ภาค ๒ วิสาขทัศน์ เพื่อรัฐและเพื่อโลก

2 มิถุนายน 2547
เป็นตอนที่ 3 จาก 4 ตอนของ

ถ้าจะนำโลกขึ้นไปสู่ความพ้นปัญหา
ต้องมีความเข้มแข็งทางปัญญาเหนือกว่าผู้ที่ชนะการแข่งขัน

ที่พูดกันว่าอารยธรรมปัจจุบันเจริญนักหนานั้น แม้กระทั่งบัดนี้ มนุษย์ก็ยังไม่สามารถก้าวขึ้นไปถึงหรือแม้แต่เฉียดใกล้รัฐศาสตร์เพื่อโลกอันนี้เลย

คนไทยเรา ในเมื่อมีหลักธรรมอันนี้ ที่พระพุทธศาสนาได้มอบให้ไว้ เราก็ควรจะก้าวออกหน้าไปได้ ด้วยจิตสำนึกว่าเราควรจะมีอะไรให้แก่โลกนี้บ้าง เราไม่ควรมาติดอยู่แค่จะแข่งขันในระบบแห่งรัฐศาสตร์เพื่อชาตินี้เท่านั้น

แม้แต่จะแข่งขันสู้กันให้ชนะเขาได้ในยุคโลกาภิวัตน์แห่งการแข่งขันทางธุรกิจ เป็นต้นนี้ เราก็ต้องมีความเข้มแข็งให้มากพอ จึงจะเดินหน้าไหว แล้วเราจะมาอ่อนแอปวกเปียกมัวเมาลุ่มหลงอยู่ได้อย่างไร เราก็ต้องมีความเข้มแข็ง สร้างกำลังงานพัฒนาคนของเราให้มีพลังความสามารถขึ้นมา

โดยเฉพาะความเข้มแข็งทางปัญญา ต้องมีให้มาก ถ้าไม่มีปัญญา ก็มืดบอด ไปไหนไม่รอด ถึงจะมีกำลังกาย และกำลังอาวุธอย่างเยี่ยมยอด ก็ได้แค่คอยพึ่งพา แม้แต่มีกำลังจิตใจเข้มแข็ง ก็ติดตันไปไม่ตลอด ต้องมีปัญญาที่เยี่ยมยอด จึงจะชนะเขาได้ เราจึงต้องมาเน้นการสร้างคนของเราให้มีกำลังปัญญา แล้วเราจึงจะสามารถมีชัยชนะที่แท้จริงในโลกาภิวัตน์ ในโลกแห่งการแข่งขันนี้ได้

แต่เราไม่ควรมีเป้าหมายเพียงแค่นั้น เราจะต้องมองต่อไปให้ถึงจุดหมายที่แท้ของอารยธรรมที่ว่า เราจะต้องแก้ปัญหาของโลกที่ติดจมอยู่ในการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน การแย่งชิงอำนาจ และการทำลายผู้อื่นรัฐอื่นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐของตน ทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาในขั้นนี้ได้ ชาวพุทธที่ว่ามีศาสนาแห่งโพธิปัญญา จะต้องคิดให้ได้ในระดับนี้

ในชาดกมีคำสอนประเภทนี้ ขอให้ไปศึกษาดู ทำไมจึงเรียกพระมโหสถว่าเป็นผู้สูงสุดในด้านปัญญาบารมี ก็เพราะมโหสถสามารถใช้ปัญญาสยบศัตรูที่จะมาทำร้ายประเทศชาติของท่าน โดยไม่ต้องทำร้ายเขา และทำให้เป็นไมตรีกันได้ คือเอาชนะโดยธรรม เอาชนะโดยไม่ต้องทำร้ายเขา

