- กล่าวนำ
- ภาค ๑ วิสาขทัศน์ เพื่อวัดและพุทธบริษัท
- ภาค ๒ วิสาขทัศน์ เพื่อรัฐและเพื่อโลก
- คำปรารภ
ภาค ๒
วิสาขทัศน์ เพื่อรัฐและเพื่อโลก
ความสำเร็จทั้งหลาย จะได้มาโดยง่ายก็หาไม่
ทีนี้ เรามานึกดูถึงความสำเร็จของคนทั้งหลายในโลก เป็นธรรมดาว่า ความสำเร็จในการสร้างสรรค์ชีวิต สร้างสรรค์สังคม และทำสิ่งดีงามต่างๆ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่บรรลุผลได้ง่ายดาย คนจะต้องมีความเพียรพยายาม ต้องมีความเข้มแข็ง ต้องมีความอดทน ต้องมีคุณสมบัติต่างๆ มากมาย และต้องดิ้นรนฝึกฝนตัวเอง รวมแล้วก็คือต้องพัฒนาคน
เมื่อพูดถึงความสำเร็จของแต่ละคน คนนั้นก็คือตัวเอง หมายความว่าต้องพัฒนาตน ถ้าเป็นสังคม ก็ต้องช่วยกันพัฒนาคนทั้งหลาย ที่จะมาร่วมกันสร้างสรรค์สังคมนั้น ให้เป็นคนที่เข้มแข็ง มีความเพียรพยายาม ใจสู้ เป็นต้น จึงจะสร้างความสำเร็จได้
ถ้าใช้หลักธรรมง่ายๆ เราก็บอกว่า อิทธิบาท ๔ ไงล่ะ ต้องมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา อันนี้ก็ยิ่งชัด ไม่ว่าจะพูดสำนวนไหนอย่างไร ก็คือต้องมีความเข้มแข็ง มุ่งมั่น แน่วแน่ จริงจัง ซึ่งหมายถึงว่าต้องมีปัญญาเข้มด้วย
ในเมื่อผลที่หมาย ความเจริญงอกงาม ความดี ความเลิศประเสริฐสุดของมนุษย์ก็ตาม ความดีงามของสังคมก็ตาม สันติสุขของโลกก็ตาม จะเกิดขึ้นได้ ล้วนเป็นความสำเร็จที่ต้องอาศัยความเพียรพยายาม การสร้างสรรค์ด้วยเรี่ยวแรงความเข้มแข็งอย่างนี้ เราจึงต้องพยายามชักชวนกัน ในการที่จะพัฒนาตัวเอง ให้มีคุณธรรมความดี ความเข้มแข็ง ความขยันอดทน
ตั้งต้นแต่ในครอบครัว พ่อแม่ก็จะต้องอบรมเลี้ยงดูลูกของตนให้เป็นคนมีจิตใจใฝ่ในความดีงาม รักความรู้ รักการสร้างสรรค์ มีจิตใจเข้มแข็ง ขยันหมั่นเพียร ไม่ใจเสาะเปราะบาง ไม่เหยาะแหยะหยิบโหย่ง เป็นต้น
กว้างออกไปในสังคม เราจึงต้องมีการจัดการศึกษา มีการฝึกฝนอบรมให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาตน ตลอดจนผู้คนทั่วไป คือประชาชนทั้งหมด ก็ต้องให้มีคุณสมบัติและให้มีคุณธรรมเหล่านี้
ความสำเร็จของผู้นำที่ยิ่งใหญ่
คือพาคนชนะความยากไปถึงความสำเร็จที่สร้างสรรค์
ไม่ใช่แค่นั้น เรื่องนี้จะต้องพัฒนากันขึ้นไปถึงระดับผู้นำประเทศ หรือผู้ปกครองบ้านเมืองเลยทีเดียว เพราะผู้ปกครองบ้านเมืองนั้น จะต้องมานำประชาชนให้เกิดเรี่ยวแรงกำลังกาย-ใจ-ปัญญา-สามัคคี ในการสร้างสรรค์
