ถึงจะเป็นนักวิชาการไทย แต่อาจอยู่ใต้กรอบความคิดแบบฝรั่ง

8 สิงหาคม 2533
เป็นตอนที่ 6 จาก 6 ตอนของ

ถึงจะเป็นนักวิชาการไทย แต่อาจอยู่ใต้กรอบความคิดแบบฝรั่ง

เท่าที่พูดมาก็เป็นอันว่า ในสังคมไทยนี้ เราจะต้องทำงานวิจัย โดยเฉพาะอาจจะต้องวิจัยพระพุทธศาสนาในหลายแง่หลายอย่าง

ความจริงขณะนี้เราก็ทำกันอยู่ คือ การวิจัยเพื่อความเข้าใจสังคมไทย เราก็ทำบ้างเหมือนกัน แต่เกรงอยู่อย่างหนึ่งว่า จะไม่ค่อยมีเป้าหมายหรือจุดหมายที่ชัดเจน เราควรจะศึกษากันอย่างมีเป้าหมาย พูดกันให้ชัดว่าเราจะเอาอย่างไร ยิ่งในปัจจุบัน การศึกษาในแง่ที่เป็นเพียงความรู้นั้นกว้างมาก ควรจะเลือกเน้นในแง่ความรู้ที่ใช้ประโยชน์ได้ น่าจะเน้นในแง่ของการเอามาใช้ประโยชน์แก่สังคมไทย

เป็นอันว่า ถ้าจะศึกษาวิจัยเพื่อเข้าใจและเอามาใช้กับสังคมไทย ก็ต้องมุ่งกันไปให้ชัดเจน ถ้าจะศึกษาวิจัยเพื่อเอามาใช้ในทางวิชาการต่างๆ ก็ต้องตั้งเป้าตั้งแนวให้ชัดเจน หรือถ้าจะศึกษาวิจัยเพื่อจะก้าวไปในสังคมโลก เพื่อร่วมแก้ปัญหาของสังคมโลก ก็ต้องมีจิตสำนึกที่ชัดเจน

ทีนี้ในการศึกษาวิจัยทางพุทธศาสนา โดยสัมพันธ์กับวิชาการสมัยใหม่ หรือวิชาการตะวันตกนั้น มีข้อสังเกตนิดหนึ่ง คือ ในขณะนี้ เราต้องยอมรับว่า วงวิชาการปัจจุบันของเรา ได้ศึกษามาแบบตะวันตก เมื่อจะหันกลับมาศึกษาเรื่องของไทยเราเอง เราก็จะมีกรอบความคิดแบบตะวันตกติดมาด้วย บางทีเราก็เลยมองตัวเราแบบที่ฝรั่งมอง

ฉะนั้น เมื่อมาศึกษาเรื่องของพระพุทธศาสนานี้ เราก็จะมีความคิดแบบตะวันตกเข้ามาแฝง คล้ายกับว่าเรานี้เป็นชาวตะวันตก หรือเป็นฝรั่งเข้าไปครึ่งหนึ่งแล้ว เราจะคิดอย่างฝรั่งเข้าไปครึ่งหนึ่ง

เพราะฉะนั้น เราจะศึกษาเรื่องของไทย แต่กลายเป็นว่าเราไปเอาความรู้สึกนึกคิดแบบฝรั่งมาวินิจฉัย ภาพของความจริงที่เราได้จึงอาจจะเอียงหรือเฉ หรือมีฝ้าบางอย่างบังไป เราจะต้องมีสติระลึกถึงความจริงข้อนี้ไว้ด้วย

วิธีวิจัยพระพุทธศาสนา ที่น่าจะเหมาะสำหรับนักวิชาการสมัยใหม่

ทีนี้เวลามาศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนา เพื่อเอาไปใช้ในวิชาการต่างๆ บางทีเราต้องยอมรับความจริงอันนี้ แล้วก็ใช้วิธีศึกษาแบบที่สอดคล้องกับภูมิหลังของเรา ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกนั้น เช่น อาจจะศึกษาโดยทำเป็น ๓ ขั้นตอน

ขั้นที่ ๑ คือ ใช้กรอบความคิดแบบตะวันตก แล้วมาเอาเนื้อหาของพระพุทธศาสนาใส่ลงไป หมายความว่า ใช้กรอบของตะวันตกมาสำรวจดูว่า ในหัวข้อเรื่องอย่างนี้ๆ พระพุทธศาสนาว่าไว้อย่างไรๆ แล้วก็ไปดึงเอามา ไปรวมเอามาว่าพระพุทธศาสนาว่าอย่างนี้ แต่ที่จริงกรอบความคิดเป็นของตะวันตก

