- พระพุทธศาสนากับการศึกษาในอดีต (เกริ่นนำ)
- คณะสงฆ์เป็นสถาบันสังคมตัวอย่าง
- หลักพระพุทธศาสนาส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษา
- การศึกษาขยายตัว
- เกิดมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก
- ข้อสังเกตเกี่ยวกับความเจริญ และความเสื่อมของการศึกษาในอินเดีย
- เปรียบเทียบมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา กับมหาวิทยาลัยในยุโรป
- พระพุทธศาสนากับการศึกษาสมัยเดิมของไทย
- ข้อสังเกต และข้อสรุปบางประการ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนากับการศึกษาสมัยเดิมของไทย
- อนุโมทนา
พระพุทธศาสนากับการศึกษาสมัยเดิมของไทย
ประวัติการแพร่หลายของพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศไทยนั้นเท่าที่เห็น นิยมถือการแบ่งยุคตามพระนิพนธ์ของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงไว้ในหนังสือตำนานพุทธเจดีย์สยาม ซึ่งได้แบ่งไว้เป็น ๔ ยุค ดังนี้ :-
ยุคที่ ๑ ลัทธิหีนยานอย่างเถรวาท
ยุคที่ ๒ ลัทธิมหายาน
ยุคที่ ๓ ลัทธิหีนยานอย่างพุกาม
ยุคที่ ๔ ลัทธิลังกาวงศ์
ยุคที่ ๑ นั้น หมายถึงพระพุทธศาสนานิกายหีนยานหรือเถรวาทแบบเดิม ที่พระโสณะและพระอุตตระศาสนทูตสายที่ ๒ ใน ๙ สาย ของพระเจ้าอโศกมหาราชนำเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งกำหนดกันว่าเป็นจังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน ตั้งแต่สมัยทวาราวดี ในพุทธศตวรรษที่ ๓ เมื่อชนชาติไทยยังมิได้เป็นใหญ่ในดินแดนแถบนี้ พระพุทธศาสนาแบบนี้ได้เจริญรุ่งเรืองอยู่เป็นเวลานาน และมีอิทธิพลสืบเนื่องมา โดยเฉพาะในภาคกลางของประเทศไทย จนถึงสมัยที่ชนชาติไทยตั้งตนเป็นใหญ่ได้ในสมัยสุโขทัย
ยุคที่ ๒ ประวัติของชนชาติไทย ที่รับนับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายานนั้น อาจแยกได้เป็น ๒ ตอน คือ การรับนับถือของชนชาติไทยก่อนอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน ตอนหนึ่ง และการรับนับถือในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน ตอนหนึ่ง
ตอนที่หนึ่ง คือ ชนชาติไทยในอาณาจักรอ้ายลาว สมัยขุนหลวงเม้าได้รับนับถือพุทธศาสนานิกายมหายานผ่านทางประเทศจีน สมัยพระเจ้ามิ่งตี่ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๗
ตอนที่สอง แยกเป็น ๒ ระยะ คือ ครั้งแรกในสมัยที่อาณาจักรศรีวิชัยรุ่งเรือง ราว พ.ศ. ๑๓๐๐ กษัตริย์แห่งอาณาจักรศรีวิชัย ผู้นับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน มีเมืองหลวงอยู่ที่สุมาตรา ได้แผ่อำนาจเข้ามาถึงแหลมมลายู ได้ดินแดนตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปไว้ในครอบครอง พุทธศาสนานิกายมหายาน จึงแผ่เข้ามาในภาคใต้ของประเทศไทย ครั้งที่สอง ในสมัยลพบุรี เมื่อขอมเรืองอำนาจ แผ่อาณาเขตเข้ามาครอบครองประเทศไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางทั้งหมด ในราว พ.ศ. ๑๕๕๐ พุทธศาสนาแบบมหายาน ซึ่งขอมรับมาจากศรีวิชัย อันเจือด้วยศาสนาพราหมณ์ จึงแผ่เข้ามาในดินแดนแถบนี้ พร้อมด้วยภาษาสันสกฤต และได้เจริญคู่เคียงกับพุทธศาสนาแบบหีนยานที่มีมาแต่เดิม
ยุคที่ ๓ ในราว พ.ศ. ๑๖๐๐ พระเจ้าอนุรุทธมหาราช หรืออโนรธามังช่อเรืองอำนาจ แผ่อาณาจักรพุกามเข้ามา ในอาณาเขตลานนาและลานช้าง พระพุทธศาสนาหีนยานแบบพุกามที่กษัตริย์พระองค์นี้นับถือ จึงแผ่เข้ามาในดินแดนแถบนี้ด้วย
ยุคที่ ๔ เมื่อชนชาติไทยตั้งตนเป็นอิสระจากขอม ตั้งอาณาจักรสุโขทัยได้แล้ว ครั้นถึง พ.ศ. ๑๘๒๐ พ่อขุนรามคำแหงได้ขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงสดับกิตติศัพท์พระสงฆ์ที่ไปศึกษาที่ลังกา กลับมาสั่งสอนอยู่ที่นครศรีธรรมราช รอบรู้พระธรรมวินัยและมีวัตรปฏิบัติน่าเลื่อมใส จึงได้ทรงอาราธนาขึ้นมา ตั้งสำนักและเผยแพร่คำสอน ณ กรุงสุโขทัย พระพุทธศาสนานิกายหีนยานแบบนี้ เรียกชื่อตามแหล่งที่มาว่า ลังกาวงศ์ และเป็นแบบที่เจริญรุ่งเรืองสืบมา เป็นศาสนาประจำชาติไทยถึงทุกวันนี้
เรื่องพระพุทธศาสนากับการศึกษาในประเทศไทยนั้น จะกล่าวถึงเฉพาะยุคที่ ๔ เท่านั้น เพราะเป็นสมัยที่ชนชาติไทยมีประวัติแห่งอิสรภาพต่อเนื่องกันเป็นของตนเอง มีระบบการและผลงานสร้างสรรค์ พร้อมทั้งหลักฐานต่างๆ ที่จะนำมาจำแนกชี้แจงได้เป็นส่วนจำเพาะต่างหากจากชนพวกอื่น แต่ที่เท้าความถึง ๓ ยุคแรกด้วย ก็เพื่อให้เห็นพื้นเพเดิม ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจเรื่องราวได้ดีขึ้น
สำหรับ ๓ ยุคแรกนั้น ขอกล่าวเพียงโดยสรุปว่า อิทธิพลของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และศาสนาพราหมณ์ ยังคงแฝงอยู่ในวัฒนธรรมไทย และได้มีส่วนช่วยปรุงแต่งชีวิตจิตใจของคนไทย สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะภาษาสันสกฤตและวรรณคดีสันสกฤต ที่เข้ามาเป็นส่วนประกอบอยู่ในภาษาไทยและวรรณคดีไทย ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ที่ยังคงยึดถือปฏิบัติกันในสังคมไทยนับแต่ราชพิธีลงมา ตลอดถึงความเชื่อถือในอำนาจลึกลับและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ซึ่งยังคงสภาพเป็นอิสระอยู่โดยชัดแจ้งบ้าง เข้าซ่อนเร้นแฝงอยู่ในคำสอนของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท และมีอำนาจชักจูงความเข้าใจ หรือตีความหลักธรรมให้ผิดแผกไปจากหลักการเดิมที่แท้จริงบ้าง อิทธิพลเหล่านี้ เมื่อพิจารณาด้วยวิจารณญาณ ก็จะเห็นได้ไม่ยาก
ส่วนในยุคที่ ๔ ซึ่งจะกล่าวเป็นพิเศษ ณ ที่นี้ เมื่อเก็บเฉพาะประวัติส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาโดยเฉพาะออกมากล่าว จะได้เรื่องราวโดยสังเขปตามลำดับสมัยดังนี้ :-
๑. สมัยสุโขทัย
ในรัชกาลที่ ๓ (พ.ศ. ๑๘๒๐-๑๘๖๐) เมื่อพ่อขุนรามคำแหงเสด็จขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๑๘๒๐ แล้ว พระองค์ได้แผ่ขยายพระราชอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าจนเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุดยุคหนึ่งของไทย พระองค์ทรงคิดตั้งแบบหนังสือไทยขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖ ทรงทำศิลาจารึกพระราชกรณียกิจและเรื่องราวต่างๆ ไว้ อันมีประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ ทรงบำรุงพระศาสนาและการศึกษาโดยอาราธนาพระสงฆ์ลังกาวงศ์ผู้รอบรู้พระไตรปิฎก จากนครศรีธรรมราช มาพำนักในกรุงสุโขทัย1 ดังความปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า
“พ่อขุนรามคำแหง กระทำโอยทานแก่มหาเถรสังฆราช ปราชญ์เรียนจบปิฎกไตรย หลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา”2
พระสงฆ์ลังกาวงศ์ที่มาจากนครศรีธรรมราช ชอบความวิเวก จึงโปรดให้อยู่ ณ วัดอรัญญิก นอกเมือง พ่อขุนรามคำแหง ได้เสด็จไปนมัสการท่านเป็นประจำทุกวันกลางเดือนและสิ้นเดือน ดังความในศิลาจารึกว่า
“วันเดือนดับเดือนเต็ม ท่านแต่งช้างเผือกกระพัดลยางเทียร ย่อมทองงา ขวาชื่อรูจาศรี พ่อขุนรามคำแหง ขึ้นขี่ไปนบพระ… อรัญญิกแล้วเข้ามา”3
การเสด็จไปนี้ แน่นอนว่า นอกจากเสด็จเยี่ยมเยียนแล้ว คงจะได้ทรงสนทนาซักถามเกี่ยวกับพระธรรมวินัย และกิจการพระศาสนาต่างๆ ด้วย นอกจากนั้นได้ทรงปลูกดงตาล ให้ประดิษฐานพระแท่นมนังคศิลากลางดงตาลนั้น ในวันธรรมสวนะ โปรดให้มหาเถระขึ้นนั่งแสดงธรรมแก่อุบาสกผู้จำศีล ส่วนในวันอื่นๆ พระองค์เสด็จขึ้นทรงอบรมข้าราชการและประชาชนเอง ดังความในจารึกว่า
“๑๒๑๔ ศก ปีมะโรง พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยนี้ ปลูกไม้ตาลนี้ได้สิบสี่เข้า จึงให้ช่างฟันขะดารหินตั้งหว่างกลางไม้ตาลนี้ วันเดือนดับเดือนออกแปดวัน วันเดือนเต็มเดือนบ้างแปดวัน ฝูงปู่ครูเถรมหาเถรขึ้นนั่งเหนือขะดารนี้ สวดธรรมแก่อุบาสกฝูงท่วยจำศีล ผิใช่วันสวดธรรม พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย ขึ้นนั่งเหนือขะดารหิน ให้ฝูงท่วย ลูกเจ้า ลูกขุน ฝูงท่วยถือบ้านถือเมืองกัน”4
ความที่พระองค์ทรงรอบรู้หลักธรรมในพระศาสนา และเอาพระทัยใส่ในการอบรมสั่งสอนพสกนิกรของพระองค์นั้น ยังมีข้อความในศิลาจารึกอื่นๆ ยืนยันอีกว่า
“ลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ผู้หนึ่ง ชื่อพ่อขุนรามราชปราชญ์รู้ธรรม”5 และว่า
“พ่อขุนรามคำแหงนั้นหาเป็นท้าวเป็นพระยาแก่ไทยทั้งหลาย หาเป็นครูอาจารย์สั่งสอนไทยทั้งหลายให้รู้บุญรู้ธรรมแท้”6
ตามความสันนิษฐานของปราชญ์ส่วนมาก เห็นว่าสุภาษิตพระร่วง ซึ่งจารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ รวม ๑๕๘ บท เป็นสุภาษิตของพ่อขุนรามคำแหง ถ้าความสันนิษฐานนี้ถูกต้อง ก็จะเห็นว่า พ่อขุนรามคำแหงทรงสั่งสอนหลักธรรมสำหรับการครองชีวิตในโลก ซึ่งประชาชนทั่วไปปฏิบัติได้ ข้อความในสุภาษิตก็ชัดเจนกินใจ มีอิทธิพลต่อวรรณคดีรุ่นหลัง เป็นที่นิยมอ้างอิงมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ข้อนี้ก็เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็น ปราชญ์ของพระองค์อีกอย่างหนึ่ง
พ่อขุนรามคำแหงมิใช่จะทรงเอาพระทัยใส่แต่ในการอบรมสั่งสอนเท่านั้น แต่ยังทรงเอาพระทัยใส่ในทุกข์สุขของประชาราษฎร์โดยทั่วไป ทรงแผ่พระบารมีคุ้มครองอยู่โดยใกล้ชิดตลอดเวลาด้วย ดังความในศิลาจารึกอีกตอนหนึ่งว่า
“ในปากประตูมีกะดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปก กลางบ้านกลางเมือง มีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจ มันจักกล่าวเถิงเจ้าเถิงขุนบ่ไร้ไปลั่นกะดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียก เมื่อถามสวนความกับมันด้วยซื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึงชม”7
