- (กล่าวนำ)
- บทที่ ๑ งบดุลชีวิต
- บทที่ ๒ สำรวจกำไรของชีวิต
- บทที่ ๓ งบดุลสังคม
- บทที่ ๔ วันเวลาที่เป็นทางมาของกำไร
- บทที่ ๕ ดำเนินชีวิตดีมีแต่กำไร
- บทที่ ๖ พรที่สัมฤทธิ์แก่ผู้ดำเนินชีวิตที่ดี
บทที่ ๔
วันเวลาที่เป็นทางมาของกำไร
งบดุลจะมีกำไร ก็ต้องค่อยสะสมไปตามเวลา
ที่ว่ามานี้ก็เป็นการนำเสนอซึ่งเป็นการพูดในแง่ต่างๆ เพื่อจะให้พิจารณาเกี่ยวกับเรื่องกาลเวลาที่ผ่านไป ที่เราก้าวเข้าสู่ปีใหม่ เหมือนกับว่ามาทำงบดุล เป็นการงบดุลชีวิต และงบดุลสังคม
การงบดุลนั้นจะทำขึ้นมาได้ ก็จะต้องมีการสำรวจรายได้รายจ่าย ให้รู้ถึงกำไรและขาดทุนไม่ว่าจะเป็นของชีวิตก็ตามหรือของสังคมก็ตาม
ถ้าเราจะสะสมให้เกิดความเจริญงอกงามขึ้นมาได้ ตลอดเวลาอย่างนี้จนกระทั่งถึงปีหน้า เราก็พูดได้อย่างเต็มปากว่าเราได้กำไร
แต่การที่จะได้กำไรอย่างนี้ก็ต้องอาศัยทำไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย โดยแบ่งซอยเวลาลงมา จากปีก็ต้องมาดูเป็นรายเดือน จากรายเดือนต้องมาดูเป็นรายสัปดาห์ ย่อยละเอียดลงไปจนกระทั่งเป็นรายวัน รายชั่วโมง รายนาที ว่าเราได้อะไรบ้าง ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ที่การรู้จักใช้เวลา
ฉะนั้น ผู้ที่สามารถใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ก็คือผู้ที่รู้จักสะสมความเจริญเพิ่มพูนขึ้นได้ จนกระทั่งงบดุลนั้นเป็นงบดุลที่แสดงถึงฐานะที่มีกำไร ทั้งนี้เราจะต้องใช้เวลาที่ผ่านไปอย่างน้อยในแต่ละวันให้ได้รับประโยชน์ ให้ได้กำไร
ฉะนั้นตัวเองที่จะได้สำรวจนี้ จะต้องสำรวจแม้แต่ในแต่ละวันว่า วันหนึ่งๆ เราได้หรือเราเสีย ไม่ต้องไปรอสำรวจถึงปี
ในทางพระศาสนาท่านบอกอยู่เสมอว่า ให้ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท การที่ต้องดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาทนั้น เพราะอะไร ก็เพราะสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลง เพราะสิ่งทั้งหลายมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราจึงต้องไม่ประมาท เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีความแน่นอน เปลี่ยนแปลงไปอย่างโน้นอย่างนี้ เราจะนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ จะต้องต้อนรับความเปลี่ยนแปลงด้วยปัญญา
ท่านบอกว่าสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป แต่ว่ามันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเลื่อนลอย อันนี้เป็นข้อสำคัญ คือว่าหลักความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้บอกว่าสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปลอยๆ ตัวหลักนี้เองก็ไม่ได้ตั้งอยู่โดดเดี่ยวลอยๆ ของมัน กล่าวคือ หลักความเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องไปสัมพันธ์กับหลักของความเป็นไปตามเหตุปัจจัย
ฉะนั้นเมื่อสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเลื่อนลอย แต่มันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย พอมันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยก็เป็นเรื่องที่โยงมาถึงการกระทำของเราว่าจะต้องมีการใช้ปัญญา คือการที่เราจะต้องสืบสาวค้นคว้าหาเหตุปัจจัย เพื่อว่าเมื่อเรารู้เหตุปัจจัยแล้ว เราจะได้แก้ไขป้องกันและสร้างเสริมได้ถูกต้อง
การเปลี่ยนแปลงที่เสื่อมเราไม่ต้องการ เมื่อเรารู้เหตุปัจจัยของความเสื่อม เราก็สามารถแก้ไขป้องกันความเสื่อมนั้นได้
