บทส่งท้าย มองอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์อนาคต

28 มีนาคม 2539
เป็นตอนที่ 5 จาก 5 ตอนของ

บทส่งท้าย
มองอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์อนาคต
*
ดุลยภาพโดยรวมของสังคมสัมฤทธิ์ได้ ด้วยการจัดการทางสังคม
สู่เป้าหมายแห่งการพัฒนาคน

ฝ่ายนิติบัญญัติของไทยจะทำอย่างไร
ถ้าจะคิดเกื้อกูลให้พุทธศาสนาอยู่ดีเพื่อประโยชน์แก่สังคมไทย

เท่าที่เป็นมา เมื่อการพัฒนาคนอ่อนลง และมีการทำความชั่วเช่นอาชญากรรมมากขึ้น แนวโน้มของสังคมก็หันไปสู่การปกครองแบบเน้นอำนาจมากยิ่งขึ้น และด้านกฎหมายก็ออกข้อกำหนดกฎเกณฑ์ในการบังคับและลงโทษมากยิ่งขึ้น

แนวคิดแบบนี้ก็ได้เข้าไปสู่ระบบการปกครองคณะสงฆ์ด้วย หรืออาจจะเป็นว่าคณะสงฆ์ถูกหล่อหลอมจากอิทธิพลของกระแสสังคม ให้มีแนวคิดการปกครองแบบที่เน้นอำนาจมากยิ่งขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการหลงลืมละทิ้งหลักการแห่งวินัยที่แท้ ซึ่งเป็นการปกครองเพื่อการศึกษา ที่มุ่งเกื้อหนุนการพัฒนาชีวิตของมนุษย์

ตลอดกาลที่ล่วงไป พระราชบัญญัติคณะสงฆ์แทบทุกฉบับที่ออกมาเป็นกฎหมายประเภทที่เน้นอำนาจ คือการปกครองแบบบังคับควบคุม แล้วลืมหลักการของพระพุทธศาสนาที่ว่า ตั้งสังฆะขึ้นมาเพื่ออะไร

ถ้าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง พระราชบัญญัติคณะสงฆ์จะต้องวางบทบัญญัติ เพื่อเอื้อต่อการสร้างชุมชนแห่งการศึกษาขึ้นมาให้ได้ จึงจะสอดคล้องกับจุดหมายที่แท้จริงแห่งการปกครองในพระธรรมวินัย

เวลานี้เน้นแต่การใช้อำนาจและการบังคับบัญชา เจ้าอาวาสเลิกเป็นอาจารย์ไปนานแล้ว ยังเหลือแต่การเรียกชื่อเท่านั้นว่าเป็น “อาจารย์” ชาวบ้านไปเจอเจ้าอาวาสก็ยังเรียกอาจารย์ แต่ตัวเจ้าอาวาสจำนวนมากไม่เคยทำหน้าที่ของอาจารย์ เพราะฉะนั้นจึงพูดได้ว่าวิปลาสไปแล้ว เจ้าอาวาสทำหน้าที่เป็นผู้ปกครอง ก็มุ่งใช้อำนาจบังคับบัญชา ถ้าอย่างนี้ก็ไปไม่ไหว อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องยกขึ้นมาพิจารณา

อาตมภาพได้พูดมาใช้เวลามากมายแล้ว ทีนี้ท่านอัยการสูงสุด ได้ฝากคำถามไว้ ๔ ข้อ สำหรับ ๓ ข้อต้นนั้น อาตมภาพคิดว่าจะไม่ตอบละ ขอถือว่าเนื้อความที่พูดมาเป็นเสมือนว่าครอบคลุมคำตอบไว้แล้ว

ส่วนข้อที่ ๔ คำถามดูเหมือนจะเป็นว่า “ฝ่ายนิติศาสตร์จะเกื้อกูลพุทธศาสนาได้หรือไม่ อย่างไร” อาตมภาพจะไม่พูดในแง่ตัวนิติศาสตร์โดยตรง แต่จะพูดในแง่นิติบัญญัติ

ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ในสังคมไทยเรามีความสัมพันธ์ระหว่างนิติบัญญัติของรัฐบาลไทย กับการปกครองของคณะสงฆ์ โดยรัฐเป็นผู้ตรากฎหมายคณะสงฆ์ ได้แก่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์

ในเรื่องนี้ ถ้าทางนิติบัญญัติจะเกื้อกูล ก็คือ ช่วยให้กฎหมายคณะสงฆ์เป็นไปตามหลักการของพระพุทธศาสนา หมายความว่า ทำอย่างไรจะให้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และข้อบัญญัติต่างๆ เป็นสิกขาบทตามหลักการของพระพุทธศาสนา ซึ่งจะเป็นตัวเสริมสร้างสภาพแวดล้อม ระบบความสัมพันธ์ และระบบสถาบันที่เกื้อหนุนให้บุคคลที่เข้ามาบวชแล้วได้รับการศึกษา ที่เรียกว่าไตรสิกขา

ถ้ากฎหมายทำอย่างนี้ไม่ได้ ก็แทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะมันไม่เอื้อให้เกิดการปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนา

เวลานี้ก็เป็นอย่างที่ย้ำแล้วว่า กฎหมายของเราได้ชักนำความโน้มเอียงเข้ามาสู่วงการสงฆ์ ในแบบที่ทำให้สถาบันสงฆ์กลายเป็นสถาบันที่ปกครองด้วยอำนาจไปด้วย ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง ถ้าจะให้เป็นไปโดยชอบ จะต้องให้เป็นการปกครองด้วยการศึกษาและเพื่อการศึกษา

อย่างที่บอกแล้วว่า ในพระพุทธศาสนา การปกครองและกฎหมายคือวินัย เป็นเรื่องของการศึกษา โดยการศึกษา และเพื่อการศึกษา ที่จะเกื้อหนุนให้มนุษย์พัฒนาตนขึ้นไปสู่ความมีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น

ต่อไปขั้นที่ ๒ ก็คือ ให้ขยายหลักการนี้ออกไปสู่สังคมให้กว้างขวาง ถ้าเห็นด้วยกับหลักการของพระพุทธศาสนาตามนิติศาสตร์แนวพุทธ กฎหมายจะต้องมีแนวโน้มในการที่จะสร้างระบบสังคม จัดสรรสภาพแวดล้อม และวางรูประบบความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ในทางที่จะเกื้อหนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ให้มนุษย์เข้าถึงจุดหมายของชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป

พร้อมกันนี้ ยังมีความสัมพันธ์อีกอย่างหนึ่งที่จะมาเกื้อหนุนพระพุทธศาสนา ที่พูดมาเมื่อกี้นั้นเป็นการเกื้อหนุนในแง่ของหลักการของพระพุทธศาสนา แต่ทีนี้การเกื้อหนุนอีกอย่างหนึ่งที่แคบเข้ามาเป็นด้านปฏิบัติการ ก็คือในหลักธรรมชุดหนึ่งที่พูดไปแล้ว ได้แก่ อปริหานิยธรรม ๗ ประการ

หลักนี้ข้อสุดท้ายที่บอกว่า หน้าที่ของรัฐอย่างหนึ่งคือจะต้องจัดอารักขาคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรมแก่พระอรหันต์ ซึ่งในที่นี้หมายถึงท่านผู้มีศีล มีความบริสุทธิ์ เป็นผู้ดำรงธรรม สั่งสอนธรรม เป็นหลักใจของประชาชน และเป็นแบบอย่างทางศีลธรรมของสังคม กฎหมายและการปกครองจะต้องช่วยคุ้มครองและเกื้อหนุน ไม่ใช่ละเลย แล้วกลับไปหนุนในทางที่ผิด

เวลานี้คงต้องถามว่า สังคมของเราได้ใช้กฎหมายเกื้อหนุนในแนวทางนี้บ้างหรือไม่ คือเกื้อหนุนผู้ที่อยู่ในแนวทางของพระพุทธศาสนา อยู่ในธรรมในวินัย หรือเกื้อหนุนผู้ที่ออกไปนอกธรรมนอกวินัย

