รักษาใจยามรักษาคนไข้

28 กรกฎาคม 2537
เป็นตอนที่ 3 จาก 4 ตอนของ

– ๑ –
ข้างนอก ก็มองออกไปให้ถูกต้อง

รักษาคนไข้พร้อมกับรักษาใจของตน

จะมีทุนหรือไม่มีทุนก็ตาม คราวนี้ก็มาถึงการทำใจเมื่ออยู่ในสถานการณ์ ว่าทำอย่างไรจะทำงานนี้ให้ได้ผล นอกจากได้ผลต่อคนไข้ ทั้งทางกายทางใจ และผลต่อกิจการของโรงพยาบาลเป็นต้นแล้ว ก็คือจิตใจของตัวเองก็เป็นสุขด้วย อย่างที่พูดว่า งานก็ได้ผล ตัวคนก็เป็นสุข อย่างน้อยก็ให้มีทุกข์น้อย จะทำอย่างไรดี ก็คือต้องทำใจ ซึ่งมีวิธีการหลายอย่าง

วิธีที่ ๑ จะขอพูดถึงประสบการณ์ของบางคน ที่มองโลกแบบทำใจให้สนุก คือมองเห็นหรือนึกถึงอะไร ใจก็สนุกไปหมด ไม่ว่าจะเห็นเรื่องราวงานการอะไรๆ ที่มาในรูปแบบต่างๆ หรือเห็นคนผ่านเข้ามาหน้าบึ้งหน้างอ ได้ตามใจบ้างไม่ได้ตามใจบ้าง อะไรต่างๆ ได้เห็นคนแปลกๆ ได้พบสิ่งแตกต่างหลากหลาย เห็นแล้วนึกสนุกไปหมด

อาตมานึกถึงเพื่อนคนหนึ่งเมื่อสมัย ๓๐ กว่าปีมาแล้ว เรียนอยู่ที่ตึกข้างท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นถิ่นที่คนเดินมาก ท่านผู้นี้เวลาว่างจากเรียน ก็มองไปที่ท่าพระจันทร์ เห็นคนเดินผ่านไปผ่านมา ก็นั่งหัวเราะ อาตมาก็ถามว่าทำไมท่านนั่งหัวเราะ ท่านก็บอกว่าคนที่เดินไปมากันนี่มีอะไรต่างๆ แปลกๆ กันไป คนนั้นเดินอย่างนั้น คนนี้เดินอย่างนี้ คนนั้นแต่งตัวอย่างนี้ คนนี้แต่งตัวอย่างนั้น พอเห็นแล้วก็ขำ ท่านผู้นี้เรียนเก่งด้วย ได้เกียรตินิยม

คนบางคนเห็นอารมณ์ที่ผ่านมาผ่านไปในชีวิต ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ก็มองเป็นสนุกไปหมด อย่างนี้เรียกว่าไม่รับไม่เก็บอารมณ์ หมายความว่าเอาเฉพาะอารมณ์ที่เกี่ยวข้อง อะไรที่เข้ากับเรื่องเข้ากับงาน เข้ากับความมุ่งหมายของงาน ก็รับเอา แต่ถ้าไม่เข้ากับเรื่องของงาน ก็ไม่รับ ไม่เก็บ ปล่อยให้มันผ่านไป หรือมองเห็นเป็นสนุกไปหมด

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าคนไข้จะมีอาการอย่างไร ญาติคนไข้ตลอดจนคนที่ร่วมงานจะมีอาการอย่างไร ก็มองเป็นสนุกไป ยิ่งกว่านั้นในใจก็รู้เท่าทันว่า คนเราก็ต้องมีอย่างนี้เป็นธรรมดา มนุษย์หลากหลายนี้เราได้เห็นความจริงแล้วไง คนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ย่อมมีอะไรต่างๆ กัน มีภูมิหลังไม่เหมือนกัน นานาจิตตัง และสารพัด คนไข้ คนมาเยี่ยมคนไข้ ญาติคนไข้ ล้วนแต่ต่างๆ กัน ไม่มีเหมือนกันเลย เป็นธรรมดาของโลกอย่างนี้เอง

