– ๑ – หลักการพื้นฐาน

28 มีนาคม 2539
เป็นตอนที่ 3 จาก 5 ตอนของ

– ๑ –
หลักการพื้นฐาน

กฎหมาย ต้องมาจากธรรม ต้องชอบธรรม และต้องเพื่อธรรม

เรามาดูกันว่า ในพระพุทธศาสนา กฎหมายคืออะไร คำที่ใกล้ที่สุด ตรงที่สุด ก็คือคำว่า “วินัย” แต่จะเห็นได้ชัดว่า คำว่าวินัยไม่ใช่จำกัดเฉพาะแต่กิจการของรัฐเท่านั้น ถ้าจะมองเห็นนิติศาสตร์แนวพุทธจะต้องเข้าใจเรื่องวินัยให้ชัดเจน ถ้าไม่เข้าใจเรื่องวินัยก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นนิติศาสตร์แนวพุทธได้

วินัย คืออะไร แน่นอนว่าวินัยไม่ได้มีความหมายแคบๆ อย่างในภาษาไทย “วินัย” ในภาษาไทยมีความหมายแคบ เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับในการปฏิบัติกิจหน้าที่ และการเป็นอยู่

แต่วินัยในความหมายของพระพุทธศาสนา ในชั้นแรกนี้จะให้ความหมายไว้เพื่อเป็นจุดตั้งต้นในการทำความเข้าใจว่า “วินัย” แปลง่ายๆ ว่า “การจัดตั้งวางระบบแบบแผน”

วินัยเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้จะต้องมองดูวินัยในฐานะเป็นองค์ประกอบใหญ่อย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาทั้งหมดมีองค์ประกอบใหญ่อยู่เพียง ๒ อย่างเท่านั้น และ ๒ อย่างนี้รวมกันเป็นชื่อของพระพุทธศาสนา

คำว่า “พระพุทธศาสนา” ที่เราเรียกกันปัจจุบันนี้ เป็นคำใหม่ ในสมัยพุทธกาลก็มี แต่ใช้ในความหมายว่า “คำสอนของพระพุทธเจ้า” เวลานี้คำว่าพระพุทธศาสนาขยายความหมายออกไปจนกลายเป็นสถาบัน และเป็นกิจการทุกอย่าง แล้วเราก็ลืมศัพท์เดิมที่มีความหมายสำคัญกว่า ซึ่งใช้ในสมัยพุทธกาล คือ คำว่า “ธรรมวินัย” ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ก็เรียกว่า ธรรมวินัยนี้ หรือธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว

ธรรมวินัย มาจากคำคู่ คือ ธรรม กับ วินัย แล้วรวมกันเป็นเอกพจน์ คือสองอย่างแต่รวมเป็นอันเดียว นี้คือเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา เราจะต้องมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสองคำนี้ คือคำว่า ธรรม กับ วินัย แล้วจะเห็นหลักการของพระพุทธศาสนาทั้งหมด

เพราะฉะนั้น เรื่องของกฎหมาย หรือเรื่องนิติศาสตร์ในพระพุทธศาสนา ก็มาดูที่ความหมายของวินัย และความสำคัญของวินัย ที่อยู่ในหลักการที่เรียกว่าธรรมวินัย นั้น

ทีนี้ก็ย้อนไปดูว่าธรรมวินัยนั้นเป็นมาอย่างไร เริ่มต้นก็มีธรรมอยู่ก่อน (คือมีอยู่เป็นประจำตลอดเวลาตามธรรมดาของมัน หรือมีอยู่แล้วแต่เดิม) ธรรม คือความจริงในธรรมชาตินั่นเอง หลักการของพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า

“ตถาคต(คือพระพุทธเจ้า)จะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม หลักความจริงก็คงอยู่อย่างนั้นเป็นธรรมดา . . . ตถาคตทั้งหลายค้นพบหลักความจริงคือตัวธรรมนี้แล้ว จึงนำมาเปิดเผย แสดง ชี้แจง ทำให้เข้าใจง่าย”     (ดู องฺ.ติก. ๒๐/๕๗๖)