ความร่มเย็นเป็นสุขของบ้านเมือง และความมีศีลธรรมของประชาชนนั้น ย่อมต้องเริ่มต้นมาแต่ผู้ปกครองประเทศเป็นสำคัญ ในกรณีของพ่อขุนรามคำแหงนั้น จะเห็นได้ชัดจากพระราชจริยาวัตร ตามพระราชดำรัสของพระองค์เองว่า
“เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู กูได้ตัวเนื้อ ตัวปลากูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดกินอร่อย กินดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตีหนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่บ้านท่เมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง ได้เงินได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู พ่อกูตาย ยังพี่กู กูพร่ำบำเรอแก่พี่กู ดังบำเรอแก่พ่อกู พี่กูตาย จึงได้เมืองแก่กูทั้งกลม”8
สภาพความอยู่ดีกินดี ความผาสุก และมีศีลธรรมของประชาชน ซึ่งเป็นผลจากการปกครองโดยธรรมของพระองค์ พร้อมด้วยการทำนุบำรุงพระศาสนา ตลอดจนการทรงอบรมสั่งสอนประชาชน จะเห็นได้จากความในศิลาจารึกเป็นต้นว่า
“เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส ลูกเจ้าลูกขุนผู้ใดแล้ ล้มหายตายกว่า เหย้าเรือนพ่อเชื้อเสื้อค้ามัน ช้างขอ ลูกเมีย เยียข้าว ไพร่ฟ้าข้าไทย ป่าหมาก ป่าพลู พ่อเชื้อมันไว้แก่ลูกมันสิ้น ไพร่ฟ้าลูกเจ้าลูกขุน ผิแลผิดแผกแสกว้างกัน สวนดูแท้แล้ จึงแล่งความแก่ข้าด้วยซื่อ บ่เข้าผู้หลักมักซ่อน เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พิน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด คนใดขี่ช้างมาหา พาเมืองมาสู่ ช่วยเหนือเฟื้อกู้ มันบ่มีช้างบ่มีม้า บ่มีปั่วบ่มีนาง บ่มีเงินบ่มีทอง ให้แก่มัน ช่วยมันตวงเป็นบ้านเป็นเมือง ได้ข้าเสือกข้าเสือหัวพุ่งหัวรบก็ดี บ่ฆ่าบ่ตี”9
“คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้าท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้า ลูกขุนทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษา กรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว”10
“แต่คนอันมีในเมืองไทย ด้วยรู้ด้วยหลวก ด้วยแกล้วด้วยหาญ ด้วยแคะด้วยแรง หาคนจักเสมอมิได้” 11
“กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีน้ำตระพังโพยสีใสกินดี ดังกินน้ำโขง เมื่อแล้ง…กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารศ มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม มีปู่ครู…มีเถร มีมหาเถร เบื้องตะวันตกเมืองสุโขทัยนี้ มีอรัญญิก…ในกลางอรัญญิก มีพิหารอันหนึ่ง มนใหญ่สูงงาม แก่กม มีพระอัฏฐารศอันหนึ่ง ลุกยืน เบื้องตะวันออกเมืองสุโขทัยนี้ มีพิหาร มีปู่ครู มีทะเลหลวง มีป่าหมาก ป่าพลู มีไร่มีนา มีถิ่นมีถาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก มีป่าม่วง มีป่าขาม ดูงามดังแกล้ง เบื้องตีนนอน เมืองสุโขทัยนี้ มีตลาดปสาน มีพระอัจนะ มีปราสาท มีป่าหมากพร้าว ป่าหมากลาง มีไร่มีนา มีถิ่นมีถาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีกุฎีพิหารปู่ครูอยู่ มิสรีดภงส มีป่าพร้าว ป่าลาง มีป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก”12
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๑๘๙๗-๑๙๑๙) แห่งสุโขทัย พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ก็ยิ่งเจริญรุ่งเรือง จนนับได้ว่าถึงขีดสุด พระเจ้าลิไท โอรสของพระเจ้าเลอไท เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๗ ทรงพระนามเมื่อราชาภิเษกว่า “พระเจ้าศรีสุริยพงศราม มหาธรรมราชาธิราช” ทรงศึกษาเชี่ยวชาญวิชาการทั้งทางโลก และทางธรรม ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข บำรุงพระศาสนาด้วยการสร้างเจดีย์วิหารและสังฆาวาส บำรุงการเล่าเรียนพระไตรปิฎก ทรงสร้างปราสาทราชมณเฑียรสถาน แล้วทรงเผดียงสงฆ์ให้เข้าไปเรียนพระไตรปิฎกในบริเวณมหาปราสาทนั้น ทรงรับภาระสั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชนเพิ่มเข้าในราชกิจด้วย เมื่อเสวยราชย์ได้ ๘ ปี ใน พ.ศ. ๑๙๐๔ ตรัสให้นิมนต์พระมหาสามีสังฆราชเมืองลังกา มาเป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงรับพระไตรสรณาคมน์ บรรพชาที่ในพระราชมณเฑียร แล้วเสด็จออกไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่ ณ ป่ามะม่วง ในอรัญญิก
พระปรีชาสามารถของพระองค์ ที่ทรงรอบรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก และวิชาการอื่นๆ เช่น ไตรเพท โหราศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เป็นต้น ปรากฏในศิลาจารึกต่างๆ เช่นว่า
“และพระองค์ทรงทราบวิธีวันอัฐมี บุรณมี อามาวสี เพ็ญดับและเดือนอาสาธสำหรับเข้าพรรษา และอธิกมาศ อธิกวาร ซึ่งจะมีมา และปีเป็นปกติก็ดี พระองค์ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงฤดูกาล ที่ไม่ถูกต้องตามลัทธิ พระพุทธศาสนา จึงทรงทำตำราทวาทศมาสเป็นเดิม ไม่มีนักปราชญ์ประเทศใดจะเสมอพระองค์ได้”13
“ทรงอาจเรียนพระไตรปิฎกจบเสร็จ เรียนพระวินัยอภิธรรม โดยโลกาจารย์มีพราหมณะและดาบสเป็นต้น สมเด็จบพิตรทรงพระราชบัญญัติคัมภีร์เพท ศาสตราคม ธรรมนิยายมีโชติศาสตร์ (ตำราโหร) เป็นต้น (ตำรา) พรรษา มาส สุริยคราธ จันทรคราธ ทรงสรรพพิจารณา พระองค์ทรงพระปรีชาโอฬาริก ฝ่ายผาลคุณานุต (คือวันสิ้นเดือนสี่) … และศักราชที่เกิน ทรงได้แก้ให้สิ้นเบาถูกต้อง พระองค์ทรงพิจารณา อูณ อธิกมาศ ทินวาร นักษัตร ให้ทราบเป็นสังเขป โดยกรรมสิทธิ์ สมเด็จบพิตร อาจถอน อาจลบ อาจเติม … โดยสิทธิศักดิ์พระกรรม ทุกมาตรา ปรากฏศรีเกียรติยศแท้”14
ในการทรงศึกษาวิชาการเหล่านี้ ปรากฏว่าพระสงฆ์ได้มีส่วนสำคัญในการถวายความรู้แก่พระองค์ด้วย เช่น ในการทรงพระราชนิพนธ์เรื่องไตรภูมิพระร่วง ก็มีข้อความแถลงไว้ว่า
“และพระธรรมทั้งหลายนี้ เอาออกมาแลแห่งแลน้อยและเอามาผสมกัน จึงสมมติชื่อว่าไตรภูมิกถาแลฯ พระธรรมทั้งหลาย นี้ เจ้าพระญาเลไทย อันเป็นกระษัตรพงษ ดังหรือละมาอาจผูกพระคัมภีร์ไตรภูมิกถานี้ได้ไส้ เพราะเหตุท่านนั้นทรงพระปิฎกไตรธรรม ธะได้ฟังได้เรียนแต่สำนักนิ์ พระสงฆ์เจ้าทั้งหลาย คือว่า มหาเถรมุนี ฟังเป็นอาทิครูมเรียนแต่พระอโนมทัสสี และพระมหาเถรธรรมปาลเจ้าบ้างฯ พระมหาเถรสิทธัฏฐเจ้าบ้างฯ พระ หาเถรพงษะเจ้าบ้างฯ พระมหาเถรปัญญาญาณทันธสฯ เรียนแต่ราชบัณฑิตย์ผู้ ๑ ชื่ออุปเสนราชบัณฑิตย์ผู้ ๑ ชออทราย ราชบัณฑิตย์ เรียนแต่ใกล้ด้วยสารพิไลย แต่พระมหาเถรพุทธโฆสาจารยในเมืองหริภุญไชย”15
ในด้านการศึกษาของพระสงฆ์ มีข้อสังเกตเป็นพิเศษว่า นอกจากจะทรงมีพระราชศรัทธาแรงกล้าถึงกับทรงอุทิศถวายพระมหาปราสาทเป็นที่เล่าเรียนแล้ว วิชาที่ศึกษายังมีทั้งสองฝ่าย คือทั้งวิชาการทางธรรมและทางโลก มิใช่จะศึกษาเฉพาะวิชาทางพระศาสนาอย่างเดียว ดังความในศิลาจารึกว่า
“ครั้งนั้นมีพระโองการ สั่งให้มุขอำมาตย์สร้างพระราชคฤหเหมปราสาทนพสูรย์ (คือเก้ายอด) และพระราชมณเฑียรสถาน พระพิมานจัตุรมุข แล้วไปด้วยศิลาและอิฐปูนให้เป็นที่แก่นสารถาวร ประกอบขจิตด้วยสรรพรัตนาเนกโสภาคย์ พิจิตรเสร็จสมพระราชประสงค์ พระองค์นำบาตรเต็มไปด้วยมธุปายาศ ประเคนพระสงฆ์เถรานุเถรในพระมหาปราสาท พระสงฆ์ทำภัตกิจเสร็จแล้ว ทรงอภิเษกสมณพราหมณาจารย์ตปศียติ สงฆ์ทั้งหลายเผดียงให้มาเล่าเรียนพระไตรปิฎกธรรม และศึกษาซึ่งศิลปศาสตร์ วิชาการต่างๆ ในบริเวณมหาปราสาทนั้น”16
ส่วนพระราชจริยาวัตรในด้านการสั่งสอนปกครอง และทำนุบำรุงพสกนิกร อันสัมพันธ์ถึงกันนั้น พึงทราบจากความในคำแปลศิลาจารึกอีกตอนหนึ่งว่า
“มีพระกระมลราชหฤทัยดังน้ำในมหาสมุทร และสาคร พระองค์ทรงพระกรุณาแก่ราษฎรยิ่งกว่าพระราชบุตร มนตรีและประชาราษฎร จะเอาวิญญาณกะทรัพย์ และอวิญญาณกะทรัพย์มาถวายพระองค์ๆ บมิได้รับกลับแนะนำชี้แจงแสดงธรรม ให้เอาไปทำการกุศลเกื้อหนุนในพระศาสนา ฝ่ายชาวเมืองก็มีศรัทธาเลื่อมใส พากันมานั่งฟังคำสั่งสอนของพระองค์ และปรารถนาจะเล่าเรียนวิปัสสนา พระองค์ท่านก็ตั้งพระทัยสั่งสอนสรรพสัตว์ทั่วให้ได้ทุกคน ท่านมิได้ปรารถนายินดีซึ่งอามิศ คิดแต่จะแนะนำสัตว์ที่ต้องทุกข์รับความสุขในปรโลก ถึงกาลในปัตยุบันนั้น ถ้าราษฎรในขอบขัณฑเสมาบางพวก ที่มีความผิดติดอยู่ในเวรจำจองต้องโทษราชทัณฑ์นั้นก็ทรงพระกรุณาบริจาค พระราชทานทรัพย์ช่วยไถ่โทษแผ่นดินให้พ้นทุกข์แล้วก็โปรดให้ไปทำมาหากินตามภูมิ พระองค์เสด็จเถลิงราชสมบัติ รักษาไพร่ฟ้าประชาราษฎร ด้วยพระมหากรุณาปรานีดังนี้ … ฝนตกต้องตามฤดู จนธัญญาหารและพืชพรรณผลไม้บริบูรณ์ทั่วหน้า ประชาราษฎรเป็นสุขสโมสรประชุมในเมืองนั้น ฝูงราษฎรมิได้เป็นทาสทาสาหามิได้ เป็นไทยพลเรือนทั้งสิ้นเป็นสุโขทั้งเมือง เหตุดังนี้ นามเมืองจึงปรากฏว่าเมืองศุโขทัย (คือไทยเป็นสุข)17
ผลงานอย่างหนึ่งของพระมหาธรรมราชาลิไท ที่ต้องนับว่ามีความสำคัญยิ่งในทางการศึกษา ก็คือหนังสือเตภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง18 พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ นอกจากเป็นหลักฐานยืนยันพระปรีชาสามารถของพระองค์ในทางอักษรศาสตร์ และความแตกฉานในคัมภีร์พุทธศาสนาแล้ว ยังได้มีอิทธิพลอันลึกซึ้งและยืนนานในการอบรมกล่อมเกลาอุปนิสัย และปลูกฝังทัศนคติบางอย่างแก่ชนชาติไทยสืบมาจนถึงสมัยปัจจุบัน อิทธิพลที่กล่าวนี้ คือการสร้างความรู้สึกเกี่ยวกับคุณค่าในทางจริยธรรม แล้วปรุงแต่งความนึกคิดและจินตนาการให้สะท้อนออกมาในส่วนต่างๆ ของวัฒนธรรมไทย มีศิลปกรรม วรรณคดี และแบบแผนความประพฤติเป็นต้น