เคยพูดบ่อยๆว่า ที่พระพุทธเจ้าสอนว่า เวรไม่ระงับด้วยการจองเวรนั้น ไม่ใช่ว่า เขามาทำร้ายเราแล้ว เราไม่ต้องจองเวรคือเราอยู่เฉยๆ ปล่อยให้เขาฆ่า ไม่ใช่อย่างนั้น คนไทยมักไปติดหรือตันอยู่แค่นั้น คือคิดแค่ว่า เขามาทำร้ายเรา อ๋อ เวรระงับด้วยการไม่จองเวร เราก็นอนให้เขาฆ่าเสียดีๆ หรือเขาทำร้ายเสร็จแล้ว เราไม่ตาย ก็แล้วไป จบแค่นั้น ไม่ใช่อย่างนั้น

พระพุทธเจ้าสอนไว้ อย่างในชาดกเช่นมโหสถชาดกนี่ชัดเจนมาก ฝ่ายศัตรูเขามุ่งร้าย เราไม่ได้คิดมุ่งร้ายเขา เขายกทัพมาเลย จะมาทำสงครามฆ่าฟันเอาเราเป็นเมืองขึ้น แล้วมโหสถคิดและทำอย่างไร ที่แน่ๆ ก็คือ มโหสถไม่ต้องการทำร้ายเขา แต่ก็ต้องรักษาบ้านเมืองและประชาชนให้อยู่ดีด้วย

เมื่อไม่ต้องการทำร้ายเขา ก็ต้องเอาชนะเขาด้วยวิธีที่ไม่ต้องทำร้ายตอบ มโหสถต้องคิดหนัก แต่ที่สำคัญคือต้องมีปัญญาที่จะคิด ขยายความว่า ต้องมีปัญญาที่รู้ได้แจ้งจริงและที่คิดได้ชัดเจน

ยกตัวอย่าง มโหสถนอกจากรู้เชี่ยวชาญในหลักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และยุทธศาสตร์แล้ว ก็รู้ข้อมูลและแสวงหาข้อมูลของฝ่ายที่ทำตัวเป็นศัตรูจนรู้เขาละเอียดลออทั่วตลอดทุกจุดทุกด้าน แล้วจากความรู้นั้น ก็คิดจัดคิดวางแผนดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนที่จะทำให้ปฏิบัติการของฝ่ายที่คิดร้ายนั้นเป็นหมัน หรือไม่ก็กลายเป็นการก้าวเข้าไปในกับดักที่แม้ไม่ถูกทำร้ายแต่ก็ดิ้นไม่ได้ จนในที่สุดฝ่ายที่คิดร้ายนั้นต้องหยุดยอมแต่โดยดี

คนที่จะชนะเขาโดยไม่ต้องทำร้ายเขา ที่เรียกว่าไม่ชนะด้วยเวรนั้น ต้องเก่งกว่าคนที่คิดจะมาทำร้ายเป็น ๑๐ เท่า เพราะฉะนั้น คนที่จะสร้างโลกให้มีสันติสุขที่แท้จริง จะต้องเป็นคนที่พัฒนาอย่างสูง ถ้าเรามัวมาเพลิดเพลินมัวเมากันอยู่ อ่อนแอปวกเปียก โดยเฉพาะอ่อนปัญญา (หรือเบาปัญญา) ก็ไปไม่รอด

เราจะต้องสร้างคนของเราให้มีคุณภาพเหนือกว่าประเทศที่ก้าวหน้าพัฒนาแล้วในการแข่งขันนี้เสียอีก เราต้องเหนือเขาจริงๆ โดยเฉพาะเหนือทางปัญญา เพราะฉะนั้น เราจะมัวมานิ่ง มานอน มาเพลิดเพลินมัวเมาอยู่ได้อย่างไร เราต้องเร่งรัดกัน

ขั้นที่ ๑ เราต้องสามารถชนะในการแข่งขันนี้ อย่างน้อยไม่ให้เขามาครอบงำเราได้

ขั้นที่ ๒ เหนือกว่านั้นก็คือ เราจะต้องก้าวขึ้นไปสู่การแก้ปัญหาของโลกที่เบียดเบียนซึ่งกันและกันอยู่นี้ เปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้เป็นโลกที่มีสันติสุข นำเอารัฐศาสตร์เพื่อโลกไปสถาปนาในโลกยุคปัจจุบันหรือโลกาภิวัตน์ให้ได้

