- (ธรรมกถา 1: โอกาสปิดงาน ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน และเปิดงาน ๑๐๐ ปี พระสารประเสริฐ)
- (ธรรมกถา 2: งานทำบุญเปิดบริษัท ส่องสยาม จำกัด)
- คำนำ
(ธรรมกถา 1: โอกาสปิดงาน ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน และเปิดงาน ๑๐๐ ปี พระสารประเสริฐ)
ขอเจริญพร ท่านเลขาธิการสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ ท่านอาจารย์และท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ได้ร่วมกันจัดงานฉลอง ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน และงาน ๑๐๐ ปี พระสารประเสริฐ พร้อมทั้งท่านสาธุชนทุกท่าน
พิธีในวันนี้ นับว่าเป็นเครื่องหมายแห่งการที่งานฉลอง ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน ได้สิ้นสุดลง และพร้อมกันนั้นก็มีงาน ๑๐๐ ปีพระสารประเสริฐ ซึ่งคาบเกี่ยวกัน สืบเนื่องต่อไป
การที่คณะกรรมการ รวมทั้งรัฐบาล ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงานฉลอง ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน และ บัดนี้คณะกรรมการได้มาจัดงาน ๑๐๐ ปีพระสารประเสริฐขึ้นอีก การกระทำอย่างนี้จัดว่าเป็นการบูชาคนที่ควรบูชา คือยกย่องคนที่ดีและมีประโยชน์ ซึ่งตรงกับคติในทางพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า การบูชาบุคคลที่ควรบูชาเป็นอุดมมงคล ดังมีบาลีว่า “ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่การบูชายกย่องคนที่ควรบูชา ซึ่งเราเรียกว่าเป็นปูชนียบุคคล เพราะว่าการที่เราบูชายกย่องบุคคลอย่างไร ก็แสดงถึงความนิยมในจิตใจของคน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในสังคมนั้นๆ เราบูชาคนที่ควรบูชา ก็คือบูชาบุคคลที่มีธรรมะ บุคคลที่ปฏิบัติตามหลักความจริง ความถูกต้อง ความดี ความงาม และทำให้เกิดประโยชน์สุขขึ้นแก่ชีวิตในสังคม แต่ถ้าหากว่าสังคมไปนิยมบูชาบุคคลที่ไม่ควรบูชา เช่นว่าไปยกย่องคนแต่เพียงว่าด้วยอำนาจเงินตรา หรืออำนาจในการดำเนินกิจการต่างๆ ตลอดจนกระทั่งคนที่เก่งด้วยการใช้เล่ห์เหลี่ยมพลิกแพลงให้ได้ผลประโยชน์ หรือบรรลุวัตถุประสงค์ของตนโดยไม่คำนึงถึงธรรมะ ความนิยมในใจอย่างนั้น จะเป็นตัวกำหนดวิถีของสังคมว่าสังคมจะเป็นอย่างไร และการที่สังคมเป็นอย่างนั้นก็ต้องรับว่าเกิดจากกรรมของคนในสังคมร่วมกัน หรือเป็นเรื่องของผลกรรมของสังคมนั่นเอง ถ้าหากว่าเรามาช่วยกันบูชายกย่องคนที่ควรบูชา ก็คือการที่เรายกย่องบูชาธรรมะนั่นเอง เพราะว่าคนที่ควรบูชานั้นก็คือคนที่มีธรรมะ และประพฤติตามหลักธรรมะ เพราะฉะนั้นการบูชาบุคคลที่ควรบูชานี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำวิถีของสังคมไปสู่ประโยชน์สุขที่แท้จริง คือ ให้สังคมนั้นมีธรรมะเป็นรากฐานในการสร้างสรรค์ประโยชน์