พระราชประสงค์เดิมของพระมหาธรรมราชาลิไท คงทรงพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ เพื่ออธิบายความในพระอภิธรรม และเพื่อเทศนาโปรดพระราชมารดา ดังความในบานแพนกเดิมของหนังสือว่า
“จึงได้ไตรภูมิ ถามุนใส่เพื่อใด ใส่เพื่อมีอัตถพระอภิธรรม และจะใคร่เทศนาแก่พระมารดาท่าน”19
แต่เมื่อทรงพระราชนิพนธ์ออกมาแล้ว ก็คงจะได้ใช้ในการศึกษาเล่าเรียน และเป็นคู่มือในการอบรมสั่งสอนธรรม เป็นที่นิยมแพร่หลายตลอดมา อย่างที่ว่า “เรื่องไตรภูมิเป็นเรื่องที่นับถือกันแพร่หลายมาแต่โบราณ ถึงคิดขึ้นเป็นรูปภาพเขียนไว้ตามฝาผนังวัด และเขียนจำลองลงไว้ในสมุด มีมาแต่ครั้งกรุงเก่า ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้”20 และคงจะถือเป็นหนังสือสำคัญในหมู่คัมภีร์พระศาสนา มีการคัดลอกสืบต่อกันตลอดมา เช่นอย่างฉบับที่นำมาพิมพ์เผยแพร่ในปัจจุบัน ก็เป็นของจารขึ้นในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี แลเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คงเข้าใจกันว่าหนังสือไตรภูมิของเดิมสาบสูญไปเสียแต่ครั้งกรุงเก่า จึงปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงพระกรุณาให้พระราชาคณะและราชบัณฑิตช่วยกันแต่งหนังสือไตรภูมิขึ้น ๑ จบ และอีก ๑๙ ปีต่อมา ก็ได้โปรดให้พระยาธรรมปรีชาแต่งใหม่อีกครั้งหนึ่ง ความที่ว่ามานี้แสดงให้เห็นความสำคัญของหนังสือไตรภูมิพระร่วง และประวัติอันสืบเนื่องต่อมาของหนังสือนี้ ซึ่งจะได้เห็นข้างหน้าต่อไปอีก
ในทางศิลปะและวรรณคดี ไตรภูมิพระร่วงมีอิทธิพลอย่างไร ขอยกคำของเสฐียรโกเศศมาอ้างดังนี้
“เรื่องไตรภูมิ ส่วนมากย่อมเป็นบ่อเกิดแห่งความคิดและการบันดาลใจ ให้กวีและศิลปินนำไปใช้แต่งเป็นหนังสือ เขียนเป็นภาพและปั้นเป็นรูปขึ้น ตลอดจนคำพูดในภาษาซึ่งเป็นสำนวนเปรียบเทียบ ก็ได้มาจากเรื่องไตรภูมิไม่น้อย ผู้ใดขาดความรู้เรื่องไตรภูมิ ก็ยากที่จะเข้าใจได้ทราบซึ้ง ถึงความงามความไพเราะแห่งกวีนิพนธ์และศิลปกรรมของไทย เป็นทำนองเดียวกับผู้อ่านวรรณคดีภาษาอังกฤษ ถ้าขาดความรู้เรื่องทวยเทพและเรื่องศาสนาของกรีกและโรมัน และเรื่องศาสนาคริสต์ ก็จะไม่สามารถอ่านกวีนิพนธ์ หรือดูศิลปกรรมของฝรั่ง ให้เข้าใจทราบซึ้ง และรู้ค่าอันแท้จริงของกวีนิพนธ์และศิลปกรรมนั้นๆ ได้”
เรื่องไตรภูมิมีแทรกอยู่ในวรรณคดีไทยแทบทุกเรื่อง ยกตัวอย่างที่รู้จักกันแพร่หลาย คือบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนลอบขึ้นไปหานางวันทองซึ่งเดิมเป็นภรรยาของตน แต่ขุนช้างแย่งเอาไป เมื่อขุนแผนขึ้นไปบนเรือนขุนช้าง เห็นม่านที่กั้นอยู่ก็ตกตะลึงดูเพลินใจ หวนคิดถึงความหลัง คิดถึงนางวันทองขึ้นมาทันทีว่า
“ม่านนี้ฝีมือวันทองทำ จำได้ไม่ผิดนัยน์ตาพี่
…………………………….. ……………………………
ปักเป็นหิมพานต์ตระหง่านงาม อร่ามรูปพระสุเมรุภูผา
วินันตกอัสกรรณเป็นหลั่นมา การวิกอิสินธรยุคนธร
อากาศคงคาชลาสินธุ์ มุจลินท์ห้าแถวแนวสลอน
ไกรลาสสะอาดเอี่ยมอรชร ฝูงกินนรคนธรรพ์วิทยา
ลงเล่นน้ำดำดั้นอโนดาต ใสสะอาดเยือกเย็นเห็นขอบผา
หมู่มังกรล่อแก้วแพรวพรายตา ทัศนารำลึกถึงวันทอง”21
อิทธิพลที่กล่าวมานี้ ถึงอย่างไรก็คงเป็นแต่อิทธิพลชั้นนอกๆ หรือผลขั้นปลายๆ ต่อจากขั้นในแท้ออกมาอีกทีหนึ่ง ส่วนวัตถุประสงค์พื้นฐานแท้ของหนังสือนี้ ก็คงเป็นการแถลงความรู้และสั่งสอนหลักธรรมในทางพระศาสนา (เฉพาะแง่หนึ่ง หรือตามความเข้าใจแบบหนึ่ง) มุ่งให้เกิดอิทธิพลทางจริยธรรม ที่ประณีตลึกซึ้งถึงแก่นจิตใจ โดยเฉพาะที่เป็นจุดเด่นคือ ให้กลัวนรกจะได้เว้นบาป และให้หวังสวรรค์จะได้ทำแต่บุญ จนถึงขั้นสุดท้าย สร้างสมภารบารมีเพื่อเข้าถึงนิพพาน เป็นอิสระรอดพ้นจากสังสารวัฏสิ้นเชิง
อนึ่ง ควรสังเกตด้วยว่า คำอ้างถึงนิพพานว่ามหานคร อย่างหนึ่ง และข้อความเอ่ยถึงพระศรีอริยเมตไตรย อีกอย่างหนึ่ง ได้มีปรากฏในหนังสือไตรภูมิพระร่วงนี้แล้ว แม้ว่าในข้อความที่เอ่ยถึงพระศรีอาริย์นั้น จะมิได้มีคำพรรณนาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และสภาพอันน่าชวนใจต่างๆ เหมือนอย่างวรรณคดีบางเรื่องในสมัยต่อมา แต่ก็เป็นเครื่องชี้ให้เห็นเชื้อหรือแนวแห่งความเชื่อถือนี้ที่มีอยู่แล้ว และเป็นข้อสังเกตสำหรับนำมาพิจารณา เปรียบเทียบให้เห็นวิวัฒนาการแห่งระบบค่านิยมของสังคมไทยต่อไป
เหตุการณ์สำคัญของพระศาสนาในรัชกาลนี้ ที่แสดงให้เห็นพระราชศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนาถึงระดับสูงสุด และมีผลเกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งของพระองค์เองและของชนชาติไทยต่อมาเป็นอันมาก คือการอาราธนาพระมหาสวามีสังฆราชมาแต่ลังกา และได้เสด็จออกทรงผนวชชั่วคราว ใน พ.ศ. ๑๙๐๔ ดังความในศิลาจารึกว่า
“เสด็จเสวยราชสมบัติ ในศรีสัชนาไลยสุโขทัย ได้ ๒๒ ปี ลุมหาศักราช ๑๓๘๓ ศกฉลู สมเด็จบพิตรตรัสให้ราชบัณฑิต ไปอาราธนามหาสามีสังฆราชอันกอบด้วยศีล ทรงเรียนพระไตรปิฎกจบ อันสถิตอยู่ในลังกาทวีป ซึ่งมีศีลาจาร คล้ายกับขีณาสพครั้งโบราณ (ตรัสให้อาราธนามหาสามี) จากนครพัน แล้วมาถึงครึ่งทาง จึงรับสั่งให้นายช่างปลูกกุฎีวิหารระหว่างป่ามะม่วง อันมีในทิศประจิมเมืองสุโขทัยนี้”22
และในการทรงผนวชต่อมา ก็พึงสังเกตพระราชอัธยาศัย ที่แนบสนิทแน่นแฟ้นในพระศาสนา จากพระราชสัตยาธิษฐานที่ว่า
“แล้วทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า เดชะกุศลแต่หนหลัง และผลบุญที่อาตมบรรพชาอุปสมบทต่อพระบวรพุทธศาสนาคราวนี้ อาตมไม่ปรารถนาสมบัติอินทร์พรหมและจักรพรรดิสมบัติหามิได้ ปรารถนาเป็นองค์พระพุทธเจ้านำสัตว์ข้ามไตรภพนี้เทอญ”23
ก่อนจบสมัยสุโขทัย มีสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเว้นกล่าวถึง คือควรระลึกไว้ด้วยว่าสมัยสุโขทัยเป็นยุคที่ศิลปะรุ่งเรืองมากสมัยหนึ่ง และศิลปกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ ได้อาศัยแรงบันดาลใจจากพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยที่ยอมรับกันว่า เป็นศิลปะด้านนี้ที่เจริญถึงขีดสุด
ข้อสันนิษฐานเชิงวิจารณ์เพิ่มเติม
ข้อความที่กล่าวมานี้ ทำให้สันนิษฐานความในทางการศึกษาได้เป็นอันมาก ซึ่งกล่าวได้สั้นๆ ว่า พระพุทธศาสนา ได้เป็นแหล่งการศึกษาสำคัญในสมัยสุโขทัย เริ่มแต่การศึกษาขององค์พระมหากษัตริย์เป็นต้นไป
ธรรมดาพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ ย่อมทรงพิจารณาศึกษาพระจริยาวัตรของพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในอดีต ว่าอะไรเป็นพระราชประเพณี และผลสำเร็จอันสำคัญที่พึงอนุวัตรตาม หรือนำมาดัดแปลงแก้ไขใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไร เมื่อพิจารณาพระราชจริยาวัตรของพ่อขุนรามคำแหง ก็เห็นว่ามีส่วนเทียบเคียงได้กับพระมหาราชในคัมภีร์พุทธศาสนา และผู้ทรงเป็นพุทธศาสนิกชน ๒ พระองค์ คือ ในด้านการทรงสร้างและจัดรูปร่างบรรยากาศของบ้านเมือง พระจริยาวัตรคล้ายกับพระเจ้ามหาสุทัศน์ ในมหาสุทัสสนสูตร ในทีฆนิกายมหาวรรค แห่งพระสุตตันตปิฎก24 และในด้านการทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เทียบได้กับพระเจ้าอโศกมหาราช เช่น การที่ได้ทรงแผ่ขยายพระราชอาณาเขตอย่างกว้างขวางในเบื้องต้น แล้วทรงหันมาทำนุบำรุงบ้านเมือง ทรงอบรมสั่งสอนราษฎรด้วยพระองค์เอง ทรงใส่พระทัยในทุกข์สุขของราษฎร25 และวางพระองค์ต่อราษฎรดุจบิดากับบุตร ราษฎรได้ใกล้ชิดเข้าถึงได้ ทรงให้จารึกหลักศิลา26 และบำรุงพระศาสนาเป็นต้น พ่อขุนรามคำแหงทรงสนพระทัยในพระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง การที่ได้ทรงศึกษาคัมภีร์ศาสนา และได้สนทนากับพระสงฆ์ผู้ใหญ่ ย่อมทำให้พระองค์ทรงทราบพระจริยาวัตรของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตเหล่านั้น และโดยที่เป็นสิ่งกลมกลืนกับพระอัธยาศัย หรือสอดคล้องกับพระราชดำริของพระองค์อยู่แล้ว จึงช่วยเป็นแรงสนับสนุนพระทัย ในการทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเช่นนี้ และข้อนี้ย่อมนับได้ว่าเป็นผลของพุทธศาสนธรรมในทางการศึกษาระดับสูงสุด ซึ่งปรากฏออกมาเป็นความเจริญก้าวหน้าทางวัฒนธรรมของชาติ และความร่มเย็นเป็นสุขของประชาชน ซึ่งเป็นผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าการได้ปราบปรามมีชัยชนะเหนือดินแดนต่างๆ เสียอีก
พึงสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า การทรงใกล้ชิดกับราษฎร เปิดโอกาสให้ราษฎรเข้าถึงนี้ นอกจากอาจเป็นเพราะทรงดำเนินตามพระราชจริยาวัตรของกษัตริย์ชนชาติไทย อันสืบมาแต่โบราณแล้ว ยังสอดคล้องกับหลักพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทด้วย และในเวลาเดียวกัน ก็เป็นการขัดกับประเพณีกษัตริย์ผู้ถือศาสนาพราหมณ์ ที่ยกฐานะกษัตริย์เป็นดุจเทพเจ้า หรือการปกครองแบบนายกับบ่าว อย่างของขอมเป็นต้น พ่อขุนรามคำแหงครองราชย์ต่อเนื่องมาจากพ่อเมืองแบบไทย คือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงมีอำนาจยิ่งใหญ่ขึ้น แต่ยังคงทรงดำรงพระจริยาวัตรต่อประชาชนแบบพ่อกับลูกไว้ ท่ามกลางอิทธิพลวัฒนธรรมขอม ก็อาจจะเป็นด้วยมีคำสอนฝ่ายเถรวาทสนับสนุนไว้อีกส่วนหนึ่ง