ตัวผู้ปกครองที่จะนับได้ว่าเป็นผู้นำมีความสามารถ ก็คือผู้ที่มาเป็นศูนย์รวมประสานใจ ช่วยชักชวน ชักจูง กระตุ้นเร้าจิตใจของคนร่วมชาติ ให้ใฝ่ในการสร้างสรรค์ความดีงาม ให้มีความเข้มแข็งอดทน มีความเพียรพยายามไม่ระย่อท้อถอย ให้มุ่งมั่นที่จะช่วยกันพัฒนาชีวิต พัฒนาสังคม มีปัญญาหยั่งรู้มองกว้างคิดไกล สามารถชี้แนะนำทางว่ามีอะไรดีงามที่ชีวิตและสังคมควรจะได้ควรจะถึง ให้ตระหนักว่าสังคมของเรามีอะไรเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไข มีอะไรที่จะต้องช่วยกันสร้างสรรค์ แล้วพากันบุกฝ่าไป
ถ้าผู้นำท่านใดมีความสามารถนี้ มาช่วยกระตุ้นเร้าให้คนในชาติมีแนวคิด มีทิศทาง มีกำลังใจ และมีเรี่ยวแรงที่จะสร้างสรรค์ทำความดี รวมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ประเทศชาตินั้นก็จะเจริญงอกงามเข้มแข็ง เฉพาะอย่างยิ่งในระยะยาว
เพราะฉะนั้น ถ้าพูดให้สั้น หน้าที่ของผู้นำก็คือ ต้องคอยกระตุ้นเร้าชักจูงประชาชนให้ไม่ประมาท
ไม่ประมาท ก็คือ ไม่หลงระเริง ไม่อ่อนแอ ไม่มัวเมา ไม่ปล่อยปละทิ้งโอกาสแห่งการสร้างสรรค์ ไม่มองข้ามละเลยที่จะแก้ไขป้องกันเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม ไม่มัวขลุกขลุ่ยจมอยู่กับสิ่งเสพบำเรอบันเทิงต่างๆ ที่จะยั่วยวนล่อเร้าให้ไหลลงไปในทางเสื่อม หรือทำให้ล่าช้า รวมแล้วก็คือที่จะทำให้ประมาท
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ในฐานะที่พระองค์เป็นพระราชา สิ่งสำคัญก็คือ
๑. พระองค์ต้องมีกัลยาณมิตร และ
๒. (พระองค์ผู้มีกัลยาณมิตรนั้น) จะต้องเป็นผู้ไม่ประมาท
การอยู่ด้วยความไม่ประมาท โดยมีกัลยาณมิตรนั้น สำคัญอย่างยิ่ง คือ ต้องมีข้าราชบริพาร มนตรี คนที่มารับใช้ร่วมงาน ผู้สนองงานต่างๆ ตลอดจนที่ปรึกษา ที่เป็นคนดี มีความรู้ มีความดีงาม มีคุณธรรม มีความสามารถ ใฝ่ดี ต้องการจะสร้างสรรค์ประเทศชาติสังคมให้ดี ไม่ละโมบทุจริต ไม่คิดหลอกลวงมุ่งหาแต่ลาภ แล้วก็ให้คำแนะนำอะไรต่างๆ ที่ดีงามแยบคาย
ถ้าผู้นำทำได้อย่างนี้ ก็จะมีประชาชนเป็นกัลยาณมิตรด้วย ประชาชนก็จะมีจิตใจใฝ่ดี มีความรักความสามัคคี มีจิตใจร่วมกัน และมีไมตรีจิตต่อผู้บริหารประเทศชาติบ้านเมือง เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน แต่ผู้นำนี่แหละต้องทำตัวให้เป็นกัลยาณมิตรก่อน เพราะเป็นผู้นำที่จะชักจูงเขาไปในทางที่ถูกต้องดีงาม
ถ้านำถูกทางอย่างนี้ สังคมก็จะมีความสามัคคีพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางที่ดีงาม มีเอกภาพของผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร ก็จะรวมกำลังกันได้เข้มแข็ง สามารถฟันฝ่าอุปสรรค แก้ไขปัญหา และนำประเทศชาติไปสู่ความเจริญงอกงามได้แน่ หลักการนี้เป็นสิ่งสำคัญ เป็นหัวใจของการสร้างสรรค์ประเทศชาติ