ในสมัยโบราณ ครั้งพุทธกาลนั้น คนทั้งหลายนิยมบูชาเซ่นสรวงประกอบพิธีสังเวย แม้กระทั่งการบูชายัญแก่เทพเจ้า ด้วยหวังประโยชน์ที่ตนเองจะได้อำนาจ ความยิ่งใหญ่ ความมีทรัพย์สิน เป็นต้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสขึ้นว่า พระองค์จะตรัสสอนไม่ให้เป็นเพียงบูชาเซ่นสรวงสังเวยเพื่อผลประโยชน์ของตนอย่างนั้น แต่พระองค์ให้เห็นความสำคัญในการบูชายกย่องคนที่ควรบูชาว่า คนที่มีธรรมะ คนที่ประพฤติถูกต้องดีงาม เป็นคนที่เราควรบูชา แม้จะบูชาเพียงชั่วขณะเดียว ก็ยังดีกว่าทำพิธีเซ่นสรวงบูชา แม้เป็นเวลาร้อยๆ ปี ดังมีพุทธพจน์ที่ว่า
มาเส มาเส สหสฺเสน โย ยเชถ สตํ สมํ
เอกฺจ ภาวิตตฺตานํ มุหุตฺตมฺปิ ปูชเย
สาเยว ปูชนา เสยฺโย ยฺเจ วสฺสสตํ หุตํฯ
ซึ่งแปลได้ความว่า ถึงแม้บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งจะใช้เงินเป็นจำนวนพัน บูชาเซ่นสรวง ประกอบพิธี ตลอดเวลาร้อยปี ก็ไม่เป็นสุขอะไร แต่ผู้ใดมาบูชาบุคคลผู้มีตนอันอบรมแล้ว แม้เพียงผู้หนึ่งผู้เดียว การบูชาบุคคลเช่นนั้นประเสริฐกว่าการบูชาด้วยประกอบพิธีต่างๆ แม้ร้อยปีจะมีประโยชน์อะไร อันนี้เป็นการแสดงว่า พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญในการยกย่องคนที่ควรบูชา คือ คนที่มีธรรมะเป็นอย่างมาก ท่านพระยาอนุมานราชธน และพระสารประเสริฐนั้น เป็นบุคคลที่มีคุณความดี ได้บำเพ็ญประโยชน์ไว้แก่สังคม ควรแก่การยกย่องบูชา จัดได้ว่าเป็นปูชนียบุคคล
ท่านพระยาอนุมานราชธนนั้น เป็นผู้ที่มีชื่อเสียง ได้สร้างผลงานโดดเด่นทางวัฒนธรรม ประเพณี โดยเฉพาะเรื่องของไทยเรานี้ จนกระทั่งว่า องค์การสหประชาชาติได้ยอมรับว่าท่านเป็นผู้มีผลงานโดดเด่นในด้านวัฒนธรรม เป็นบุคคลสำคัญของโลกในด้านนี้ ส่วนท่านพระสารประเสริฐก็เป็นผู้มีผลงานเด่นในทางอักษรศาสตร์ไทย รู้ภาษาบาลีสันสกฤต ภาษาไทยเชี่ยวชาญ
ท่านทั้งสองนี้ ได้มาบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกัน โดยการทำงานร่วมกัน ได้นิพนธ์หนังสือไว้เป็นผลงานจำนวนมาก โดยใช้นามที่เป็นคู่แฝดกันว่า “เสฐียรโกเศศ” และ “นาคะประทีป” นามทั้งสองนี้เป็นนามที่คู่กันและปรากฏในผลงานนิพนธ์ต่างๆ ซึ่งมีคุณค่าแก่สังคมไทย แต่บัดนี้ท่านทั้งสองก็ได้ล่วงลับไปแล้ว การที่ท่านทั้งสองได้ทำผลงานไว้เช่นนี้ แม้ว่าชีวิตของท่านจะล่วงลับไป แต่ผลงานนั้นยังมีค่า เป็นประโยชน์ ให้ความรู้แก่ชนรุ่นหลัง เป็นความรู้ที่ช่วยให้คนรุ่นต่อไปนี้ได้เข้าใจสังคม วัฒนธรรมของตัวเอง พื้นฐานภูมิธรรมภูมิปัญญาของตนเองที่สืบสายไป มาจากอดีตและจะต่อไปข้างหน้า