สำหรับพระมหาธรรมราชาลิไทนั้น ยิ่งเห็นได้ชัดถึงพระจริยาวัตรที่ทรงดำเนินตามแบบพระเจ้าอโศกมหาราช27 โดยเฉพาะการเสด็จออกอุปสมบทชั่วคราว การเสด็จออกอุปสมบทครั้งนี้ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ประเทศไทยจะได้มีประเพณีบวชเรียนต่อมา แม้ว่าในสมัยสุโขทัยจะยังไม่เกิดประเพณีนี้ แต่ก็เป็นการริเริ่มที่จะมีผลขึ้นในสมัยอยุธยาต่อไป ส่วนการทรงพระกรุณาให้ใช้พระราชมณเฑียร เป็นสถานที่เล่าเรียนของพระภิกษุสามเณร ก็แสดงให้เห็นว่าทรงเอาพระทัยใส่สนับสนุนการศาสนศึกษาเพียงใด และการศาสนศึกษาของพระสงฆ์ครั้งนั้น ก็คงต้องเจริญไม่น้อยเป็นแน่ นอกจากนี้ ยังเป็นเหตุให้ประเพณีพระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานอุปถัมภ์ให้พระสงฆ์เล่าเรียนในวัง ได้สืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ด้วย
ส่วนการศึกษาสำหรับประชาชน ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่า ทางฝ่ายพระศาสนาได้จัดให้ในรูปโดยตรงหรือเป็นแบบแผนอย่างไร แต่ที่แน่นอนก็คือการอบรมสั่งสอนกล่อมเกลาอุปนิสัยใจคอ และให้ความรู้ทางพระศาสนา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี โดยการอบรมสั่งสอนจากองค์พระมหากษัตริย์เองบ้าง จากพระสงฆ์บ้าง เช่นที่พระแท่นมนังคศิลา เป็นต้น และงานสมโภชพิธีกรรมต่างๆ นอกจากนี้ ผลงานทางศิลปกรรมและงานก่อสร้างต่างๆ ก็แสดงว่า ได้มีการฝึกอบรมในทางวิชาช่างและศิลปะต่างๆ เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม มีข้อแตกต่างอย่างน้อย ๒ ประการ ที่ควรสังเกตระหว่างรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงกับรัชกาลพระมหาธรรมราชาลิไท
ประการแรก เกี่ยวกับอิทธิพลของขอมและศาสนาพราหมณ์ อาณาจักรสุโขทัยเคยอยู่ในอำนาจขอมมาก่อนแล้วตั้งตัวเป็นอิสระ เจริญขึ้นมาในวงล้อมของอิทธิพลวัฒนธรรมขอม แต่ในรัชกาลต้นๆ โดยเฉพาะพ่อขุนรามคำแหง คงจะได้ทรงพยายามกำจัดอิทธิพลขอมลงให้เหลือน้อยที่สุด และเสริมสร้างลักษณะแบบไทยให้เข้มแข็งและมั่นคง เช่น ในทางภาษา ทรงประดิษฐ์ จัดวางระเบียบอักษรไทยขึ้นใหม่ (พ.ศ. ๑๘๒๖) แสดงเป็นตัวอย่างไว้ในศิลาจารึก ในทางศิลปะ ทรงขุดพระบรมธาตุที่เมืองศรีสัชนาลัย ออกให้คนบูชา แล้วก่อพระเจดีย์ทรงสถูปบรรจุแทน (พ.ศ. ๑๘๓๑) และเจดีย์สมัยสุโขทัยก็สร้างแบบสถูปลังกา หรือแบบที่คิดขึ้นใหม่ของไทยเองมาตลอด ครั้นถึงรัชกาลพระมหาธรรมราชาลิไท จะเป็นด้วยอิทธิพลวัฒนธรรมขอมแรงขึ้น จนยั้งไม่ไหว หรือพระ องค์ทรงหันไปนิยมเอง หรือประกอบกันทั้งสองอย่าง หรือเพื่อประสานประโยชน์ก็ตาม การณ์ปรากฏว่า แบบอย่างขอมกลับ เจริญขึ้นในสุโขทัยอีก เริ่มแต่พระนามของพระมหาธรรมราชาลิไทเองที่ปรากฏในศิลาจารึก มีคำนำว่าพระบาทกมรเต็งอัญ ศิลาจารึกก็กลับนำเอาภาษาขอมมาใช้จารึกด้วย เมื่อจะทรงผนวช ก็ทรงสมาทานศีลเป็นดาบสก่อน28 ในทางวิชาการก็ปรากฏในศิลาจารึก ยกเอาการที่พระองค์ได้ทรงศึกษาจบไตรเพท โหราศาสตร์และศาสตราคม ขึ้นเป็นข้อสรรเสริญพระเกียรติคุณส่วนหนึ่งด้วย ดังนี้เป็นต้น
ประการที่สอง เกี่ยวกับธรรมที่ทรงอบรมสั่งสอนประชาชน ข้อนี้สัมพันธ์ต่อเนื่องกับข้อแรกด้วย ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง พระองค์ทรงสอนหลักธรรมสำหรับชีวิตประจำวัน ที่ประชาชนทั่วไปนำไปใช้ครองชีวิตในสังคมของชาวโลกตามปกติได้เป็นปัจจุบัน และถ้าสุภาษิตพระร่วงเป็นของพระองค์จริง ความที่อ้างนั้นก็ยิ่งชัดเจนหนักแน่นขึ้นอีก แต่ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท พระองค์ทรงสอนธรรมชั้นสูง แสดงหลักอภิธรรม การปฏิบัติกรรมฐาน เน้นในด้านความกลัวและความหวังเกี่ยวกับชีวิตในภพหน้า และมีเค้าคติมหายานเข้าแฝง อันพึงสังเกตได้ในไตรภูมิกถา29 และแม้ในศิลาจารึก
สำหรับกรณีหลังนี้ หากการทรงอบรมสั่งสอนธรรมแก่ประชาชนของพระร่วงทั้งสองพระองค์มีความสัมพันธ์กับนโยบายธรรมวิชัยของพระเจ้าอโศกมหาราชแล้ว ก็จะต้องเห็นว่า หลักธรรมของพ่อขุนรามคำแหงใกล้เคียงกับพระเจ้าอโศกมหาราชมากกว่าของพระมหาธรรมราชาลิไท เพราะหลักธรรมของพระเจ้าอโศกล้วนเป็นข้อปฏิบัติสำหรับการครองชีวิตในสังคมของชาวโลก หรือหลักความประพฤติในปัจจุบันทั้งสิ้น อันนี้เป็นปฏิปทาที่พระมหาธรรมราชาลิไท แตกต่างจากพระเจ้าอโศกมหาราชอย่างหนึ่ง
เรื่องที่พระมหาธรรมราชาลิไททรงประพฤติตามแบบอย่างของพระเจ้าอโศกมหาราชนี้ มีพระมติของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่น่าสนใจ และเห็นว่าเกี่ยวข้องในด้านการศึกษา จึงขอคัดมาไว้เป็นการสรุปจบท้ายสมัยสุโขทัย ดังนี้
“ความวรรคหลัง (ของพระนามเมื่อราชาภิเษก) แสดงพระเกียรติยศว่าเป็น “พระมหาธรรมราชาธิราช” แปลกกับพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนและเป็นครั้งแรกที่จะใช้พระเกียรติยศเช่นนั้นในพระเจ้าแผ่นดินไทย คงเป็นเพราะพระเจ้าลือไทย ได้ทรงศึกษาในสำนักพระเถระชาวลังกา ซึ่งมาเป็นครูบาอาจารย์สอนกุลบุตรอยู่ในพระนครสุโขทัย ทรงทราบคติที่นับถือกันในลังกาทวีปแต่โบราณมาว่า พระเจ้าแผ่นดินอาจจะมีพระเกียรติยศถึงสูงสุด ด้วยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์อย่าง ๑ หรือเป็นพระเจ้าธรรมราชาอย่าง ๑ (ซึ่งไทยเรียกย่อว่าเป็น “พระยาจักร” หรือ “พระยาธรรม”) และอ้างพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นตัวอย่าง ว่าเดิมทรงบำเพ็ญพระบารมีตามจักรวรรดิวัตรจนได้เป็นพระเจ้าราชาธิราชแล้ว เมื่อทรงเลื่อมใสพระพุทธศาสนาเกิดสังเวชว่า การที่บำเพ็ญจักรวรรดิวัตรนั้นต้องรบพุ่งฆ่าฟันผู้คนให้ล้มตายเป็นบาปกรรม แต่นั้นก็เลิกรบพุ่งหันมาทรงบำเพ็ญพระบารมีโดยทางธรรมด้วยอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาและสั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชน ทำนุบำรุงพระราชอาณาเขตให้เจริญรุ่งเรืองด้วยประการต่างๆ จนได้พระนามว่า “พระเจ้าศรีธรรมาโศก” ทรงพระเกียรติเป็นพระเจ้าธรรมราชาปรากฏสืบมา พระเจ้าลือไทยคงทรงเลื่อมใสในคติเช่นว่านั้น มาตั้งแต่ก่อนแล้ว ครั้นได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต้องทรงพระราชดำริถึงทางที่จะบำเพ็ญพระบารมี เห็นว่ากรุงสุโขทัยเสื่อมอานุภาพมาแต่ในรัชกาลพระเจ้าเลอไทย ถ้าบำเพ็ญจักรวรรดิวัตรเหมือนอย่างเมื่อครั้งพระเจ้ารามคำแหง ก็จำต้องรบพุ่งตีบ้านเมืองเอากลับมาเป็นราชอาณาเขตดังแต่ก่อน ถ้าไม่สำเร็จก็ยิ่งซ้ำร้าย จึงหันไปบำเพ็ญพระบารมีเป็นพระเจ้าธรรมราชา ด้วยอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาและทำนุบำรุงบ้านเมืองในพระราชอาณาเขต ให้เจริญรุ่งเรืองโดยทางสันติภาพตามเยี่ยงอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช จึงประกาศพระเกียรติยศเป็นพระเจ้าธรรมราชามาแต่แรกเสวยราชย์ ก็ได้พระนามเรียกในพงศาวดารว่า “พระมหาธรรมราชา” เป็นพระองค์ที่ ๑ ในพระเจ้าแผ่นดินที่ครองกรุงสุโขทัยสืบมา”
“ลักษณะการต่างๆ ที่พระเจ้าลือไทยทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองเมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ปรากฏในศิลาจารึก ก็เห็นได้ว่าเอาแบบพระเจ้าอโศกมหาราชมาทำตาม เป็นต้นแต่อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยสร้างพระเจดีย์วิหารและสังฆาวาส ทั้งบำรุงการเล่าเรียนพระไตรปิฎก แม้จนประทานอนุญาตให้ใช้ราชมนเทียร เป็นที่พระภิกษุสามเณรเล่าเรียนที่ในพระราชวัง อาจเป็นต้นแบบอย่างที่มีจนในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ส่วนพระองค์ก็ทรงรับภาระสั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชนเพิ่มเข้าในราชกิจด้วย แต่เพียงนั้นยังไม่พอแก่พระราชศรัทธา ถึง พ.ศ. ๑๙๐๕30 เมื่อเสวยราชย์ได้ ๕ ปี31 ตรัสให้ไปนิมนต์พระมหาสามีสังฆราช เมืองลังกามาเป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่คราวหนึ่งตามเยี่ยงอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช”
ในด้านอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ที่เพิ่มมากขึ้น ความทรงเป็นปราชญ์ และผลการทำนุบำรุงบ้านเมือง ทรงมีมติดังนี้
“ในส่วนวิชาไสยศาสตร์นั้น สังเกตในศิลาจารึกครั้งพระเจ้ารามคำแหงยังเป็นแต่นับถือผี32 มาถึงพระเจ้าลือไทยจึงทรงบำรุงศาสนาพราหมณ์ เช่น ให้หล่อเทวรูปและสร้างเทวาลัย ทั้งจัดระเบียบพิธีพราหมณ์ ซึ่งบางที่จะเป็นโครงของลักษณะพิธีทวาทศมาส ที่เอาขยายแต่งเป็นคำของนางนพมาศในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ แม้รูปพระอิศวรกับรูปพระนารายณ์องค์ใหญ่ทั้งคู่ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถาน ฯ ในกรุงเทพ ฯ บัดนี้ ก็เห็นจะสร้างเมื่อครั้งพระเจ้าลือไทย แม้อุบายที่ประสานพระพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ ด้วยถือเป็นคติว่าเทวดาในศาสนาพราหมณ์เป็นสัมมาทิฐิ ช่วยรักษาพระพุทธศาสนา ก็น่าจะเกิดขึ้นแต่ครั้งนั้น ส่วนโหราศาสตร์นั้น ในศิลาจารึกสรรเสริญพระคุณวิเศษของพระเจ้าลือไทย ว่าทรงสามารถจะทำปฏิทิน และถอดลบเดือนปี ข้อนี้ก็ตรงกับที่กล่าวกันในชั้นหลังว่า “พระร่วงลบศักราช” เป็นแต่อ้างผิดพระองค์ไป ข้อที่ว่าทรงชำนาญอักษรศาสตร์นั้น ก็เป็นธรรมดาของผู้เล่าเรียนคัมภีร์พระไตรปิฎก นอกจากนั้นยังสังเกตได้ที่ศิลาจารึกครั้งพระเจ้าลือไทย ได้แก้ไขทั้งรูปตัวพยัญชนะและที่วางสระ เปลี่ยนแปลงจากแบบของพระเจ้ารามคำแหง ให้อ่านเขียนสะดวกขึ้น ทั้งภาษาที่ใช้ในศิลาจารึกครั้งพระเจ้าลือไทย ก็เพริศพริ้งยิ่งกว่าแต่ก่อน ตามหลักฐานที่กล่าวมา สมควรจะนับถือว่าพระเจ้าลือไทยเป็นนักปราชญ์ได้ทุกสถาน”
