– ๑ – หลักการพื้นฐาน

28 มีนาคม 2539
เป็นตอนที่ 3 จาก 5 ตอนของ

พัฒนาคนให้รู้จักเคารพสิทธิกันและกัน
แต่ต้องรู้ทันว่าที่แท้มนุษย์ไม่มีสิทธิ

มนุษย์เรามีความสามารถในเรื่องวินัยนี้ เราจึงจัดโครงสร้างวางระบบตั้งกฎระเบียบในการจัดแจงจัดสรรสังคมขึ้นมามากมาย และพัฒนาอารยธรรมขึ้นได้ จนกระทั่งมนุษย์ถึงกับตกลงกันให้พวกตนมีสิทธิ แม้แต่จะเป็นเจ้าของและจัดการกับธรรมชาติได้ตามปรารถนา เช่น แผ่นดิน ก็นำมาแบ่งกันโดยกำหนดให้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเกิดขึ้น เอาแผ่นดินมาจัดสรร บัญญัติว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของคุณ ที่ดินแปลงนี้เป็นของฉัน จะละเมิดกันไม่ได้ โดยมีกฎหมายเข้ามารองรับ ถ้าละเมิดกันก็มีการลงโทษตามกระบวนการของกฎหมายนั้น

กฎหมายจึงเป็นเครื่องแสดงการยอมรับสิทธิหรือเป็นเครื่องกำหนดให้เกิดมีสิทธินั้นขึ้น และกฎหมายก็เป็นเครื่องมือคุ้มครองสิทธิของบุคคล ตลอดจนคุ้มครองกิจการต่างๆ ของคน แต่ไปๆ มาๆ มนุษย์ก็อาจจะลืมความจริงที่แท้ของธรรมชาติไปเลย จนบางที เมื่อมนุษย์ต่างอารยธรรม ต่างวัฒนธรรมมาพบกัน ก็มีเรื่องแปลกๆ

ตัวอย่างเช่น เรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ ๑๔๑ ปีล่วงมาแล้ว (พ.ศ. ๒๓๙๘) ประธานาธิบดีอเมริกา ชื่อว่าแฟรงคลิน เพียซ ได้ติดต่อขอซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากพวกอินเดียนแดงเผ่าหนึ่ง ซึ่งมีหัวหน้าชื่อว่า ซีแอตเติล (Seattle) ซึ่งได้เป็นที่มาของชื่อเมืองใหญ่ ในรัฐวอชิงตัน ทางตะวันตกเฉียงเหนือสุดของประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน

ตอนนั้นดินแดนนี้เป็นของอินเดียนแดงเผ่าของซีแอตเติล เมื่อประธานาธิบดี เพียซ ติดต่อขอซื้อไป ก็ได้รับคำตอบจากอินเดียนแดงว่า

“ท่านจะเอาแผ่นดินและผืนฟ้ามาซื้อขายกันหรือนี่ ความคิดนี้แปลกประหลาดสำหรับพวกเรา” (Gore, 359)

เวลานี้เรายึดถือกันเหลือเกินใช่ไหม ที่ดินนี้เป็นของฉัน ฉันมีกรรมสิทธิ์ และก็รู้สึกกันว่าเป็นความจริงอย่างนั้นจริงๆ แต่เมื่อมนุษย์ที่เราเห็นว่ายังไม่มีอารยธรรมมาได้ยินได้ฟังเรื่องอย่างนี้เข้า เขารู้สึกแปลกประหลาด อินเดียนแดงเหล่านี้นึกไม่ออกว่ามนุษย์มีการนำแผ่นดินผืนฟ้ามาขายกันได้อย่างไร

