บทที่ ๒ สำรวจกำไรของชีวิต

4 มกราคม 2534
เป็นตอนที่ 3 จาก 7 ตอนของ

บทที่ ๒
สำรวจกำไรของชีวิต

ชีวิตที่ก้าวหน้ามีศรัทธาเป็นพลังนำ

สำหรับในทางธรรม อาตมาจะยกหลักธรรมสักหมวดหนึ่ง เอามาให้พิจารณาดูว่าท่านเน้นอะไรบ้าง ในการสำรวจความก้าวหน้าที่ว่ามีกำไรหรือไม่นั้น ท่านเน้นอะไรบ้าง

กำไรหรือความเจริญ หรือการได้เพิ่มขึ้นมา ทางพระท่านเรียกว่า วัฑฒิ วัฑฒิก็คือ กำไร หรือการเพิ่มพูน ท่านบอกว่ามี ๕ ส่วนที่ควรพิจารณา

๑. ศรัทธา ข้อนี้หลายท่านก็จะมองว่าเป็นศรัทธาต่อพระศาสนา คือความเชื่อ ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ซึ่งในการสำรวจก็จะพูดว่าความเชื่อในพระศาสนาของเรามีมากขึ้นไหม ถ้าว่าอย่างนี้ก็เป็นการพิจารณาในแง่ของทางพระศาสนาโดยตรง

แต่ตามเหตุการณ์ที่ผ่านมานี้ ในปีที่ผ่านมา คือปีที่แล้วนี้ก็ตาม ปีก่อนก็ตาม ในด้านพระศาสนามีแต่ข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่ดีมากมาย ก็ลองสำรวจดูว่าเวลาเราประสบปัญหาหรือเหตุการณ์ที่ไม่ดีเหล่านี้แล้ว ศรัทธาของเราเป็นอย่างไร ถอยลงไหม ยังเจริญหรือมั่นคงอยู่หรือไม่ ท่านทั้งหลายลองสำรวจดูตัวเองว่าเรายังมีจิตใจที่มั่นคงต่อพระศาสนาดีอยู่หรือเปล่า นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าพิจารณาตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม โดยแท้จริงแล้วศรัทธาไม่ใช่เรื่องแค่นี้ ศรัทธาก็คือความที่มองเห็นคุณค่าของสิ่งที่ดีงามที่เราเชื่อถือ เรามีความเชื่อถือในสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นคุณค่า เป็นสิ่งที่งาม เป็นสิ่งที่ประเสริฐ พระรัตนตรัยหรือพระศาสนานี้ เราเห็นว่ามีคุณค่า เราจึงมีความเชื่อถือ

แต่พระรัตนตรัยนั้น มีความหมายครอบคลุมหลายชั้น สิ่งหนึ่งที่ซ้อนแฝงเป็นแกนอยู่ข้างในของหลักพระรัตนตรัยนั้น ก็คือตัวความดีงามนั้นเอง เช่น อย่างการกระทำที่ดีงามหรือตัวกรรมที่เป็นกุศลหรือเป็นธรรม

กรรมคือการกระทำที่ดีงามนี้ เรามีความมั่นใจไหม เรามีความมั่นใจในคุณค่าแห่งการกระทำความดีงามของเราไหม เรามีความมั่นใจที่จะกระทำความดีงามอย่างแน่วแน่มั่นคงหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องสำรวจ เพราะศรัทธาส่วนนี้เป็นพื้นฐานเบื้องต้น เป็นตัวที่ทำให้มีพลัง

ถ้าขาดศรัทธาเสียแล้ว ก็จะหดหู่ท้อถอย ท้อแท้ จะหมดกำลัง ฉะนั้นจึงต้องมีศรัทธา อย่างน้อยมีศรัทธาในการกระทำสิ่งที่ดีงาม

