- บทนำ
- – ๑ – ขั้นศรัทธา: ให้สังคมสามัคคี คนมีกำลังใจ
- โพชฌงค์ หลักธรรมใหญ่ ใช้สวดมนต์ก็ได้ เพื่อปูพื้นใจที่ดี
- สามัคคี มีกำลังใจ ตั้งสติได้ ใช้ปัญญา ฝ่าวิกฤติพ้นไป
- เรานี้ก็มีเรี่ยวแรงสู้ปัญหา มีปัญญาดับทุกข์ได้
- – ๒ – ขั้นปัญญา: รู้เข้าใจ ใช้โพชฌงค์
- ปัญญาทำงานไป ใจมุ่งหน้า มั่นแน่ว
- ใจสมดุล งานสมบูรณ์
- – ๓ – ปฏิบัติการ: โพชฌงค์ ในชีวิตและกิจการ
- คนสู้ปัญหา พัฒนาได้แน่
- คนไทยมีคุณภาพแค่ไหน พิสูจน์ได้ด้วยโควิด-19
- คนทำให้งานสำเร็จ งานทำให้คนยิ่งพัฒนา
- ชาวพุทธไทยจะได้ตรวจสอบการปฏิบัติธรรมของตัว
- ได้บทเรียน เพื่ออนาคต
- บันทึกประกอบ
ชาวพุทธไทยจะได้ตรวจสอบการปฏิบัติธรรมของตัว
เรื่องความมีน้ำใจที่ได้แสดงเมตตาการุณย์ออกมา เป็นการช่วยเหลือดูแลแก้ไขปัญหาทั้งหลาย และเป็นทานคือการให้การแบ่งปันต่างๆ นั้น ก็เป็นอันว่า คนไทยนี้ถนัดมากและพร้อมทุกเมื่อ เรียกว่าปฏิบัติธรรมด้านนี้ ระดับนี้ ได้ดีทีเดียว
ที่ว่ามานั้น เป็นการทดสอบด้านจิตใจ ที่แสดงออกมาต่อคนอื่น ทีนี้ก็น่าจะดูการปฏิบัติธรรมด้านทำหน้าที่ของตัวเองบ้าง
ตั้งแต่ต้นได้อ้างพุทธพจน์ไว้คือ “อาปทาสุ…ถาโม เวทิตพฺโพ” ว่า เรี่ยวแรงกำลังตั้งแต่กำลังใจของคนนั้น พึงรู้ได้เมื่อมีภัยอันตราย
คำว่า “อาปทาสุ” นี่สำคัญนะ แปลว่า คราวร้าย ยามคับขัน เดือดร้อน มีภัยมาถึง ก็เหมือนคราวนี้ที่เจอโควิด-19 นี่แหละ
ทีนี้ ก็มีพุทธพจน์อีกว่า “จตุตฺถฺจ นิธาเปยฺย อาปทาสุ ภวิสฺสติ” คือ ทรงสอนว่า คฤหัสถ์ชาวบ้านนั้น เมื่อทำงานมีรายได้ ก็ให้จัดสรรทรัพย์เป็น ๔ ส่วน คือ ๑ ส่วน บริโภคใช้จ่ายเลี้ยงตัว เลี้ยงพ่อแม่ ครอบครัว ดูแลผู้คน ทำบุญบำเพ็ญประโยชน์ ๒ ส่วน ใช้ลงทุนทำกิจการงาน และอีก ๑ ส่วน เป็นนิธิเก็บตุนเผื่อไว้โดยหมายใจว่า “อาปทาสุ” ถึงคราวคับขันมีภัย ก็จะมีกินมีใช้มีไว้ที่จะช่วยเหลือกัน
คราวนี้ “อาปทาสุ” มาถึงแล้ว คือสถานการณ์โควิด-19 ก็รู้ได้เลยว่า เรานี้หรือใครคนไหนมีเรี่ยวแรงกำลังหรือไม่ แค่ไหน ตรงจุดนี้ หมายถึงกำลังทุนทรัพย์หรือกำลังเศรษฐกิจ
แล้วก็ได้ตรวจสอบตัวเองด้วย ว่าเราได้ปฏิบัติธรรมที่ได้ทรงสอนไว้ในเรื่องการจัดสรรเก็บออมทุนทรัพย์หรือไม่