นั่นคือจุดตั้งต้นของพระพุทธศาสนาที่ว่า ธรรมมีอยู่ก่อนแล้ว โดยไม่ขึ้นต่อพระพุทธเจ้าเลย

ธรรม คือความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาของมัน เราอาจจะแปลได้หลายอย่าง เช่นแปลว่า ธรรมชาติ กฎธรรมชาติ ความเป็นจริง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ธรรมชาติและธรรมดานี่เอง ธรรมชาติ คือสิ่งต่างๆ ธรรมดา คือความเป็นไปของธรรมชาติ หรือความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย ธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดา พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริงนี้แล้ว ก็ทรงนำมาเปิดเผยแสดงสั่งสอน

ความจริงนี้เป็นกฎธรรมชาติ เช่น ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ผลเกิดจากเหตุ เหตุก่อให้เกิดผล เหตุอย่างใดก็ก่อให้เกิดผลอย่างนั้น หรือเหตุปัจจัยต่างๆ ทำให้เกิดผลขึ้นมา

มนุษย์จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ธรรมคือความเป็นจริงแห่งเหตุปัจจัยนี้ก็ทำงานของมันอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้ามนุษย์ไม่รู้ ก็ไม่สามารถเอาประโยชน์จากมันได้ และถ้ามนุษย์ประพฤติปฏิบัติดำเนินชีวิตไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงนี้ ก็เกิดผลเสียแก่ตนเอง แต่ถ้ามนุษย์ปฏิบัติถูกต้อง และดำเนินชีวิตด้วยความรู้เข้าใจกฎแห่งธรรมชาติ คือความเป็นจริงอันนี้ ผลดีก็ได้แก่ตัวมนุษย์เอง

ทำอย่างไรมนุษย์จะประพฤติปฏิบัติ หรือดำเนินชีวิตได้ดี ก็ต้องรู้ความจริง ถ้ามนุษย์รู้ธรรมคือรู้ตัวความจริง รู้ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยในธรรมชาตินี้เมื่อใด เขาก็จะสามารถเอาประโยชน์จากธรรมชาติได้

ตัวอย่างเช่น เขาต้องการจะกินผลมะม่วง เขาเห็นต้นมะม่วง จะกินผลก็เก็บเอา แต่ต่อมาถ้าเขารู้ว่ามะม่วงที่จะเกิดมาเป็นผลสุกให้เรารับประทานได้นั้นเกิดจากต้นไม้นี้ ซึ่งก่อนนั้นต้องโตมาจากเมล็ด และชอบที่ดินอย่างนั้น ต้องอาศัยปุ๋ย อาศัยน้ำ อุณหภูมิ ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ถ้ามนุษย์รู้อย่างนี้แล้ว ต่อไปก็ไม่ต้องคอยไปหาต้นมะม่วงที่อยู่ไกล เขาจะสามารถปลูกต้นมะม่วงในสวนของตนเองได้ ถึงตอนนี้มนุษย์ก็ได้ประโยชน์จากกฎธรรมชาติหรือธรรม การรู้ธรรมจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

แม้แต่ชีวิตของเรานี้ก็เกิดจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เช่นมีธาตุต่างๆ มารวมกัน มีทั้งรูปธรรม และนามธรรม ถ้ามนุษย์ไม่รู้จักมันก็ปฏิบัติต่อชีวิตไม่ถูก แม้แต่กินอาหาร ก็กินไม่เป็น ไม่ได้ประโยชน์จากอาหารเท่าที่ควร เพราะฉะนั้น ธรรมจึงสำคัญอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็ทรงค้นพบธรรมนี้ พระองค์ทรงเข้าถึงธรรมและได้ประโยชน์จากธรรมนี้เต็มที่ โดยทรงนำเอาธรรมมาประพฤติปฏิบัติตาม จึงทรงพัฒนาพระองค์เองขึ้นมาจนเป็นพุทธ และทรงเห็นคุณประโยชน์ของการรู้ธรรมนี้จึงทรงนำไปสั่งสอนผู้อื่น

