- (กล่าวนำ)
- สมาธิ เคยว่า meditation แต่เดี๋ยวนี้ว่า concentration
- ภาวนา จะใช้คำใด ควรรู้ไว้ทั้ง ๒ อย่าง
- ตอน ๑ ปฏิบัติสมาธิให้ถูกทาง
- สมาธิ มีประโยชน์ที่เป็นลักษณะสำคัญ ๓
- ๑. สมาธิเพื่อพลังจิต
- ๒. สมาธิเพื่อความสุขสงบ
- ๓. สมาธิเพื่อจิตใสและขยายปัญญา
- ผลพลอยได้
- ตอน ๒ วิธีป้องกันและแก้ไขโทษของสมาธิ
- ๑. ปรับอินทรีย์ให้สมดุล
- ๒. ปรับการปฏิบัติให้ดำเนินตามไตรสิกขา
- สันโดษ
- สติปัฏฐาน
- สรุปความ
- ภาคผนวก (คัดตัดมาจากปาฐกถาอีกเรื่องหนึ่ง – ตามคำขอ)
ภาวนา จะใช้คำใด ควรรู้ไว้ทั้ง ๒ อย่าง
สำหรับคำว่า meditation นั้น ก็ได้มีความโน้มเอียงอย่างหนึ่งว่า ให้ถือเป็นการใช้แบบกว้างๆ แล้วก็เลยเอามาใช้กับคำว่า “ภาวนา”
จะเห็นว่า คำว่า meditation เดี๋ยวนี้มักจะใช้สำหรับคำว่า ภาวนา ซึ่งก็ไม่ได้ตรงทีเดียว เพราะคำว่าภาวนานั้น แปลว่า การเจริญ หรือการทำให้เพิ่มพูนขึ้นมา หรือแปลให้ตรงศัพท์ว่า ทำให้มีให้เป็น หมายความว่า สภาพจิตที่ดี เช่นคุณธรรม ยังไม่มีในจิตใจของเรา ก็ทำให้เป็นให้มีขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่าภาวนา เช่น ศรัทธายังไม่มี ก็ทำให้มีขึ้นมา เมตตายังไม่มี ก็ทำให้มีขึ้นมา อะไรต่างๆ เหล่านี้ แม้แต่สมาธิยังไม่มี ก็ทำให้มีขึ้นมา ก็เรียกว่าภาวนา นอกจากทำให้มีให้เป็นแล้ว ก็ทำให้เพิ่มพูนขึ้นไปด้วย
ในภาษาไทยเราแปล “ภาวนา” ว่า เจริญ เช่น เจริญเมตตา เรียกว่าเมตตาภาวนา เจริญสมาธิว่าสมาธิภาวนา เจริญวิปัสสนาว่าวิปัสสนาภาวนา เจริญปัญญา ก็เรียกว่าปัญญาภาวนา
เมื่อคำว่าภาวนา แปลว่าเจริญ ฝรั่งจะแปลให้ตรงแท้ก็แปลว่า development การใช้ศัพท์เหล่านี้ถือว่ายังไม่ลงตัวแน่นอน
ภาวนา หรือการเจริญนั้น ถ้าพูดถึงในทางจิตใจ และทางปัญญา รวมแล้วก็มีสองด้านสำคัญที่เรารู้กัน ซึ่งบางทีเราเรียกว่า กรรมฐาน
การเจริญกรรมฐาน ก็มีสายสมถะ คือทำจิตให้สงบ เป็นสมาธิ เรียกว่า “สมถภาวนา” และอีกด้านหนึ่งคือวิปัสสนา เรียกว่า “วิปัสสนาภาวนา” ได้แก่เจริญปัญญา คือทำปัญญาให้เกิดขึ้น ให้เจริญเพิ่มพูนขึ้น ให้รู้แจ้งความจริงของสิ่งทั้งหลาย ให้รู้ว่าสังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงและเป็นไปตามเหตุปัจจัย การรู้ความจริงนี้เรียกว่า “วิปัสสนา”
จึงมีภาวนาใหญ่ๆ ที่เป็นหลักอยู่ ๒ อย่าง คือ เจริญสมถะ ทำจิตใจให้สงบ มุ่งให้เกิดสมาธิ เรียกว่า สมถภาวนา และเจริญวิปัสสนา ทำปัญญาความรู้เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย ทั้งโลกและชีวิตให้เกิดขึ้น เรียกว่า วิปัสสนาภาวนา
บางทีเอาคำ meditation มาใช้แทนภาวนา ก็เลยมี meditation ๒ แบบ
สำหรับสมถภาวนาก็ใช้ว่า Tranquillity Meditation ถ้าให้ตรงก็เป็น Tranquillity Development หมายถึงการทำให้ความสงบเกิดขึ้น (tranquillity คือความสงบ บางทีก็ใช้คำว่า calm ซึ่งก็คือความสงบ หมายถึงสมถะ) มุ่งที่ตัวสมาธิ
ส่วนอีกด้านหนึ่งคือ วิปัสสนาภาวนา วิปัสสนาใช้คำว่า insight ซึ่งแปลว่าการหยั่งรู้หยั่งเห็น เอา meditation ต่อเข้าไปเป็น Insight Meditation แปลว่า วิปัสสนาภาวนา ถ้าให้ตรงก็เป็น Insight Development แปลว่า การเจริญวิปัสสนา เมื่อเอาคำว่า meditation มาใช้ในความหมายของภาวนา ก็แบ่งเป็น ๒ อย่างนี้
นี้เป็นตัวอย่างของการเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องศัพท์ ซึ่งต้องให้โยมทำใจไว้ก่อนว่ามันยังไม่ลงตัว อย่างที่ว่านี้ก็เป็นความนิยมอย่างหนึ่ง
เป็นอันให้รู้ว่า คำว่า meditation เป็นศัพท์ที่ไม่ชัดเจน แล้วแต่เราจะตกลงกันว่าจะเอามาใช้อย่างไร ตอนนี้มีความโน้มเอียงว่าให้เอา meditation มาใช้กับภาวนา แบ่งเป็น ๒ อย่าง เป็น meditation ๒ แบบ คือ Tranquillity Meditation เป็นการเจริญความสงบ เรียกว่า สมถภาวนา กับ Insight Meditation การเจริญปัญญาที่หยั่งรู้หยั่งเห็น เรียกว่า วิปัสสนาภาวนา
ส่วนตัว สมาธิ นั้น ก็นิยมให้ใช้จำกัดจำเพาะลงไปว่า concentration ซึ่งจะมีความหมายชัดขึ้น
เราจะศึกษาอะไร เราจะพิจารณาเรื่องอะไร จิตต้อง concentrate หมายความว่าต้องแน่วแน่ ต้องมุ่งแน่วแน่ปักลงไปในสิ่งนั้น ถ้าไม่ concentrate ก็จะมองเห็นเข้าใจสิ่งนั้นได้ยาก จะไม่ชัดเจน ความหมายจึงใกล้เข้ามา
No Comments
Comments are closed.