- (กล่าวนำ)
- สมาธิ เคยว่า meditation แต่เดี๋ยวนี้ว่า concentration
- ภาวนา จะใช้คำใด ควรรู้ไว้ทั้ง ๒ อย่าง
- ตอน ๑ ปฏิบัติสมาธิให้ถูกทาง
- สมาธิ มีประโยชน์ที่เป็นลักษณะสำคัญ ๓
- ๑. สมาธิเพื่อพลังจิต
- ๒. สมาธิเพื่อความสุขสงบ
- ๓. สมาธิเพื่อจิตใสและขยายปัญญา
- ผลพลอยได้
- ตอน ๒ วิธีป้องกันและแก้ไขโทษของสมาธิ
- ๑. ปรับอินทรีย์ให้สมดุล
- ๒. ปรับการปฏิบัติให้ดำเนินตามไตรสิกขา
- สันโดษ
- สติปัฏฐาน
- สรุปความ
- ภาคผนวก (คัดตัดมาจากปาฐกถาอีกเรื่องหนึ่ง – ตามคำขอ)
ภาคผนวก
(คัดตัดมาจากปาฐกถาอีกเรื่องหนึ่ง – ตามคำขอ)
โดยทั่วไป สมาธินั้นนิยมปฏิบัติกันในการบำเพ็ญสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน และก็มักจะมองกันในแง่ที่ว่าจะต้องเข้าวัดเข้าป่าไปปฏิบัติ แต่ที่จริงไม่ควรจะรอช้า เราควรเจริญสมาธิหรือทำสมถะวิปัสสนากันตั้งแต่ในชีวิตประจำวันนี่แหละ
ทั้งนี้เพราะสภาพจิตของเรานี้ ก็เหมือนอาการกิริยาทางกาย มันขึ้นต่อความเคยชิน การสะสม การทำให้คุ้น ที่เรียกว่าเสพคุ้น หรือทำให้มาก พอทำให้มาก ก็จะชิน เราเคยเดินอย่างไร เคยพูด หรือเคยทำอาการกิริยาอย่างไร ต่อไปก็จะมีนิสัยอย่างนั้น
จิตของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราปล่อยให้จิตใจฟุ้งซ่านวุ่นวาย ชอบปรุงแต่งอารมณ์กระทบกระทั่ง เก็บเอาสิ่งไม่ดีมาคิด มาปรุงแต่ง ก็จะเกิดความเครียด เกิดความกระวนกระวายใจ พอทำอย่างนี้บ่อยๆ ชินเข้า จิตก็จะลงร่อง พอไปนั่งที่ไหน ก็มีความโน้มเอียงที่จะเครียดทันที อารมณ์ไม่ดีเกิด และไม่สบายใจ กลายเป็นจิตที่ขาดสมาธิอยู่ตลอดเวลา และไม่มีความสุข
เพราะฉะนั้น เรามาลองปฏิบัติดู เอาอะไรสักอย่างมาให้จิตกำหนด ที่สัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต เช่น ลมหายใจ พอลมหายใจดี มันจะปรับสภาพร่างกายด้วย และจะเอื้อต่อการทำงานของจิตให้ดี จิตก็จะมีสติกำหนดด้วย ทำให้หายเครียดไปเลย
เพียงแค่นี้ก็ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องเอาลมหายใจอย่างเดียว เอาอย่างอื่นก็ได้ เอาอะไรที่ดีๆ มากำกับจิต
ชาวพุทธนับถือพระรัตนตรัย เอาเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์มาพิจารณา ระลึกถึงพระคุณของท่าน เอาเรื่องการบำเพ็ญทาน เรื่องบุญกุศล เอาหลักคำสอน เอาข้อธรรมต่างๆ มาไตร่ตรองพิจารณา ทำให้จิตใจสบาย และเกิดปัญญา ก็หายเครียดไป
ตอนแรกให้สติมาก่อน ถ้าเกิดสภาพจิตไม่ดี จะเครียดขึ้นมา หรือจะฟุ้งซ่านวุ่นวายใจ เรารู้ตัวนึกได้ สติก็คือนึกได้ว่า ไม่เอาละ เป็นอีกแล้ว หยุดๆ ไปเอาดีมาแทน ก็ไปเอาสภาพจิตที่ดีเข้ามาแทน หรือเอาจิตไปอยู่กับสิ่งที่ไม่เสียหาย เช่น กำหนดลมหายใจ สภาพจิตก็เปลี่ยนไป ลองกำหนดลมหายใจเข้า-ออก พร้อมกับว่าในใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น
(หายใจเข้า) พุท– (หายใจออก) โธ
(หายใจเข้า) เข้า–หนอ (หายใจออก) ออก–หนอ
ท่านให้กรรมฐานวิธีต่างๆ ไว้ใช้ ถ้ามองในความหมายของสุข ก็คือการปรุงแต่งความสุขนั่นเอง จนกระทั่งในที่สุดเราก้าวต่อไป ก็จะเหนือปรุงแต่ง
ความสุขนี้ มีความสุขขั้นปรุงแต่ง กับความสุขขั้นเหนือปรุงแต่ง ถ้าเป็นขั้นตามธรรมดาของพวกเรา ก็ใช้สมถะ เป็นความสุขขั้นปรุงแต่ง แต่ถ้าเราเลยจากนี้ไป เป็นขั้นวิปัสสนา ก็จะพาไปถึงสุขเหนือปรุงแต่ง
เอาเป็นว่า ทั้ง ๒ อย่างทำลายคลายเครียดได้ทั้งนั้น
No Comments
Comments are closed.