ขั้นที่ ๒ คือ เมื่อดึงเอามาแล้วก็เปรียบเทียบ เปรียบเทียบกับตะวันตก วิชาการของตะวันตกในเรื่องนี้ เขาว่าอย่างนี้ ของพุทธว่าอย่างนี้ เปรียบเทียบให้ช่ำชอง

ที่จริงขั้นนี้ไม่ใช่ขั้นที่ดีจริงหรอก เพราะว่าในขั้นนี้ มันมีทางที่อคติจะเข้าไปปนได้เยอะ

อคติ ๒ แบบ คือ ที่ผ่านมานี้ ผู้ที่เข้าไปศึกษาพระพุทธศาสนา บางทีก็กลายเป็นเป้าของความรู้สึกต่อกันในวงวิชาการ แล้วก็ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นปฏิกิริยาต่อกันได้ บางทีผู้ที่เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนา เนื่องจากมีใจรักหรือพอใจ สนใจในพระพุทธศาสนา ก็จะมีความรู้สึกว่าถูกเพ่งมองว่าแปลกพวก และมีปฏิกิริยาเกิดแรงที่ทำให้พูดว่า ตะวันตกไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ วิชาการตะวันตกเสียไปหมดเลย มีแต่พระพุทธศาสนาดี

นี่ก็เป็นอันตรายเหมือนกัน เป็นการพูดในทางที่อาจจะเป็นอคติได้

ทีนี้อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมีความรู้สึกในทางไม่ดี เช่น หลงแต่วิชาการแบบตะวันตก มีปฏิกิริยา ก็อาจจะบอกว่า “โอ! พระพุทธศาสนาจะมีอะไร? ไม่ได้ความหรอก!” แล้วก็มองไปในแง่ว่าไม่น่าสนใจ โดยไม่ได้ศึกษาพิจารณาเลย ก็เป็นอคติไปอีกแบบหนึ่ง

ถึงจะมีอคติบ้าง ก็ไม่เป็นไร แต่ก็คอยระวัง และเตือนสติตัวเองไว้ เอาเป็นว่า จะต้องผ่านไปเป็นขั้นหนึ่งก่อน เปรียบเทียบให้ช่ำชอง แล้วเราจะเกิดความรู้ความเข้าใจได้ความคิดมากขึ้น มีอคติบ้าง อะไรบ้าง ก็ช่างมัน ทำไปอย่าไปถือสานัก ให้มันผ่านพ้นขั้นนี้ไปเป็นทางผ่าน

ต่อไป ขั้นที่ ๓ คือ ข้ามพ้นกรอบความคิดตะวันตกมาสู่ความเป็นตัวของตัวเอง จะได้ความรู้ความคิดที่เป็นเนื้อแท้ของเรื่องนั้น เข้าถึงเนื้อแท้อย่างแท้จริง ตอนนี้จึงจะเป็นขั้นที่บรรลุผลสำเร็จ

การศึกษาพระพุทธศาสนา โดยใช้พื้นเพภูมิหลังจากตะวันตกนี้ อาจจะใช้ ๓ ขั้นตอนนี้เป็นประโยชน์ได้ ผ่านให้ตลอด อินทรีย์จะได้แก่กล้าสุกงอม

ความใฝ่รู้คือหัวใจของการวิจัย

ในเรื่องของวงวิชาการวิจัยของไทยนี้ เราจะต้องยอมรับความจริงอันหนึ่ง คือ ว่าโดยหลักการ งานวิจัยต่างๆ นั้น เป็นการเจาะลึกลงไป หรือเป็นการบุกเบิกแดนใหม่ในทางวิชาการ ต้องการความแตกฉาน ต้องการความใฝ่รู้อย่างแท้จริง ที่เราเรียกว่า ฉันทะ

แต่ในสังคมไทยเรานี้ เรายอมรับกันว่า คนไทยขาดความใฝ่รู้ คือ ขาดฉันทะนี้ จึงทำให้เราไม่ค่อยสามารถสร้างความสำเร็จในทางวิชาการ และงานวิจัยก็ไม่ค่อยก้าวหน้า

ส่วนฝรั่งนั้นรู้สึกว่าเขาจะมีพื้นฐานอันนี้ดี เขามีความใฝ่รู้สูง อยากรู้อะไรนิดเดียว สู้บุกป่าฝ่าดง ข้ามน้ำข้ามทะเลไป แม้เสี่ยงชีวิตก็ยอม เพื่อหาความรู้นิดเดียว ถึงจะตาย ฝรั่งทำได้

แต่คนไทยไม่ใคร่เอา!

เราจะต้องยอมรับข้อบกพร่อง จุดบอดของเราข้อนี้

ในสภาพที่เรามีเราเป็นอยู่นี้ เช่นอย่างเด็กนักเรียน ถ้าอาจารย์ไม่สั่งว่าให้ไปอ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ ก็ไม่ไปห้องสมุด แม้แต่สั่งแล้ว บางทีก็ยังไปวานกันทำเสียอีก แทนที่จะไปทำเอง

คือมันไม่มีความใฝ่รู้ !