ด้วยความเข้าใจนี้ เวลาเราเห็นใครๆ อะไรๆ เราจะไม่มองเจาะไปติดที่บุคคล ตามธรรมดาเวลาเราจะเกิดอารมณ์ไม่ดีมากระทบ เรามักจะมองไปที่จุดเฉพาะ คือไปจ้องที่การกระทำอันนี้ของบุคคลนี้ แต่ถ้าเรามองกว้างๆ ว่า อันนี้เป็นเพียงการกระทำอันหนึ่งในบรรดาการกระทำของคนมากมาย และคนนี้ก็เป็นคนหนึ่งในบรรดาคนเยอะแยะที่เราประสบประจำวัน ผ่านไปผ่านมา

แล้วเราก็มองอันนี้ในฐานะอะไรอย่างหนึ่งที่เราได้ประสบในแต่ละวัน เราจะเห็นว่า โอ.. นี่คือความจริงที่เราได้พบแล้ว ว่าคนทั้งหลายนั้นต่างกันจริงๆ มีแปลกๆ มากมายอย่างนี้ อารมณ์ก็ผ่านไปเหมือนกับคลื่นที่ไหลๆ ไปตามกระแสน้ำ เห็นอะไรๆ ที่มันผ่านเรา แล้วก็เลยไปๆ

ถ้ามองอย่างนี้ ก็ไม่มีปัญหา เพราะใจเราไม่รับไม่เก็บเข้ามา ได้แต่มองเป็นสนุกไป นี่ก็เป็นวิธีมองหรือทำใจอย่างหนึ่ง ซึ่งก็ได้ผลดีเหมือนกัน

รักษาคนไข้ คนรักษาก็ได้ตลอดเวลาด้วย

วิธีที่ ๒ คือวิธีการของพวกที่ชอบเรียนรู้ ได้แก่พวกที่มองอะไรๆ เป็นการเรียนรู้ไปหมด คนเรามีชีวิตอยู่ เรามีหู มีตา มีจมูก มีอะไรต่างๆ สำหรับรับความรู้และประสบการณ์ต่างๆ มากมาย เมื่อเราได้เห็นได้ยินอะไรต่างๆ เราจึงได้เรียนรู้ เราจึงมีประสบการณ์ที่จะเอามาใช้ประโยชน์

เมื่อเรามีตา หู เป็นต้นไว้เรียนรู้ ถ้าได้เห็นความเป็นไปอะไร เราก็เก็บในแง่ที่เป็นความรู้เท่านั้น

ผู้ที่มองในแง่เป็นการเรียนรู้นี้ ต่างจากพวกที่หนึ่ง พวกที่หนึ่งไม่เก็บอะไรเลย ปล่อยผ่านหมด ส่วนพวกที่สองเก็บในแง่ที่จะเรียนรู้ หรือเก็บในแง่ที่เป็นความรู้ ไม่เก็บในแง่ของสิ่งกระทบกระทั่งจิตใจ พูดง่ายๆ ว่า เก็บเป็นความรู้อย่างเดียว ไม่เก็บเป็นอารมณ์สำหรับให้เกิดการปรุงแต่ง คือไม่มีการคิดปรุงแต่งต่อ มีแต่การเรียนรู้อย่างเดียว เรียนรู้ว่าคนนั้นเป็นอย่างนั้นคนนี้เป็นอย่างนี้ นี่คือการที่เราได้เรียนรู้อย่างหลากหลาย เป็นความรู้ทั้งนั้น

การที่เราได้พบเห็นรู้จักผู้คนมากมายที่มีลักษณะแตกต่างกันอย่างนี้ ต่อไปเราก็สังเกตได้ว่าคนที่มีพื้นเพมาอย่างนี้ มักจะมีลักษณะอย่างนี้ คนที่มีอาการอย่างนั้นมีลักษณะอย่างนั้น มักจะมีสภาพจิตใจอย่างนี้ เป็นการได้เรียนรู้ ซึ่งต่างกับพวกแรกที่ผ่านเฉยๆ ไม่รับ ไม่เก็บอะไรเลย ยังไม่ได้ประโยชน์มากเท่าที่ควร

คนพวกที่สองนี่ได้ประโยชน์ คือศึกษาไปด้วย หมายความว่า ศึกษาชีวิตมนุษย์โดยได้สังเกต ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่งานของตนเอง มีการพัฒนา เรียกว่า มีสติปัฏฐานพอสมควร

