- กล่าวนำ
- งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข
- ทำงานคือทำสัมมาชีพ ทำสัมมาชีพคือทำชีวิตและสังคมให้พัฒนา
- ต้องการผลตอบแทน สุขไม่มาจนกว่าได้เงิน ต้องการผลของตัวงาน สุขงอกงามไปกับการทำงาน
- ทำถูกกฎธรรมชาติ: งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข ทำแค่กฎมนุษย์: งานก็ไม่ได้ผล คนก็เป็นทุกข์
- มนุษย์สร้างอารยธรรมเจริญขึ้นไป แต่รักษาฐานเดิมในธรรมชาติไว้ไม่ได้
- สูตรหนึ่งของอารยธรรมสมัยใหม่ : สังคมยิ่งพัฒนา คนยิ่งฆ่าตัวตาย
- งานจะเสียฐาน ถ้าคนเสียต้นทุนแห่งความสุข ๓ ประการ ธรรมเป็นแกนประสานให้ทุกอย่างลงตัวบังเกิดผลดีทุกประการ
- สูตรหนึ่งของธรรมชาติ: คนยิ่งพัฒนาตน สังคมยิ่งพ้นปัญหา
- มองวัตถุเสพเป็นจุดหมาย การทำงานก็กลายเป็นความทุกข์ มองวัตถุเสพเป็นปัจจัย งานยิ่งได้ผล คนยิ่งเป็นสุข
- ถ้าพัฒนาแต่ความสามารถที่จะหาเสพ จะต้องสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข
- ต้องรักษาอิสรภาพของชีวิตไว้ จึงจะพัฒนาความสุขต่อไปได้
- สันโดษ พัฒนาคนให้พ้นจากสุขด้วยเสพ ขึ้นสู่สุขจากการทำงานสร้างสรรค์
- ไม่สันโดษ มาขานรับกับสันโดษ เมื่อใด เมื่อนั้นเมืองไทยจะก้าวไกลในการพัฒนา
- วัดความสำเร็จที่ไหน? ได้กำไรสูงสุด หรือช่วยให้มนุษย์มีชีวิตและสังคมที่ดี
- เปลี่ยน “อยากได้” เป็น “อยากทำ” คือจุดเริ่มที่จะนำสู่ความสำเร็จ
- สัมพันธ์กับคน ให้ได้ผลแก่งาน
- ความสัมพันธ์จะได้ผลสมบูรณ์ ต้องรักษาดุลทั้งในใจและในสังคม
- จะประสานงาน ต้องประสานคน ให้อยู่ในเอกภาพ และสามัคคี
- งานจะบรรลุจุดหมายสูงสุด ซึ่งเป็นความสำเร็จที่แท้ เมื่อคนสุขในการสร้างสรรค์คิดทำให้เพื่อนมนุษย์เป็นสุข
ธรรมมานำงาน
ต้องรักษาอิสรภาพของชีวิตไว้
จึงจะพัฒนาความสุขต่อไปได้
ถ้าเป็นคนเก่งจริง เขาจะต้องรักษาอิสรภาพของชีวิตไว้ได้ วิธีการที่จะรักษาอิสรภาพ และทำให้คนสุขได้ง่ายขึ้นนั้นก็มีอยู่ เราก็หัดเอาสิ เช่น วิธีง่ายๆ ที่ประเพณีทำกันมา แต่เราทำกันโดยไม่เข้าใจความหมาย อย่างที่พระท่านให้รักษาศีล ๘ ก็เป็นวิธีรักษาอิสรภาพของชีวิต ที่จะทำให้มีภูมิคุ้มกันความทุกข์และพัฒนาศักยภาพที่จะมีความสุข โดยไม่ให้ความสุขต้องไปขึ้นกับวัตถุจนหมด
ศีล ๘ คืออะไร ศีล ๘ ก็เพิ่มจากศีล ๕ ศีล ๕ เป็นเรื่องของการไม่เบียดเบียนกันในสังคม ท่านบัญญัติไว้ เพราะท่านยอมรับความจริงว่า มนุษย์นั้นต้องหาวัตถุมาเสพมาบริโภค
สาระของศีล ๕ ก็คือว่า คุณจะหาวัตถุมาเท่าไร ก็หาไป แต่ขออย่างเดียว อย่าฆ่าฟันทำร้ายเขา หาเท่าไรหาไป แต่อย่าไปละเมิดกรรมสิทธิ์เอาของของคนอื่น หาเท่าไรหาไป อย่าไปละเมิดคู่ครองคนอื่น หาเท่าไรหาไป อย่าไปทำลายคนอื่นด้วยคำเท็จหลอกลวง หาเท่าไรหาไป แต่อย่าไปทำลายความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของเพื่อนมนุษย์ด้วยการเสพยาสิ่งเสพติดให้เขาไว้ใจเราไม่ได้