ศรัทธาในการทำสิ่งที่ดีงามนี้ เมื่อจำกัดจำเพาะเจาะตรงเข้ามาก็คือ ความเชื่อมั่นในการงาน หรือต่อหน้าที่ที่ตนเองกำลังทำอยู่ว่า งานที่เราทำนี้เป็นประโยชน์ มีค่าสมควรจะทำ ถ้าเรามีความมั่นใจในงานของเรานี้ เราก็มีกำลังใจที่จะทำ ก็ต้องสำรวจว่าศรัทธาตัวนี้เรามีไหม

ศรัทธาที่ว่ามานี้ เมื่อสืบสาวไปให้ถึงที่สุด ก็คือศรัทธาในชีวิตนั้นเอง หมายความว่าเมื่อเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำ เราก็เห็นคุณค่าของชีวิตของเรา ว่าเราอยู่เพื่ออะไร เราอยู่เพื่อทำสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมเป็นต้น เรามั่นใจในสิ่งที่เรากระทำนี้ว่าเป็นประโยชน์ หรือแม้แต่คนที่มองในด้านในว่าชีวิตของเรานี้เจริญงอกงามพัฒนาขึ้นในทางจิตใจ เป็นต้น

ถ้าเรามั่นใจเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำอยู่นี้ ก็จะทำให้เรามีศรัทธาในชีวิตด้วย แล้วศรัทธาอย่างนี้แหละก็จะทำให้เรามีพลังที่จะเดินหน้าและก้าวต่อไป ในการดำเนินชีวิตในปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง

ทางพระท่านให้สำรวจศรัทธานี้เป็นข้อที่ ๑ เลยว่า ศรัทธาของเรานี้เพิ่มขึ้นไหม อย่างน้อยมันยังเข้มแข็งมั่นคงอยู่หรือไม่ เพราะมันจะเป็นตัวที่ทำให้ชีวิตของเรามีเครื่องหล่อเลี้ยง มีกำลังต่อไป เรียกง่ายๆ ก็คือกำลังใจอยู่ที่ศรัทธานี้เป็นเบื้องแรก

๒. ศีล ต่อไปท่านก็ให้สำรวจศีล ศีลก็คือความประพฤติที่แสดงออกทางกาย วาจา และความสัมพันธ์กับคนอื่นในสังคม การไม่เบียดเบียนผู้อื่น อย่างน้อยที่สุดจะต้องสำรวจว่า ในการดำเนินชีวิตที่ผ่านมานี้ เรามีการเบียดเบียนผู้อื่นน้อย หรือน้อยลง หรือไม่เบียดเบียนผู้อื่นเลย เรายังรักษาสถานะนี้ได้ไหม

สำรวจในแง่ลบก่อนว่า เรานี่ดำเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น เราพยายามทำตนให้ห่างเหินจากการเบียดเบียนให้มากที่สุด ทั้งโดยตรงก่อนแล้วต่อไปก็โดยอ้อม

จากนั้นในทางบวกก็คือ การเกื้อกูลผู้อื่น การสัมพันธ์กับผู้อื่นในทางที่ดีงาม และการทำประโยชน์แก่ผู้อื่น

พูดง่ายๆ เรื่องศีลนี้ก็คือการพัฒนาในด้านกาย วาจา โดยเฉพาะในขั้นต้นก็คือ ด้านสังคม ซึ่งจะต้องสำรวจว่าเราได้เพิ่มหรือก้าวหน้าขึ้นไหม ในการทำประโยชน์ หรือสัมพันธ์กับผู้อื่นในทางที่ดีงาม

๓. สุตะ สุตะคือความรู้ หมายถึงความรู้ประเภทวิชาการ ตำรับตำรา ข้อมูลข่าวสาร ก็สำรวจดูว่า เราทำงานทำการ เรารู้เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับที่เราทำงานทำการมานี้ ความรู้ทางวิชาการ ความรู้ที่เกี่ยวกับหน้าที่การงาน ข่าวสารข้อมูลต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ตลอดจนหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่จะเอามาใช้ในการพัฒนาชีวิต เรามีความรู้ ความเข้าใจเพิ่มขึ้นหรือเปล่า