ชาวพุทธควรจะมาปลุกใจกันในเรื่องเหล่านี้ มาสร้างความเข้มแข็งในตัว แล้วเราจะก้าวไปได้จริงๆ เพราะเรามีหลักการแล้ว เรื่องมโหสถชาดกขอให้ไปศึกษาให้ดี ว่าปัญญาของพระมโหสถเป็นอย่างไร

ปัญญาอย่างมโหสถนั้น สาระสำคัญก็คือ ท่านสามารถใช้ปัญญาเอาชนะศัตรูที่มุ่งร้ายต่อเราด้วยการไม่ทำร้ายตอบเขา และนอกจากไม่ทำร้ายตอบเขาแล้ว ยังสามารถทำให้เขายอมสยบ ยอมเป็นไมตรี เพื่ออยู่ด้วยกันอย่างดีมีสันติสุขสืบไป

เห็นได้เลยว่า การใช้ปัญญาขั้นนี้ยากที่สุดในโลก เอาชนะด้วยศาสตราวุธยังจะง่ายกว่า แต่ทั้งโลกก็ต้องยอมรับว่า ถ้าไม่ก้าวไปถึงรัฐศาสตร์เพื่อโลกแบบนี้ โลกก็ไม่มีทางมีสันติสุข จะทำอย่างไรได้ ถึงจะยากก็ต้องทำ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วโลกนี้จะไม่มีความหวัง

ตามสภาพเวลานี้พูดได้ว่า ความหวังในสันติภาพไม่มีเลยในโลก มีแต่ความคิดที่จะเบียดเบียนห้ำหั่นทำลายกัน มนุษย์อยู่กันด้วยความหวาดกลัว อยู่กันด้วยความใฝ่อำนาจ ทั้งใฝ่อำนาจแล้วก็กลัวด้วย

อย่างประเทศใหญ่ๆ ที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่ว่ามุ่งอำนาจยิ่งใหญ่อย่างเดียว แต่ในการรักษาอำนาจความยิ่งใหญ่นั้น เขาก็มีความหวาดกลัวมาก ยิ่งใหญ่ก็ยิ่งกลัว โดยเฉพาะกลัวสูญเสียอำนาจ และความกลัวนั้นทำให้หวาดระแวง เมื่อหวาดระแวงก็ทำให้ต้องกำจัดคนอื่น ต้องทำร้ายเขาก่อน เพื่อป้องกันไว้ เพื่อไม่ให้เขามีกำลังขึ้นมาเป็นคู่แข่งหรือเป็นอันตรายแก่ตัว

ความกลัวนี่แหละเป็นตัวร้าย อย่ามองแค่ความโลภอยากได้ผลประโยชน์หรือความอยากได้อำนาจเท่านั้น ไม่ใช่อย่างนั้นหรอก ความกลัวนี่ร้ายยิ่งนัก

คนไม่มีอำนาจก็กลัว คนมีอำนาจก็กลัว ทั้งสองฝ่ายกลัว แต่คนกลัวที่ไม่มีอำนาจ ทำอะไรเขาไม่ได้ ได้แต่หนี แบกทุกข์ไว้ที่ตัว ส่วนคนกลัวที่มีอำนาจนี่ร้ายที่สุดเลย เพราะว่า เพียงแค่หวาดระแวงขึ้นมา เขาอาจจะทำร้ายผู้อื่นให้พังพินาศยับเยินไปหมด เพื่อให้ตัวอยู่ได้ ตัวเองทุกข์แล้วทำให้คนอื่นยิ่งทุกข์อย่างหนัก เพราะฉะนั้น ท่านจึงถือว่าความกลัวเป็นเรื่องสำคัญ ความหวาดระแวงเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างยิ่ง

เราอย่าไปมองเฉพาะความโลภอยากได้ผลประโยชน์ และความอยากใหญ่มีอำนาจเท่านั้น แต่ความโลภและห่วงอำนาจนั้นจะพ่วงเอาความระแวงหวาดกลัวมาด้วย หลักการหลายอย่างทางรัฐศาสตร์ที่สร้างกันขึ้นมาก็สืบเนื่องจากความหวาดระแวง และความหวาดกลัวว่า ชาติอื่นรัฐอื่นใหญ่ขึ้นมาจะเป็นภัยแก่ตน หรือแม้เพียงแข่งกับตน เป็นต้น ก็เป็นกันมาอย่างนี้

