รักษาใจยามรักษาคนไข้

28 กรกฎาคม 2537
เป็นตอนที่ 3 จาก 4 ตอนของ

รักษาใจยามรักษาคนไข้ 1

คราวนี้ก็มาคำนึงถึงว่า ท่านที่มากันนี้เป็นบุคลากรในโรงพยาบาล ทำงานเกี่ยวกับคนเจ็บไข้ และการรักษาพยาบาลเรียกง่ายๆ ว่า เป็นงานบริการสังคม แต่งานบริการสังคมนั้นมีหลายอย่าง บางอย่างก็เป็นเรื่องที่เพิ่มความสนุกสนาน ซึ่งอาจจะมีกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ที่รื่นเริงบันเทิงใจ แต่งานของท่านที่อยู่ในโรงพยาบาลนั้นมีลักษณะพิเศษ เป็นงานบริการสังคมสำหรับคนที่เรียกได้ว่ามีความทุกข์ คือเป็นคนเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งเป็นคนที่มีความแปรปรวนของสภาพร่างกาย คือร่างกายไม่ปกติ

คนไข้ ก็น่าเห็นใจ

เป็นธรรมดาของคนเราที่ร่างกายและจิตใจย่อมอาศัยซึ่งกันและกัน เวลาใดร่างกายแปรปรวนไป ก็จะพาให้จิตใจแปรปรวนไปด้วย จึงเห็นได้ว่าคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยทางกายนั้น ใจก็มักจะไม่ค่อยดี คือจะเป็นคนหงุดหงิดง่าย หรือยิ่งกว่าหงุดหงิดก็คือว่า ความเจ็บป่วยอาจจะทำให้เขาเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ต่างๆ เช่น ความเศร้าใจและความหวาดกลัว เช่นนึกถึงว่าโรคของตนจะเป็นอันตรายถึงชีวิตหรือไม่ อย่างนี้เป็นต้น

เมื่อหวาดกลัวก็ยิ่งเพิ่มความรู้สึกที่ไม่ดีทางจิตใจเข้ามาอีก อาจจะมีความกังวลห่วงใย นึกไปถึงญาติพี่น้องและเงินทองทรัพย์สมบัติ โดยเฉพาะคนในครอบครัวที่ต้องดูแลรับผิดชอบ ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป เมื่อเกิดความกังวลห่วงใยขึ้นมา สภาพจิตใจก็ยิ่งไม่ดีใหญ่ นึกไปสารพัด

ยิ่งคิดไปก็ยิ่งเสียกำลังใจ นึกถึงคนอื่นก็ห่วงใย นึกถึงตัวเองก็หวาดกลัวแล้วก็เศร้า บางคนก็ท้อแท้สิ้นหวัง ความหงุดหงิดก็ตาม ความหวาดกลัว ความห่วงใย หรือความท้อแท้หมดกำลังใจก็ตาม อะไรต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นสภาพจิตที่ไม่ดีทั้งนั้น แสดงว่าเป็นผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ไม่เฉพาะทางกายเท่านั้น แต่ต้องการความช่วยเหลือทางใจด้วย

ทางกายนั้นเราเห็นชัด เพราะเขาป่วยมาก็ต้องมีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง เวลาบอกโรค เขาก็บอกแต่เรื่องทางกาย ส่วนทางใจนั้นเขาไม่ได้บอก เมื่อเขาไม่ได้บอก เราก็ต้องสังเกตพิจารณาหรือคาดหมายเอาเอง แต่โดยทั่วไปก็พูดได้ว่า เขาจะมีสภาพจิตใจที่ไม่สบายด้วย รวมความว่าเขาต้องการความช่วยเหลือ เขามีความทุกข์มา เราทำอย่างไรจะช่วยแก้ไขให้เขาได้ทั้งทางกายและทางใจ