ต่อไป นอกจากเอาแผ่นดินมาแบ่งกันแล้ว มนุษย์ก็จะขายผืนฟ้ากันจริงๆ ด้วย เช่น อาจจะมีการเช่าที่ตั้งสถานีอวกาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่มนุษย์สมมติขึ้นทั้งสิ้น สมัยก่อน ตอนที่ประธานาธิบดีแฟรงคลิน เพียซ ขอซื้อที่ดินจากพวกอินเดียนแดงนั้น คนอเมริกันย่อมรู้สึกดูถูกคนอินเดียนแดงมาก ว่าคนพวกนี้ไม่มีสติปัญญา โง่เขลาเหลือเกิน ไม่มีอารยธรรม ไม่รู้จักเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน

แต่มาบัดนี้ ความคิดของอินเดียนแดงกลับได้รับการยกย่องสรรเสริญ เพราะว่ามนุษย์ยุคนี้มาประสบปัญหาจากสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม แล้วเห็นกันว่าการกระทำของมนุษย์ที่เบียดเบียนธรรมชาติ ที่จัดการกับธรรมชาติตามชอบใจนั้น ได้เป็นสาเหตุแห่งความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ ทำให้เกิดมลภาวะเป็นต้น ปรากฏว่าคนอเมริกันยุคนี้กลับไปยกวาทะของอินเดียนแดงผู้นี้มายกย่องสรรเสริญกัน

ตัวอย่างเช่น รองประธานาธิบดี Al Gore คนปัจจุบันนี้ เมื่อเขียนหนังสือเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติเรื่อง Earth in the Balance ก็ยกถ้อยคำหรือวาทะของอินเดียนแดงคนนี้มาอ้างอิง (Gore, 359) เหมือนดังจะเยาะเย้ยความคิดของชาวอเมริกันผู้เจริญแล้ว ที่หลงไปตามสมมติ และยอมรับว่าความคิดความเข้าใจของพวกอินเดียนแดงนั้นสอดคล้องตรงตามความจริงของธรรมชาติ

เพราะฉะนั้น เรื่องสิทธิเป็นต้น ตามที่บัญญัติในกฎหมาย จึงเป็นเรื่องของการที่มนุษย์มาตั้งกฎเกณฑ์กันขึ้น เพื่อประโยชน์ในหมู่มนุษย์ของเรา จนหลงเพลินไปว่าเรามีความชอบธรรมที่จะไปจัดการกับธรรมชาติได้ตามปรารถนา แต่ตามความจริงสิทธิอย่างนี้มีหรือไม่ เช่น ที่ฝรั่งพวกหนึ่งบอกว่ามนุษย์มีสิทธิตามธรรมชาตินั้น ในทัศนะของพระพุทธศาสนาว่าเป็นความสับสน

จะต้องเข้าใจว่า ความจริงตามธรรมชาติก็เป็นความจริงของมันอยู่อย่างนั้น เช่น การที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่มนุษย์นั้นมีสติปัญญา เมื่อรู้ความจริงนั้นแล้ว และต้องการจะให้ชีวิตและกิจการงานของตนอยู่ได้ด้วยดีภายใต้กฎธรรมชาตินั้น ก็นำความรู้ในกฎธรรมชาติมาจัดสรรวางระบบแบบแผนขึ้นในสังคมของตน เพื่อให้ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาตินั้นเกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมของตน ด้วยการตกลงกันวางข้อกำหนดขึ้น เช่นการกำหนดให้มีสิทธิต่างๆ ขึ้นมา แต่ทั้งนี้จะต้องมีความรู้ตระหนักในความจริงว่า มันเป็นเรื่องของมนุษย์ที่ตกลงกัน ไม่ใช่ความเป็นจริงในธรรมชาติ

สมมติว่า เราตกลงกันว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของฉัน หรือของคนนั้นคนนี้ ก็เกิดเป็นสิทธิขึ้นมา แต่สิทธิที่ว่านั้นเป็นเรื่องที่จะใช้อ้างกันได้ในหมู่มนุษย์เท่านั้น จะเอาไปอ้างกับธรรมชาติไม่ได้ เราจะบอกว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของฉันแล้ว ทุกอย่างในที่นี้จะต้องเชื่อฟังฉัน ฉันปลูกอะไรแกจะต้องงอก อันนี้จะเอาไปอ้างกับธรรมชาติโดยไม่ทำเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ ก็เป็นไปไม่ได้ การอ้างสิทธินั้นจะไม่สำเร็จผลเลย ธรรมชาติจะไม่ฟัง