เพราะเหตุดังว่ามา รัฐศาสตร์เพื่อชาติจึงไม่อาจสร้างสันติภาพที่แท้จริงได้ และเราจึงต้องก้าวต่อขึ้นไปให้ถึงรัฐศาสตร์เพื่อโลก

พระสงฆ์ต้องเป็นกัลยาณมิตรหลักของชาวบ้าน
ต้องฉุดสังคมไทยขึ้นจากความประมาทมัวเมาให้ได้

ได้พูดมานานมากแล้ว วันนี้ได้พูดถึงธรรมะในแง่ของการสร้างสรรค์ชาติประเทศและสังคมของโลก ให้มีสันติสุข ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในยุคนี้ ที่เราจะต้องก้าวต่อไป แต่ที่พูดมาทั้งหมดนี้ไปเน้นที่ผู้ปกครอง ท่านผู้นำ ผู้บริหารประเทศชาติ จึงขอย้ำว่าอย่าลืม ต้องมองดูพระด้วย พระนี่แหละสำคัญมาก

เราบอกว่าท่านผู้นำผู้บริหารประเทศชาติจะต้องเป็นกัลยาณมิตร มาชักจูงประชาชนให้มีกำลังใจเข้มแข็ง มีความเพียรพยายาม ไม่ประมาท ไม่ลุ่มหลงมัวเมา ไม่อ่อนแอ ไม่ระย่อท้อถอย แล้วร่วมใจกันสร้างสรรค์ต่างๆ อันนี้จะเป็นความสำเร็จที่แท้

ผู้นำที่ยิ่งใหญ่จริงๆ คือ ผู้นำที่สามารถเอาหลักความจริง หลักความถูกต้อง เอาประโยชน์ที่แท้ มาเป็นที่อ้างอิงที่จะให้ประชาชนร่วมแรงร่วมใจกันในการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคม โดยไม่ต้องอาศัยความโลภหรือความโกรธมาเป็นเครื่องกระตุ้นเร้า เราก็หวังอย่างนี้ จึงขอท่านผู้นำอย่าได้มานำให้ประชาชนลุ่มหลงมัวเมาอะไรเลย

ทีนี้อีกฝ่ายก็พระนี่แหละ อย่าได้ไปมองเฉพาะท่านผู้นำ หรือผู้บริหารบ้านเมืองเท่านั้น พระนี่บางทีก็ทำหนักเหมือนกัน คือไม่เอาหลักพระพุทธศาสนาไปสอน ไม่ไปกระตุ้นปลุกเร้าประชาชนให้ไม่ประมาท แต่กลับไปทำในทางที่ตรงข้าม

พระต้องตั้งมั่นในหลักที่พระพุทธเจ้าสอน และนำประชาชนไปตามหลักนั้น หลักที่พระพุทธเจ้าทรงสอนย้ำนักก็คือ ให้ไม่ประมาท แม้กระทั่งจะปรินิพพานก็ตรัสเป็นปัจฉิมโอวาทว่าให้ไม่ประมาท พระก็ต้องเป็นผู้นำในความไม่ประมาท และพระก็จะต้องไปชักจูงสั่งสอนญาติโยมประชาชนให้ไม่ประมาท

ให้ไม่ประมาทในอะไร ก็คือ ให้ไม่ประมาทในการนำหลักและข้อปฏิบัติที่ดีที่ถูกต้องในการพัฒนาชีวิตสังคม มาใช้มาดำเนินการสร้างสรรค์ชีวิต สร้างสรรค์ครอบครัว เช่นทำการงานอาชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร เป็นต้น แต่ถ้าพระไปชักจูงในทางตรงข้าม ก็กลายเป็นชักจูงให้ประมาท