อย่างไรก็ดี การที่จะสั่งสอนให้ได้ผลดีจะทำอย่างไร หมู่มนุษย์จำนวนมากๆ ถ้าไปสอนทีละคนก็ได้ทีละนิดละหน่อย กว่าจะสำเร็จสักคนหนึ่งพระองค์ก็เหนื่อยแน่ เดินทางไปเป็นวันๆ และได้ทีละเล็กทีละน้อย ตลอดพระชนมชีพคงไม่ได้กี่คน ทำอย่างไรจึงจะให้ได้ประโยชน์แก่คนจำนวนมาก ก็ต้องมีวิธีการ

วิธีการก็คือการจัดตั้ง โดยทำให้มีระบบการที่มนุษย์จะมารวมตัวกันเป็นชุมชน และมีระเบียบแบบแผนในการเป็นอยู่ตลอดจนการดำเนินกิจการ เพื่อให้มนุษย์เหล่านั้นได้ประโยชน์จากธรรม หรือจากการสอนของพระองค์อย่างเต็มที่ พระองค์จึงทำการจัดตั้ง และวางระบบแบบแผนในทางสังคมขึ้นมา การจัดตั้งนี้ก็คือตั้งเป็นชุมชนที่เรียกว่า “สังฆะ”

สังฆะ นั้นไม่ใช่บุคคล ในภาษาไทยเรามองคำว่าสงฆ์นี้เป็นตัวพระภิกษุไป ความจริงคำว่า “สงฆ์” หมายถึง หมู่ หรือ ชุมชน หมายความว่า ต้องมีคนจำนวนหนึ่งมารวมกัน ไม่ใช่คนเดียว ภาษาไทยนี้สับสน เราเรียกพระองค์เดียวว่าพระสงฆ์ไปแล้ว ก็เลยใช้กันจนติดแล้วก็ทำให้เกิดปัญหาในบางครั้ง แต่ตัวสงฆ์ที่แท้จริงก็คือชุมชนที่จัดตั้งขึ้นมา

เมื่อตั้งเป็นชุมชนขึ้นมาแล้ว และเมื่อคนที่มารวมกันเข้ามีระเบียบแบบแผนในความเป็นอยู่และการสัมพันธ์กัน คือมีวินัย ธรรมก็จะเข้าถึงประชาชนหรือหมู่ชนได้จำนวนมาก ไม่ใช่เป็นประโยชน์ทีละน้อย

เป็นอันว่า เดิมนั้นก็มีธรรม แต่เพื่อให้คนหมู่ใหญ่ได้ประโยชน์จากธรรม จึงมีวินัย ขึ้นมาจัดสรรความเป็นอยู่ของหมู่มนุษย์ให้เกิดมีโอกาสอันดีที่สุด ที่จะใช้ธรรมให้เป็นประโยชน์หรือได้ประโยชน์จากธรรมนั้น

รวมความว่า วินัย ก็คือการจัดโครงสร้างวางระบบแบบแผนของชุมชนหรือสังคม เพื่อให้หมู่มนุษย์มาอยู่ร่วมกัน โดยมีความเป็นอยู่และความสัมพันธ์ที่ดีงาม ที่จะให้ได้รับประโยชน์จากธรรมนั่นเอง จุดหมายที่แท้ก็คือ ให้หมู่มนุษย์จำนวนมากได้ประโยชน์จากธรรม

การที่พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่เราเรียกเต็มๆ ว่า “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ก็เพราะพระองค์ทรงมีความสามารถ ๒ ชั้น