คุณธรรมของผู้ปกครองนั้นมีเยอะแยะ มีภาวะผู้นำด้านต่างๆ มากมาย แต่ในที่สุดแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสย้ำว่า ผู้นำต้องมีกัลยาณมิตร ถ้าเพื่อนพ้องบริวารผู้บริหารบ้านเมืองด้วยกัน ตลอดจนผู้ทำงานรับราชการทั้งหลาย ไม่เป็นกัลยาณมิตร เป็นคนทุจริต ไม่ซื่อตรง ประมาท มัวเมา หลงอามิส ไม่มีคุณธรรม ก็เป็นจุดอ่อนร้ายแรงที่สุด
เมื่อมีคนเป็นกัลยาณมิตรแล้ว ก็ต้องไม่ประมาทในทุกภารกิจและเหตุการณ์ด้วย
เมื่อผู้นำไม่ประมาท ก็จะรักษาและขยายวงกัลยาณมิตรเพิ่มขึ้นด้วย แต่ถ้าผู้นำประมาทเสีย นอกจากตัวเองประมาทแล้วก็จะพาให้ผู้อื่นประมาทด้วย กัลยาณมิตรที่ไม่มั่นก็จะผันแปรไปกลายเป็นปาปมิตร เลยไปกันใหญ่ จะหายนะกันทั่วทั้งสังคม เพราะฉะนั้นจะต้องพยายามถือหลักนี้ให้มั่น
พระพุทธเจ้าทรงให้หลักนี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ในที่สุดแล้ว คุณสมบัติของผู้นำจะมีอะไรก็ตาม ต้องมี ๒ ข้อนี้ด้วย เป็นตัวคุมและเป็นหลักประกันไว้ คือ ต้องมีกัลยาณมิตร และต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาทตลอดเวลา
แล้วก็อย่างที่ว่า ไม่ใช่ไม่ประมาทเฉพาะตนเองเท่านั้น ต้องชักชวนกระตุ้นเร้าคนข้างเคียงและประชาชนให้ไม่ประมาทด้วย แต่เมื่อตนเองไม่ประมาทแล้ว ก็ง่ายที่จะทำให้ประชาชนไม่ประมาทด้วย มักไปด้วยกัน อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องย้ำไว้
ผู้นำที่มีความสามารถจริงอย่างนี้ จะน่าชื่นชมมาก ทำอย่างไรเราจึงจะมีผู้นำที่คอยกระตุ้นเตือนชักนำประชาชนให้ไม่ประมาท ไม่ให้ลุ่มหลงมัวเมาหมกจมอยู่กับความมักง่ายใต้กองเหยื่อล่อ แต่คอยปลุกเร้าให้สังคมเข้มแข็งที่จะก้าวไปในทางของการสร้างสรรค์ ไม่ระย่อในการสู้หน้าแก้ปัญหา และมุ่งมั่นในการทำสิ่งดีงามให้เจริญพัฒนายิ่งขึ้นไป
รัฐศาสตร์บอกชื่อตัว ว่าติดกรอบรัฐ
ขึ้นไปยันเพดานชาติ วิ่งตามลัทธิศาสน์อุดมการณ์
เรื่องของสังคมประเทศชาติทั้งหลาย ที่มีความเป็นไปต่างๆ นั้น มีเหตุปัจจัยที่หลากหลาย ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก และเหตุปัจจัยเหล่านั้นก็ซับซ้อนหลายชั้น เช่น ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกสังคมนั้น ก็มีทั้งปัจจัยข้างในและปัจจัยข้างนอกจิตใจของบุคคลเป็นตัวบีบคั้นขับดัน
กรณีตรงข้ามกับที่พูดข้างต้น มีมาแต่สมัยโบราณนานนักหนาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เป็นธรรมดาว่า ในการปกครองก็มีประเทศของเราและประเทศของเขา มีประเทศที่เป็นฝ่ายของตัวและประเทศที่เป็นฝ่ายศัตรู มีรัฐอื่นภายนอกทั้งใกล้และไกล แล้วก็มีปัญหาในการขัดแย้งกระทบกระทั่งกัน มีการแข่งขันแย่งชิงอำนาจ รบราฆ่าฟันทำสงครามกันบ่อยๆ