เรื่องนี้เป็นงานหนึ่งที่จะประสานกับธรรม เพราะว่าเมื่อมองในแง่ประโยชน์ส่วนรวม ในที่สุด สภาพของสถาบันสงฆ์ก็จะฟ้องถึงสภาพของสังคมไทยด้วย เนื่องจากสถาบันสงฆ์นั้นเป็นสถาบันสังคม โดยเฉพาะเป็นสถาบันที่เป็นตัวแทนของจริยธรรม เพราะฉะนั้นจึงเป็นเครื่องชี้วัดจริยธรรมของสังคมไปด้วย

ในแง่หนึ่งเรามองว่า เวลานี้สถาบันสงฆ์ซึ่งเป็นตัวแทนทางจริยธรรมของสังคมไทยตกต่ำเสื่อมโทรมมาก ถ้าตกต่ำจริงก็เป็นดัชนีชี้วัดว่า เวลานี้สังคมไทยได้มีความตกต่ำทางจริยธรรมอย่างยิ่ง จนแม้กระทั่งสถาบันที่เป็นตัวแทนหรือเป็นแกนกลางของจริยธรรมก็ยังตกต่ำถึงเพียงนี้

สภาวะเช่นนี้เป็นเครื่องเตือนใจผู้รับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะนักปกครองและผู้บริหารทุกท่านว่า จะต้องตื่นขึ้นมารีบปรับปรุงพัฒนาสังคมของเรา รวมทั้งการพัฒนาสถาบันสงฆ์ด้วย เพราะว่าการที่สถาบันสงฆ์ตกต่ำนั้นไม่ได้หมายความว่าเฉพาะสถาบันสงฆ์เท่านั้นที่ตกต่ำ ดังที่เรามักมองกันอย่างคับแคบเหลือเกิน เช่นมองว่าพระไม่ดีๆ เวลานี้พระตกต่ำอะไรต่างๆ แล้วก็จบ

แต่ที่จริงนั้น สังคมนี้เป็นส่วนรวมขององค์ร่วมต่างๆ มากมาย แต่ละส่วนนั้นเป็นองค์ประกอบที่ทั้งเป็นปัจจัยส่งผลและทั้งเป็นตัวรับผลด้วย สถาบันสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน

เมื่อสถาบันสงฆ์ไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะไม่สามารถเป็นปัจจัยปรุงแต่งสร้างสรรค์สังคมในทางที่ดี แต่จะเป็นเพียงตัวรับผลจากปัจจัยทางสังคม และเป็นตัวสะท้อนปัญหาของสังคม

เพราะฉะนั้นจึงขอย้ำว่า เมื่อสถาบันสงฆ์ตกต่ำเสื่อมโทรม ในแง่หนึ่งจึงเป็นเครื่องวัดว่าเวลานี้สังคมไทยได้ตกต่ำทางจริยธรรมเป็นอย่างยิ่ง ถึงขนาดที่แม้แต่ส่วนแกนกลางทางจริยธรรมก็ยังแย่ขนาดนี้ ฉะนั้นอย่าได้ไปคิดมองแคบๆ ว่าสถาบันสงฆ์แย่ เพราะว่าที่แท้ก็คือสังคมไทยทั้งสังคมแย่ที่สุดแล้ว ถ้าเรามองเช่นนี้ก็จะเป็นประโยชน์ที่จะทำให้เราตื่นขึ้นมาและรีบแก้ไขปัญหาด้วยการปรับปรุงสังคมไทยให้ขึ้นสู่สถานะที่ดีงามถูกต้อง ด้วยการพัฒนาสถาบันสงฆ์เองด้วย ให้เข้าสู่แนวทางที่ถูกต้อง

อนึ่ง มองในแง่ปัจจัยอย่างหนึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ว่า นิติบัญญัติของสังคมไทยได้มีส่วนเอื้อที่ทำให้สถาบันสงฆ์ตกต่ำลง