ถ้าความเปลี่ยนแปลงใด เป็นความเจริญที่ต้องการ เราก็สืบหาว่าอะไรเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่ความเจริญนั้น เมื่อรู้แล้ว เราก็ทำเหตุปัจจัยนั้น ก็จะเกิดความเจริญที่ต้องการ
ฉะนั้นหลักความเปลี่ยนแปลงนี้ อย่าให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นหลักที่ลอยๆ
จะกำไรแค่ไหน ก็อยู่ที่รู้จักใช้อนิจจังหรือไม่
คนจำนวนมากใช้หลักอนิจจังหรือความเปลี่ยนแปลงนี้ในทางที่ไม่สมบูรณ์ คือมองแค่ว่าสิ่งทั้งหลายต้องเปลี่ยนแปลงไป เมื่อมันเปลี่ยนแปลงไป ก็ได้แต่ปลงว่า สิ่งทั้งหลายก็เป็นอย่างนี้เอง เราต้องรู้เท่าทันว่า สังขารทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วก็แตกสลายไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นเมื่อรู้เท่าทันแล้ว ก็วางใจสบาย ก็จบ คือสบายใจว่า เออ มันเป็นไปตามธรรมดาของมันที่จะต้องเสื่อมสลาย ก็จบเท่านั้น
อย่างนี้ท่านบอกว่าใช้ประโยชน์จากหลักอนิจจังได้ครึ่งเดียว แล้วก็เกิดโทษอีกด้านหนึ่ง หรืออีกครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นโทษที่เกิดจากการไม่โยงหลักนี้ไปหาหลักของความเป็นไปตามเหตุปัจจัย
กฎไตรลักษณ์ ที่มีหลักของการเปลี่ยนแปลงอยู่นี้จะต้องโยงไปหาหลักอิทัปปัจจยตา หรือปฏิจจสมุปบาท สองกฎนี้สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ปฏิจจสมุปบาทคือกฎแห่งความเป็นเหตุปัจจัย สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏรูปร่างออกมาเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยงเป็นต้นนั้น เพราะว่ามันเป็นไปตามหลักเหตุปัจจัย คือเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา ซึ่งมีสาระว่า เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนั้นจึงเกิด เมื่อสิ่งนั้นดับไป สิ่งนี้ก็ดับไป อันนี้เป็นหลักที่สำคัญมาก
ฉะนั้นไตรลักษณ์จะต้องโยงไปหาหลักปฏิจจสมุปบาท ถ้าเราเห็นหลักปฏิจจสมุปบาทก็ถึงตัวหลักที่แท้จริง ไตรลักษณ์นั้นเป็นเพียงลักษณะเท่านั้น เป็นอาการปรากฏ ตัวกฎที่แท้จริง คือปฏิจจสมุปบาท คือกฎของความเป็นเหตุปัจจัย เราจะต้องจับเหตุปัจจัยให้ได้ แล้วตัวนี้แหละจะเป็นตัวนำไปสู่การที่จะปฏิบัติได้ถูกต้อง
เพียงแต่ว่าเห็นสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป แล้วปลงว่ามันเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมดา สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา วางใจสบาย อันนั้นก็เป็นเพียงรู้เท่าทันในขั้นหนึ่ง แต่จะต้องรู้ต่อไปอีกว่า ที่มันเป็นอย่างนี้ก็เพราะมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย
ตอนนี้ซิเป็นตอนสำคัญ ซึ่งจะโยงต่อไปสู่ภาคปฏิบัติ คือสืบสาวหาเหตุปัจจัย รู้เหตุปัจจัยของความเสื่อมและความเจริญแล้ว ก็มาถึงภาคปฏิบัติ คือการที่จะต้องทำตามเหตุปัจจัย แก้ไขที่เหตุปัจจัย และสร้างเสริมเหตุปัจจัย หมายความว่าแก้ไขเหตุปัจจัยที่จะทำให้เสื่อม และสร้างเสริมเหตุปัจจัยที่จะทำให้เจริญงอกงาม อันนี้คือภาคปฏิบัติ และนี่แหละคือหลักความไม่ประมาท
เพราะฉะนั้นความไม่ประมาทจึงเกิดจากความที่เข้าใจรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงโยงอยู่ด้วยกันกับความเป็นไปตามเหตุปัจจัย แล้วก็อาศัยกาลเวลา กาลเวลาก็เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงนี้เอง ดูเหมือนว่ากาลเวลานั้นรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้อยู่
ทุกขณะแห่งเวลา คือโอกาสก้าวหน้าของชีวิต