“สติปัฏฐาน” คือรับรู้โดยมีสติ สตินี้ไม่ได้มาลอยๆ แต่จะมาพร้อมกับสัมปชัญญะ สัมปชัญญะก็คือความรู้ สติจะจับข้อมูลไว้ แล้วก็ส่งต่อให้ปัญญา ปัญญาที่ทำหน้าที่รู้การเฉพาะหน้า เรียกว่าสัมปชัญญะ นอกจากรู้เข้าใจว่าเป็นอย่างไร เรายังเรียนรู้ว่าคนนี้เป็นอย่างนี้ มีพื้นเพมาอย่างนี้ มีอาการอย่างนี้ เขามีอาการอย่างไรๆ เราก็เรียนรู้หมด อย่างที่ท่านว่า ญาณมตฺตาย สติมตฺตาย รับรู้เพียงเพื่อเป็นความรู้ และเก็บไว้เป็นข้อมูลสำหรับระลึกใช้ ไม่มีการปรุงแต่งว่าชอบใจหรือไม่ชอบใจ อย่างนี้ก็ได้ประโยชน์ เราก็เรียนรู้ไป โดยไม่มีตัวตนเข้ามาเกี่ยวข้อง อันนี้เป็นวิธีที่สอง

วิธีที่ ๓ คือ ถือเป็นบททดสอบ เมื่ออยู่ในโลกนี้ เราอาจจะมีอุดมการณ์หรืออุดมคติของเราที่ยึดมั่นในความดีบางอย่าง อย่างน้อยเมื่อทำอาชีพนี้ เราก็ต้องมีอุดมการณ์หรืออุดมคติของอาชีพของเราที่เรายึดถือไว้ เมื่อมีสิ่งที่เข้ามากระทบ ถ้าเราเกิดเป็นปัญหาขึ้นกับตัวแล้วเราทำผิดพลาด นั่นก็หมายความว่าเราไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในอุดมการณ์หรืออุดมคติของเรา

ดังนั้น สิ่งที่เข้ามานี้ ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่สบอารมณ์ มันอาจจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้เราพลาดจากหลักการของเรา หรือจากอุดมการณ์หรืออุดมคติที่เรายึดถือไว้ เรามาลองดูซิว่า เมื่อมันเข้ามากระทบ เราจะพลาด ทำให้เราหล่นลงไปจากหลักการได้ไหม เราจะยืนหยัดอยู่ได้ไหม ถ้ามองอย่างนี้ ก็เท่ากับว่าเป็นบททดสอบ ถ้าทำตามวิธีนี้ เราก็มองสิ่งที่เข้ามาเป็นบททดสอบทั้งหมด

ถ้าเป็นผู้ที่เรียนธรรมรู้ธรรม ก็ย่อมพยายามทำความดี เช่น มีขันติความอดทน มีเมตตา เป็นต้น คุณธรรมต่างๆ เหล่านี้ เราเรียนแล้วก็ยึดถือปฏิบัติ สิ่งที่เข้ามากระทบเหล่านี้จึงเป็นบททดสอบทั้งนั้น คือทดสอบว่าเราจะผ่านไหม เราสอบได้ในคุณธรรมข้อนั้นๆ ไหม เจออย่างนี้เข้าแล้ว ขันติของเรายังอยู่ไหม เรายังมีเมตตาได้ไหม ฯลฯ ท่านที่ตั้งใจแบบนี้ เรียกว่ามองเป็นบททดสอบ

เมื่อเป็นบททดสอบ เราก็ต้องพยายามทำบททดสอบให้ผ่าน การตั้งใจเตรียมไว้และมองอย่างนี้ จะทำให้เรามีความเข้มแข็งและเราจะสู้ได้ พอเจออารมณ์ที่ไม่ดีก็ตาม การกระทำไม่ดีก็ตาม คำพูดไม่ดีก็ตาม เราบอกว่าบททดสอบมาแล้ว ก็ตั้งสติ เรายั้งตัวได้เลย เราจะเริ่มมีท่าทีที่ถูกต้อง เราจะไม่พลาด คนประเภทนี้จะมองสิ่งที่เกิดขึ้น ที่ยั่วเย้าเร้าให้พลาด ว่าเป็นบททดสอบทั้งหมด เป็นวิธีที่ได้ผลดีไม่น้อยเหมือนกัน