เมื่อการให้หรือสละได้ กลายเป็นความสุข

๔. จาคะ ให้สำรวจเรื่องจาคะ จาคะนี้เป็นตัวที่ใกล้ๆ กับศีล แต่เป็นตัวที่สละออกไป เช่น สละวัตถุสิ่งของ เป็นต้น ในข้อนี้ก็สำรวจดูว่า เราได้ช่วยเหลือเผื่อแผ่ เกื้อกูลแก่เพื่อนมนุษย์แค่ไหน เรามีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น สละความสุขของเราให้ผู้อื่นได้มากขึ้น มีความเห็นแก่ตัวลดลงไหม

อาการอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความเห็นแก่ตัวที่ลดลงที่สำคัญก็คือ สามารถสละความสุขของตัวเองเพื่อให้เกิดความสุขแก่ผู้อื่น ความก้าวหน้าที่ต้องสำรวจในข้อนี้ก็คือ ตรวจดูว่า เราสามารถหาความสุขจากการให้ความสุขแก่ผู้อื่นไหม

คนเรานี้ตามปกติ เมื่อยังไม่ได้พัฒนา ก็เป็นธรรมดาที่จะมีความสุขจากการได้ คือจะต้องเอา เมื่อเอาหรือหามาได้ หรือได้รับจากเขาแล้วจึงจะมีความสุข

แต่คนที่พัฒนาตนเองจะมีคุณธรรมเกิดขึ้น โดยมีสภาพจิตใจอย่างใหม่เกิดขึ้นมา คือความสามารถที่จะมีความสุขจากการให้แก่ผู้อื่น เช่น พ่อแม่รักลูก เมื่อพ่อแม่ให้แก่ลูกแล้ว พ่อแม่ก็มีความสุข โดยไม่ได้รู้สึกเสียดาย

ทำไมคนเราจะต้องเอา แล้วจึงจะมีความสุข ที่จริงในชีวิตประจำวันของเราก็มีตัวอย่างอยู่แล้ว ได้แก่พ่อแม่นี่เอง พ่อแม่นั้นเมื่อให้แก่ลูกแล้วก็มีความสุข ทำไมเมื่อพ่อแม่ให้แก่ลูกแล้ว จึงไม่เสียดาย หรือไม่มีความทุกข์ คำตอบก็คือ เพราะพ่อแม่มีความรักลูก ตกลงปัจจัยตัวสำคัญที่จะทำให้เรามีความสุขจากการให้ ก็คือการที่เรามีความรัก

เมื่อเรามีความรัก มีความเมตตาต่อผู้อื่น เราให้ใคร เราก็มีความสุขจากการให้แก่ผู้นั้น ถ้าเรารักเพื่อน รักพี่น้อง เมื่อเราให้แก่เพื่อนให้แก่พี่น้อง เราก็มีความสุขจากการให้นั้น

ทีนี้ถ้าเรารักเพื่อนมนุษย์ มีความรักกว้างขวางออกไปเท่าใด เราก็สามารถมีความสุขจากการให้ได้มากขึ้นเท่านั้น ต่อไปเราเห็นผู้อื่นมีความสุข เราก็มีความสุข นี้ก็คือจิตใจที่มีการพัฒนาขึ้นมา

สูงขึ้นไปจากนั้น ก็คือการสละละวาง ซึ่งหมายถึงการมีจิตใจที่เป็นอิสระมากขึ้น โดยเฉพาะการที่ไม่ต้องตกเป็นทาสของวัตถุ

ตามธรรมดา แต่ก่อนนี้ เราจะมีความสุขได้เราต้องอาศัยวัตถุ ต้องมีสิ่งของมาเราจึงจะมีความสุข ลำพังใจเราอยู่กับตัวเองไม่มีความสุข ต้องมีสิ่งปรนเปรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่เมื่อเราพัฒนาใจของเราขึ้น จิตใจของเราเป็นอิสระมากขึ้น สามารถปล่อยสละละวางสิ่งต่างๆ เราก็มีความสุขอยู่ในตัวของตัวเองอย่างเป็นอิสระได้มากขึ้น นี่ก็คือการเป็นทาสของวัตถุหรือสิ่งภายนอกน้อยลงๆ นั้นเอง