คนเสพยาเสพติด ขับรถมา เช่น คนขับรถเมา หรือคนขับกินยาม้า คนอื่นที่ขับรถสวนมา หรือเจ้ามาใกล้ ก็ใจไม่ดีแล้วใช่ไหม อย่างนี้เรียกว่า ทำลายความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของสังคม คนกินเหล้ามา เราเจอปั๊บ ก็ใจไม่ดีแล้ว จะเอาท่าไหน
เมื่อเจอคนเสพติดไม่มีสติครองตัว สังคมก็เสียความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย คนดื่มสุราเสพยาเสพติดจึงเป็นผู้เบียดเบียนคนอื่น ด้วยการคุกคามต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของเพื่อนมนุษย์ในสังคม
ท่านบอกว่า คุณจะหาเท่าไรก็หาไป เสพสุขอย่างไรก็เสพไป ขออย่าให้ละเมิด ๕ ข้อนี้ก็แล้วกัน เพราะถ้าละเมิด ๕ ข้อนี้แล้ว มันอยู่กันดีไม่ได้ ไม่มีทางสงบสุข แต่ถ้ารักษาศีล ๕ ข้อไว้ได้ มันก็พออยู่กันได้ แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า คุณจะมีความสุข เพราะฉะนั้น คุณต้องฝึกต่อไป ท่านจึงให้ศีล ๘ เพิ่มมาอีก ๓ ข้อ
ศีล ๕ นั้น เกี่ยวกับคนอื่นทั้งนั้น แต่พอศีล ๘ เพิ่มเข้ามา ให้ดูเถิด ข้อที่เพิ่มเข้ามานั้นไม่เกี่ยวกับคนอื่นเลย เป็นเรื่องของตัวเองทั้งนั้น
ข้อที่ ๖ ว่า เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือ เที่ยงไปแล้วไม่กิน ไม่ต้องมัวบำเรอลิ้น แล้วก็ ข้อ ๗ บอกว่าเว้นจากเรื่องการฟ้อนรำ ขับร้อง การละเล่น ดนตรี ดูฟังอะไรต่างๆ ที่เป็นการหาความสุขด้วยการบำเรอตา บำเรอหู แล้วก็ข้อ ๘ เว้นจากการเสพสุขบำเรอสัมผัสกาย ด้วยการนอนฟูกฟู หรูหรา หนานุ่ม
คนเราก็หาความสุขจากสิ่งเหล่านี้แหละ แต่ท่านบอกว่าอันนี้เป็นเรื่องส่วนตัวของคุณก็จริง แต่ถ้าคุณไม่ระวัง ความสุขของคุณจะไปขึ้นต่อมัน เพราะฉะนั้น ฝึกไว้ รักษาอิสรภาพไว้ ท่านบอกว่า ๘ วัน ขอวันเดียว ศีล ๘ นี้แค่ ๗ หรือ ๘ วัน ครั้งหนึ่ง คือแล้วแต่ค่ำ-แรม ถ้าขึ้น ๘ ค่ำ ก็ ๘ วันทีหนึ่ง ถ้าขึ้น ๑๕ ค่ำ ก็ ๗ วันทีหนึ่ง ๘ วันหรือ ๗ วันนี่ คุณฝึกตัวเองสักวันหนึ่ง ฝึกอย่างไร?
คุณเคยตามใจตัวเอง หรือค่อนข้างตามใจตัวเอง บำเรอลิ้นด้วยอาหาร หาความสุขจากการเสพรสอร่อยมา ๘ วัน พอวันที่ ๘ ก็ลองฝึกตัวดูบ้าง เปลี่ยนจากตามใจกิเลสมาเป็นอยู่ด้วยเหตุผลของปัญญาบ้าง ลองดูว่าชีวิตจะอยู่ดีมีความสุขได้โดยไม่ต้องขึ้นกับอาหารที่ตามใจลิ้นได้ไหม หมายความว่าเคยกินเอารสอร่อยเป็นหลักมาเรื่อย คราวนี้เปลี่ยนเป็นกินเอาสุขภาพ หรือเอาคุณภาพชีวิตเป็นหลักบ้าง กินเพื่อสุขภาพ เอาแค่อาหารพอหล่อเลี้ยงร่างกาย ก็หยุด! ต่อจากนี้ลองไม่ตามใจลิ้นนะ
ในทางตาทางหู ก็เช่นเดียวกัน เคยต้องคอยดูคอยฟังอะไรที่บำเรอตา บำเรอหู มา ๗ วัน ก็มาฝึกที่ไม่ต้องตามใจมัน งดเสียบ้าง เอาเวลาที่จะตามใจคอยบำเรอ ตา หู นั้น ไปใช้ทางอื่น เช่นไปพัฒนาจิตใจ หรือไปบำเพ็ญประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ไปทำความดีสร้างสรรค์ชีวิตและสังคม ทำการทำงานอดิเรกที่เป็นประโยชน์ หรือเคยนอนตามใจตนเอง ต้องใช้ที่นอนฟูกฟู หรูหรา พอวันที่ ๘ ก็นอนพื้น นอนเสื่อ นอนกระดานสักวัน ลองดูซิว่าเราจะอยู่สุขสบาย มีชีวิตที่ดีได้ไหม โดยไม่ต้องเอาความสุขไปฝากไว้กับสิ่งเหล่านี้