เมื่อกาลเวลานี้สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลง กาลเวลาที่ผ่านไป เป็นไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นเมื่อเรามองเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องเห็นความสำคัญของกาลเวลาด้วย กาลเวลาที่ผ่านไปแต่ละขณะจึงสำคัญมาก พระพุทธเจ้าถึงกับตรัสว่า
ขโณ โว มา อุปจฺจคา
เวลาแต่ละขณะอย่าให้ล่วงไปเปล่า
คำว่า “อย่าให้ล่วงไปเปล่า” นี้สำคัญมาก คำเต็มของท่านว่า ขณะอย่าได้ล่วงท่านไปเสีย หมายความว่า จะต้องหมั่นถามตัวเองว่าขณะแต่ละขณะนี้ เราได้ใช้ประโยชน์มันหรือเปล่า มันผ่านไปอย่างมีค่าไหม หรือผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์ ว่างเปล่า
การเห็นความสำคัญของกาลเวลานี้ จะเห็นได้ในคำพิจารณาตัวเองของพระ พระพุทธเจ้าทรงสอนพระให้พิจารณาเป็นประจำ ท่านเรียกว่าหลักอภิณหปัจจเวกขณะ ๑๐ ประการ ตามหลักนี้พระจะต้องพิจารณาตนเองอยู่เนืองๆ เป็นประจำสม่ำเสมอ ๑๐ ข้อ
ในบรรดา ๑๐ ข้อนั้น มีอยู่ข้อหนึ่งบอกว่า
กถมฺภูตสฺส เม รตฺตินฺทิวา วีติปตนฺติ
บอกว่า บรรพชิต คือพระภิกษุพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
นี่เป็นตัวเตือนที่สำคัญมาก พอพิจารณาขึ้นมาอย่างนี้ สติก็มาทันทีเลยว่าเวลาล่วงไป วันคืนล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่ พอพูดแค่นี้ ก็ได้สติ พิจารณาตัวเองว่า เรากำลังทำอะไรอยู่หรือเปล่า หรือปล่อยเวลาให้เลื่อนลอยไป และถ้าทำ เราทำสิ่งที่ผิดหรือเปล่า ถ้าทำสิ่งที่ผิด ที่ไม่ดี ก็จะได้ยั้งหยุด ถ้าหากว่าปล่อยเวลาล่วงไป ไม่ได้ทำอะไรก็จะได้เร่งทำ
หลักนี้ฆราวาสก็คงใช้ได้เช่นเดียวกัน ถ้าพิจารณาทุกวัน ชีวิตจะเจริญงอกงามพัฒนาแน่นอน เพราะเมื่อพิจารณาว่าวันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ก็ทำให้มีการสำรวจตรวจสอบปัจจุบันของตนเองทันที ว่าเราทำอะไรอยู่
คำเตือนสติอีกข้อหนึ่งที่น่าจะมาด้วยกัน ก็คือ พุทธภาษิตว่า
อโมฆํ ทิวสํ กยิรา อปฺเปน พหุเกน วา
แปลว่า เวลาแต่ละวันอย่าให้ผ่านไปเปล่า จะมากหรือน้อยก็ต้องให้ได้อะไรบ้าง
นี่คือการรู้จักใช้เวลา ถ้าได้แค่นี้แต่ละวันแล้ว กว่าจะถึงปีงบดุลชีวิตนี้จะต้องได้กำไร ถ้าทำอย่างนี้ทุกวัน
เป็นอันว่าคราวนี้ขอเสนอแค่สองข้อ คือ
ข้อที่หนึ่ง เตือนสติของตนเองว่า “พึงพิจารณาเนืองๆ ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่”
ข้อที่สอง บอกตัวเองต่อไปว่า เวลาแต่ละวันอย่าให้ผ่านไปเปล่า จะมากหรือน้อยก็ต้องให้ได้อะไรบ้าง
เอาล่ะ ได้แค่นี้ก็พอแล้ว ถ้าพิจารณาทุกวัน ชีวิตจะเจริญก้าวหน้า กำไรจะตามมา ถ้าเอามากข้อกว่านั้นก็ยากขึ้นไปหน่อย คือถึงขั้นที่ว่า
ขโณ โว มา อุปจฺจคา
เวลาแต่ละขณะอย่าให้ล่วงท่านไปเสีย
ข้อนี้หมายความว่า แม้แต่เวลาแต่ละขณะๆ ก็อย่าปล่อยผ่าน ต้องจับเวลาแต่ละขณะไว้ให้ได้ประโยชน์
ถ้าทำอย่างที่ว่ามานี้เรียกว่าใช้เวลาเป็น ในการดำเนินชีวิตของคนเรานี่ การใช้เวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะว่าเวลามันกลืนกินชีวิตเรา พระท่านบอกว่า “เวลามันกลืนกินสรรพสัตว์พร้อมกันไปกับกินตัวมันเอง” ซึ่งแปลจากคำบาลีว่า
กาโล ฆสติ ภูตานิ สหตฺเตเนว อตฺตนา
ที่ว่ากาลเวลากลืนกินตัวมันเองนั้น เป็นการพูดแบบภาพพจน์นะ ที่จริงเวลามันไม่ได้กินอะไร แต่พูดเป็นภาพพจน์ว่ามันกิน
กาลเวลาผ่านไป มันก็กลืนกินสรรพสัตว์ไปด้วย เมื่อมันกลืนกินเรา เพื่อให้ได้ประโยชน์คุ้มกัน เราก็กลืนกินมันบ้าง นี่แหละคือการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ หรือรู้จักบริโภคเวลา การใช้เวลาก็คือการบริโภคเวลา เพราะฉะนั้น เมื่อรู้จักใช้เวลาก็คือรู้จักบริโภคเวลา
No Comments
Comments are closed.