– ๑ – หลักการพื้นฐาน

28 มีนาคม 2539
เป็นตอนที่ 3 จาก 5 ตอนของ

จุดหมายของสังคม คือจุดหมายของกฎหมาย
แต่สุดท้าย จุดหมายของกฎหมายต้องสนองจุดหมายของชีวิตคน

ทีนี้ กลับไปสู่คำถามขั้นรากฐานว่า พระพุทธศาสนามองธรรมชาติของมนุษย์อย่างไร? พระพุทธศาสนามองมนุษย์ว่า เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกและเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ คือทั้งต้องฝึกและฝึกได้ ถ้าใช้ศัพท์ภาษาสมัยใหม่ก็ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องศึกษา และศึกษาได้

นี้คือธรรมชาติของมนุษย์ที่แปลกจากสัตว์อื่น สัตว์ชนิดอื่นนั้น ไม่ต้องฝึกแต่ก็ฝึกไม่ได้ ไม่ต้องฝึก หมายความว่า เมื่อเกิดมาก็มีชีวิตอยู่รอดได้ง่าย โดยแทบไม่ต้องฝึก ไม่ต้องเรียนรู้ ไม่ต้องศึกษาอะไร เพราะอาศัยสัญชาตญาณช่วย ออกจากท้องแม่ ๒ นาทีอาจจะเดินได้เลย ถ้าเป็นห่านก็ออกจากไข่ตอนเช้า บ่ายก็ตามแม่ไปลงสระน้ำ ว่ายน้ำได้ หากินได้โดยไม่ต้องฝึก สัตว์เหล่านั้นอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ แต่มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษในแง่ที่ว่า ถ้าไม่มีการฝึกฝน ไม่มีการเรียนรู้แล้ว อยู่ไม่ได้ อยู่ไม่รอด

มนุษย์เกิดขึ้นมาแล้วไม่สามารถอยู่รอดด้วยตนเอง เมื่อเกิดมาแล้วต้องมีผู้อุ้มชูเลี้ยงดู โดยเฉพาะพ่อแม่ เลี้ยงดูไปเป็นปีๆ ก็ยังอยู่ไม่รอด ต้องเลี้ยงดูไปหลายปีจนเขาสามารถดำเนินชีวิตได้ ระหว่างที่พ่อแม่เลี้ยงดูเขานั้น เขาทำอะไร นี่คือสิ่งสำคัญ สิ่งที่เขาทำคือการเรียนรู้ และฝึกศึกษาพัฒนาตัวเอง

ระหว่างที่พ่อแม่เลี้ยง เด็กก็เรียน เขาต้องเรียนทุกอย่างเพื่อให้ดำเนินชีวิตได้ ไม่ว่าจะนั่ง จะกิน จะนอน จะขับถ่าย ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกต้องหัดทั้งสิ้น คือต้องศึกษานั่นเอง ถ้าไม่เรียนรู้ไม่ฝึกฝนเขาจะทำไม่ได้สักอย่างและอยู่ไม่รอด กว่าจะเรียนรู้ในการเดิน การพูด เด็กบางคนใช้เวลาเกือบ ๒ ปี จึงเดินได้ พูดได้

โดยนัยนี้ การดำเนินชีวิตของมนุษย์จึงไม่ใช่ได้มาเปล่าๆ มนุษย์ต้องลงทุนด้วยการศึกษา เรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา จึงพูดว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก แต่การที่ต้องฝึกนี้มองอีกด้านหนึ่งก็เป็นข้อดีของมนุษย์ คือ เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ส่วนสัตว์ชนิดอื่นนั้นไม่ต้องฝึกก็จริง แต่มันฝึกไม่ได้ ที่จริงไม่ถึงกับฝึกไม่ได้เลย แต่ฝึกได้น้อยอย่างยิ่ง เรียนรู้ได้จำกัด เรียนรู้ได้นิดหน่อย และส่วนใหญ่ถ้าจะฝึกต้องให้มนุษย์ฝึกให้ ส่วนมนุษย์นี้มีความสามารถพิเศษที่ฝึกตนเองได้ เรียนรู้ด้วยตนเองได้ ถ้ามนุษย์ฝึกตนแล้วก็พัฒนาได้แทบไม่มีที่สิ้นสุด ฝึกอย่างไรก็ได้อย่างนั้น อยากจะเป็นอย่างไรก็ฝึกเอา

ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงพัฒนาตนจนกระทั่งทิ้งสัตว์ชนิดอื่นทั้งหมด มนุษย์สามารถสร้างโลกของมนุษย์ขึ้นมาต่างหากจากโลกของธรรมชาติ ไม่เหมือนกับสัตว์ชนิดอื่นที่ต้องอยู่ในธรรมชาติตลอดชีวิต เกิดมาด้วยสัญชาตญาณใดก็ตายไปด้วยสัญชาตญาณนั้น มนุษย์นี้เกิดมาแล้ว ก็ฝึกศึกษาพัฒนา เรียนรู้ก้าวหน้าไปไม่มีที่สิ้นสุด สร้างสรรค์อารยธรรมสืบต่อกันได้ จากมนุษย์รุ่นพ่อมาสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน รุ่นเหลน ต่อไปเรื่อยๆ

ธรรมชาติของมนุษย์มีความพิเศษอยู่ตรงนี้ คือการที่มนุษย์สามารถมีชีวิตที่ดีงามเป็นเลิศได้ ด้วยการเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนา แต่พูดย้อนกลับว่า มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามเป็นเลิศได้ จะต้องเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนา เพราะฉะนั้น มนุษย์เรานี้จึงถือว่า เป็น “สัตว์ที่ต้องศึกษา” และจึงวางเป็นหลักได้ว่า ชีวิตที่ดีงามของมนุษย์ คือชีวิตแห่งการศึกษา พระพุทธศาสนาถือคตินี้ สอดคล้องกับการที่มนุษย์มีธรรมชาติอย่างนี้

เราต้องการให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงาม แต่มนุษย์จะต้องเรียนรู้ ฝึกศึกษา พัฒนาตัวเอง ดังนั้น จึงเข้ามาสู่ระบบของพระพุทธศาสนาในเรื่องของการโยง ธรรม กับ วินัย

มนุษย์เรียนรู้เพื่อเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ คือ ธรรม ถ้ามนุษย์รู้เหตุปัจจัยที่เป็นความจริงในระบบความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย มนุษย์ก็จะกระทำการต่างๆ ได้ผลตามที่ตนต้องการแทบทุกอย่าง เช่น จะกินผลไม้ ก็ไม่ต้องรอเดินไปกินที่ต้นในป่า แต่สามารถเอาเม็ดมาปลูกให้มีต้นไม้ที่บ้านได้

ความสามารถสร้างสรรค์ทำสิ่งต่างๆ ขึ้นมามากมายนั้น เกิดจากการเรียนรู้ ฝึก ศึกษา พัฒนาของมนุษย์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงาม ก็ต้องฝึกศึกษาพัฒนาให้เข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ และเอาประโยชน์จากความรู้นั้นให้ได้ แล้วด้วยการเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาโดยใช้ความรู้นี้ มนุษย์ก็จะสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมที่ดีงามขึ้นมาได้

ชีวิตและสังคมดีงาม ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาได้ด้วยการเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาตนของมนุษย์นี้ จึงเป็นจุดหมายแห่งกิจกรรมและกิจการทั้งหลายของมนุษย์

แต่การที่คนทั้งหลายผู้มาอยู่รวมกันจะเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาตนให้สามารถสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมที่ดีงามขึ้นมาได้นั้น ก็ต้องมีชีวิตที่ปลอดภัยและสังคมที่อยู่กันสงบเรียบร้อยเป็นสภาพเอื้อหรือเกื้อหนุน และนี่แหละคือจุดที่การปกครองและกฎหมายเข้ามา คือ สังคมต้องมีวินัย ทั้งในแง่ของการปกครอง และกฎหมาย เพื่อสร้างสรรค์ความสงบเรียบร้อย อันเป็นสภาพเอื้อที่จะช่วยให้คนทั้งหลายพัฒนาชีวิตของตนขึ้นไปให้สามารถบรรลุจุดหมายแห่งการมีชีวิตที่ดีงาม มีสันติสุขและเป็นอิสระได้ จนเข้าถึงประโยชน์สุขที่สูงสุด

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทนำ นิติศาสตร์กับ ธรรมศาสตร์– ๒ – หลักแห่งปฏิบัติการ >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12

No Comments

Comments are closed.