ทีนี้พอมาทำงานวิจัย ถ้าตัวเองไม่ได้มีความใฝ่รู้อย่างแท้จริง คือไม่ได้วิจัยเพื่อหาความรู้ หรือเอาประโยชน์มาใช้อย่างแท้จริง ก็ทำวิจัยเพียงเพื่อให้ได้ผลประโยชน์บางอย่างตามที่เขากำหนดเป็นเงื่อนไข

ฉะนั้น เราจึงมักวิจัยเพียงเพื่อให้ได้เลื่อนฐานะเป็นรองศาสตราจารย์ เป็นศาสตราจารย์ ตามข้อกำหนด

ทีนี้ การวิจัยทำนองนี้มันก็สักแต่ว่าทำเพื่อให้ได้ผลประโยชน์อย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว ความเจริญทางวิชาการก็ไม่เกิดขึ้น

ยิ่งงานวิจัย เป็นงานที่ต้องการความถูกต้องถ่องแท้ทั่วตลอดด้วย เมื่อทำเพียงตามเงื่อนไข ขาดความใฝ่รู้ งานวิจัยก็ไม่ถึงขั้น ไม่ให้ความรู้จริง ไม่สัมฤทธิ์วัตถุประสงค์

ในการวิจัย ควรถือคติว่า โยงให้ถึงรากเหง้า เข้าให้ถึงต้นเดิม จึงจะสอดคล้องรับกันกับวิธีคิดที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ มีพุทธพจน์แห่งหนึ่งตรัสว่า

โยนิโส วิจิเน ธมฺมํ ปญฺญายตฺถํ วิปสฺสติ

แปลว่า พึงวิจัยธรรม/เรื่องราว ให้ถึงต้นเค้า จึงจะเห็นอรรถแจ้งชัดด้วยปัญญา

ฉะนั้น เราจะต้องแก้ไขอันนี้ คือจะต้องปลูกฉันทะ คือสร้างความใฝ่รู้ และใฝ่ความดีงามหรือใฝ่ผลดีที่จะเกิดจากความรู้นั้นขึ้นมาให้ได้

การที่จะได้ปริญญา หรือฐานะ เป็นรองศาสตราจารย์ เป็นศาสตราจารย์ก็ตาม อยากให้ตั้งท่าทีใหม่ คือ เอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นเครื่องเสริมความมั่นใจ เพราะสิ่งเหล่านี้ถ้าทำถูกทางก็เป็นเครื่องเสริมความมั่นใจได้ คือ เป็นสิ่งกระตุ้นแรงจูงใจในแง่ที่ทำให้เราเกิดความมั่นใจว่า ผลงานวิจัยของเรานี้ ได้ผ่านท่านผู้รู้ หรือสถาบันที่เป็นเลิศในด้านนี้ยอมรับแล้ว ถ้ามองในแง่นี้แล้วเราจะรู้สึกสบายใจ

การที่เขาให้ปริญญา หรือให้ศาสตราจารย์ หมายความว่า อาจารย์ผู้รู้เรื่องนี้ หรือสถาบันที่เป็นเลิศในเรื่องนี้ เขายอมรับแล้ว เราต้องดี ต้องมองในแง่นี้ ไม่ใช่ว่าการที่จะได้ผลประโยชน์นั้น เป็นตัวผลสำเร็จที่ต้องการ แล้วความหมายก็เลยไปจบที่การได้ลาภยศหรือเงินทอง และตำแหน่ง ไม่นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของวิชาการและประโยชน์สุขของสังคม หรือการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติอย่างที่ควรจะเป็น

ยิ่งเรื่องพระพุทธศาสนานี่ก็ยิ่งยาก เพราะว่าปัจจุบันนี้ เรามีฐานพื้นเพการศึกษาวิชาการแบบตะวันตกมามาก เวลาเราคิด บางทีก็คิดแบบตะวันตก ในด้าน concept ต่างๆ เราก็คุ้นเคยกับ concept ตะวันตกมากกว่า concept ทางไทย หรือ concept ของพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้น การที่จะมาศึกษาพระพุทธศาสนาก็กลายเป็นเรื่องยากสำหรับเรา ทั้งๆ ที่เป็นสมบัติของชาติของเรา สืบทอดอยู่ในวัฒนธรรมของเราด้วยซ้ำไป