เวลารักษาพยาบาล เราก็มักจะเน้นแต่เรื่องทางร่างกาย เพราะสิ่งที่ผู้ป่วยบอกก็คือเรื่องเจ็บป่วยทางกาย ว่าปวดหัว ตัวร้อน ท้องเสีย ตลอดจนโรคของอวัยวะภายใน เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคตับ กระเพาะ ลำไส้ สารพัด แม้แต่โรคร้ายอย่างมะเร็ง ก็เป็นเรื่องทางกาย แต่ทางใจเขาก็ต้องการความช่วยเหลือด้วย เพราะฉะนั้นท่านที่อยู่ในโรงพยาบาล ต้องเตรียมใจไว้เลยว่า จะรักษาคนป่วยคนไข้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่ใช่รักษากายอย่างเดียว

คนรักษาคนไข้ ก็น่าเห็นใจ

ทีนี้ก็มีปัญหาว่า ถ้ามองในแง่ของเราที่มาทำงานด้านนี้ เมื่อมาพบกับอารมณ์ที่ไม่น่าชื่นชม ที่เรียกเป็นภาษาพระว่า อนิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) จะทำอย่างไร

ธรรมดาคนเราย่อมชอบอารมณ์ที่ดี อารมณ์ก็คือสิ่งที่เราได้พบปะเจอะเจอ ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ตลอดจนความรู้สึกนึกคิด เวลาใดเราได้ประสบอารมณ์ที่สบายหูสบายตา เราก็มีความสุข เราจึงปรารถนาอารมณ์อย่างนั้น

คนทั้งหลายก็อยู่ในสังคมเหมือนกัน ไม่ใช่ใครมาพิเศษ เราอยู่ในสังคม เราก็ต้องการอย่างนี้ แต่เมื่อมาอยู่ในโรงพยาบาล เรากลับพบสิ่งที่ไม่น่าชื่นชม อารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนา สิ่งที่ไม่น่าดูไม่น่าฟัง ได้ยินแต่เรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วย เห็นแต่ภาพคนเจ็บปวดโอดโอย หน้าตาไม่ดี ไม่สบายทั้งนั้น

พอเป็นอย่างนั้น ก็เป็นธรรมดาของคนทั่วไปว่า เมื่อได้รับอารมณ์ที่ไม่ดีแล้ว ก็มักจะมีความรู้สึกเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ เมื่ออารมณ์ที่เข้ามาเป็นส่วนที่ไม่น่าปรารถนา ไม่ถูกตา ไม่ถูกหู ไม่ถูกใจ เรียกว่าเป็นอารมณ์ที่นำมาซึ่งทุกขเวทนา พอเป็นทุกขเวทนา ก็เป็นธรรมดาว่าจะเกิดความรู้สึกตอบสนองที่ไม่ดี คือความไม่ชอบใจ หรือเกลียดชังรังเกียจ ไม่อยากพบไม่อยากเจอ ถ้าไม่ได้ตั้งใจเตรียมใจ ปล่อยใจไปตามความรู้สึก ก็ชวนให้พลอยใจไม่สบายไปด้วย ต่อจากนั้นก็อาจจะทำให้ใจหงุดหงิดขุ่นมัวไปได้ ดังนั้น คนที่ทำงานในโรงพยาบาลจึงเป็นคนที่น่าเห็นใจอย่างยิ่ง

แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะพบอารมณ์ที่ไม่สบายตาไม่สบายหูเท่านั้น งานที่ทำก็อาจจะกดดันด้วย ตัวเองก็งานหนักอยู่แล้ว เรื่องเยอะแยะ

อย่างเช่นเป็นพยาบาลนี่ คล้ายเป็นคนกลาง อยู่ระหว่างฝ่ายที่ให้การรักษาด้วยกันเช่นคุณหมอ กับฝ่ายคนไข้ อยู่กลางระหว่างล่างกับบน ต้องถูกกระทบรอบด้าน มองในแง่หนึ่งเหมือนถูกทั้งกดทั้งดัน ก็ยิ่งทำให้เกิดความอัดแรงขึ้นในใจ

งานก็เร่งร้อน คนโน้นก็จะเอาอย่างโน้น คนนี้ก็จะเอาอย่างนี้ คนไข้นี้มา ก็มีปัญหา คนไข้นั้นมา ก็เรื่องรีบด่วน แต่ละรายก็เรียกร้องมาก อยากจะได้ตามใจของเขา บางทีก็รู้สึกว่าเป็นอารมณ์ที่แทบสุดแสนจะทนทาน