เพราะฉะนั้น ความคิดทางรัฐศาสตร์แต่ไหนแต่ไรมาจึงมุ่งให้เราได้ ให้เราเหนือเขา ให้เราชนะ และหาทางว่า ถ้าเป็นฝ่ายอื่นพวกอื่น เราไม่ต้องการให้เจริญงอกงาม เราก็ไปทำให้ประมาทเสีย
อย่างเรื่องสงครามภารตะ ในกาพย์มหาภารตะ ที่เล่าเรื่องราวเหตุการณ์สมัยประมาณ ๘๐๐ ปีก่อนพุทธกาล (แต่วรรณกรรมที่แต่งเป็นมหากาพย์ ซึ่งเล่าเรื่องนี้ เกิดหลังพุทธกาลราว ๒๐๐–๙๐๐ ปี) แม้จะมีความคิดคำนึงทางธรรมที่เรียกว่าเป็นปรัชญาไม่น้อย แต่พูดรวมๆ ว่า พวกวรรณคดีในยุคที่ถือว่าเป็นเรื่องราวก่อนพุทธกาลนี้ แสดงหลักรัฐศาสตร์การปกครองแบบที่ว่า ต่างฝ่ายก็จะแย่งชิงอำนาจซึ่งกันและกัน ต่างก็มุ่งหมายความยิ่งใหญ่ของตน
เพราะฉะนั้น หลักการทั่วไปก็คือ รัฐทั้งหลายจะสร้างความยิ่งใหญ่ของตน บนความย่อยยับของรัฐอื่น เป็นอย่างนั้นเรื่อยตลอดมา ด้วยเหตุนี้ ผู้ปกครองจะต้องพยายามให้รัฐอื่นอ่อนแอ
อย่างตำราการปกครองสมัยโบราณยุคปู่พระเจ้าอโศก คือพระเจ้าจันทรคุปต์ ซึ่งมีพราหมณ์จาณักยะเป็นมหาเสนาบดีหรือปุโรหิต จาณักยะที่เรียกได้ว่าเป็นผู้สร้างพระเจ้าจันทรคุปต์ขึ้นมานี้ ได้แต่งตำรารัฐศาสตร์สำคัญเรียกว่า อรรถศาสตร์ ว่าด้วยหลักการปกครองซึ่งใช้กันมาในอินเดียโดยตลอด
อรรถศาสตร์สอนวิธีการให้กษัตริย์แสวงหาความยิ่งใหญ่ บอกกลวิธีว่าจะขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่มีอำนาจสูงสุดได้อย่างไร จะสร้างรัฐของตนให้ยิ่งใหญ่เจริญรุ่งเรืองได้อย่างไร
ความคิดในทางรัฐศาสตร์โดยทั่วไปก็จะเป็นอย่างนี้ คือว่าพระราชาซึ่งเป็นผู้ปกครองที่ดีนั้น มีความปรารถนาดีต่อประชาชนในรัฐของตน แต่ว่าแค่ของตัวนะ สำหรับรัฐอื่นฉันพร้อมที่จะห้ำหั่นเต็มที่
เพราะฉะนั้น ก็จะมีวิธีการที่ว่าทำอย่างไรจะให้รัฐอื่นจมอยู่ในความอ่อนแอ เช่นว่า รัฐทั้งหลายที่อยู่ใกล้เคียง ถ้าเก่งขึ้นมา อาจเป็นอันตรายต่อเรา เราก็หาทางให้เขาขัดแย้งกันไว้ เมื่อเขาขัดแย้งกัน เราก็สบาย นอกจากว่าเมื่อเขามัวยุ่งกันอยู่ จะไม่มายุ่งกับเราแล้ว เขายังมาพึ่งหรือหวังพึ่งเราด้วย เพราะว่าทั้ง ๒ ฝ่าย เมื่อขัดแย้งกันแล้ว ก็ต้องหาพวก เราก็ยิ่งสบาย เข้าทางโน้นที เข้าทางนี้ที
ถ้าไม่อย่างนั้น ก็อาจจะใช้วิธีการต่างๆ ในการปลุกปั่นยุแหย่หรือล่อหลอกมอมเมา ที่จะทำให้ประชาชนของรัฐอื่นอ่อนแอ จมอยู่ในความวุ่นวายกันเองหรือมัวเมาประมาทเสีย ซึ่งปัจจุบันนี้ก็อาจจะยังมีการใช้กันอยู่ก็ได้
ดังที่ได้รู้เห็นกันว่า ถอยหลังไปสมัยอาณานิคม ญาติโยมเก่าๆ ก็คงจำได้อยู่ว่า อังกฤษก็ปกครองอาณานิคม ฝรั่งเศสก็ปกครองอาณานิคม ซึ่งก็อยู่แถวๆ นี้ ใกล้ๆ รอบๆ เมืองไทยนี่เอง