เรื่องของธรรมชาติก็คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน คุณต้องการอะไรคุณก็ต้องทำให้ถูกตามเหตุปัจจัย ถ้าคุณทำไม่ถูกตามเหตุปัจจัยก็ไม่เกิดผลที่คุณต้องการ

เราจะบอกว่าต้นมะม่วงต้นนี้เป็นต้นไม้ของฉัน เกิดในที่ดินของฉัน ฉันมีสิทธิจัดการได้ แกต้องฟังฉัน แกต้องงอกงาม แกต้องออกผลมากให้ได้เท่านี้ในฤดูนี้ปีนี้ ให้ฉันมีรายได้เท่านี้ ฯลฯ การอ้างสิทธิกับธรรมชาติอย่างนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ มนุษย์จะต้องทำตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติทั้งสิ้น

ดังนั้น มนุษย์จึงจะต้องรู้จักแยกระหว่างความจริงตามกฎธรรมชาติ กับความจริงที่มนุษย์มาตกลงกันวางขึ้น เพราะว่าแม้แต่ชีวิตของมนุษย์เอง ในแง่ของกฎธรรมชาติมนุษย์ก็ไม่มีสิทธิอะไร เราจะบอกว่าฉันมีสิทธิในชีวิตของฉัน ก็ไม่มีผลอะไร ถ้าไฟไหม้จะมาถึงตัว ไม่ยอมหนี จะอ้างสิทธิกับไฟว่า “ฉันมีสิทธิในชีวิตของฉัน แกไม่มีสิทธิจะทำอะไรฉัน” ไฟก็ไหม้เอาเท่านั้น หรือลองเข้าป่าไปพบเสือแล้วไปยืนอ้างสิทธิบอกกับเสือว่า “ข้าเป็นเจ้าของชีวิตของข้า ข้ามีสิทธิในชีวิตของข้า” บอกกับเสือ เสือก็ไม่ฟัง มันก็งับกินเท่านั้นเอง

แม้แต่ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา เราจะอ้างสิทธิในชีวิตของเรากับธรรมชาติ ก็ไม่มีผลอะไร แต่เราจะต้องปฏิบัติ หรือดำเนินชีวิตของเราให้ถูกต้องตามเหตุปัจจัยในกระบวนการของธรรมชาติ เราต้องรักษาสุขภาพของเรา เราต้องกินอยู่หลับนอน ต้องทำกิจกรรมทั้งหลายให้เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ตรงตามเหตุปัจจัยของมัน ถ้าเราไม่ทำตามนั้น จะอ้างสิทธิต่อธรรมชาติ ก็ไม่อาจได้รับผลที่ต้องการ

ในโลกยุคต่อไป ปัญหาเรื่องสิทธิจะซับซ้อนยิ่งขึ้น ดังเช่นปัญหาที่เกิดจากความเจริญทางเทคโนโลยี ทางด้านการแพทย์ และทางด้านข่าวสารข้อมูล เป็นต้น อย่างที่เป็นปัญหามากขึ้นๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องสิทธิในการเกิด สิทธิในการให้กำเนิด สิทธิในการตาย สิทธิในการมีชีวิตอยู่ สิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสิทธิในการมีชีวิตของทารกในครรภ์ กับสิทธิที่จะมีชีวิตที่มีสุขภาพดีของมารดาผู้ถือว่าตนเป็นเจ้าของครรภ์ เพราะฉะนั้น การเข้าใจความจริงที่ทำให้แยกได้ระหว่างความจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ กับความจริงตามที่ตกลงกัน(โดยสมมติ)ด้วยปัญญาของมนุษย์ จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น

ตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งคือ ในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้โลกได้ประสบปัญหาจากความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศเป็นอย่างมาก และตระหนักเห็นภัยจากการทำลายธรรมชาติ เนื่องจากปัญหาและความตื่นตัวในเรื่องนี้ ก็ได้มีบุคคลและกลุ่มชนที่เริ่มตั้งข้อพิจารณาขึ้นมาว่า สัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายมีสิทธิในชีวิตของมันหรือไม่ และบางคนก็ลงความเห็นว่า “มี”

เมื่อตกลงว่าสัตว์ดิรัจฉานมีสิทธิในชีวิตของมัน ก็มีเรื่องที่มนุษย์จะต้องแก้ปัญหาในหมู่พวกตนตามมาอีกมาก เช่น นาย ก. เป็นเจ้าของเล้าหมู เลี้ยงหมูไว้ฆ่าขายเนื้อจำนวนมาก นาย ข. เห็นว่าหมูมีสิทธิในชีวิตของมัน จึงลอบไปปล่อยหมูออกจากเล้า ตำรวจจับนาย ข. ฐานลักทรัพย์ ซึ่งเป็นการละเมิดกรรมสิทธิ์ของนาย ก. แต่นาย ข. อ้างว่าเขาไม่ได้ลักทรัพย์ เขาเพียงแต่ปล่อยหมูไปตามสิทธิของมัน (เหมือนช่วยคนที่ถูกคนอื่นกักขังไว้; แต่ก็พึงสังเกตด้วยว่า สมัยก่อนโน้น เมื่อยังมีระบบทาส เจ้าของทาสก็มีสิทธิตามสมมติที่จะจัดการกับทาส คล้ายกับที่เจ้าของเล้าหมูจะจัดการกับหมู แต่มาบัดนี้ เมื่อสังคมยกเลิกระบบทาสแล้ว การปฏิบัติต่อคนอย่างนั้นกลายเป็นความผิด กรรมสิทธิ์ต่อทาสกลายเป็นไม่มี)

เรื่องทำนองนี้คงเป็นปัญหาสำหรับนักกฎหมายในอนาคตจะวินิจฉัยกันต่อไป แต่ก็มีตัวอย่างแล้วที่รัฐฮาไว สหรัฐอเมริกา นักศึกษาชั้นบัณฑิตศึกษาผู้หนึ่งเห็นว่าปลาโลมามีสิทธิในชีวิตของมัน มันควรจะมีอิสรภาพ จึงปล่อยปลาโลมา ๒ ตัว ออกจากสถานีทดลอง ปรากฏว่าเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานลักทรัพย์ (ดูความคิดของชาวตะวันตกต่อเรื่องอย่างนี้ เช่น Rolston, 47 และ Howard, 132 เป็นต้น)

ขอให้สังเกตว่า แม้ใครก็ตามจะบอกว่าสัตว์มีสิทธิในชีวิตของมัน สัตว์นั้นก็คงไม่สามารถเอาสิทธินั้นไปอ้างกับใครๆ หรือกับสัตว์อื่นใด แต่สิทธิของสัตว์นั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์นั่นเองจะนำไปอ้างต่อมนุษย์ด้วยกัน ในการที่จะปฏิบัติต่อสัตว์นั้นๆ ตามที่พวกตนตกลงกัน

เป็นอันว่า สิทธิต่อชีวิต เป็นต้น อ้างไม่ได้กับธรรมชาติ แต่อ้างได้กับมนุษย์ด้วยกันตามที่ตกลงยอมรับ นี้เป็นเรื่องหนึ่งที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างกฎธรรมชาติ ที่เรียกว่า ธรรม กับกฎเกณฑ์ในหมู่มนุษย์ ที่เรียกว่า วินัย ซึ่งซ้อนกันอยู่และโยงเป็นเรื่องเดียวกัน แต่แยกออกเป็น ๒ ระดับ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทนำ นิติศาสตร์กับ ธรรมศาสตร์– ๒ – หลักแห่งปฏิบัติการ >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12

No Comments

Comments are closed.