยได้ชื่อว่าเป็นเมืองพุทธศาสนา ประชาชนส่วนใหญ่กว่า ๙๐% เป็นพุทธศาสนิก แต่น่าสงสัยว่าสังคมไทยเป็นสังคมพุทธจริงล่ะหรือ ? ในอดีตเราเคยภูมิใจและกล่าวอ้างเช่นนั้นได้ แต่ในปัจจุบันคำกล่าวนี้มีความหมายน้อยลงทุกทีแล้ว ยิ่งระบบคุณค่าแบบทุนนิยมที่มุ่งส่งเสริมโลภะ โทสะ โมหะ เข้ามามีอิทธิพลต่อคนมากเท่าไร ระบบความสัมพันธ์ของสังคมก็ยิ่งวิปริตบิดผันไปจากพุทธธรรมมากขึ้นเท่านั้น จนยากจะลงความเห็นได้ว่าสังคมเราเป็นสังคมพุทธโดยสาระ และที่จริงแล้วเราก็ไม่ทราบกันด้วยว่าลักษณะสังคมพุทธนั้นเป็นเช่นไรแน่ บุคคลและวงการต่างๆ จึงหยิบฉวยเอาเปลือกกระพี้มาเป็นแก่นอยู่เสมอๆ ลักษณะสังคมพุทธมีปรัชญาการอยู่ร่วมกัน จัดการปกครองเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอย่างไร รวมถึงตัวอย่างรูปธรรมในอดีต ครั้งยังมีธรรมราชาอย่างจักรพรรดิอโศกมหาราช เป็นต้น ก็ยังมิได้มีการศึกษาค้นคว้ากันอย่างชัดเจนและมากเพียงพออีกด้วย
โดยที่มูลนิธิโกมลคีมทอง มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมให้บุคคลบังเกิดอุดมคติในทางรับใช้สังคม ทั้งด้วยการคิด การพูด และการทำออกไปในทางที่สร้างสรรค์ ที่ผ่านมาได้ผลิตหนังสือในทางปรัชญาและศาสนาเป็นอันมาก ทั้งที่มุ่งเกื้อกูลการภาวนาในตัวบุคคล และมุ่งอธิบายสภาพปัญหาและทางออกของสังคม รวมถึงพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นสถาบันด้วย มาคราวนี้ได้รวบรวมข้อเขียน และคำบรรยายชุดนี้ขึ้น โดยมีเนื้อหาครอบคลุมถึงหลักการสำคัญที่ควรพิจารณา เมื่อกล่าวถึง ลักษณะสังคมพุทธ ตีพิมพ์ให้เข้าชุดกับ ปรัชญาการศึกษาไทย และ พุทธศาสนากับสังคมไทย ที่ผ่านมาด้วย โดยเชื่อว่างานชุดนี้ คงให้แนวทางและคำตอบในการแสวงหาและสร้างสรรค์สังคมอุดมธรรมขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย
มูลนิธิได้รับความไว้วางใจและความกรุณาจาก พระราชวรมุนี ให้เป็นสื่อนำธรรมและวิทยาทานนี้ไปสู่ผู้ใฝ่ธรรมมาหลายครั้ง ตั้งแต่การพิมพ์พระธรรมเทศนา อโมฆชีวีกถา แสดงคุณค่าของชีวิตที่มิได้เกิดมาสูญเปล่า ของนายโกมล คีมทอง เจ้าของนามมูลนิธินี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ และคำบรรยายเนื่องในการสัมมนาเรื่อง อุดมคติสำหรับคนหนุ่มสาว ที่มูลนิธินี้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ (ทั้ง ๒ เรื่องนี้ บัดนี้ได้รวมตีพิมพ์ใน ค่านิยมแบบพุทธ ของสำนักพิมพ์เทียนวรรณ) รวมทั้งปาฐกถาอนุสรณ์ของมูลนิธิ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เรื่อง ชาวพุทธกับชะตากรรมของสังคม โดยมิใยต้องกล่าวถึงจุลสารโกมลคีมทองชุด เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม ซึ่งได้รับคำกล่าวขวัญถึงอย่างมากนั้นด้วย (บัดนี้ตีพิมพ์อยู่ใน พุทธศาสนากับสังคมไทย ของมูลนิธิ) มูลนิธิจึงขอกราบขอบพระคุณท่านผู้ประพันธ์เป็นอย่างสูงไว้ในที่นี้
พร้อมกันนั้น ใคร่ขอเรียนให้ทราบว่า มูลนิธิจะทยอยพิมพ์ผลงานของท่านอันเนื่องด้วย สถาบันสงฆ์และสังคมไทย ออกมาเป็นลำดับ และที่น่ายินดีคือ บัดนี้ มีคนรุ่นเยาว์ไม่น้อยทั้งที่เป็นบรรพชิตและฆราวาสที่เดินตามอุดมคติของนายโกมล คีมทอง ซึ่งใฝ่ใจในพุทธศาสนา และได้รับความคิดความอ่านความบันดาลใจจากผลงานของท่าน ลงมือปฏิบัติ คิด อ่าน และเขียน สร้างบารมีจนอินทรีย์พละแก่กล้าขึ้น พอจะผลิตงานในแนวทางนี้เสริมเข้ามาด้วย มูลนิธิตั้งใจว่า จะได้รวบรวมงานเหล่านี้ตีพิมพ์ให้สาธุชนพิจารณาในโอกาสอันควรต่อไป แม้ผลงานนั้นๆ อาจจะไม่ลุ่มลึกเท่า แต่ก็เชื่อว่าท่านผู้อ่านจะไม่ผิดหวัง
No Comments
Comments are closed.