“พระเกียรติที่ทรงรอบรู้พระไตรปิฎก คงเลื่องลือแพร่หลาย จึงเรียกพระนามเฉลิมพระเกียรติอีกพระนาม ๑ ว่า “พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก” แต่ผู้แต่งหนังสือพงศาวดารเหนือหลงเอาไปอ้างว่าเป็นพระเจ้าเชียงแสน อันมิได้มีในเรื่องพงศาวดารของเมืองนั้นเอง หรือเมืองใดๆ นอกจากที่กรุงสุโขทัย”
“…แม้จะไม่สามารถขยายราชอาณาเขต ให้กว้างขวางใหญ่ได้เหมือนเมื่อครั้งพระเจ้ารามคำแหง บ้านเมืองในสมัยพระเจ้าลือไทย ก็คงสมบูรณ์พูนสุขยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนทั่วพระราชอาณาเขต เพราะเช่นนั้นชาวกรุงสุโขทัยจึงนับถือพระเจ้าลือไทย เป็นพระเจ้ามหาราชเช่นเดียวกับพระเจ้ารามคำแหงอีกพระองค์หนึ่ง ถึงรัชกาลภายหลังให้เอางาช้างเผือกทำพระรูปขึ้นไว้บูชาในเทวาลัยเป็นคู่กันทั้งสองพระองค์ แต่คนชั้นหลังเรียกกันว่ารูป “พระร่วง” กับ “พระลือ”33
๒. สมัยอาณาจักรลานนาไทย
อาณาจักรลานนาไทย เป็นอาณาจักรไทยอีกแห่งหนึ่ง ที่ตั้งตนขึ้นและรุ่งเรืองอยู่ในสมัยเดียวกับอาณาจักรสุโขทัย แต่ได้เจริญอยู่ต่อมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น ถ้ากำหนดเอาพิธีปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ที่นครลำพูนของพระเจ้าเม็งรายเป็นเริ่มต้น และถือเอาการที่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ส่งราชบุตรไปครองเมืองเชียงใหม่เป็นสิ้นสุด ก็จะได้สมัยอาณาจักรลานนาไทย สำหรับศึกษาในที่นี้ แต่ พ.ศ. ๑๘๒๔ ถึง ๒๑๒๑34 เนื่องจากประวัติของอาณาจักรนี้เป็นไปในสมัยเดียวกับอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยาตอนต้น ทั้งมีเหตุการณ์เกี่ยวข้องถึงกัน จึงควรทราบความสัมพันธ์ในด้านกาลสมัยระหว่างอาณาจักรเหล่านี้ไว้ด้วย เพื่อในเวลาศึกษาจะได้นึกเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ตอนแรกนี้ จึงขอแสดงลำดับรัชกาลในอาณาจักรทั้งสามนี้ไว้เปรียบเทียบกันก่อน
ลานนาไทย | สุโขทัย | ||
---|---|---|---|
เม็งราย | ๑๘๐๕-๑๘๕๔35 | รัชกาล ๑-๒ | ๑๘๐๐-๑๘๒๐ |
ชัยสงคราม | ๑๘๕๕-๑๘๕๕36 | รามคำแหง | ๑๘๒๐-๑๘๖๐ |
แสนภู | ๑๘๕๕-๑๘๗๘ | เลอไท | |
คำฟู | ๑๘๗๘-๑๘๗๙ | ||
ผายู | ๑๘๘๐-๑๘๙๙ | ลิไท | ๑๘๙๗-๑๙๑๙ |
กือนา | ๑๘๙๙-๑๙๒๘ | ไสยลือไท | ๑๙๑๙-๑๙๒๐ |
อยุธยา | |||
อู่ทอง | ๑๘๙๓-๑๙๑๒ | ||
แสนเมืองมา | ๑๙๒๙-๑๙๔๕ | ราเมศวร+บรมราช, | ๑๙๑๒-๑๙๓๑ |
ทองลัน+ราเมศวร | ๑๙๓๑-๑๙๓๘ | ||
สามฝั่งแกน | ๑๙๔๕-๑๙๘๔ | รามราชาธิราช | ๑๙๓๘-๑๙๕๒ |
นครอินทราฯ | ๑๙๕๒-๑๙๖๗ | ||
ติโลกราช | ๑๙๘๔-๒๐๓๐ | สามพระยา | ๑๙๖๗-๑๙๙๑ |
บรมไตรโลกนาถ | ๑๙๙๑-๒๐๓๑ | ||
พระเมืองยอด | ๒๐๓๑-๒๐๓๘ | บรมราช ๓ | ๒๐๓๑-๒๐๓๔ |
พระเมืองแก้ว | ๒๐๓๘-๒๐๖๘ | รามาธิบดีที่ ๒ | ๒๐๓๔ ๒๐๗๒ |
บรมราช ๔ +รัษฎาฯ | ๒๐๗๒-๒๐๗๖ | ||
พระเมืองเกศเกล้า | ๒๐๖๘-๒๐๘๘ | ชัยราชา+แก้วฟ้า | ๒๐๗๗-๒๐๙๑ |
เจ้าจิรประภา ฯลฯ | ๒๐๘๘-๒๑๒๑37 | จักรพรรดิ+มหินทร | ๒๐๙๑-๒๑๑๒ |
พระมหาธรรมราชา | ๒๑๑๒-๒๑๓๓ |
ในสมัยลานนาไทยนี้ มีเหตุการณ์สำคัญทางพระศาสนา ที่จัดว่าเกี่ยวข้องกับการศึกษา พอสรุปได้ดังนี้
ในรัชกาลพระเจ้ากือนา หรือตื้อนา หรือเรียกตามพระนามที่ได้รับยกย่องว่า พระเจ้ากือนาธรรมิกราช พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทรงศึกษาศิลปกรรมต่างๆ ชำนาญในโหราศาสตร์ ศัพทศาสตร์ เพทางคศาสตร์ และคชศาสตร์เป็นต้น ทรงทศพิธราชธรรม ประชาชนมีความสงบสุข ครั้งนั้นตรงกับรัชกาลพระยาลิไท แห่งสุโขทัย พระพุทธศาสนากำลังรุ่งเรืองในสุโขทัย พระมหาสวามีสังฆราชได้รับอาราธนามายังสุโขทัย และพระยาลิไทก็ได้ทรงผนวชแล้วแต่ พ.ศ. ๑๙๐๔ พระเจ้ากือนาได้ทรงสดับกิตติคุณของพระสุมนเถรแห่งสุโขทัยและทรงมีพระประสงค์จะประดิษฐานพระพุทธศาสนาอย่างลังกาวงศ์ ให้แน่นแฟ้นในอาณาจักรของพระองค์ จึงในราว พ.ศ. ๑๙๑๓ พระองค์ได้ทรงส่งทูตมายังอาณาจักรสุโขทัย ขออาราธนาพระสุมนเถรไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในลานนาไทย เมื่อพระสุมนเถรไปเชียงใหม่ครั้งนั้นได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปจากเมืองสุโขทัยด้วยครั้งแรก พระสุมนเถรไปอยู่ ณ วัดพระยืน เมืองหริภุญไชยก่อน ต่อมา พ.ศ. ๑๙๑๕ พระเจ้ากือนาจึงโปรดให้อาราธนามาอยู่ ณ วัดบุบผารามมหาวิหาร (คือวัดสวนดอก) ที่พระองค์โปรดให้สร้าง ณ ที่ที่เคยเป็นพระราชอุทยานมาก่อน และมอบถวายวัดแก่พระสุมนเถร
ในรัชกาลพระเจ้าติโลกราช ซึ่งส่วนใหญ่ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา พระพุทธศาสนาในอาณาจักรลานนาไทย ได้รับการอุปถัมภ์บำรุงอย่างมาก จนพระเจ้าติโลกราชได้รับพระนามเฉลิมพระเกียรติว่า “พระเจ้าศรีธรรมจักรวัติโลกราชามหาธรรมิกราช” มีเหตุการณ์สำคัญอันเกี่ยวถึงการศึกษาดังนี้
ประมาณ พ.ศ. ๑๙๙๐ เศษ พระเจ้าติโลกราชเสด็จออกทรงผนวชชั่วคราว ณ วัดป่าแดง
พ.ศ. ๑๙๙๘ พระสงฆ์คณะหนึ่ง มีพระญาณคัมภีร์ พระเมธังกร พระศีลวงศ์ เป็นต้น ได้รับพระราชูปถัมภ์ไปศึกษาและดูการพระศาสนาในประเทศลังกา และเมื่อกลับ ได้นำต้นศรีมหาโพธิ์มาด้วย พระเจ้าติโลกราชโปรดฯ ให้สร้างอารามถวายชื่อวัดโพธาราม (คือวัดเจ็ดยอด)
พ.ศ. ๒๐๒๐ โปรดฯ ให้อาราธนาพระสงฆ์ประชุมทำสังคายนาพระไตรปิฎก ที่วัดโพธาราม หรือวัดเจ็ดยอดนั้น สิ้นเวลา ๑ ปี นับว่าเป็นสังคายนาครั้งที่ ๘ แล้วสร้างหอมณเฑียรธรรมขึ้นไว้เก็บพระไตรปิฎกด้วย
ในรัชกาลพระเจ้าพระเมืองแก้ว ได้มีพระสงฆ์ที่เป็นปราชญ์ แต่งคัมภีร์ภาษาบาลีขึ้นหลายท่าน จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นยุคที่การศึกษาภาษาบาลีในถิ่นนี้เจริญถึงขีดสุด คัมภีร์ภาษาบาลี เท่าที่พบว่าแต่งในลานนาไทยแทบว่าทั้งหมดเป็นของแต่ง (เสร็จ) ในรัชกาลนี้ จะก่อนหลังบ้างก็เพียงไม่กี่ปี ถ้าจะมียกเว้นว่าแต่งก่อนหลังนั้นนานบ้าง ก็เห็นแต่รัตนพิมพวงศ์ คัมภีร์เดียว ซึ่งก็เพียงสันนิษฐานว่าแต่งราว พ.ศ. ๒๒๗๒ (หลังรัชกาลพระเจ้าพระเมืองแก้ว ๒ ศตวรรษ) อาศัยความเจริญรุ่งเรืองทางพระศาสนานี้เอง พระเจ้าพระเมืองแก้วจึงได้รับถวายพระนามเฉลิมพระเกียรติว่า พระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิราช พระสงฆ์ผู้เป็นปราชญ์และคัมภีร์ภาษาบาลีที่ท่านรจนา ที่พอค้นหลักฐานได้ ดังนี้
พระญาณกิตติเถร แต่ง
๑. คันถีทีปนี แก้ภิกขุปาฏิโมกข์ แต่งที่เชียงใหม่ พ.ศ ๒๐๓๖ มี ๒ ผูก
๒. สีมาสังกรวินิจฉัย วินิจฉัยเรื่องสีมาคาบเกี่ยวกัน
๓. สัทธัมมสังคหะ ว่าด้วยสังคีติกาลและปกิณกธรรมต่างๆ มี ๒ ผูก
๔. โยชนาวินัย38 ทั้ง ๕ คัมภีร์ มี ๓๕ ผูก (อา.=๑๗; ปา.=๖; ม.=๕; จุ.-๔; ป.๓ ผูก)
๕. โยชนาอภิธรรม ทั้ง ๗ คัมภีร์ มี ๔๒ ผูก (สํ.=๑๔, วิ.=๑๖; ธา.=๓; ปุ.=๑; ก.=๓; ย.=๑; ป.=๔ ผูก)
๖. โยชนาอภิธัมมัตถวิภาวินี ชื่อ ปัญจิกา39 มี ๕๙ ผูก (บั้น ๑=๑๖, บั้น ๒=๑๖; บั้น ๓=๑๓; บั้น ๔=๑๔ ผูก)
๗. โยชนามูลกัจจายน มี ๑๗ ผูก (บั้นต้น ๙: บั้นปลาย ๘ ผูก)
พระสิริมังคลาจารย์ แต่ง
๑. มงฺคลตฺถทีปนี40 อธิบายความในมงคลสูตร แสดงอรรถแห่งมงคล ๓๘ ประการ แต่งที่เชียงใหม่ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๐๖๗ มี ๒๖ ผูก
๒. เวสฺสนฺตรทีปนี ชี้แจงศัพท์และวิธีแปลคาถาในเรื่องเวสสันดรชาดก แต่งที่เชียงใหม่ เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๐๖๐ มี ๕๐ ผูก (บั้นต้น ๔๐; บั้นปลาย ๑๐ ผูก)
๓. จกฺกวาฬทีปนี ว่าด้วยจักรวาลและสรรพสิ่งอันมีในจักรวาล แสดงสัณฐานตลอดถึงความพินาศของโลก แต่งที่เชียงใหม่ เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๐๖๓ มี ๑๐ ผูก
๔. สงฺขยาปกาสกฏีกา ชี้แจงเรื่องเครื่องนับเครื่องตวง ๖ ชนิด แต่งที่เชียงใหม่ เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๐๖๓ มี ๒ ผูก
พระสิริรัตนปัญญาเถร แต่ง
๑. ชินกาลมาลี41 ระเบียบลำดับกาลเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าแสดงพุทธประวัติมาแต่พระชาติที่อธิษฐานบำเพ็ญพุทธบารมี จนถึงปัจจุบันชาติและประวัติศาสนาแต่พุทธปรินิพพานจนถึงการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลานนาไทย สันนิษฐานว่า ท่านแต่งเฉพาะตอนต้น ที่เมืองเชียงราย เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๐๕๙ ส่วนตอนปลายว่าด้วยพงศาวดารเมืองเชียงใหม่จนถึงปีกุน พ.ศ. ๒๐๗๐
๒. วชิรสารัตถสังคหะ42 ประมวลอรรถอันเป็นสาระประดุจเพชร รวบรวมอรรถะอันเป็นสาระจากคัมภีร์ต่างๆ มาแสดง เช่นหัวใจคาถาต่างๆ โดยเฉพาะในแง่ศัพทศาสตร์ แต่งเมื่อแรม ๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๐๗๘ มี ๑ ผูก
๓. มาติกัตถสรูป (แห่งธัมมสังคณี) สรูปอธิบายความเฉพาะมาติกาในคัมภีร์ธัมมสังคณี มี ๑ ผูก
พระโพธิรังสีเถร แต่ง
๑. จามเทวีวํส43 ว่าด้วยพงศาวดารเมืองหริภุญชัย แสดงเรื่องการสร้างเมืองเขลางค์ เมืองหริภุญชัย เมืองลำปาง และการสร้างวัดบรรจุพระธาตุ ในวงศ์ของนางจามเทวี มี ๕ ผูก
๒. สิหิงคนิทาน44 ว่าด้วยความเป็นมาของพระพุทธสิหิงค์
พระนันทาจารย์ แต่ง
๑. สารัตถสังคหะ45 เลือกคัดข้อความในคัมภีร์ต่างๆ ที่เห็นว่ามีสาระมารวมแสดงเป็นหมวดๆ แต่งที่เชียงใหม่ มี ๑๕ ผูก
พระธรรมเสนาบดี แต่ง
๑. ปทกฺกมโยชนาสทฺทตฺถภทจินตา เป็นคัมภีร์ฝ่ายศัพทศาสตร์ แต่งที่เชียงใหม่ มี ๔ ผูก
พระสุวรรณทีปเถร แต่ง
๑. อเผคคุสารัตถทีปนี “คัมภีร์แสดงอรรถอันเป็นสาระ ปราศจากกระพี้”
ส่วนคัมภีร์ที่สันนิษฐานว่าใหม่ แต่งหลังคัมภีร์เหล่านี้ คือ
ปฐมสมโพธิ แสดงพุทธประวัติแต่โดยย่อ
รัตนพิมพวงศ์46 ว่าด้วยตำนานพระแก้วมรกต แต่งโดยพระพรหมราชปัญญา เมื่อปีระกา (สันนิษฐานว่า ประมาณ พ.ศ. ๒๒๗๒)
นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์สำคัญในสมัยลานนาไทยนี้อีกคัมภีร์หนึ่ง ซึ่งมีอิทธิพลมาในวรรณคดีไทยหลายเรื่องคือ ปัญญาสชาดก47 ซึ่งเป็นที่รวบรวมนิทานเก่าแก่ที่เล่ากันในเมืองไทยมาแต่โบราณ ๕๐ เรื่อง (บางฉบับนับจริงได้ ๖๓ เรื่อง) แต่งเป็นภาษาบาลี เลียนแบบอรรถกถาชาดกในฝ่ายนิบาตชาดก ผู้แต่งคงจะมีหลายคน ต่างสำนวนกัน บางท่านว่าเป็นการเกิดจากมีผู้นิยม และเรียนรู้บาลีกันมากขึ้นในถิ่นนั้น จนถึงแต่งประกวดประขันกัน แต่ตามพระมติสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า “แต่หนังสือปัญญาสชาดกนี้ เห็นจะแต่งในตอนปลายสมัยที่กล่าวมา เพราะความรู้ภาษามคธดูทรามลงไม่ถึงหนังสือแต่งชั้นก่อน”48
เรื่องในปัญญาสชาดก ได้เป็นที่มาของวรรณคดีไทยหลายเรื่อง ทั้งนี้จะด้วยเอามาโดยตรง หรือโดยเป็นเรื่องที่เล่ากันแต่โบราณ ต่างฝ่ายต่างรู้และต่างนำไปแต่งด้วยกัน ก็ตาม เช่น สมุททโฆสชาดก (สมุทโฆษคำฉันท์) รถเสนชาดก สุวรรณสังขชาดก (สังข์ทอง) เป็นต้น
คัมภีร์เหล่านี้ แยกโดยประเภทได้ดังนี้
๑. อธิบายพระธรรมวินัย ถือเอาความในบาลี อรรถกถา หรือฎีกาตอนใดตอนหนึ่งเป็นหลัก แก้ความขยายออกไปอีก ได้แก่
ก. สายพระวินัย มีคันถีทีปนี สีมาสังกรวินิจฉัย โยชนาวินัย
ข. พระสูตร มี มังคลัตถทีปนี เวสสันตรทีปนี
ค. พระอภิธรรม มีโยชนา (สัตตัปปกรณ) อภิธรรม โยชนาอภิธัมมัตถวิภาวินี มาติกัตถสรูป
๒. เรื่องแต่งแสดงความคิดเห็น หรือค้นคว้ารวบรวมจากคัมภีร์ต่างๆ ตามแนวที่คิดขึ้นเองเป็นอิสระ มีสัทธัมมสังคหะ สารัตถสังคหะ อเผคคุสารัตถทีปนี จักรวาฬทีปนี (เป็นฝ่ายภูมิศาสตร์) สังขยาปกาสกฎีกา (เป็นฝ่ายคณิตศาสตร์) วชิรสารัตถสังคหะ (ความรู้ทั่วไป เจือด้วยศัพทศาสตร์และอลังการศาสตร์)
๓. ศัพทศาสตร์ มี โยชนามูลกัจจายน ปทักกมโยชนา สัททัตถเภทจินดา
๔. ตำนาน มี ชินกาลมาลี จามเทวีวงศ์ สิหิงคนิทาน รัตนพิมพวงศ์ ปฐมสมโพธิสังเขป และปัญญาสชาดก
น่าสังเกตว่า ความรู้ภาษาบาลีในลานนาไทยเจริญสูงสุด จนมีปราชญ์แต่งคัมภีร์ภาษาบาลีกันได้นี้ มีแต่เพียงระยะสั้นๆ ประมาณกึ่งศตวรรษและเป็นเพียงระยะเดียวนี้เท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ อาจเป็นเพราะความรู้ภาษาบาลีที่เจริญนั้น สืบเนื่องมาจากการติดต่อกับลังกาในระยะต้นๆ ของการประดิษฐานพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ในประเทศไทย เช่น การที่พระสงฆ์ได้รับราชูปถัมภ์ไปดูการพระศาสนา และศึกษาในลังกาเป็นหมู่เป็นคณะ ในสมัยพระเจ้าติโลกราช พระสงฆ์เหล่านี้จึงมีความรู้ภาษาบาลีดี ครั้นกลับมาแล้วก็สั่งสอนพระสงฆ์ที่เป็นศิษย์สืบต่อมา และศิษย์ที่จะมีความรู้ดีก็คงจะได้แต่รุ่นแรกๆ เท่านั้น รุ่นหลังต่อมาความรู้ก็คงเสื่อมทรามลงโดยลำดับ แม้พระสงฆ์ที่ไปศึกษามาเองโดยตรง มีความรู้ดี กลับมาถึงถิ่นของตน กว่าจะได้เริ่มต้นลงมือแต่งคัมภีร์ และกว่าผลงานจะเสร็จนำออกแสดงได้ก็คงต้องใช้เวลาหลายปี ความรุ่งเรืองจึงมาปรากฏให้เห็น แต่ในช่วงเวลาอันสั้นนี้เท่านั้น อีกประการหนึ่ง ว่าโดยการปกครอง ความเจริญของพระพุทธศาสนาที่เป็นมา ต้องอาศัยอุปถัมภ์จากฝ่ายอาณาจักรมาก ระยะที่พระพุทธศาสนาเจริญมากในลานนาไทยนั้น ล้วนเป็นสมัยที่ได้รับราชูปถัมภ์อย่างดีทั้งนั้น ครั้นหลังจากยุคที่กล่าวถึงนี้แล้ว พม่ามาตีได้เชียงใหม่ พม่าปกครองโดยใช้วิธีกลมกลืนทางวัฒนธรรม ให้พระสงฆ์เล่าเรียนโดยใช้ภาษาพม่า และส่งเสริมให้ส่งพระภิกษุผู้มีความรู้ ไปศึกษาอบรมในประเทศพม่า เมื่อ ชาวไทยลานนาหลีกเลี่ยงการเรียนภาษาพม่า ก็เท่ากับต้องหลีกเลี่ยงการศึกษา ตลอดจนหลีกเลี่ยงการบวชเป็นพระภิกษุด้วย ทำให้การศึกษาทางพระพุทธศาสนาเสื่อมลง และเกิดความนิยมบวชเพียงแค่เป็นสามเณร ครั้นต่อมาประเทศไทยมีกำลังเข้มแข็งขึ้น เชียงใหม่ก็ได้เป็นถิ่นสำหรับรบพุ่งแย่งชิงกันไปมาระหว่างพม่ากับไทยเป็นเวลานาน ข้อนี้ก็อาจเป็นสาเหตุประกอบด้วย เพราะบ้านเมืองระส่ำระสายและไม่มีโอกาสทำนุบำรุงอย่างใหญ่เหมือนแต่ก่อน
ในเรื่องที่ความรู้ภาษาบาลีเจริญขึ้นในช่วงสมัยดังกล่าวนั้น สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีมติว่า
ในลังกาทวีป เมื่อพุทธศักราชใกล้จะถึง ๑๗๐๐ ปี พระเจ้าปรักกมพาหุมหาราช ทรงให้ประชุมสงฆ์ทำสังคายนา (ตำนานสังคายนาของเรานับเป็นมหาสังคายนาครั้งที่ ๗ และว่าทำเมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗) “สังฆมณฑลในลังกาทวีปก็กลับรุ่งเรืองขึ้น เมื่อกิตติศัพท์อันนั้นปรากฏมาถึงประเทศนี้ก็มีพระสงฆ์ พม่า มอญ ไทย พากันเลื่อมใสไปศึกษาในลังกาทวีป แล้วรับลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งสังคายนาครั้งพระเจ้าปรักกมพาหุ มาสั่งสอนในประเทศนี้ เมื่อพุทธศักราช ๑๗๑๓ ปี (กล่าวตามจารึกกัลยาณีของพระเจ้าหงสาวดีธรรมเจดีย์ปิฎกธร) แต่นั้นความเลื่อมใสในลัทธิลังกาวงศ์ก็เจริญแพร่หลายในประเทศไทย มอญ พม่า ทั่วไป จนถึงพระเจ้าแผ่นดินให้นิมนต์พระเถระชาวลังกามาเป็นครูบาอาจารย์ และทรงยกย่องพระภิกษุซึ่งได้ไปเล่าเรียนและบวชแปลงเป็นลังกาวงศ์มาแต่ลังกาทวีปให้เป็นสังฆนายกโดยมาก เพราะฉะนั้น จึงมีพระภิกษุไทย มอญ พม่า พากันไปศึกษายังลังกาทวีปไม่ขาดมาช้านาน”
“ก็และการที่พระภิกษุ ไทย มอญ พม่า ไปศึกษาพระธรรม วินัยในลังกาทวีปนั้น ผู้ที่ไปไม่รู้ภาษาสิงหฬ ฝ่ายพระเถระในลังกาทวีปผู้เป็นครูบาอาจารย์ ก็ไม่รู้ภาษาไทย มอญ พม่า จำต้องพูดและสอนกันโดยภาษาบาลี เพราะฉะนั้น การเล่าเรียนภาษาบาลี จึงเป็นการสำคัญ และจำเป็นของพระภิกษุไทย มอญ พม่า ที่ไปศึกษา ทั้งที่จะอ่านหนังสือไตรปิฎกและในการที่จะพูดจากับครูบาอาจารย์ ด้วยเหตุนี้พระภิกษุที่ได้ไปศึกษาในลังกาทวีป จึงเรียนรู้ภาษาบาลีแตกฉานโดยมาก บางองค์ถึงสามารถจะแต่งหนังสือในภาษาบาลีได้ (เช่นเดียวกันกับนักเรียน ไทยที่ไปเล่าเรียนในประเทศยุโรปในชั้นหลังนี้ บางคนก็อาจจะแต่งหนังสือในภาษาฝรั่งโดยทำนองเดียวกัน) ครั้นพระภิกษุเหล่านั้นกลับมาบ้านเมือง ก็เอาวิธีที่ได้เล่าเรียนในลังกาทวีปมาสั่งสอนในประเทศของตน พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระราชศรัทธา ทำนุบำรุงด้วยกันทุกๆ ประเทศ ยกตัวอย่างดังพระเจ้าติโลกราช เมืองเชียงใหม่ ถึงทำสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งตำนานของเรานับเป็นมหาสังคายนาครั้งที่ ๘ เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๐๒๐ เพราะเหตุฉะนั้น ความรู้ภาษาบาลี จึงมาเจริญขึ้นในประเทศเหล่านี้ จนถึงได้แต่งหนังสือในภาษาบาลีขึ้นหลายคัมภีร์”49
และอีกแห่งหนึ่งทรงมีมติว่า
“แต่ดูเหมือนความรู้ภาษามคธจะรุ่งเรืองอยู่ในสมัยอันเดียว ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๕๐ มาจน พ.ศ. ๒๒๐๐ แล้วก็เสื่อมทรามลงเป็นลำดับมา”50
อย่างไรก็ดี พอสรุปได้ว่า คัมภีร์บาลีสมัยลานนานี้ นอกจากแสดงถึงความเจริญทางอักษรศาสตร์ฝ่ายภาษาบาลีสมัยนั้น และในในถิ่นนั้นแล้ว ยังแสดงให้เห็นด้วยว่าพระมหากษัตริย์และประชาชน สนใจทำนุบำรุงพระศาสนาเพียงไร ในด้านประชาชนนั้น ก็เป็นธรรมดาที่จะได้รับการศึกษาในรูปการเทศนาสั่งสอน นิทาน นิยาย เรื่องเล่า และประเพณีต่างๆ ซึ่งมีอยู่ในคัมภีร์พุทธศาสนาเหล่านั้น ทั้งของเดิมและแต่งเพิ่มใหม่ และบรรดาคัมภีร์เหล่านั้น บางคัมภีร์ ก็ได้มีอิทธิพลในการศึกษาภาษาบาลี สืบมาจนทุกวันนี้ (โดยเฉพาะมังคลัตถทีปนี) บางคัมภีร์เป็นเรื่องเกี่ยวด้วยคณิตศาสตร์ (สังขยาปกาสกฎีกา) และหลายคัมภีร์บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไว้ เช่น ประวัติพระแก้วมรกต ประวัติพระพุทธสิหิงค์ ประวัติเมืองหริภุญชัย ประวัติพุทธศาสนาในลานนาไทย เป็นต้น ยังเรื่องเล่าสืบๆ กันมา นิทานท้องถิ่นต่างๆ ที่ปรากฏในปัญญาสชาดกอีก จึงนับว่าพระพุทธศาสนายุคนี้ มีส่วนในการศึกษาแก่ประชาชนชาวไทยมิใช่น้อย
(ภาพ) สถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนาในภาคเหนือของประเทศ ไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลจากพุกาม
๓. สมัยอยุธยา51
ในเวลาที่บ้านเมืองไม่วุ่นวาย ไม่ต้องติดพันในการสงครามกับต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ที่มีพระนามยิ่งใหญ่ ในการทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า ก็ทรงมีพระนามยิ่งใหญ่ในด้านการทำนุบำรุงพระศาสนาด้วยเช่นกัน เพราะพุทธศาสนาเป็นส่วนประกอบสำคัญในชีวิตของชาวไทย ในสมัยอยุธยา ระยะแรก (พ.ศ. ๑๘๙๓-๒๐๓๑) พระมหากษัตริย์ที่มีพระนามยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ นอกจากทรงจัดการปกครองบ้านเมือง ให้มีระเบียบเรียบร้อยและเข้มแข็งอย่างดีแล้ว พระองค์ได้ทรงทำนุบำรุงพระศาสนาเป็นการใหญ่ โดยดำเนินตามแบบอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช เช่นเดียวกับพระมหาธรรมราชาลิไท เช่น ทรงแต่งมหาชาติคำหลวง ทรงจัดวิธีปกครองบ้านเมือง ทรงถวายที่ในพระราชวังเป็นวัด และสละราชสมบัติออกผนวช ใน พ.ศ. ๒๐๐๘ นอกจากทรงผนวชเองแล้ว ใน พ.ศ. ๒๐๒๗ ยังโปรดให้พระราชโอรส (สมเด็จพระรามาธิบดี ที่ ๒) ทรงผนวชเป็นสามเณร พร้อมกับราชนัดดาอีกองค์หนึ่ง “น่าจะเข้าใจว่า ประเพณีที่เจ้านายทรงผนวช และผู้ลากมากดีบวช ซึ่งนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา จึงเป็นธรรมเนียมเมืองสืบมาช้านาน เห็นจะมีขึ้นครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นปฐม”52