ถ้าได้ปฏิบัติธรรมข้อนี้ไว้ โควิด-19 มา เราก็มีกินมีใช้ เป็นอยู่ได้ เป็นอยู่ดี
ถ้าพลาดไปแล้ว ไม่ได้ปฏิบัติธรรมนี้ ก็จำไว้เตือนใจตัวเองว่า ต่อไปนี้จะไม่ประมาท ไม่ปล่อยตัวให้พลาดไป เราจะมีวินัยทางเศรษฐกิจอย่างที่ได้ตรัสสอนไว้
ส่วนปัญหาส่วนตัวอื่นๆ เช่นที่ว่า ในสถานการณ์นี้ ชีวิตเต็มไปด้วยข้อติดขัด จะทำอะไรๆ จะไปที่ไหนๆ ก็ไม่ได้อย่างใจนั้น เมื่อคิดได้ มันก็กลายเป็นแบบฝึกหัด อย่างที่บอกว่าเป็นข้อที่ ๒
ข้อที่ ๒ ก็คือ มองปัญหาในปัจจุบัน เป็นแบบฝึกหัด ปัญหาในที่นี้ ก็ได้แก่สถานการณ์ร้าย ที่ทำให้คนประสบทุกข์ ปัญหาเป็นแบบฝึกหัดที่คนจะได้ฝึกตนเอง
อย่างที่ได้พูดมาแล้วข้างต้นว่า ในสถานการณ์โควิด-19 นี้ คนจำนวนมาก ต้องเปลี่ยนจากทำงานที่บริษัท หรือที่ออฟฟิศ มาทำงานที่บ้าน นี่ก็เป็นแบบฝึกหัดให้เราฝึกตัวเองว่า เราจะคิดพิจารณาและปรึกษาหารือกับคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้การทำงานที่บ้านของเรา กลายเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ดี และมีผลดีได้ไหม
การทำความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง ให้เป็นไปด้วยดีและเกิดมีผลดีได้ เป็นการปรับตัวอย่างหนึ่ง การปรับตัวได้ ก็เป็นการฝึกตัวอย่างหนึ่ง เป็นความสามารถที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยให้ทำแบบฝึกหัดครั้งนี้สำเร็จ
คนที่คิดจะฝึกตัวนั้น เป็นคนมีสำนึกทางการศึกษา เมื่อเจอสถานการณ์ที่จะต้องฝึกตัวปรับตัว เขาจะไม่มัวมาท้อใจทุกข์ใจ แต่เขามีความพอใจ (มีฉันทะ) และมีความสุขในการที่ได้พัฒนาชีวิต และรู้จักใช้สถานการณ์ร้ายให้เป็นโอกาสด้วย
อย่างน้อยก็ต้องคิดได้ว่า เรื่องนี้ถึงคราวจำเป็นแล้ว เราจะมัวมาท้อแท้อยู่ทำไม จะเก็บทุกข์ไว้อัดอั้นตันใจ ไม่มีประโยชน์ เอาเลย เราจะฝึกจะหัดตัวเอง ดูซิว่าเราจะทำให้สถานการณ์นี้เกิดมีความเปลี่ยนแปลงที่เราจะอยู่อย่างใหม่ได้อย่างดีที่สุดได้ไหม เรื่องอาจจะกลายเป็นว่า การอยู่อย่างใหม่นี้ ดีกว่าเก่าด้วยซ้ำไป นี่คือในปัจจุบัน เราทำแบบฝึกหัด ว่ากันแค่นี้ก่อน
No Comments
Comments are closed.