เราจะได้ยินว่า อังกฤษนั้นเน้นวิธีปกครองอาณานิคมแบบที่ฝรั่งเรียกว่า “divide and rule” คือ แบ่งแยกแล้วปกครอง หมายความว่า ประเทศอาณานิคมหรือเมืองขึ้นทั้งหลายนี้ เขาจะต้องทำให้ประชาชนหรือคนภายใน ตั้งแต่ผู้บริหารประเทศที่เป็นเมืองขึ้นแตกแยกกัน เมื่อแตกแยกกันแล้ว พวกนี้ก็จะยุ่งนัวเนียกันอยู่ข้างใน ไม่มาคิดกู้เอกราช หรือจะไม่มาคิดแข็งขืนต่อผู้ปกครอง
เป็นอันว่า อังกฤษใช้วิธีปกครองแบบนี้จนเป็นที่รู้กัน เรียกว่า “divide and rule” ให้คนข้างในประเทศแตกกันเสีย แล้วเขาก็ปกครองได้สะดวก
ทีนี้ฝรั่งเศส เราก็ว่าไปตามที่รู้กันมาว่า ฝรั่งเศสนั้นใช้วิธีทำให้ประชาชนมัวเมา เพลิดเพลิน เช่น ปล่อยตามใจหรือมอมเมา ให้ชาวเมืองขึ้นได้เล่นการพนัน ได้ดื่มสุรากันให้สบาย พอสนุกสนานเพลิดเพลินมัวเมา ก็ติดจม ปวกเปียกป้อแป้ ไม่ใส่ใจที่จะมาแข็งขืนหรือคิดการอะไร
ที่จริง เรื่องแบบนี้เป็นวิธีการปกครองที่มีมาแต่โบราณ อย่างในมหาภารตะที่พูดถึงเมื่อกี้ ก็แสดงวิธีการอย่างนี้ เช่นว่า เมื่อไปรบชนะประเทศอื่นแล้ว พวกประชาราษฎรของเขาย่อมมีความเคียดแค้นต่อประเทศที่ไปตีไปฆ่าเขา เพราะพ่อแม่พี่น้องญาติมิตรของเขาต้องตายกันไปมากมาย เขาก็มีวิธีการอย่างหนึ่งว่า ไปสนับสนุนส่งเสริมมหรสพและการละเล่นบันเทิงต่างๆ ให้แพร่หลายทั่วไป ไปเอาอกเอาใจแบบนี้ให้เขาชอบ
พวกราษฎรเหล่านั้นก็ไปลุ่มหลงเพลิดเพลินมัวเมากับการสนุกสนานกินเหล้าเมายากัน เลยลืมความแค้น หรือสนุกจนหายแค้นไปเลย บางทียังกลับมานิยมชมชอบฝ่ายประเทศผู้ปกครองที่มาเอาใจด้วยซ้ำ
แม้แต่ในประเทศของตนเอง ถ้าผู้ปกครองใช้วิธีที่จะทำให้ประชาชนเพลิดเพลินหลงระเริงมัวเมาประมาท ก็ไม่สามารถจะพ้นจากการถูกระแวง เพราะว่าคนที่รู้หลักรัฐศาสตร์มาแต่โบราณ เขาก็จะคิดสงสัยได้ว่า ท่านผู้นี้มีเจตนาอะไร มุ่งอะไรกันแน่ คิดจะเอาอย่างไรกับราษฎร จะเอาราษฎรมาเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ของตัวหรือเปล่า หรือจะทำให้จมอยู่กับเรื่องเหล่านี้จนลืมคิดอะไรสักอย่าง
แต่รวมแล้ว ในที่สุด ผลร้ายก็มาตกที่ส่วนรวมทั้งสังคม คือ ประชาชนจะประมาท ไม่เข้มแข็ง อ่อนแอ ไม่มีกำลังและไม่ใส่ใจที่จะมาช่วยกันสร้างสรรค์ประเทศชาติ แม้แต่ชีวิตของแต่ละคน ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่นทั้งหลาย ก็จะกะปลกกะเปลี้ยไปหมด
แม้แต่อุดมการณ์ใหญ่ๆ และลัทธิศาสนาเป็นอันมาก ที่มองอะไรกว้างออกไป ก็เข้ามากำกับการเมืองการปกครองและเรื่องของสังคม ในลักษณะที่เป็นการแบ่งแยกพวกฝ่าย แล้วก็กลายเป็นต้นเหตุของการบีบคั้นห้ำหั่นเบียดเบียนไปเสียเอง แต่เรื่องนี้ยาวมาก ต้องข้ามไปก่อน
No Comments
Comments are closed.