ที่ว่ามานี้ก็คือเรื่องของจาคะ ซึ่งได้แสดงความหมายมาตามลำดับจนถึงขั้นของการที่มีจิตใจเป็นอิสระละวาง ปล่อยวางได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาของจิตใจสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

ถึงมีความรู้ แต่ไม่มีปัญญา ก็ก้าวหน้ายาก

๕. ปัญญา ปัญญานี้ต่างจากสุตะ สุตะคือความรู้ที่เป็นเรื่องของผู้อื่นถ่ายทอดให้เรามา ส่วนปัญญา คือความรู้เข้าใจที่เป็นเนื้อแท้ในใจของเราเอง ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่างๆ จนถึงขั้นที่สามารถนำเอาความรู้ไปใช้ทำการต่างๆ ได้

ความรู้ที่เรียกว่า สุตะ เป็นความรู้ที่เราได้รับจากผู้อื่น เป็นของคนอื่น เราเอามาจากคนอื่น ความรู้ประเภทนี้ ถ้าไม่มีปัญญาก็ใช้ไม่เป็นและไม่ค่อยได้ประโยชน์ คนที่มีปัญญาจึงจะใช้ความรู้ประเภทที่เรียกว่าสุตะได้ ฉะนั้นทางพระท่านจึงแยกความรู้ไว้เป็น ๒ ประเภท

ความรู้ประเภทที่ ๑ คือ ความรู้ประเภท สุตะ ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า สิ่งที่ได้สดับ หรือสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา หมายถึงความรู้จำพวกข้อมูลข่าวสาร หรือเนื้อหาวิชาการที่ผู้อื่นให้มา เรารับจากผู้อื่นเป็นของคนอื่น เราเอามาจากของคนอื่นทั้งนั้น เป็นของที่ได้รับถ่ายทอดมาจากแหล่งภายนอก

ส่วนความรู้ประเภทที่ ๒ คือ ปัญญา ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจซึมซาบในความรู้ประเภทที่ ๑ และสามารถนำเอาความรู้ประเภทที่ ๑ นั้นไปใช้ประโยชน์ได้ ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ เข้ามาไว้ด้วยกัน แล้วสร้างความรู้ใหม่ขึ้นมาก็ได้ ซึ่งเป็นปัญญาในระดับที่สำคัญมาก

ปัญญาเป็นตัวคุมทุกอย่าง เป็นตัวจัดสรรทุกอย่างให้พอเหมาะพอดี ให้เกิดดุลยภาพ

ในยุคนี้เขาเน้นมากในเรื่องดุลยภาพหรือภาวะที่สมดุล นับว่าสอดคล้องกับหลักการทางธรรมที่ท่านแสดงไว้แล้ว ดังในกรณีนี้ศรัทธาก็ต้องปรับให้พอดี ศีลก็ให้พอดี สุตะ จาคะต้องพอดีทั้งนั้น

ปัญญานี้เป็นตัวปรับ ถ้ามีปัญญาแล้ว ก็จะจับทุกสิ่งให้เข้าที่พอเหมาะพอดีได้ ท่านจึงวางปัญญาไว้เป็นตัวคุมสุดท้าย แม้แต่การที่เราจะมีจิตใจเป็นอิสระละวางสิ่งต่างๆ ได้ ก็เพราะมีปัญญารู้เท่าทันโลก รู้เท่าทันชีวิต รู้เท่าทันสังขาร

เมื่อมีจิตใจเป็นอิสระแล้ว ก็สามารถมีความสุขได้โดยไม่ขึ้นต่อปัจจัยภายนอก ซึ่งเป็นการพัฒนาของจิตใจที่สำคัญมาก

จากความสุขแบบพึ่งพา ก้าวหน้าสู่สุขที่เป็นอิสระ

ในวงการแพทย์ จะเห็นว่าคนไข้จำนวนมากที่มาโรงพยาบาลนั้น ถ้าว่าตามธรรมดาของเขาก็เป็นเรื่องของการที่ว่าเขาจะต้องมีความทุกข์ เพราะในเวลาที่ป่วยนั้นร่างกายหาความสุขไม่ได้ เพราะมันหมดความสามารถที่จะหาความสุขอย่างที่เคยต้องการ

