สังคมจะอยู่ดีและก้าวไปได้ ต้องมีคำที่จะสื่อให้รวมใจ และมุ่งสู่จุดหมาย

5 ตุลาคม 2544
เป็นตอนที่ 4 จาก 11 ตอนของ

สังคมจะอยู่ดีและก้าวไปได้ ต้องมีคำที่จะสื่อ
ให้รวมใจ และมุ่งสู่จุดหมาย

สังฆทานที่เราปฏิบัติโดยนิยมอย่างนี้ ก็เป็นไปตามคติการทำบุญนั่นเอง คือสังฆทานเป็นการถวายแก่สงฆ์ส่วนรวม จึงเป็นบุญมาก

คำว่า “บุญ” นั้น แปลกันง่ายๆ ว่า ความดี แต่หมายถึงความดีที่ทำแล้ว ช่วยให้ชีวิตของเราเจริญเพิ่มพูนขึ้นด้วยคุณสมบัติต่างๆ คือทำให้คุณสมบัติที่ดีงามทั้งหลายเจริญเพิ่มพูนขึ้นในตัวเรา

คำว่าบุญนี้เป็นศัพท์ที่สำคัญมากในพระพุทธศาสนา แล้วก็กลายมาเป็นคำสำคัญในสังคมไทยของเรา

ในวัฒนธรรมประเพณีไทยนั้น คำว่า บุญนี้ กล่าวได้ว่าเป็นคำศูนย์กลางของชีวิตชาวพุทธ อาจจะเรียกง่ายๆ ว่าเป็นคำที่ใหญ่ที่สุด

คำว่า “บุญ” นี้พอพูดขึ้นมา ก็จะสื่อถึงจิตใจได้ลึกซึ้งกว้างขวาง และมีความหมายครอบคลุมไปหมด ทั้งในแง่บุคคล และในแง่สังคม

ในแง่บุคคล คือในแง่ส่วนตัวของแต่ละคน คำว่าบุญเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้จิตใจของเราอยู่กับความดีงาม และทำให้มีจุดมุ่งหมายว่า เราจะทำสิ่งที่ดีงาม และทำชีวิตของเราให้ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป

ในแง่สังคม เมื่อพูดคำว่า บุญ ขึ้นมา ชาวพุทธจะมีใจร่วมและรวมกัน พร้อมที่จะมาทำกิจกรรมร่วมกัน งานของส่วนรวมอะไรที่เป็นเรื่องดีงาม เราเรียกว่าเป็นบุญเป็นกุศล คนไทยก็จะขมีขมันมาทำด้วยความชื่นบานสามัคคี

เรื่องนี้สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงเล่าเรื่องเก่าๆ ไว้ เช่น คนในหมู่บ้านนึกถึงการที่จะมาสร้างบ่อน้ำ มาทำถนนหนทาง แม้แต่มาจัดมาปัดกวาดสถานที่ให้เรียบร้อยสะอาด งดงาม จัดแต่งสวน เป็นต้น ให้ชุมชนนั้นอยู่ด้วยความเรียบร้อยสงบสุข เขาก็เรียกว่ามาทำบุญกัน

พอพูดว่า “ทำบุญ” จิตใจคนจะมีเป้าหมาย และเกิดพลังที่จะมาทำร่วมกัน ทำให้เกิดความสามัคคี ฉะนั้น คำว่าบุญจึงเป็นคำที่สำคัญมาก เรียกว่าเป็นคำสื่อใจที่ยิ่งใหญ่ของสังคมไทย ตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงองค์เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ ก็จะมีคำว่าบุญนี้ เป็นคำสื่อร่วมกัน พูดขึ้นมาแล้วก็รู้กัน เข้าถึงจิตใจอย่างลึกซึ้ง เป็นจุดรวมใจ

เป็นที่น่าเสียดายว่า ปัจจุบันนี้สังคมของเรา เหมือนกับว่าไม่มีคำอะไรที่เป็นสื่อใจ ให้ร่วมและรวมเป็นอันเดียวกัน อันแสดงถึงจุดหมายหรืออุดมคติของสังคม

คำว่าบุญเอง เดี๋ยวนี้ความหมายก็เลือนลางจางคลายหรือหดแคบลงไป เวลาพูดออกมา ก็ไม่สื่อความหมายที่เข้มแข็งและซึ้งใจเหมือนในสมัยก่อน

ถ้าจะให้สังคมของเราเจริญเฟื่องฟูขึ้น ก็น่าจะต้องฟื้นฟูคำว่าบุญขึ้นมา พร้อมทั้งความหมายที่ถูกต้อง

มิฉะนั้น ก็จะต้องหาคำอะไรใหม่คำใดคำหนึ่ง ที่จะให้สังคมนี้มีคำสื่อความหมายที่ลึกซึ้ง ที่ให้รู้สึกว่าจิตใจมีสิ่งยึดเหนี่ยว ที่จะทำความดี ทำให้สังคมนี้ มีจุดรวมและจุดหมายที่จะประสานพลัง ให้เกิดความสามัคคี และทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อมุ่งหน้าไป

ถ้าไม่มีคำสื่อที่ว่านี้ คนไทยก็จะอยู่กันอย่างเคว้งคว้างเลื่อนลอย ทำอะไรๆ เอาแค่ตัวเองจะได้จะสบาย และกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง สังคมไทยจะเจริญงอกงามฟื้นตัวได้ยาก

แต่อันที่จริง พื้นฐานของเราก็มีอยู่แล้ว คือคำว่าบุญนี้เอง ซึ่งถ้าฟื้นฟูขึ้นมาได้ก็จะเป็นประโยชน์มาก และคำว่าบุญนั้น มีความหมายที่โยงทั้งวัตถุและนามธรรม โยงทั้งบุคคลและสังคม

ในแง่สังคม ก็อย่างที่กล่าวมาแล้ว บุญเป็นความดีที่เกื้อหนุนทั้งชีวิตและสังคม นอกจากนั้น พระพุทธเจ้ายังตรัสว่า เวลาทำความดี ถ้าทำด้วยตน ก็ได้ประโยชน์ ได้บุญส่วนหนึ่ง ยิ่งชวนกันมาทำก็ยิ่งได้บุญมากขึ้น เราทำความดีแล้วชวนคนอื่นให้ทำด้วยนี่ ได้ผลเป็นอย่างมาก มีอานิสงส์กว้างขวางออกไป

ในแง่ที่เกี่ยวกับวัตถุและนามธรรม บุญนั้น ก็ตรัสจำแนกไว้ว่ามี ทาน ศีล และภาวนา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< รื้อฟื้นความหมายที่แท้ของสังฆะขึ้นมา ก็กอบกู้พระพุทธศาสนาให้กลับรุ่งเรืองมั่นคงได้เหนือการป้องกัน และแก้ปัญหา วิธีเยี่ยมยอดดีกว่า คือสยบปัญหาด้วยงานสร้างสรรค์ >>

No Comments

Comments are closed.