กำไรยิ่งใหญ่ในการรักษาคนไข้ คือการได้พัฒนาตัวเราเอง

วิธีที่ ๔ ต่อไปเป็นอีกวิธีหนึ่งที่คล้ายๆ กับบททดสอบ แต่ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง คือเอาประสบการณ์หรือสถานการณ์ที่เจอะเจอนั้นๆ เป็นเวทีฝึกฝนพัฒนาตน

มนุษย์เรานี้ต้องพัฒนาตน พระพุทธศาสนาถือว่า มนุษย์เรานี้เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก แล้วก็เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก เรามักจะพูดกันว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ แต่ทางพระพุทธศาสนาไม่ได้ยอมรับอย่างนั้น ท่านว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก คือต้องมีเงื่อนไข ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ก็ประเสริฐ มนุษย์เรานี้ ถ้าไม่ฝึกแล้ว ไม่ประเสริฐเลย

การฝึกนี่แหละเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ประเสริฐเลิศขึ้นมาได้ และการฝึก ก็คือการศึกษาพัฒนานั่นเอง พัฒนาก็คือ ฝึกฝนปรับปรุงตน ให้ดีให้งามยิ่งขึ้น

มนุษย์เป็นสัตว์ที่แปลกจากสัตว์ทั้งหลายอย่างอื่น สัตว์ชนิดอื่นเกิดขึ้นมาแล้วก็อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ และในแง่สัญชาตญาณนั้น มันเก่งกว่ามนุษย์ พอเกิดมา สัตว์ทั้งหลายก็ช่วยตัวเองได้แทบจะทันที หลายอย่างพอออกจากท้องแม่ ก็เดินได้ทันที เริ่มหาอาหารได้เลย ว่ายน้ำได้เลย ยกตัวอย่างง่ายๆ ห่านออกจากไข่ตอนเช้า อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา แม่ห่านออกจากเล้ามาลงสระน้ำ ลูกห่านก็วิ่งตามลงสระน้ำ มันวิ่งได้ แม่ลงว่ายน้ำ มันก็ว่ายตามได้เลย และแม่มันไปหากินอะไร มันก็จิกด้วยเลย แสดงว่าในวันที่มันเกิดนั้นเอง มันก็ช่วยตัวเองได้ สัตว์ทั้งหลายอีกจำนวนมากก็เป็นอย่างนั้น

แต่มนุษย์ไม่มีความสามารถอย่างนี้ มนุษย์เกิดจากท้องแม่วันนี้ ถ้าไม่มีคนช่วยก็ตายแน่นอน อย่าว่าแต่วันนี้เลย ให้อยู่ถึงปี ก็ยังหากินไม่ได้ ทำอะไรช่วยตัวเองไม่ได้เลย โดยสัญชาตญาณมนุษย์จึงเป็นสัตว์ที่แย่ที่สุด อะไรๆ ก็ต้องเรียนรู้ ต้องฝึก แทบไม่มีอะไรได้มาเปล่าๆ ด้วยสัญชาตญาณเลย

วิธีการอะไรก็ตามที่มนุษย์ใช้ดำเนินชีวิต แม้แต่การนั่ง การนอน การยืน การเดิน การกิน การขับถ่าย การพูด มนุษย์ต้องได้มาด้วยการเรียน ด้วยการฝึกทั้งสิ้น

แต่การต้องฝึกฝนเรียนรู้ที่เป็นจุดอ่อนของมนุษย์นี้แหละ กลับเป็นข้อดี หรือข้อได้เปรียบของมนุษย์ พูดได้ว่า มนุษย์มีดี ก็ตรงที่ฝึกได้นี่เอง

นับแต่วันที่เกิดมาแล้วมนุษย์ก็สามารถเรียนรู้รับการฝึกสอนถ่ายทอดความรู้ความคิดสิ่งที่สั่งสมอบรมมาเป็นพันปีหมื่นปีล้านปีได้ในเวลาไม่นาน ต่างจากสัตว์ชนิดอื่นที่เก่งด้วยสัญชาตญาณ แต่สัญชาตญาณของตัวมีเท่าใดเมื่อเกิดมา ก็คงอยู่เท่านั้น เกิดมาด้วยสัญชาตญาณใด ก็ตายไปด้วยสัญชาตญาณนั้น เรียนรู้ได้น้อยอย่างยิ่ง