ชั้นที่ ๑ สามารถเข้าถึงตัวความจริง ที่เรียกว่า ธรรม

ชั้นที่ ๒ นอกจากรู้ความจริงแล้ว ยังสามารถนำเอาความจริงนั้นมาทำให้เกิดประโยชน์แก่หมู่ชนจำนวนมากได้ ด้วย วินัย

ความสามารถขั้นที่สองนี้ ก็คือการที่สามารถจัดตั้งวางระบบชุมชนที่เรียกว่าสงฆ์ขึ้นมาด้วยวินัย เพราะฉะนั้นจึงเป็นสัมมาสัมพุทธะ

ส่วนท่านผู้ใดสามารถรู้เข้าใจถึงความจริงคือธรรมด้วยปัญญาของตนเอง แต่ไม่มีความสามารถที่จะทำการจัดตั้งวางระบบแบบแผนที่เรียกว่า วินัย ให้มีสงฆ์เป็นชุมชนคนหมู่ใหญ่ขึ้นมาที่จะได้ประโยชน์จากธรรมนี้ ท่านผู้นั้นก็เป็นพระพุทธเจ้าอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า คือผู้รู้เฉพาะตน

เพราะฉะนั้น การจัดตั้งวางระบบที่เรียกว่า วินัย นี้ได้ จึงถือว่าเป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ที่ว่า ไม่เฉพาะเข้าถึงความจริงของธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังสามารถนำเอาความจริงของธรรมชาตินั้นมาทำให้เกิดประโยชน์แก่หมู่ชนจำนวนมากได้ด้วย อันนี้เป็นความสามารถขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เรื่องที่ว่ามานี้ทำให้มีเหตุผลโยงกันด้วยในแง่ที่ว่า ถ้าจัดตั้งวางระบบแบบแผนโดยไม่มีธรรมคือความจริงที่แท้เป็นฐานแล้ว การจัดตั้งนั้นก็ไร้ความหมาย ดังนั้น วินัย คือการจัดตั้งของมนุษย์จึงต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรม คือตัวความจริงที่แท้ และต้องอาศัยปัญญาที่รู้ความจริงนั้นมาจัดตั้ง

เพราะฉะนั้น เบื้องหลังวินัย ก็คือหลักการแห่งธรรม ที่เป็นความจริงแน่แท้อยู่ในธรรมดาของธรรมชาติ เป็นหลักการอันสูงสุด ทั้งโดยตัวมันเอง และโดยเป็นสาระและเป็นจุดหมายของวินัย ไม่มีใครสูงเหนือธรรม พระพุทธศาสนาถือเป็นหลักการว่า ธรรมสูงสุดในโลก ธรรมสูงสุดในสังคมมนุษย์ (ที.ปา.๑๑/๗๑/๑๐๗)

สำหรับผู้นับถือเทพเจ้า ธรรมก็เป็นมาตรฐานตัดสินบรรดาเทพเจ้า ตลอดจนพระพรหม หมายความว่าธรรมย่อมเหนือเทพ แม้แต่จะนับถือกรรมโดยเชิดชูกรรมที่เป็นบุญ ธรรมก็เป็นมาตรฐานตัดสินกรรมและความเป็นบุญนั้น

พระพุทธเจ้าทรงเคารพธรรม (องฺ.จตุกฺก.๒๑/๒๑/๒๕) และทรงจัดตั้งวางระบบแห่งวินัยขึ้นบนฐานแห่งธรรมนั้น และเมื่อสงฆ์ที่ตั้งขึ้นด้วยวินัยนั้นขยายใหญ่โตขึ้น พระพุทธเจ้าก็ทรงเคารพสงฆ์ และทรงมอบอำนาจให้แก่สงฆ์ โดยที่สงฆ์นั้นก็เกิดมีขึ้นจากธรรม เป็นสงฆ์เพราะธรรม และมีอยู่เพื่อความปรากฏแห่งธรรมในโลก

นักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ตามหลักการของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า “จักรพรรดิ” ผู้เป็นธรรมราชา ก็ต้องเคารพธรรม ถือธรรมเป็นใหญ่ จัดดำเนินการปกครองโดยธรรม (ที.ปา.๑๑/๓๕/๖๔) เช่นเดียวกัน

โดยนัยนี้ ธรรม จึงเป็นทั้งฐานของวินัย และเป็นทั้งจุดหมายของวินัย

๑. ที่ว่าเป็นฐาน หมายความว่า ต้องรู้ความจริงของกฎธรรมชาติ จึงจะสามารถมาจัดตั้งวางระบบแบบแผนในหมู่มนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากธรรมนั้นได้ ถ้าไม่รู้ การจัดตั้งก็ผิดพลาดหรือไร้ความหมาย

๒. ที่ว่าเป็นจุดหมายคือ การที่ให้มนุษย์มาอยู่ร่วมกัน และมีการจัดตั้งระเบียบแบบแผนทั้งหมดนั้น ก็เพื่อช่วยให้มนุษย์เข้าถึงและได้รับประโยชน์จากธรรมนั่นเอง

ดังนั้น ธรรมจึงเป็นทั้งเบื้องต้นและที่สุดแห่งวินัย ถ้าปราศจากธรรม วินัยก็ไม่มีความหมาย ไร้ประโยชน์ แต่ถ้ามีแต่ธรรมเป็นของจริงตามธรรมชาติ แม้จะมีคนที่รู้ธรรมแต่ไม่สามารถมาจัดสรรให้เกิดประโยชน์แก่คนหมู่ใหญ่ได้ ธรรมนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์เท่าใดนัก ทั้งๆ ที่มีอยู่เป็นความจริง ดังนั้นสองอย่างนี้จึงต้องอิงอาศัยกัน เมื่อครบทั้งสองอย่างจึงเป็นพระพุทธศาสนา

ในเรื่องนี้มีข้อที่น่าสังเกตว่า ในพระพุทธศาสนา เมื่อพูดถึง ธรรม เราจะใช้คำว่า “แสดง” เพราะธรรมเป็นความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา เราเพียงแต่ไปรู้และแสดงมัน แต่ถ้าพูดถึง วินัย จะใช้คำว่า “บัญญัติ” เพราะเป็นเรื่องที่มนุษย์จัดตั้งหรือทำขึ้นมา

ขอย้ำว่า ธรรมไม่ใช่ของมนุษย์ทำขึ้น แต่เป็นของมีอยู่ตามธรรมดา ส่วนวินัยเป็นของที่มนุษย์จัดตั้งขึ้น เพราะฉะนั้น เราจึงพูดว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม และพูดว่าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติวินัย

อย่างไรก็ดี คำว่าบัญญัติที่ใช้กับ “ธรรม” ก็มีบ้าง แต่ใช้เป็นคำประกอบ โดยมีความหมายว่า จัดวางหรือนำเสนอในรูปลักษณะที่จะเอื้อต่อการรู้เข้าใจ แต่สำหรับ “วินัย” จะใช้คำว่า บัญญัติ เป็นคำหลักเลยทีเดียว

เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายหรือวินัย กับธรรมที่เป็นความจริงในกฎธรรมชาตินี้ จะนำไปสับสนกับคติของฝรั่งในเรื่อง natural law และ natural rights ไม่ได้ เพราะเป็นคนละแบบกันเลย

พวกฝรั่งมีคติเกี่ยวกับกฎหมายตามสายหรือสำนักต่างๆ ซึ่งมีแนวความคิดหลายแบบ เช่น พวกหนึ่งถือว่ามี natural law คือ กฎหมายตามธรรมชาติ และมี natural rights คือมีสิทธิตามธรรมชาติด้วย แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ตรงกับเรื่องธรรมกับวินัยที่ได้พูดไปแล้วแต่ประการใด

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทนำ นิติศาสตร์กับ ธรรมศาสตร์– ๒ – หลักแห่งปฏิบัติการ >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12

No Comments

Comments are closed.