ชักจูงให้ประมาท ก็คือ ให้เขาลุ่มหลงมัวเมา ให้หวังผลจากการอ้อนวอน จากการดลบันดาล จากการรวยทางลัด จากการหวังโน่นหวังนี่ที่เลื่อนลอย เช่นไปขูดเลขขูดหวยอะไรต่างๆ พูดรวมสั้นๆ ว่า รวยลัด-ลาภลอย-คอยผลดลบันดาล นี่คือพระไปนำคนในทางที่ประมาท ซึ่งเวลานี้กลายเป็นว่าพระได้มีส่วนสำคัญในการชักนำ

ถึงเวลาแล้ว ที่พระเราจะต้องเข้าสู่ทางปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักที่พระพุทธเจ้าสอน และเป็นกัลยาณมิตรของประชาชนชาวบ้าน ที่จะนำเขาไปในทางที่ถูกต้องนั้น ไม่ใช่กลายเป็นผู้ทำลายหลักนั้นเสียเอง

พระนั้น ถ้าทำไม่ดี ก็กลายเป็นผู้ทำลาย และทำลายได้ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ทำลายคำสอนของพระองค์ แม้แต่ทำลายพระพุทธเจ้าก็ได้ หรือกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธเจ้า อย่างพระที่ไปชักจูงประชาชนให้ประมาท คือให้ปฏิบัติตรงข้ามกับคำสอนของพระองค์ ก็เท่ากับเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น ถึงเวลาที่ชาวพุทธจะต้องชัดเจน ว่าอะไรเป็นพระพุทธศาสนา เราปล่อยปละละเลยกันมานานแล้ว อยู่กันแบบเรื่อยเปื่อย หลักอะไรก็ไม่รู้ ความเป็นพุทธหรือไม่ใช่พุทธอยู่ตรงไหนก็ไม่สนใจ ที่ว่าเป็นพุทธเป็นอย่างไรก็ได้ นี่คือสังคมแห่งความประมาท ถ้าขืนอยู่กันอย่างนี้ เราจะสร้างประเทศชาติขึ้นไปได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น จะต้องมาปลุกเร้ากระตุ้นเตือนกัน ให้เข้มแข็งขึ้นมา ให้ไม่ประมาท ให้มีความเพียรในทางที่ดี นี่ไม่ใช่ปลุกให้ไปโกรธไปเกลียดเคียดแค้นอะไรกัน แต่ให้มาคิด ให้มาทำ ให้มาช่วยกันสร้างสรรค์ อย่างน้อยให้ฉุกใจคิดบ้างว่า อะไรนะเป็นพระพุทธศาสนา หลักการของพระพุทธศาสนาว่าอย่างไร ที่เรียกว่าเป็นชาวพุทธนั้นเราจะต้องทำอย่างไรบ้าง

ถ้าจะมาปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ก็ต้องรู้แล้วว่า การเป็นพุทธมามกะนี้คือเป็นอย่างไร จะต้องเชื่ออย่างไร ต้องรู้อะไร และต้องทำอะไรบ้าง แต่นี่ พอถามว่าเป็นพุทธมามกะคือเป็นอย่างไร จะต้องรู้อะไร จะต้องทำอะไร จะต้องเป็นอยู่อย่างไร พุทธศาสนาสอนว่าอย่างไร ไม่รู้สักอย่าง

วันนี้ได้ทราบว่ามีการปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ญาติโยมจะต้องไปถามแล้วว่า ท่านที่ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะวันนี้ รู้ไหมว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร ลองบอกมาสัก ๒ ข้อ แล้วตัวท่านจะต้องทำอะไรบ้าง ไม่อย่างนั้นท่านจะเป็นพุทธมามกะได้อย่างไร

นี่เราก็ปรารถนาดีต่อกัน ไม่ได้แกล้งว่าอะไร แต่ต้องพูดไว้บ้าง เป็นการเสริมสติ รวมความก็คือ มาชวนกันให้ไม่ประมาทนั่นเอง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ภาค ๑ วิสาขทัศน์ เพื่อวัดและพุทธบริษัทคำปรารภ >>

หน้า: 1 2 3 4

No Comments

Comments are closed.