ดังนั้น มนุษย์ฝึกแล้วจึงประเสริฐเลิศกว่าสัตว์ทั้งหลายอื่น สัตว์ทั้งหลายไม่มีอะไรจะเก่งเท่ามนุษย์ในด้านการฝึก พอมีการฝึกแล้ว มนุษย์ก็เก่งที่สุด บรรดาสัตว์อื่นอยู่ได้แค่สัญชาตญาณ ส่วนมากฝึกตัวเองไม่ได้เลย บางชนิดฝึกได้บ้าง คือมนุษย์จับมาฝึกให้ จึงเก่งขึ้นมาบ้าง เช่นช้างที่คนฝึกให้แล้วก็มาลากซุงได้ มาเล่นละครสัตว์ได้ ลิงที่คนฝึกให้แล้วก็ขึ้นต้นมะพร้าวได้ และแม้มนุษย์ฝึกให้ ก็มีขอบเขตของการฝึกอีก ฝึกเกินกว่านั้น ก็ไปไม่ได้ ต่างจากมนุษย์

มนุษย์ฝึกตัวเองได้ ไม่ต้องหาใครมาฝึก แล้วฝึกได้อย่างแทบจะไม่มีขีดจำกัดเลย เรียกว่าฝึกอย่างไร ก็เป็นได้อย่างนั้น ฝึกให้เป็นมหาบุรุษ หรือเป็นพระพุทธเจ้า ก็ได้

พระพุทธเจ้านั้นเราถือเป็นสรณะ เพราะเป็นตัวอย่างของบุคคลที่ฝึกตน ให้เห็นว่ามนุษย์เรานี้สามารถฝึกฝนพัฒนาตนได้ขนาดนี้เชียวนะ ฝึกจนกระทั่งไม่มีทุกข์ ไม่มีกิเลส มีปัญญาค้นพบสัจธรรม ความดีเลิศอะไรๆ ก็ทำได้หมด

ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า วรมสฺสตรา ทนฺตา สัตว์ทั้งหลาย เช่น วัว ควาย ช้าง ม้า อะไรต่างๆ เหล่านี้ ฝึกแล้วเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เทียมเท่ามนุษย์ มนุษย์ฝึกแล้วประเสริฐไม่มีใครมาเทียมเท่า ฝึกไปฝึกมา พัฒนาตนจนกระทั่งเทวดาและพระพรหมก็น้อมนมัสการ กลับมาบูชามนุษย์

พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องนี้ไว้มาก เพื่อให้มนุษย์เห็นตระหนักในศักยภาพของตนในการฝึกฝนพัฒนา แต่รวมแล้วมนุษย์ก็เป็นสัตว์ที่ประเสริฐได้ด้วยการฝึก ต้องฝึกฝนพัฒนาตนเอง พอฝึกแล้ว ก็พัฒนาได้อย่างไม่มีขีดขั้น

เมื่อเรามองตัวว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกตนเองได้ ก็จะเห็นว่าการอยู่ในสังคมและการทำงานอาชีพต่างๆ นั้น เป็นเรื่องของการฝึกฝนพัฒนาตนทั้งนั้น โดยเฉพาะการงานอาชีพนั้น เป็นชีวิตส่วนใหญ่ของเรา ถ้าเราจะฝึกตนให้ได้มาก เราก็ต้องฝึกกับงานของเรานี้ เพราะว่างานเป็นชีวิตส่วนใหญ่ของเรา จะฝึกจากเรื่องอื่น ก็ไม่ค่อยได้เท่าไร เพราะโอกาสมีน้อย

ขอย้ำว่า การงานอาชีพครองชีวิตและเวลาส่วนใหญ่ของเรา ชีวิตส่วนใหญ่ของเราอยู่กับงานทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะฝึกฝนพัฒนาตนให้มากๆ เราก็เอางานนี่แหละ เป็นเครื่องมือหรือเป็นเวทีในการฝึกตน แล้วเราก็มองงานของเราเป็นการฝึกตนทั้งหมด

