คำนำ

7 มิถุนายน 2530
เป็นตอนที่ 1 จาก 4 ตอนของ

คำนำ

 

เช้าวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๓๐ ณ สวนโมกข์นานาชาติ ไม่ใกล้ไม่ไกลจากสวนโมกขพลารามเท่าใดนัก นักคิดชาวพุทธคนสำคัญของไทย ๔ ท่าน ได้มาพบปะสนทนากันในเรื่องความเป็นไปและทิศทางข้างหน้าของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย นักคิดทั้ง ๔ ท่าน ได้แก่ พุทธทาสภิกขุ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) นายแพทย์ประเวศ วะสี และ ส.ศิวรักษ์

นับเป็นครั้งแรกที่ปราชญ์ร่วมสมัยของไทยทั้ง ๔ ท่านได้พบปะโดยพร้อมเพรียงกัน แม้ว่าทุกท่านจะรู้จักกันเป็นการส่วนตัวมาก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม แต่ก็หาได้มีโอกาสที่จะมาเสวนาวิสาสะในลักษณะนี้ไม่ และบางทีในวันข้างหน้า เราอาจไม่ได้เห็นการเสวนาเช่นนี้อีกแล้วก็ได้

เป็นที่ยอมรับกันว่า ทั้ง ๔ ท่านนี้ได้มีบทบาทอย่างสำคัญในทางพระศาสนาเป็นเวลาช้านาน ทั้งยังได้เป็นประจักษ์พยานแห่งความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและของโลก มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ช่วงเวลาอันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อดังกล่าว ล้วนอยู่ในการรับรู้ของท่านด้วยสายตาพินิจพิเคราะห์ อย่างไรก็ตาม การสนทนาครั้งประวัติศาสตร์นี้ มิใช่การเหลียวไปข้างหลัง หากเป็นการแลไปข้างหน้า เพื่อแสวงหาทิศทางใหม่สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทย ด้วยความเชื่อมั่นว่า พระศาสนานั้นมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อสังคมไทย และสามารถเป็นทางออกให้แก่โลกปัจจุบันนี้ ซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ร้ายแรงนานัปการ

สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นนิมิตหมายสำคัญก็คือ การสนทนาเพื่อแสวงหาทิศทางใหม่สำหรับอนาคตของพุทธศาสนาในครั้งนี้นั้น ได้กระทำ ณ สถานที่ซึ่งจะเป็นรากฐานสำหรับอนาคตของขบวนการสวนโมกข์ ด้วยสวนโมกข์นานาชาตินั้น ท่านพุทธทาสภิกขุมุ่งหมายจะให้เป็นสถานฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานสำหรับชาวตะวันตก ซึ่งมีความสนใจในอธิจิตตสิกขา ในบรรดาบุคคลเหล่านี้ หลายคนมีความหวังว่าพุทธศาสนาจะเป็นคำตอบให้แก่ชีวิตของเขาได้ ขณะที่อีกไม่น้อยเชื่อว่า แม้ในเชิงสังคมพุทธศาสนาก็ยังมีความหมายต่อโลก

ณ บริเวณเพิงมุงจากขนาดย่อม กลางสวนมะพร้าว ด้านทิศตะวันออกของอาคารขนาดใหญ่ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง เพื่อเตรียมรับคนรุ่นใหม่อีกมากมายในอนาคตนั้น ชาวพุทธและผู้สนใจร่วม ๒๐ คน ได้นั่งล้อมวงฟังธรรมสากัจฉา โดยได้รับความเมตตาอย่างยิ่งจากท่านพุทธทาสภิกขุ กรุณามาเป็นประธานแห่งการสนทนาในภาคเช้า ทั้ง ๆ ที่ท่านยังไม่ฟื้นจากอาพาธดีนัก โดยที่คืนก่อนหน้านั้นท่านก็เพิ่งตรากตรำจากการแสดงปาฐกถาประจำปีของปาจารยสาร เป็นเวลานานถึง ๓ ชั่วโมงครึ่ง ท่ามกลางความเป็นห่วงของลูกศิษย์ลูกหา ด้วยท่านได้งดแสดงปาฐกถาธรรมขนาดยาวเช่นนี้มาหลายสัปดาห์แล้ว