ด้วยวิธีนี้ก็จะรักษาอิสรภาพไว้ได้ และเป็นจุดเชื่อมต่อที่จะก้าวขึ้นไปสู่การพัฒนาจิตใจและพัฒนาปัญญาที่สูงขึ้น
เราอาจพิสูจน์ว่าเรายังมีอิสรภาพหรือไม่ วิธีที่พิสูจน์ได้โดยเร็วก็เช่น เราพูดได้ไหมว่า เอ้อ! สิ่งบำรุงบำเรอความสุขเหล่านี้นะ สำหรับตัวฉันนี้ “มีก็ดี ไม่มีก็ได้” ถ้าพูดหรือคิดอย่างนี้ได้ ก็แสดงว่ายังมีอิสรภาพ
ถ้าคนไหนหมดอิสรภาพแล้ว เขาจะพูดอย่างนี้ไม่ได้ เพราะสิ่งเสพสิ่งบำเรอนั้นเป็นทางมาทางเดียวของความสุขของเขา เพราะฉะนั้นเขาจะต้องมีมัน ถ้าไม่มี เขาจะทุรนทุราย เขาจะบอกว่า “ฉันต้องมีมัน ถ้าไม่มีมันฉันอยู่ไม่ได้” หรือว่า “ฉันต้องมีมัน ถ้าไม่มีมันฉันต้องตายแน่ๆ” ถ้าใครต้องพูดอย่างนั้น ก็แสดงว่าเขาหมดอิสรภาพแล้ว ชีวิตอยู่ดีลำพังตนเองมีความสุขไม่ได้ ต้องขึ้นต่อสิ่งเสพไปหมด ต้องขึ้นต่ออาหารอร่อย ต้องขึ้นต่อการดู การฟัง สิ่งบำเรอตา บำเรอหู ดูการละเล่น ดูทีวี ฟังดนตรี และอะไรต่ออะไรที่สนุกสนาน ถ้าไม่มีฟูกฟูหรูหราหนานุ่มให้นอนละก็ แย่เลย ฉันหลับไม่ได้ ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ไหว คนนี้สูญเสียอิสรภาพหมดแล้ว
แต่คนที่ไม่สูญเสียอิสรภาพจะพูดได้ว่า “มีก็ดี แต่ไม่มี ก็ได้” มีก็ดี ฉันก็สบาย แต่ไม่มี ฉันก็อยู่ได้นะ นอนเสื่อนอนกระดาน ฉันก็นอนได้ เป็นอิสระคล่องตัวดี แล้วแถมไม่เป็นโรคปวดหลังอีกด้วย บางคนนอนฟูกไปนานๆ เป็นโรคปวดหลัง ไม่รู้จักฝึกตัวเอง จนต้องถูกหมอบังคับ หมอบอกว่า “ต่อไปนี้ คุณต้องนอนพื้น นอนเสื่อ นอนกระดาน จะได้ไม่ปวดหลัง” อย่างนี้เป็นต้น
เอาละ เป็นอันว่าเรารักษาอิสรภาพไว้ได้ เราสามารถพูดได้ว่า “มีก็ดี ไม่มีก็ได้”
ทีนี้ ต่อมาเราเก่งขึ้นไปอีก ก็จะมองเห็นและรู้สึกว่าสิ่งบำรุงบำเรอฟุ่มเฟือยหรูหราเหล่านั้นเกะกะ เกินจำเป็น แล้วเราก็จะพูดว่า “มีก็ได้ ไม่มีก็ได้” หรือยิ่งกว่านั้นว่า “มีก็ได้ ไม่มีก็ดี” มีฉันก็ไม่ว่า แต่ถ้าไม่มี ก็ดีนะ ฉันจะได้เป็นอิสระ คล่องตัวดี
เราฝึกตัวได้อย่างนี้ แม้แต่ในขั้นต้น เราก็จะมีชีวิตที่คล่องตัวขึ้นมาก ซึ่งทำให้เราทั้งสามารถใช้เวลาให้เป็นประโยชน์มากขึ้น และสามารถมีความสุขได้ง่ายขึ้นด้วย สิ่งเหล่านั้นจะมีคุณค่าที่พอดีของมันคือเพียงพอบริบูรณ์ในตัว มิใช่ว่าจะต้องเพิ่มปริมาณขึ้นทุกทีๆ โดยมีความสุขเท่าเดิม เราจะเป็นคนชนิดที่ว่า ฉันอยู่ลำพังตัวเอง ฉันก็สุขได้ แต่มีสิ่งเหล่านี้มา ก็ทำให้ฉันมีความสุขมากขึ้น
ให้สิ่งเสพเป็นเพียงสิ่งเสริมสุข แต่อย่าให้มันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสุขของเรา ถ้าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสุขของเรา ก็แสดงว่าเราหมดอิสรภาพแล้ว เราต้องเป็นคนมีสุขได้ในตัวเอง แล้วสิ่งเหล่านั้นมาเสริมความสุขของเรา
No Comments
Comments are closed.