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นธรรมดาถ้าเราจะเห็นท่านที่เป็นบุคลากรเช่นพยาบาลจะต้องมีหน้าตาไม่สบายบ้าง เพราะกระทบอารมณ์ที่มาจากทุกทิศรอบตัว นับว่าน่าเห็นใจ

แต่อย่างไรก็ตาม ก็เป็นหน้าที่ซึ่งเราก็อยากจะทำให้ดีที่สุด เราจึงมาหาทางกันว่าเราจะทำงานอย่างไรให้ได้ผลดีที่สุด

ผลนั้นก็เกิดจากการรักษาพยาบาลซึ่งมีจุดเป้าหมายอยู่ที่คนไข้ คือทำอย่างไรจะให้คนไข้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างได้ผล อย่างน้อยด้านแรกก็คือความเจ็บป่วยทางร่างกายของเขา แต่ถ้าจะให้ได้ผลดีที่สุด ก็ต้องให้ได้ผลทางจิตใจด้วย

ทุนทางใจที่ทำให้รักษาคนไข้ครบทั้งคน

เป็นอันว่า ถ้าจะให้การทำงานทำหน้าที่ของเราได้ผลดี การรักษาพยาบาลจะต้องทำทั้งสองด้าน คือทั้งทางกายและทางใจ พอเรา “เตรียมใจ” ของเราไว้รับทั้งสองด้าน ใจเราจะมีความพร้อมดีขึ้น การทำงานของเราจะดีขึ้นทันทีเป็นอัตโนมัติ

แต่การเตรียมใจเท่านี้ยังไม่พอ ต้องมีการ “ทำใจ” ด้วย ทำใจอย่างไรจึงจะได้ผล

ก่อนที่จะทำใจ ถ้ามี “ทุนในใจ” ดีอยู่แล้ว ก็ช่วยได้มาก ทุนเดิม ก็คือ ความรักวิชาชีพ รักวิชาชีพก็ยังกว้างเกินไป ต้องรักงานของตน คือ รักงานแพทย์ รักงานพยาบาล รักงานรักษาคนไข้

ที่ว่ารักงานรักษาคนไข้ก็คือ รักงานช่วยคน อยากจะช่วยคนไข้ให้หายโรค ถ้ามีความรู้สึกนี้เป็นทุนเดิม ความรู้สึกที่อยากช่วยคนอย่างเต็มที่นั้นจะเป็นเกราะป้องกันตัว และเป็นภูมิคุ้มกันที่ช่วยไว้ ถึงจะกระทบอารมณ์ต่างๆ ก็หวั่นไหวยากขึ้น

แต่การที่จะมีความรักงานช่วยคนรักษาคนอย่างนี้ บางทีก็เป็นเรื่องที่ยาก เพราะจะต้องเกิดมีมาแต่เดิม

เหมือนอย่างบางคนที่มาเข้าสู่อาชีพนี้ ก็เพราะรักงานแบบนี้ เห็นคนแล้วอยากจะช่วย เป็นมานานแล้ว ตั้งแต่ยังไม่มาเรียนก็อยากทำงานนี้ อยากจะมาช่วยคนรักษาคนให้หายโรค เห็นคนไข้แล้วอยากจะเข้ามาแก้ไขและช่วยเหลือ ถ้าจิตใจแบบนี้มีอยู่ ก็เรียกว่ารักงานรักอาชีพนี้ด้วยสภาพจิตใจเดิมโดยตรง อันนี้เป็นทุนใจที่ดี ทางพระเรียกว่ามี ฉันทะ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ธรรมกถาสำหรับญาติของผู้ป่วยเพิ่มพลังแห่งชีวิต >>

เชิงอรรถ

  1. บรรยายแก่บุคลากร ร.พ.สุโขทัย ประมาณ ๖๐ คน ในโครงการพัฒนาตนและศึกษาดูงานโรงพยาบาลสุโขทัย ซึ่งไปฟังธรรมกถา ที่สถานพำนักสงฆ์สายใจธรรม เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๗

หน้า: 1 2 3

No Comments

Comments are closed.