ในเวลาที่ป่วยนั้น อยากจะไปเที่ยวไปไหนก็ไม่ได้ แม้แต่อาหารเคยกินเอร็ดอร่อยก็ไม่อร่อย ฟังดนตรีที่เคยชอบใจว่าไพเราะ บางทีก็กลายเป็นไม่ไพเราะ เห็นเป็นน่ารำคาญไปเสีย เมื่อมีความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน อะไรก็ไม่เอาทั้งสิ้น

ตอนที่มีความเจ็บปวดทุกข์ทรมานนั้น การที่จะหาความสุขโดยอาศัยสิ่งภายนอก ก็ไม่ได้ผลหรือทำไม่ได้ เป็นอันว่าถึงเวลาที่จะต้องหาความสุขที่เป็นภายในของเขาเอง ถ้าเขามีปัญญารู้เข้าใจสิ่งต่างๆ รู้เข้าใจชีวิต รู้จักปล่อยวาง รู้จักทำใจได้ เขาก็จะมีความทุกข์น้อย แล้วก็มีความสุขได้มากขึ้น

บางคนทั้งๆ ที่เจ็บไข้ได้ป่วย แต่ไม่ค่อยมีความทุกข์เท่าไร มีจิตใจสบาย ซึ่งท่านที่อยู่ในวงการแพทย์ หรือพยาบาลจะเห็นได้ชัด คนไข้บางคนเจ็บป่วยนิดหน่อยก็ทุกข์ทรมานเหลือเกิน ความเจ็บไข้แทนที่จะน้อยก็เลยกลายเป็นมาก เป็นการซ้ำเติมตัวเอง

บางคนท้อแท้หมดกำลังใจแล้วก็ทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว ส่วนบางคนแม้จะเจ็บปวดมาก แต่จิตใจเขาดี รู้จักทำใจ ทำใจด้วยความรู้เท่าทันปล่อยวางได้ จิตใจเขาก็สงบสบาย แล้วก็ไม่เสียกำลังใจ บางทีโรคที่เป็นมากก็กลับเป็นเหมือนน้อย ถ้าพอจะหายได้ ก็หายไปเลย

ฉะนั้นคนเรานี้จะต้องมีหลักที่ยึดไว้ให้ได้อย่างหนึ่ง คือการรู้จักสร้างความเป็นอิสระ ให้สามารถหาความสุขได้จากการที่ไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอก

ยิ่งชีวิตของเราผ่านล่วงกาลเวลาไปมากขึ้น แก่เฒ่าชรามากขึ้น การอาศัยความสุขจากร่างกาย โดยพึ่งพาวัตถุภายนอกก็ยิ่งทำได้น้อยลง แต่ตรงข้ามจะต้องหาความสุขจากในภายในของตัวเองมากขึ้น คือต้องหาความสุขที่เป็นอิสระ อันนี้คือความเป็นอิสระอย่างหนึ่งของชีวิต ปัญญานี้แหละเป็นตัวสำคัญที่จะทำให้เกิดความเป็นอิสระนี้ พอมีปัญญารู้เท่าทัน จาคะคือการปล่อยวางสละได้ก็เกิดมีขึ้น

ที่กล่าวมานี้ก็เป็นหลักธรรมต่างๆ ที่จะนำมาใช้สำรวจตัวเอง เพียงเท่านี้ก็สำรวจตัวเราได้มากมายแล้ว งบดุลชีวิตเป็นอย่างไรก็ดูที่ธรรม ๕ อย่างนี้ คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ว่า ได้เพิ่มไหมหรือว่าลดลงไปได้มากหรือเสียมาก กำไรหรือขาดทุนนี้เป็นจุดหนึ่งที่ต้องการสำรวจ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทที่ ๑ งบดุลชีวิตบทที่ ๓ งบดุลสังคม >>

No Comments

Comments are closed.