การปกครองด้วยอำนาจนั้น แน่นอนว่าผิดหลักการของพระพุทธศาสนา เพราะการปกครองในพระพุทธศาสนาเป็นเพียงปัจจัยที่มาช่วยเสริม ซึ่งมีขึ้นเพื่อการศึกษาเท่านั้น คือเพื่อช่วยสนับสนุนให้มนุษย์พัฒนาตนขึ้นสู่ชีวิตที่ดีงาม ถ้าเราไม่ยอมรับหลักการนี้มาใช้ในสังคมส่วนใหญ่ ก็ต้องยอมรับในแง่ของสถาบันสงฆ์

ถ้ายอมรับทั้งหมด ก็หมายความว่าขยายหลักการนี้มาใช้ในสังคมไทยส่วนรวมด้วย ตลอดจนสังคมโลกทั้งหมด เพื่อให้นิติศาสตร์เกื้อหนุนระบบการจัดการสังคม ที่เอื้อต่อการพัฒนามนุษย์ ให้มีชีวิตที่ดีงาม มีสังคมที่สันติสุข และ ช่วยทำโลกให้รื่นรมย์น่าอยู่อาศัยยิ่งขึ้น

ได้กล่าวแล้วว่า การพัฒนาคนเป็นทั้งจุดหมายและเป็นทั้งปัจจัยของวินัยอันรวมทั้งกฎหมาย กล่าวคือกฎหมายมีไว้เพื่อสร้างสภาพเอื้อโอกาสแก่การที่คนจะพัฒนาชีวิตสู่ความดีงามและประโยชน์สุขที่สูงยิ่งขึ้นไป และคนที่พัฒนาดีแล้วนั่นแหละจะปฏิบัติตามกฎหมายได้ดีที่สุด พร้อมทั้งช่วยให้กฎหมายบรรลุจุดหมายของมันอย่างดีที่สุด

โดยเฉพาะถ้าคนมีการพัฒนาตนอย่างดี จนเข้าถึงธรรมด้วยปัญญาและด้วยจิตใจแล้ว เขาก็จะมีพฤติกรรมที่เข้าถึงธรรม ซึ่งจะทำให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างสมบูรณ์แบบ กล่าวคือกฎหมายจะไม่ใช่เป็นข้อบังคับ แต่เป็นเพียงข้อหมายรู้ หรืออาจจะพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่ต้องมีกฎหมายแบบข้อบังคับ มีแต่เพียงกฎหมายแบบข้อหมายรู้ หรือมีวินัยโดยไม่ต้องมีสิกขาบท

ถ้าไม่มีพื้นฐานการพัฒนาทางจิตใจและปัญญา ไม่ว่ากฎหมายหรือวินัยจะกำหนดไว้อย่างไร ในที่สุดก็จะไปไม่รอด เพราะคนจะหาทางเลี่ยงกฎหมาย หรืออย่างน้อยก็ไม่มีความยินดีเต็มใจพร้อมใจที่จะปฏิบัติตาม และแม้จะมีการบังคับและการลงโทษกันอย่างไร ก็จะล้มเหลวในที่สุด เพราะตัวระบบเองจะกร่อนโทรมจนหมดประสิทธิภาพ เช่น มีการสมคบกันหลบเลี่ยงกฎหมายในทุกระดับ ต้องตั้งระบบบังคับควบคุมซับซ้อนขึ้นๆ และลงโทษรุนแรงขึ้นๆ จนไร้ผล ตลอดจนมีการนำเอากฎหมายไปใช้ในทางที่ผิดเจตนารมณ์ เพื่อสนองความต้องการผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นต้น

ฉะนั้น การพัฒนาคนในด้านพฤติกรรมต่อกฎหมาย พร้อมไปด้วยกันกับการพัฒนาด้านจิตใจและด้านปัญญา จึงเป็นภารกิจสำคัญที่นิติศาสตร์จะต้องให้ความสนใจ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๒ – หลักแห่งปฏิบัติการ

หน้า: 1 2 3

No Comments

Comments are closed.