ไม่ว่าจะมีอะไรเข้ามาในวงงาน ฉันถือเป็นเรื่องที่จะใช้ฝึกฝนพัฒนาตนทั้งสิ้น คือ ฝึกกาย ฝึกใจ ฝึกความชำนิชำนาญ ฝึกความสามารถในการปฏิบัติต่ออารมณ์ต่างๆ ฝึกการปฏิบัติต่อคนไข้ ฝึกความสัมพันธ์กับญาติคนไข้และผู้ร่วมงาน ฝึกหาความรู้และคิดแก้ปัญหาในงาน ตลอดจนฝึกความสามารถในการแก้ไขปัญหาจิตใจของตนเองได้ดีขึ้น เป็นการมองในแง่แก้ไขปรับปรุง ที่จะได้พัฒนาตลอดเวลา

สถานการณ์ฝึกตนเกิดขึ้น คราวนี้เราแพ้ หรือเราบกพร่อง เราหย่อนตรงไหน สำรวจตัวเอง พบจุดแล้วก็แก้ไขปรับปรุงต่อไป ก็เลยสนุกกับการพัฒนาตน เป็นการสนุกอีกแบบหนึ่ง แต่สนุกแบบนี้ สนุกได้ผลได้ประโยชน์ สนุกอย่างมีปัญญา

สนุกแบบที่หนึ่งนั้น สนุกแบบไม่เก็บอารมณ์ ปล่อยผ่านมองเป็นสนุกไปหมด แต่ไม่ค่อยได้อะไร ส่วนแบบที่สี่นี้เป็นแบบสนุกไปด้วย พร้อมกับได้ความรู้สึกชื่นใจมีปีติอิ่มใจที่พัฒนาตัวเองได้ด้วย ไม่ว่าจะเจออะไร ก็ได้แก้ปัญหาและได้ปรับปรุงตัวเองอยู่เรื่อยไป เมื่อมองในแง่นี้ เราจะเพลิดเพลินมีปีติมีความสุขกับงาน

จึงขอเสนอให้ตั้งความรู้สึกอย่างนี้ คือมองว่าเราจะพัฒนาตน และถือเอางานเป็นเครื่องมืออันประเสริฐ ชนิดดีที่สุด ในการพัฒนาชีวิตของเรา นี้เป็นวิธีที่สี่

ถ้าจะทำงานให้ดีที่สุด ก็ต้องมุ่งมั่นในจุดหมายสูงสุด

ต่อไป วิธีที่ ๕ เป็นวิธีของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์มีลักษณะสำคัญคือ ท่านมีความมุ่งหมายต่อโพธิญาณ แต่เราไม่ต้องพูดลึกไปถึงโพธิญาณ เอาเพียงว่ามีเป้าหมายที่ดีสูงสุดที่จะไปให้ถึง ซึ่งทำให้ตั้งปณิธานว่าจะต้องทำให้สำเร็จ โดยยอมสละได้แม้กระทั่งชีวิต เพื่อให้บรรลุจุดหมายสูงสุดนั้น

พระโพธิสัตว์เมื่อได้เริ่มตั้งปณิธานนั้นแล้ว จะทำความดีอย่างเต็มที่ แม้จะต้องสละชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นก็ได้ แม้ถูกกลั่นแกล้งอย่างไร ก็ไม่ละทิ้งความดีนั้น

ชาวพุทธเมื่อนับถือพระพุทธเจ้า ก็เลยนับถือไปถึงพระโพธิสัตว์ด้วย เราเรียนคติพระโพธิสัตว์ก็เพื่อเป็นแบบอย่างสำหรับเตือนใจเรา ให้เพียรพยายามพัฒนาตน ฝึกตน ทำความดีให้ได้อย่างท่าน โดยมีกำลังใจไม่ท้อไม่ถอย

ตามวิสัยของปุถุชน เมื่อทำความดีแล้ว ไม่เห็นได้รับผล ไม่มีใครชื่นชม หรือบางทีถูกกลั่นแกล้ง ก็จะเริ่มท้อถอยว่า ทำดีไม่ได้ดี แต่พอนึกถึงพระโพธิสัตว์ เห็นว่าท่านมั่นคงในความดี แม้แต่ถูกแกล้ง ก็ไม่ย่อท้อ พอได้ฟังเรื่องของพระโพธิสัตว์ก็จะเกิดกำลังใจฮึดสู้ขึ้นมา รู้สึกแข็งขัน ที่จะท้อถอยในความดีก็ไม่ท้อแล้ว เพราะมีพระโพธิสัตว์เป็นตัวอย่าง ก็แกล้วกล้าในการทำความดีต่อไป