เราเรียกได้ว่า ท่านเป็นผู้เชื่อมต่ออดีตกับปัจจุบัน เป็นผู้แสดงคุณค่าของอดีตให้คนปัจจุบันได้รู้เห็น เข้าใจ และสำหรับคนที่อยู่ข้างอดีต ท่านก็สามารถชี้แนะแนวทาง ให้รู้จักที่จะออกเดินต่อไปข้างหน้าในปัจจุบันและสู่อนาคตได้ ไม่จมอยู่แต่เพียงในอดีต ท่านได้ทำผลงานที่ชี้แนะแนวทางให้แก่สังคม ให้เราได้เห็นว่าปัจจุบันที่ดีนั้น จะต้องมีรากฐานมาจากอดีต โดยเฉพาะความเข้าใจในเรื่องราวที่เป็นมา เช่นว่าวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งจะเป็นฐานในการที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างได้ผลดี โดยเฉพาะที่สำคัญก็คือ ท่านได้เก็บรวบรวมความรู้ที่ถูกละเลยหลงลืม ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ล่วงรู้ต่อไป ซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก เพราะในระยะเวลาที่คนห่างจากวัฒนธรรมไปสนใจสิ่งภายนอกอย่างที่มีการหลงใหลวัฒนธรรมภายนอกนี้ วัฒนธรรมของเรานั้นก็ถูกปล่อยปละละเลย ถูกหลงลืมไปมาก ถ้าหากว่าไม่มีท่านที่เห็นคุณค่า และมีสติปัญญา มาช่วยรวบรวมประมวลไว้ ความรู้เหล่านั้นก็จะสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย เพราะฉะนั้นประโยชน์นี้นับว่าเป็นสิ่งที่ท่านทำไว้ มีค่าแก่สังคมไทยของเราเป็นอย่างมาก ชีวิตของท่านทั้งสองที่ล่วงลับไปนี้ มองในแง่หนึ่ง ก็เหมือนกับว่าดวงประทีปได้ดับลง เพราะว่าท่านได้ให้ความรู้ และความรู้นั้นเป็นแสงสว่างให้เกิดความเข้าใจ ส่องทางให้บุคคลได้รู้จักปฏิบัติในสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ความรู้นั้นเป็นดวงประทีป เมื่อชีวิตของท่านล่วงลับไป ก็เหมือนกับว่าดวงประทีปได้ดับลง
ในวันนี้ เราก็จะมีพิธีซึ่งมีการดับและจุดดวงประทีป การดับและจุดดวงประทีปนี้ มองในความหมายหนึ่ง ก็มองได้ว่า พิธีฉลองงาน ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน ได้สิ้นสุดลง แต่พร้อมกันนั้นก็มีพิธี ๑๐๐ ปี พระสารประเสริฐมาสืบเนื่องต่อไป แต่ในความหมายอีกอย่างหนึ่งซึ่งลึกซึ้งลงไปก็คือ การดับดวงประทีปนั้น หมายถึงการที่ชีวิตของท่านทั้งสองได้ล่วงลับดับไปแล้ว บัดนี้ไม่มีตัวบุคคล คือ ตัวท่านพระยาอนุมานราชธนและท่านพระสารประเสริฐ ซึ่งมีชีวิตที่จะเดินไปไหนมาไหน ไปบรรยายปาฐกถาให้ความรู้ หรือที่เราจะไปปรึกษา ซักถามปัญหาได้ แต่ว่าในเวลาเดียวกัน แม้ท่านจะล่วงลับไปแล้ว ดวงประทีปแห่งชีวิตนั้นดับไปแล้วก็ตาม แต่ผลงานที่ท่านสร้างสรรค์ไว้ยังคงมีอยู่ ซึ่งถ้าหากว่าเราทั้งหลายมาช่วยกันศึกษาผลงานของท่าน ช่วยกันส่งเสริมและนำความรู้ที่ท่านได้รวบรวมประมวลไว้ให้นั้นมาใช้ประโยชน์ ก็จะกลายเป็นว่าเราทั้งหลายมาช่วยกันจุดดวงประทีปให้ส่องสว่างต่อไป นี้ก็เป็นความหมายที่สำคัญว่า เราไม่ยอมให้ดวงประทีปดับไปเฉยๆ เราทั้งหลายสามารถและควรที่จะมาช่วยกันจุดดวงประทีปนี้ให้ส่องสว่างสืบต่อไป อย่างไรก็ตาม ดวงประทีปหรือเทียนที่เราเอามาจุดมาดับ หรือมาดับแล้วก็มาจุดกันเช่นนี้ ก็เป็นดวงประทีปที่เป็นวัตถุให้แสงสว่างที่เป็นรูปธรรม แสงสว่างที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่แสงสว่างแห่งประทีปหรือเทียน ที่เราดับและจุดกันนี้ ดวงประทีปที่ให้แสงสว่างอย่างแท้จริงนั้น คือแสงสว่างแห่งปัญญา ปัญญานั้นเป็นแสงสว่างที่สำคัญ ในพระพุทธศาสนา มีพุทธพจน์แห่งหนึ่งตรัสไว้ว่า “ปฺา โลกสฺมิ ปชฺโชโต” แปลว่า ปัญญาเป็นดวงชวาลาในโลก และ อีกบทหนึ่งว่า “นตฺถิ ปฺาสมา อาภา” ซึ่งแปลว่า แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี ซึ่งหมายความว่า ปัญญาเป็นแสงสว่างที่ยอดเยี่ยม ไม่มีแสงอื่นใดเทียบเคียงหรือเสมอเหมือนได้ แสงไฟฟ้า แสงดวงอาทิตย์ แม้จะสว่างปานใด ก็ส่องไปได้ในขอบเขตจำกัด ไม่สามารถผ่านทะลุสิ่งที่ขวางกั้น ไม่สามารถส่องเข้าไปในหีบห่อในตู้ทึบ ในที่ที่มีสิ่งกำบังไว้ แต่แสงสว่างแห่งปัญญาสามารถส่องไปได้ถึง แม้ในที่ที่มีสิ่งปิดบังกีดขวางไว้ คนที่ไม่มีปัญญาแม้จะอยู่ในที่สว่าง บางทีก็กลายเป็นคนมืดบอด เรียกว่า มืดบอดในท่ามกลางแสงสว่างหรือเป็นความมืดในความสว่าง แต่คนที่มีปัญญา แม้ว่าที่นั่นจะมืดก็สามารถล่วงรู้ เข้าใจ และทำอะไรได้ถูกต้อง แม้ตลอดจนกระทั่งว่าจะหาแสงสว่างที่เป็นรูปธรรมมา หรือสร้างสรรค์ทำให้แสงสว่างที่เป็นรูปธรรมนั้นเกิดขึ้นได้ ทำให้เกิดความสว่างขึ้นในที่มืด คือสามารถที่จะสว่างท่ามกลางความมืด หรือเป็นความสว่างในความมืด เพราะฉะนั้น แสงสว่างแห่งปัญญาจึงเป็นแสงสว่างที่ประเสริฐและยอดเยี่ยม แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือว่า แสงสว่างแห่งปัญญานั้นส่องให้เห็นธรรม เมื่อแสงสว่างแห่งปัญญาส่องให้เห็นธรรม ก็ให้คนรู้จักสิ่งที่เป็นความจริง ความถูกต้อง ความดี ความงาม และธรรมะนี้แหละก็จะมาเป็นหลักของสังคม จะมาเป็นหลักสำหรับวัดและสร้างสรรค์คนที่เป็นปูชนียบุคคล คือทำให้เรามีคนที่ควรบูชา นอกจากนั้น ยังทำให้คนในสังคมที่รู้จักธรรมะ ได้รู้จักคนที่ควรบูชาอย่างถูกต้องด้วย ฉะนั้น แสงสว่างแห่งปัญญาจึงเป็นแสงสว่างที่ยอดเยี่ยม ซึ่งเราจะต้องช่วยกันสร้างสรรค์ไว้ ท่านพระยาอนุมานราชธนและท่านพระสารประเสริฐ ก็ได้สร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ที่เป็นความรู้ เป็นสิ่งที่ให้ปัญญา เป็นการที่ช่วยกันให้ดวงประทีปที่แท้จริงไว้ เป็นหน้าที่ของเราทั้งหลายที่จะมาช่วยกันหยิบเอาดวงประทีปนี้มาชู