การสนทนาครั้งนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นการสืบเนื่องกับการปาฐกถาดังกล่าวของท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งจัดในหัวข้อ “พุทธศาสนากับคนรุ่นใหม่ และสังคมไทยในอนาคต” ติดตามด้วยรายการเสวนากับกัลยาณมิตรผู้ใหญ่ อันว่าด้วยเรื่อง “ภารกิจของชาวพุทธรุ่นใหม่ในสถานการณ์ปัจจุบัน” โดยผู้ร่วมเสวนาได้แก่ พระพรหมคุณาภรณ์ นายแพทย์ประเวศ วะสี และ ส.ศิวรักษ์ นั่นเอง (เนื้อหาสาระของทั้ง ๒ รายการนี้ บัดนี้ ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือเล่ม โดย ปาจารยสาร และมูลนิธิโกมลคีมทอง แล้ว)

อย่างไรก็ตาม การสนทนา ณ สวนโมกข์นานาชาติครั้งนี้อาจจะแตกต่างกับรายการก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะรายการเสวนากับกัลยาณมิตรผู้ใหญ่ ตรงที่มิได้เน้นหนักในเรื่อง บทบาทและท่าทีที่ชาวพุทธพึงมีต่อสังคมที่อยู่นอกแวดวงพระพุทธศาสนาออกไป หากมีจุดเน้นอยู่ที่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภายในขบวนการชาวพุทธไทย โดยพิจารณาครอบคลุมทั้งในแง่หลักธรรม วินัยข้อปฏิบัติ และสถาบัน อันรวมถึงความสัมพันธ์ในหมู่ชาวพุทธด้วยกันเอง

ในด้านหลักธรรมนั้น ท่านพุทธทาสภิกขุได้ย้ำว่า หัวใจของพุทธธรรมที่ชาวพุทธจะต้องกลับมาให้ความสำคัญกันใหม่ ก็คือความเข้าใจในธรรมชาติที่แท้ของขันธ์ ๕ ซึ่งไม่มีตัวตนอันเราจะยึดเป็นเรา เป็นของเราได้ นี้เป็นคุณูปการสำคัญที่พุทธศาสนาจะมีให้แก่โลก ซึ่งกำลังอยู่ในวิกฤตการณ์ ปัญหาก็คือสารัตถะดังกล่าว ชาวพุทธจะสามารถสื่อให้แก่คนร่วมสมัยได้อย่างไร อะไรคือมรรควิธีในการนำหลักธรรมดังกล่าว ให้มาสัมพันธ์สอดคล้อง กับชีวิตของเขาอย่างมีความหมายได้

ประเด็นดังกล่าวในภาคเช้า ได้เป็นหัวข้ออภิปรายสืบเนื่องมาถึงภาคบ่าย อย่างไรก็ตาม ในภาคนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุมิอาจร่วมสนทนาด้วยได้ เนื่องจากสุขภาพไม่อำนวย ดังนั้น การสนทนาจึงอยู่ในรูปปุจฉา-วิสัชนา ระหว่างชาวพุทธรุ่นใหม่กับกัลยาณมิตรผู้ใหญ่อีก ๓ ท่านที่เหลือ (โดย ส.ศิวรักษ์ มาร่วมรายการได้เฉพาะครึ่งหลังของภาคนี้ ด้วยสาเหตุด้านสุขภาพ เช่นกัน)

โดยที่การนำพุทธธรรมให้มามีความหมายใหม่ต่อชีวิตและสังคมนั้น ย่อมสัมพันธ์กับสถาบันสำคัญของพุทธศาสนา ได้แก่ สถาบันสงฆ์ ดังนั้น การสนทนาในภาคบ่ายจึงให้ความสำคัญแก่การปรับปรุงการศึกษาของพระภิกษุสงฆ์ เพื่อให้สถาบันนี้มีพลังในทางสติปัญญา อันจะมีผลต่อการสร้างเอกภาพในหมู่ชาวพุทธ ในการเสริมสร้างสถาบันสงฆ์นั้น ปัจจัยสำคัญอันจะขาดไม่ได้ ก็คือ บทบาทเกื้อหนุนของฆราวาส แต่จะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อ พระภิกษุสงฆ์และคนรุ่นใหม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมกันนั้นฆราวาสรุ่นใหม่จำเป็นจะต้องพัฒนาคุณภาพของตนให้มากขึ้นสมกับความเป็นพุทธศาสนิกชน ดังนั้น วินัยหรือข้อปฏิบัติของฆราวาสจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรนำมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในโลกสมัยใหม่ วัดและวัตรอย่างใหม่ก็เป็นสิ่งที่พึงคิดค้นขึ้น เพื่อคุณภาพของชาวพุทธรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน

แม้จะมีข้อจำกัดในด้านเวลา กระนั้นคุณค่าของการสนทนาครั้งนี้ ก็เป็นสิ่งที่ยากจะปฏิเสธได้ ด้วยมีเนื้อหาสาระที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญในทางสังคมและศาสนาอย่างกว้างขวางและลุ่มลึกนับตั้งแต่ปัญหาความอยู่รอดของมนุษยชาติ ไปจนถึงปัญหาสุขภาพจิตที่ระบาดไปทั่วทั้งโลก ครอบคลุมทั้งหลักธรรมอันลุ่มลึก และวินัยอันพึงยึดถือ จากการพัฒนาคุณภาพชีวิตส่วนบุคคล สู่การเสริมสร้างสถาบันและขบวนการเพื่อสังคมวงกว้าง จากปัญหาที่เป็นวิกฤตการณ์ในปัจจุบันสู่ทางออกสำหรับอนาคต ซึ่งมีทั้งแนวทางระยะยาวและข้อเสนอในเชิงปฏิบัติ ที่พร้อมจะเป็นจริงได้ในปัจจุบัน และสามารถเริ่มกันได้ ณ บัดนี้ ทั้งโดยบุคคลและกลุ่มบุคคล การสนทนาครั้งนี้ จึงมีคุณค่าอย่างมากสำหรับผู้ที่ใฝ่ใจในชีวิตและจริงจังกับสังคม ควรที่จะได้พินิจพิจารณาอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะจากการสนทนาดังกล่าว หาควรไม่ที่จะถือเป็นข้อยุติ หากน่าที่จะคิดต่อและให้มีผลในทางปฏิบัติสืบไป

สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นผลโดยตรงจากรายการดังกล่าวก็คือ คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ซึ่งได้ฟังการสนทนาครั้งนี้ ได้รวมกลุ่มกันขึ้น เพื่อประยุกต์หลักธรรมดั้งเดิม ให้มีความหมายสอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่ เพื่อนำมาเป็นแนวปฏิบัติร่วมกัน โดยให้มีผลในทางพัฒนาตนและเกื้อกูลสรรพชีวิต แต่นอกไปจากผลข้างต้นแล้ว เชื่อว่า การสนทนาดังกล่าว ซึ่งบัดนี้ ได้เผยแพร่สู่การรับรู้ของคนวงกว้างในรูปหนังสือเล่ม จะช่วยจุดประกายความคิด และริเริ่มให้เกิดการปฏิบัติกว้างขวางออกไปเพื่อความไพบูลย์ของพระศาสนา และความผาสุกในสังคม

มูลนิธิโกมลคีมทองขอขอบพระคุณท่านพุทธทาสภิกขุ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) นายแพทย์ประเวศ วะสี และ ส.ศิวรักษ์ เป็นอย่างสูง แม้ท่านทั้ง ๔ จะมากด้วยภารกิจ อีกทั้งสุขภาพของบาง ท่านก็ไม่อำนวยนัก หากเพราะท่านแลเห็นคุณประโยชน์แห่งธรรมและวิทยาทาน การสนทนาครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาร่วมสมัยของไทย จึงบังเกิดขึ้น อันเราสามารถประจักษ์ได้ถึงคุณค่าของการสนทนาดังกล่าว จากหนังสือเล่มนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปภาค ๑ หัวใจพุทธศาสนา และการสื่อสารสู่ชนร่วมสมัย >>

No Comments

Comments are closed.