การที่ท่านเล่าเรื่องของพระโพธิสัตว์ ก็เพื่อความมุ่งหมายอันนี้ คือจะให้เรามีกำลังใจเข้มแข็งแกล้วกล้าทำความดีเสียสละได้เต็มที่ ไม่ยอมท้อแท้ เพราะฉะนั้น จึงควรตั้งใจว่าเราจะทำความดีเหมือนพระโพธิสัตว์

หนึ่ง นึกถึงพระโพธิสัตว์ว่าท่านลำบากกว่าเรา ถูกแกล้งมากกว่าเรา ท่านยังทำดีต่อไปได้ ทำไมเราจะมายอมแพ้แค่นี้

สอง ตั้งปณิธานแบบพระโพธิสัตว์ โดยตั้งเป้าหมายสูงสุดแน่วแน่ว่าจะทำความดีอันนี้ให้สำเร็จ อาจจะตั้งแบบเป้าใหญ่ ก็ได้ หรืออาจจะตั้งเป้าแบบเฉพาะการในแต่ละปี ก็ได้ อาจจะตั้งเป็นจุดๆ เป็นความดีแต่ละอย่าง ก็ได้

ปีนี้เราพิจารณากับตัวเราแล้วว่า ความดีอันนี้เราน่าจะทำเป็นพิเศษ จึงตั้งเป็นปณิธานว่า ปีนี้เราจะทำความดีอันนี้ให้ได้สมบูรณ์เต็มที่ที่สุด พอตั้งปณิธานอย่างนี้แล้ว ใจจะเกิดกำลัง เหมือนกับคนที่เริ่มเดินเครื่อง พอเริ่มต้นที่เรียกว่าสตาร์ต ถ้ากำลังส่งแรงแล้วจะไปได้ดี แต่ถ้าเริ่มต้นก็อ่อนล้าเสียแล้ว ก็หมดแรงตั้งแต่ต้น

ถ้าเริ่มต้นดี ก็เหมือนกับสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว พอตั้งปณิธานแล้ว เราจะมีกำลังเข้มแข็ง เราจะไม่ย่อท้อ ไม่ว่าจะเจออารมณ์อะไรมากระทบกระทั่ง มันจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปหมด เพราะพลังของเรามากมายมหาศาลที่อยู่ในตัว จะพาตัวเราผ่านพ้นอุปสรรคที่มากระทบกระทั่งกีดขวางไปได้หมด

ถ้าใครตั้งปณิธานได้ถึงขั้นพระโพธิสัตว์ ก็ทำสำเร็จ ชนะหมด เพราะพระโพธิสัตว์ไม่เคยแพ้เลยในเรื่องการทำความดี ไม่ว่าจะถูกกลั่นถูกแกล้ง หรือทำความดีแล้วไม่ได้รับผลตอบแทนอย่างที่หวัง ไม่มีปัญหาทั้งนั้น

ตัวเองเต็มแล้ว ก็เลยทำเพื่อคนไข้ได้เต็มที่

วิธีสุดท้าย มีอีกแบบหนึ่ง คือแบบพระอรหันต์ พระอรหันต์คือผู้บริสุทธิ์ หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่มีอะไรที่ต้องทำเพื่อตนเองอีก

พระอรหันต์มีลักษณะพิเศษเหนือกว่าพระโพธิสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ยังใช้ปณิธาน ยังมีการตั้งเป้าหมายว่า เราจะไปให้ถึงจุดหมายที่ดีงามสูงสุดอันนั้น ซึ่งถ้ามองให้ละเอียด ก็ยังมีอะไรที่ต้องทำเพื่อตนเอง

ส่วนพระอรหันต์นั้นตรงข้าม พระพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้นำของพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายมีลักษณะที่พิเศษ คือเป็นผู้บรรลุจุดหมายแล้ว ไม่มีอะไรที่ต้องทำเพื่อตนเองอีก ตรงข้ามกับพระโพธิสัตว์ซึ่งต่อไปเมื่อบรรลุจุดหมายแล้ว จึงจะเป็นพระพุทธเจ้า แล้วจึงจะไม่มีอะไรที่ต้องทำเพื่อตนเองอีก