ข้ามพ้นความเป็นผู้รับและผู้ตาม สู่ความเป็นผู้นำและผู้ให้

เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็ จะต้องมีความเอาจริง แต่ก็คงจะมีผลดีคุ้มค่า เพราะว่า ด้วยการมาศึกษาค้นคว้าวิจัยเรื่องพระพุทธศาสนานี้ เราจะมีอะไรใหม่ๆ ให้แก่วิชาการของโลก ที่ไม่เป็นการไปทำซ้ำอยู่เฉพาะแค่ตามฝรั่ง รอรับของฝรั่ง หรือทำอะไรเท่าที่ฝรั่งเขาทำอยู่เท่านั้น โดยไม่ได้เป็นผู้ทำให้วิชาการนั้นก้าวหน้าขึ้นไป กว่าที่ฝรั่งเขาทำไว้แล้วเลย พูดง่ายๆ ว่า การวิจัยพระพุทธศาสนามีทางเป็นไปได้มาก ที่จะทำให้เราเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับและผู้ตาม

ฉะนั้น เท่าที่พูดมานี้ก็เป็นข้อเสนอที่ว่า การวิจัยทางพระพุทธศาสนา น่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยไทยควรมีบทบาทสำคัญ ทั้งเพื่อความเข้าใจสังคมไทยของเราเอง เพื่อช่วยต่อเติมหรือเปิดช่องทางใหม่ให้แก่วิชาการสาขาต่างๆ ที่ปัจจุบันนี้โลกยอมรับว่าถึงจุดติดตัน หรือหัวเลี้ยวใหม่ และเพื่อมีส่วนร่วมทางวิชาการ หรือในด้านภูมิปัญญาที่จะช่วยแก้ปัญหาของโลก เพื่อให้สังคมไทยของเรามีอะไรดีที่จะให้แก่สังคมโลก หรือมีอะไรที่เป็นส่วนเสริมแก่อารยธรรมของโลกบ้าง

ด้วยสิ่งเหล่านี้ ที่เขาไม่มี แต่เรามีนี่แหละ เราจึงจะสามารถภูมิใจในตัวเอง และมีฐานที่จะก้าวไปอยู่ในวงการปัญญาชนของโลกได้

ถ้าเรามัวอยู่กันแค่วิชาการ ที่ศึกษาแบบตะวันตก และวิจัยกันอยู่ในขอบเขตของวิชาการที่มีอยู่แล้ว เราก็คงจะต้องอยู่ในฐานะผู้รับ-ผู้ตาม หรือผู้คอยตามรับเรื่อยไป

นับว่าเป็นโอกาสดีอย่างที่ได้กล่าวแล้วว่า ขณะนี้สังคมโลก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้มาถึงจุดที่ยอมรับปัญหา พากันแสวงหาทางออก และน้อมตัวเข้ามาสนใจแล้ว ไฉนเรามีสมบัติเหล่านี้แล้วจะปล่อยโอกาส หรือทิ้งให้เขาไปเสีย

ที่จริงเราอยู่ในฐานะที่จะศึกษาได้ดีกว่าเขา ทำไมเราจะไม่นำหน้า Maslow บ้าง? ทำไมเราจะไม่นำหน้า Fritjof Capra หรือ Schumacher บ้าง?

เราควรจะเคารพ นับถือ โดยมองเห็นคุณค่าของงานที่ท่านเหล่านั้นทำไว้ แต่ทำไมเราจะไม่สืบต่อ ไม่ค้นขยายให้ลึกเลยไปจากที่ท่านเหล่านั้นทำไว้แล้ว และทำให้ชัดเจนใช้ได้จริงยิ่งขึ้น หรือบุกเบิกบากบั่นต่อไปในแดนความรู้ด้านอื่นๆ ที่ยังรออยู่อีกมากมาย

อาตมภาพได้พูดมา ในเรื่องของมหาวิทยาลัยกับการวิจัยทางพระพุทธศาสนา ก็เกินเวลาไปมาก ต้องขอประทานอภัยด้วย เท่าที่พูดมานี้ ได้เน้นแต่ประเทศอเมริกา และการศึกษาวิจัยเชิงประยุกต์ ไม่ได้พูดถึงการวิจัยในญี่ปุ่น เป็นต้น และไม่ได้เน้นการวิจัยเนื้อหาหลักธรรมล้วนๆ แต่จำเป็นต้องยุติเพียงเท่านี้ ขออนุโมทนาต่อทางมหาวิทยาลัยที่ได้กรุณาให้โอกาสมาพูด

ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย อวยชัยให้พร ขอให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา ที่จะช่วยกันสร้างความเจริญก้าวหน้าในทางวิชาการ โดยเฉพาะการวิจัยนี้ ให้ประสบความสำเร็จ เพื่อประโยชน์สุขแก่ชีวิต แก่ประเทศชาติ สังคม และเพื่ออารยธรรมของโลก ขอจงมีความร่มเย็นเป็นสุข โดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การศึกษาพระพุทธศาสนากับความก้าวหน้าใหม่ๆ ในวงวิชาการของตะวันตก

No Comments

Comments are closed.