เพื่อส่องแสงสว่างให้แก่ชีวิตและสังคม เพื่อให้รู้จักปฏิบัติและดำเนินไปบนทางที่ถูกต้อง ให้บรรลุประโยชน์สุข เพราะฉะนั้น นับว่าเป็นโอกาสมงคลที่ได้มีการคิดริเริ่มในทางสร้างสรรค์ที่ดี การที่รัฐบาลได้ยอมรับ และการที่ท่านผู้มีความหวังดีทั้งหลายได้มาจัดงาน ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน และงาน ๑๐๐ ปี พระสารประเสริฐ ขึ้นครั้งนี้ ก็นับเข้าในคติที่ว่า มาช่วยกันจุดและเชิดชูดวงประทีปแห่งปัญญาให้ส่องสว่างต่อไป ตลอดจนกระทั่งว่า ทางคณะกรรมการมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป และองค์กรต่างๆ ก็ได้มาคิดที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เช่น อาคารอนุสรณ์สถานพระยาอนุมานราชธนและพระสารประเสริฐ และมีงานต่างๆ ตลอดเวลา ๑ ปีที่ผ่านมา และที่จะมีต่อไป รวมทั้งมีการแสดงศิลปกรรมของร้อยศิลปินในวันนี้ด้วย ทั้งหมดนี้ เป็นการเห็นคุณค่าของดวงประทีปที่ได้เคยจุดส่องสว่าง และจะมาช่วยกันจุดและเชิดชูให้ส่องสว่างต่อไป
วันนี้ก็เป็นการปฏิบัติ ที่ควรแก่การอนุโมทนา เพราะฉะนั้น ก็ขอให้พิธีนี้เป็นการยํ้าเตือนและกระตุ้นเร่งเร้า ให้คนไทยเราทั้งหลายมาเห็นคุณค่าแห่งวัฒนธรรมและภูมิธรรมภูมิปัญญาไทย แล้วก็มาช่วยกันปฏิบัติในการเชิดชูคนดี คนที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคม หรือคนที่มีธรรมะนี้ แล้วก็มาช่วยกันเชิดชูหรือชูดวงประทีปแห่งปัญญาที่ส่องสว่างให้เห็นธรรมะนี้ เพื่อว่าเราจะได้มีธรรมะไว้สำหรับสร้างสรรค์และเป็นเครื่องวัดบุคคลที่ควรบูชาที่แท้จริงต่อไป ตลอดจนกระทั่งว่า เพื่อช่วยให้สังคมนี้ได้รู้จักจะบูชาคนที่ควรบูชาอย่างแท้จริง
ในโอกาสอันเป็นมงคลนี้ อาตมภาพจึงขออ้างอิงคุณพระรัตนตรัย อวยชัยให้พรแก่คณะกรรมการจัดงาน ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน และ ๑๐๐ ปีพระสารประเสริฐ พร้อมทั้งท่านสาธุชนทั้งหลาย ขอจงเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีความร่มเย็นเป็นสุข และมีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญาพรั่งพร้อม เพื่อจะได้มาช่วยกันชูดวงประทีปแห่งปัญญา เพื่อส่องให้เห็นธรรมะ เพื่อให้ธรรมะเจริญแพร่หลายงอกงามในสังคมนี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่มวลมนุษยชาติสืบต่อไปชั่วกาลนานเทอญ
พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) แสดงธรรมกถา ณ วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๒ ในโอกาสปิดงาน ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน และเปิดงาน ๑๐๐ ปี พระสารประเสริฐ
No Comments
Comments are closed.