เมื่อไม่มีอะไรที่ต้องทำเพื่อตนเองแล้ว จึงจะเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ เช่นมีความสุขอยู่ในตัวพร้อมตลอดเวลา

พระโพธิสัตว์เป็นยอดของคนที่ยังอยู่ด้วยความหวัง แต่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ เป็นบุคคลเยี่ยมยอดที่ไม่ต้องอยู่ด้วยความหวัง

พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่ต้องหวังแล้ว และไม่อยู่ด้วยความหวังอีกต่อไป เพราะมีทุกสิ่งสมบูรณ์อยู่ในตัวแล้ว เช่น มีจิตใจที่สมบูรณ์ มีความสุขที่สมบูรณ์ ซึ่งอยู่กับตัวเองตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอะไรที่จะมากระทบกระเทือน เพราะไม่มีอะไรที่ต้องทำเพื่อตนเองอีก ก็ไม่มีตัวที่จะรับกระทบอะไรทั้งสิ้น

สิ่งใดที่จะทำ ก็ทำไปตามที่ได้พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า เป็นสิ่งที่ดีงามถูกต้องเป็นประโยชน์ และทำด้วยกรุณาที่เห็นว่าผู้อื่นยังมีความทุกข์ ยังมีปัญหาที่เราจะต้องช่วยแก้ไข เราทำเพื่อเขา ไม่ได้ทำเพื่อเรา เพราะฉะนั้นเราจะไปคำนึงอะไรให้เกิดอารมณ์กระทบกระแทก เราไม่ได้ทำเพื่อเรา เราทำเพื่อเขา ดังนั้นจึงไม่มีอะไรที่ต้องมารับกระทบ คือหมดเรื่องตัวตนแล้ว

พระอรหันต์ไม่มีตัวตนที่จะรับกระทบอะไรทั้งสิ้น ดังนั้นเรื่องอะไรต่ออะไรก็ไม่มีมากระทบตัว มองแต่เพียงว่าเราทำเพื่อเขา นี้เป็นส่วนที่เขาบกพร่อง เขาอาจจะมีปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้ สิ่งที่เขาแสดงออกไม่ดีนั้น มันเป็นปัญหาของเขาทั้งนั้น

เวลาเขามีอารมณ์ไม่ดี พูดไม่ดี อันที่จริงเป็นปัญหาของเขา เหตุอยู่ที่เขา ใจเขาไม่ดี อาจจะมีเหตุปัจจัยแวดล้อมเกี่ยวข้อง เราก็มองดูไป เราจะมายุ่งอะไรกับตัวเรา

ยิ่งเรามีปัญญามาก และเราไม่เอาตัวตนของเราเข้าไปกั้นบังไว้ เราก็ยิ่งเห็นปัจจัยละเอียดลงไป เริ่มตั้งแต่ปัจจัยในใจของเขาว่า เขาเกิดอารมณ์ไม่ดี มีความกลัว มีความหวาด หงุดหงิด เพราะความเจ็บป่วย เราก็ยิ่งต้องช่วยแก้ไขปัญหาให้เขาได้มากยิ่งขึ้น

เมื่อวางใจได้อย่างนี้ ตัวเองก็ไม่มีปัญหาด้วย และยิ่งช่วยคนไข้ได้มากขึ้นด้วย เพราะมองเห็นแต่เรื่องของเขา เห็นแต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นมาตามเหตุปัจจัย และเห็นแต่เหตุปัจจัยเกิดขึ้นๆ ทุกอย่างที่เข้ามาเป็นเรื่องของเหตุปัจจัย ก็เลยแก้ปัญหาได้ และสบายใจด้วย

พระอรหันต์ คือบุคคลที่ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเองอีกต่อไป เพราะฉะนั้นจึงทำเพื่อผู้อื่นได้เต็มที่ ตอนนี้เราทำงานของเราเพื่อผู้อื่นแล้ว ก็มองดูเหตุปัจจัยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่มีอารมณ์ขึ้นมากระทบ

ถ้าเรามองแต่ตามความเป็นจริง ก็มีแต่กระบวนการของสิ่งทั้งหลายที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้นเอง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ธรรมกถาสำหรับญาติของผู้ป่วยเพิ่มพลังแห่งชีวิต >>

หน้า: 1 2 3

No Comments

Comments are closed.