ประเพณีการบวชเรียน ที่สืบเนื่องมาแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนี้ ต้องนับว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในด้านประวัติการศึกษาทางพระพุทธศาสนาหรือแม้ในเรื่องพระพุทธศาสนากับการศึกษาของประเทศไทย และคงเป็นเหตุสำคัญให้ประชาชนนิยมสร้างวัดมากขึ้น คือไม่เฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้น ผู้ที่มีเงินมีฐานะพอก็มักสร้างวัดไว้ประจำตระกูลไว้เก็บอัฐิบรรพบุรุษ อันเป็นความนิยมมากในสมัยอยุธยา ระยะที่สอง (พ.ศ. ๒๐๓๔-๒๑๗๓) เป็นต้นมา จนมีคำกล่าวกันมาว่า “เมื่อบ้านเมืองดี เขาสร้างวัดให้ลูกเล่น” และปรากฏในสมัยนี้ด้วยว่าเมื่อสร้างวัดแล้วก็นิยมสร้างโบสถ์ด้วยเป็นสามัญ ส่วนในด้านการศึกษาเล่าเรียน พระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์บำรุงอย่างมากเช่นเดิม ดังความปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า “สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมซึ่งเสวยราชย์ในระหว่าง พ.ศ. ๒๑๖๓ ถึง พ.ศ. ๒๑๗๑ ได้ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมชำนาญมาแต่ยังทรงผนวช ครั้นเมื่อเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงพระราชศรัทธา เสด็จออกบอกหนังสือพระภิกษุสามเณร ที่พระที่นั่งจอมทองสามหลังเนืองๆ”53 และปรากฏว่าตามปกตินั้นในสมัยอยุธยาโปรดให้ ราชบัณฑิตเป็นอาจารย์บอกหนังสือพระ นี้แสดงว่า นอกจากพระราชทานสถานที่ในวังให้เป็นที่เล่าเรียนแล้ว ยังโปรดดำเนินการในเรื่องการสอนด้วย
ความนิยมในการบวช และการอุปถัมภ์การบวชคงมีเพิ่มพูนขึ้นโดยลำดับ แม้ในสมัยอยุธยา ระยะที่สาม (พ.ศ. ๒๑๗๓-๒๒๗๕) จนในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีเรื่องราวปรากฏบันทึกในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ว่า พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก พระราชทานพระราชูปถัมภ์แก่ผู้บวชเป็นภิกษุสามเณรเป็นเอนกประการ จนเป็นเหตุให้ราษฎรที่ปรารถนาจะหลบเลี่ยงราชการบ้านเมือง พากันไปบวชเสียเป็นอันมาก เมื่อพระองค์ทรงทราบความจึงดำรัสให้ออกหลวงสรศักดิ์ เป็นแม่กองประชุมสงฆ์สอบความรู้พระภิกษุสามเณร ปรากฏว่า พระภิกษุสามเณรที่หลบลี้ราชการออกไปบวช สอบได้ความชัดว่าไม่มีความรู้ในทางพระศาสนา ถูกบังคับให้ลาสิกขาออกเป็นฆราวาสเป็นอันมาก นอกจากนี้ยังเป็นประเพณีถือกันด้วยว่า ผู้บวชในศาสนาแล้ว เป็นผู้พ้นราชภัย เป็นต้น จึงปรากฏเรื่องราวในสมัยเดียวกันนั้นว่า เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชประชวร จวนสิ้นพระชนม์ ขณะนั้นพระเพทราชา และหลวงสรศักดิ์กำลังล้อมวังไว้เตรียมยึดอำนาจ พระองค์เป็นห่วงชาวที่ชาววังว่า เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว คนเหล่านั้นจะถูกสังหารชีวิตหมด จึงโปรด ฯ ให้อาราธนาพระสงฆ์ราชาคณะเข้ามา ประมาณยี่สิบรูป ให้นำคนเหล่านั้นออกไปเพื่ออุปสมบท แต่พระสงฆ์ทูลว่าผู้รักษาประตูจะไม่ยอมให้นำคนออกไป จึงโปรดอนุญาตพระราชอุทิศถวายมหาปราสาททั้งสอง และพระราชวังทั้งหมดเป็นวิสุงคามสีมา พระสงฆ์จึงได้ประกอบสังฆกรรมได้ และได้นำพระภิกษุใหม่กลับไปพระอาราม เรื่องนี้ก็ดี เรื่องที่พระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ถวายพระพรขอชีวิตทหารคราวยุทธหัตถี กับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในสมัยก่อนก็ดี เป็นเครื่องยืนยันถึงอิทธิพล และความสำคัญของพระพุทธศาสนาในชีวิตของประชาชนไทยอย่างถึงที่สุด
ในสมัยอยุธยาระยะที่ ๓ นี้ มีวรรณคดีพุทธศาสนาเหลือมาถึงปัจจุบันจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นของแต่งสมัยพระเจ้าปราสาททอง พระนารายณ์มหาราช และพระเพทราชา แต่ก็เป็นประเภทหนังสือแปล หรือแต่งเป็นภาษาไทย ไม่ปรากฏเป็นคัมภีร์ภาษามคธ
ประเพณีการบวชเรียนปรากฏหลักฐานแสดงความสำคัญให้เห็นชัดอีก ในสมัยอยุธยา ระยะที่สี่ (พ.ศ. ๒๒๗๕-๒๓๑๐) ดังความปรากฏในหนังสือประวัติวัดมหาธาตุว่า :
“ได้ยินมาว่า การที่กุลบุตรออกบรรพชาแลอุปสมบทในครั้งกรุงเก่า แต่ก่อนเป็นแต่เฉพาะผู้ที่มีความศรัทธา พึ่งมาถือเป็นประเพณีเมือง ว่ากุลบุตรทุกๆ คนควรจะต้องบรรพชาแลอุปสมบทเป็นอย่างส่วน ๑ ของการศึกษา ตั้งแต่ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ซึ่งเสวยราชย์เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๒๗๕ นั้นเป็นต้นมา กล่าวกันว่า ในรัชกาลนั้น ผู้ที่จะเป็นขุนนางมียศบรรดาศักดิ์ ต้องเป็นผู้ที่ได้บวชแล้วจึงจะทรงตั้ง เพราะฉะนั้น เจ้านายในพระราชวงศ์ ก็ต้องทรงผนวชทุกพระองค์เหมือนกัน ข้อนี้จะพึงเห็นได้ในพระราชพงศาวดาร เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์สวรรคต เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๐๑ เจ้าฟ้าอุทุมพร พระราชโอรส ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชเสด็จผ่านพิภพในปีพระชันษา พอครบอุปสมบท พอทำพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จเสวยราชย์อยู่ ๓ เดือน แล้วก็ออกทรงผนวชในปีนั้น”
“ราชประเพณีในครั้งกรุงธนบุรีก็ดี ต่อมาในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ก็ดี นิยมตามแบบแผนครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ทุกอย่าง แต่เมื่อเวลาก่อกู้อิสระภาพครั้งกรุงธนบุรี แลรักษาอิสระภาพไว้ในรัชกาลที่ ๑ ต้องทำศึกสงครามไม่ได้ขาด ประเพณีการบวชเรียนจึงประพฤติให้ตรงตามแบบแผนครั้งกรุงเก่าไม่ได้”54
ในรัชกาลพระเจ้าบรมโกษฐ์นี้ ยังมีการพระศาสนาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การส่งคณะพระสงฆ์ไทยไปให้อุปสมบทแก่กุลบุตรในประเทศลังกา ใน พ.ศ. ๒๒๙๖ เป็นเหตุให้เกิดอุบาลีวงศ์ หรือสยามวงศ์ขึ้นในลังกา และเป็นเหตุการณ์ที่พระพุทธศาสนาได้เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมระหว่างประเทศ นอกจากนี้มีวรรณคดีพุทธศาสนาเกิดในรัชกาลนี้หลายเรื่อง เช่น นันโทปนันทสูตร มาลัยคำหลวง ปุณโณวาทคำฉันท์ พระราชปุจฉาถามคณะสงฆ์ เป็นต้น สำหรับพระราชปุจฉาที่ถามคณะสงฆ์นั้น ก็เป็นพระราชประเพณีอันหนึ่งที่มีความสำคัญในการศึกษา แสดงถึงพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ที่ทรงสนพระทัย และให้ความสำคัญแก่กิจการพระศาสนา และเป็นเครื่องกระตุ้นคณะสงฆ์ให้ต้องเอาใจใส่ในการเช่นนี้
๔. สมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ถึงรัชกาลที่ ๔)
สมัยธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์เป็นระยะบ้านเมืองต้องวุ่นวายกับการทำศึกสงคราม กู้อิสรภาพ รักษาอิสรภาพ สร้างบ้านเมืองใหม่ ตลอดจนจัดแจงวางระเบียบการปกครองต่างๆ จึงสนใจในด้านการพระศาสนาได้ไม่เต็มที่ แต่กระนั้นพระมหากษัตริย์ก็ได้ทรงพยายามเอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงกิจการพระศาสนาเท่าที่มีโอกาส ในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อทรงสร้างกรุงใหม่แล้ว ก็โปรด ฯ ให้อาราธนาพระสงฆ์ที่มีศีลาจารวัตรมาสำนักในเมืองใหม่ ทรงสร้างวัดเพิ่มเติม และทรงใส่พระทัยศึกษาปฏิบัติพระธรรมด้วยพระองค์เอง ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งรัตนโกสินทร์ ก็มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้นที่วัดมหาธาตุ โปรด ฯ บำรุงการเล่าเรียนปริยัติธรรม ให้ราชบัณฑิตบอกหนังสือพระในพระราชวัง ตามพระราชประเพณีเดิม และแนะนำพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการให้ส่งเสริม จ้างอาจารย์ไปบอกหนังสือพระในท้องพระโรงวังเจ้านาย และตามวัดต่างๆ เป็นต้น ในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราชมี ได้ทรงขยายหลักสูตรการเรียนบาลีออกไปจาก ๓ เป็น ๙ ประโยค ในรัชกาลที่ ๓ ทรงส่งเสริมการสร้างวัดเพิ่มมากมาย และอุปถัมภ์พระสงฆ์มาก มีพระสงฆ์บวชมากเป็นพิเศษกว่าสมัยก่อนๆ ทรงส่งเสริมการศึกษาพุทธศาสนา จัดสอบในวัดที่สถิตสมเด็จพระสังฆราชหรือในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานอุปถัมภ์แก่พระภิกษุสามเณรที่สอบได้ ตลอดถึงโยมบิดามารดา ในรัชกาลที่ ๔ แต่สมัยที่ยังผนวช ได้ทรงพยายามในด้านหาทางให้พระภิกษุสามเณรเคร่งครัดในความประพฤติปฏิบัติต่างๆ และได้ทรงพระราชทานอุปถัมภ์ บำรุงกิจการพระศาสนาสืบมาโดยลำดับ และพึงสังเกตว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานี้ การเรียน การสอน การสอบพระปริยัติธรรมอาศัยการจำเป็นสำคัญ การสอบก็ใช้วิธีปากเปล่า55
เท่าที่เล่ามาทั้งหมดนี้ จะเห็นว่าหลายเรื่องไม่เกี่ยวกับการศึกษาโดยตรง ถึงที่เกี่ยวกับการศึกษา ก็เป็นแต่เรื่องการศึกษาของพระสงฆ์ หรือไม่ก็เรื่องในวัง ไม่ใช่เรื่องการศึกษาของประชาชนโดยตรง ทั้งนี้ เพราะหลักฐานบันทึกต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ของเรา เป็นเรื่องเขียนถึงเหตุการณ์บ้านเมืองที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวม คือยึดเอาเหตุการณ์เกี่ยวด้วยองค์พระมหากษัตริย์ เป็นหลัก
อย่างไรก็ดี เรื่องการศึกษาของประชาชน ก็พึงวินิจฉัยเอาได้จากเรื่องที่เล่ามานั้นเอง และอาศัยประสบการณ์ของปราชญ์บางท่านที่ทำบันทึกเรื่องนี้ไว้ ในที่นี้จึงจะได้ทำข้อสันนิษฐานเหตุผล และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้บ้างดังต่อไปนี้:-
เชิงอรรถ
- พระมติของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า “ตั้งเป็นพระสังฆราชและพระครูสอนวิชาความรู้ทั้งคดีธรรมและคดีโลก แก่ประชาชนชาวกรุงสุโขทัย” (ชุมนุมพระนิพนธ์, หน้า ๙๘)
- ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๙.
- ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๙-๑๐.
- ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๙.
- คำอ่านจารึกวัดศรีชุม (หลักที่ ๒), ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๒๘
- ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๑๐.
- ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๘.
- ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๙.
- ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๗-๘.
- ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๘ และ ๑๐.
- ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๘ และ ๑๐.
- ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๘-๙.
- แปลหลักศิลาเมืองศุโขทัยที่ ๒, ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑, หน้า ๑๕๔.
- คำแปลจารึกวัดป่ามะม่วง (หลักที่ ๔), ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๕๖.
- บานแพนกเดิม, ไตรภูมิพระร่วง, หน้า (๑๒)
- แปลหลักศิลาเมืองศุโขทัยที่ ๒, ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑, หน้า ๑๕๔; ความในจารึกตอนนี้ บางท่านตีความว่าให้พราหมณ์เรียนศิลปศาสตร์ และให้พระสงฆ์เรียนพระไตรปิฎก.
- แปลหลักศิลาเมืองศุโขทัยที่ ๒, ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑, หน้า ๑๕๓.
- ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเสวยราชสมบัติ ในนครศรีสัชนาลัยได้ 5 พรรษา แต่จะหมายถึงในคราวดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชในเมืองนั้นหรือเมื่อครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แล้วก็ยังไม่ชัด
- ไตรภูมิพระร่วง, หน้า (๑๑).
- สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, บานแพนก หนังสือไตรภูมิพระร่วง, หน้า (๔); พึงสังเกตว่า เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา พระราชกิจอย่างหนึ่งที่ได้ทรงกระทำก็คือ การโปรดให้สร้างสมุดภาพไตรภูมิอันวิจิตรขนาดใหญ่ คลี่ได้ยาวเกิน ๓๔ เมตร
- เสฐียรโกเศศ, เล่าเรื่องในไตรภูมิ, หน้า ๑๒-๑๔.
- ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๕๗.
- ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑, หน้า ๑๕๗.
- ที.ม. ๑๐/๑๖๓-๑๘๖/๑๙๘-๒๒๘.
- ในศิลาจารึกพระเจ้าอโศกมีข้อความบ่งว่า ถ้ามีพระราชกรณียกิจอย่างใดเกิดขึ้น ให้กราบทูลพระองค์ได้ทุกกาลเวลาและสถานที่ ส่วนในศิลาจารึกพ่อขุนราม ว่า ราษฎรมีเรื่องราวก็มาสั่นกระดิ่งได้ ทั้งสองกรณีนี้แสดงถึงวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน แต่กระนั้นก็อาจพ้องกันโดยไม่เจตนาก็ได้
- การทำศิลาจารึกนี้ แม้ภายหลังสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก็มีความนิยมทำต่อมา อย่ งในสมัยคุปตะของอินเดีย อันต่อเนื่องมาถึงสมัยอาณาจักรศรีวิชัยและลพบุรี การทำศิลาจารึกในสมัยสุโขทัย จึงถือว่าเป็นอิทธิพลความนิยมที่สืบสายมาตามลำดับ จะถือว่าเป็นการดำเนินตามอย่างพระเจ้าอโศก ก็คงได้แต่โดยอ้อม หรือในฐานเป็นต้นแบบ
- ไตรภูมิพระร่วงเล่าเรื่องพระเจ้าอโศกมหาราช หรือ พระยาศรีธรรมาโศกราชไว้ยืดยาว (หน้า ๑๔๕-๑๖๘)
- อาจทำเป็นเคล็ด ให้เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าทรงประกาศความปรารถนาโพธิญาณครั้งแรกเมื่อเป็นสุเมธดาบส
- เรื่องไตรภูมิกถานี้ บางท่านถือเอาข้อความในบานแพนกเดิม ที่ว่า “เนื้อความในไตรภูมิกถานี้ มีแต่ในปีระกาโพ้น เมื่อศักราชได้ ๒๓ ปี” เป็นเครื่องลงความเห็น ว่าศักราชในที่นี้เป็น จ.ศ. ไตรภูมิกถาจึงเป็นของมีมาเดิมแต่ พ.ศ. ๑๒๐๔ แล้ว ครั้นถึงสมัยพระญาลิไทย “ผู้ใดหากสอดรู้บมิได้ไส้สิ้น” พระองค์จึงทรงรวบรวมแต่งขึ้นใหม่ ถ้าความเห็นนี้ถูกต้อง ก็นำให้เห็นต่อไปว่า คัมภีร์นี้เดิมเป็นของแต่งในคติมหายาน และยิ่งเป็นการย้ำหนักแน่นขึ้นอีกว่า อิทธิพลคติมหายานยังมีอยู่ไม่น้อยในพระญาลิไทย อย่างน้อยก็เป็นพลังบันดาลใจ ในการที่พระองค์จะทรงเริ่มงานนิพนธ์เรื่องนี้ (ดู พุทธานุสรณ์ ตอนตำนานหริภุญชัย หน้า ๓๗)
- น่าจะเป็น พ.ศ. ๑๙๐๔ และ ๘ ปี ตามลำดับ, ฉบับเดิมคงพิมพ์ผิด.
- น่าจะเป็น พ.ศ. ๑๙๐๔ และ ๘ ปี ตามลำดับ, ฉบับเดิมคงพิมพ์ผิด.
- การนับถือผี เป็นคติของคนไทยมาแต่โบราณ ; ความในจารึกหลักที่ ๑ (ประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๑ หน้า ๙) ตอนนี้ว่า “เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีพระขะพุงผี เทพดาในเขาอันนั้นเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ว ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่อถูกผีในเขาอันบ่คุ้มเกรง เมืองนี้หาย”
- ชุมนุมพระนิพนธ์, หน้า ๑๐๗-๑๑๙.
- พระเจ้าเม็งรายที่ได้ลำพูน (หริภุญชัย) และปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรลานนา เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๘ พ.ศ. ๑๘๒๔ และสร้างนครเชียงใหม่เป็นราชธานี ใน พ.ศ. ๑๘๓๙
- นับแต่เมื่อพ่อขุนเม็งรายขึ้นครองราชย์ที่หิรัญนครเงินยาง : บางตำราว่า ๑๘๐๒-๑๘๖๐
- บางตำราว่า ๑๘๖๐-๑๘๖๘ ; รัชกาลต่อๆ มาก็มีแผกกันบ้าง บางพระองค์ครองราชย์ ๒ ครั้ง (เช่นพระเจ้าคำฟู) มีกษัตริย์อื่นแทรกในระหว่าง แต่ในที่นี้จะไม่แสดงรายละเอียดไว้
- เสียเมืองแก่บุเรงนอง พ.ศ. ๒๑๐๑ ในสมัยของพระเมกุฎ
- ปัจจุบันใช้ประกอบการเรียน ป.ธ. ๖-๗ พิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก ลิขสิทธิ์มหามกุฎฯ พ.ศ. ๒๔๗๖ แยกเป็น ๒ เล่ม รวมเป็นเนื้อหนังสือทั้งหมดประมาณ ๑๕๔ ยก
- ปัจจุบันใช้ประกอบการเรียน ป.ธ. ๙ พิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก ลิขสิทธิ์มหามกุฏฯ แยกเป็น ๓ เล่ม (พ.ศ. ๒๔๗๔, ๒๔๗๖ และ ๒๕๐๕ ตามลำดับ) มีเนื้อหนังสือ รวมประมาณ ๒๖๘ ยก
- ปัจจุบันใช้เป็นหลักสูตรและแบบเรียน ป.ธ. ๔-๕ (วิชาแปลเป็นไทย) และ ป.ธ. ๕-๖ (วิชาแปลเป็นมคธ) พิมพ์แยกเป็น ๒ เล่ม เนื้อหนังสือรวม ๑๑๒ ยก
- กรมศิลปากรมอบให้ศาสตราจารย์ ดร. แสง มนวิทูร แปล เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ เนื้อหนังสือ ๒๕ ยกเศษ (ฉบับแปลโดย เสฐียร พันธรังษี ลงพิมพ์ในดวงประทีป ราว พ.ศ. ๒๔๗๕ ครั้งล่าสุดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บรรณาคาร พ.ศ. ๒๔๙๗)
- นำมาตีพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกมีทั้งตัวบาลีและคำแปล ในงานฉลองหิรัณยบฏและทำบุญอายุ พระวิสุทธิวงศาจารย์ วัดสุทัศนเทพวราราม ใน พ.ศ. ๒๕๑๒ (คำแปลโดย น.อ. แย้ม ประภัศร์ทอง ป.ธ. ๙) เนื้อหนังสือ ๔๐ ยกกิ่ง
- หอสมุดวชิรญาณมอบให้พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาลลักษมณ์) และพระญาณวิจิตร (สิทธิ์ โลจนานนท์) แปล พิมพ์ในรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๖๓
- ไม่มีฉบับในหอสมุดวชิรญาณ
- คำแปลสำนวนเก่ามีมานาน แต่ที่พิมพ์เป็นเล่มในปัจจุบัน ฉบับ ส. ธรรมภักดี พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๙๘ แยกเป็น ๓ เล่ม รวมเนื้อหนังสือแปล ๘๗ ยก
- กรมศิลปากรมอบให้ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร แปลเป็นไทยฉบับใหม่ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๐
- คัมภีร์ใบลานฉบับเดิมมี ๕๐ ผูก เฉพาะฉบับแปลได้ทยอยพิมพ์เป็นเล่มออกมาโดยลำดับจนจบ รวมเป็น ๒๘ ภาค ร.พ. ศิลปาบรรณาคาร ได้ขออนุญาตกรมศิลปากรพิมพ์จำหน่ายรวมเข้าด้วยกัน เป็น ๒ เล่มจบ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นเนื้อหนังสือแปล ๑๒๖ ยกเศษ
- พระนิพนธ์คำนำของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือปัญญาสชาดก ฉบับหอสมุดแห่งชาติ
- ชุมนุมพระนิพนธ์, หน้า ๔๙๐-๔๙๓.
- ตำนานพระพุทธเจดีย์, หน้า ๑๑๖.
- การศึกษาในสมัยสุโขทัยและลานนาไทย พิมพ์ตามฉบับที่ได้ปรับปรุงเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๑๙ แต่สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ได้ทำไว้เพียงบันทึกเตรียมเพิ่มเติม ยัง ไม่ได้เรียบเรียง จึงต้องพิมพ์ไปตามฉบับเดิม พ.ศ. ๒๕๑๓ ซึ่งเป็นเพียงข้อความ เล่าสรุป เนื้อหาตอนต่อไปนี้จึงสั้นมาก
- พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ.
- พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือประวัติวัดมหาธาตุ นำลงในอนุสรณ์ ๒๕ พุทธศตวรรษ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎี (พ.ศ. ๒๕๐๐) หน้า ๕๒
- อนุสรณ์ ๒๕ พุทธศตวรรษ, หน้า ๓๕-๓๖.
- เรื่องที่เล่ามาแต่สมัยสุโขทัยถึงที่นี้ ได้อาศัยหนังสือต่างๆ ปรึกษาและประกอบต่างเล่ม เช่น ความเป็นมาของพุทธศาสนาในเมืองไทย, ประพัฒน์ ตรีณรงค์ (พ.ศ. ๒๕๐๐); พุทธจักร ฉบับรับการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ (มิถุนายน ๒๕๑๒): (รายชื่อหนังสือค้นคว้าและอ่านประกอบ ขอให้ดในฉบับแก้ไขเพิ่มเต ซึ่งพิมพ์แทรกไม่ทันในคราวนี้)
No Comments
Comments are closed.