– ๑ – หลักการพื้นฐาน

28 มีนาคม 2539
เป็นตอนที่ 3 จาก 5 ตอนของ

กระบวนวิธีในการบัญญัติข้อกฎหมาย
กฎหมายโดยหลักการ กับกฎหมายโดยบัญญัติ

เมื่อพระพุทธเจ้าจะทรงบัญญัติสิกขาบทแต่ละข้อ ที่มารวมกันเป็นวินัยนี้ พระองค์ตรัสแสดงวัตถุประสงค์ทุกครั้งว่า ที่ทรงบัญญัติสิกขาบท คือ ข้อฝึก หรือกฎแต่ละข้อนี้ เพื่ออะไร ซึ่งได้แก่วัตถุประสงค์ ๑๐ ประการ (วินย.๑/๒๗; องฺ.ทสก.๒๔/๓๑) จัดได้เป็น ๕ หมวด คือ

๑. เพื่อประโยชน์แก่สงฆ์หรือส่วนรวม

๒. เพื่อประโยชน์แก่ตัวบุคคล

๓. เพื่อประโยชน์แก่ชีวิตของมนุษย์

๔. เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปในสังคมใหญ่ที่แวดล้อม

๕. เพื่อประโยชน์แก่ตัวพระศาสนา

ทั้ง ๕ หมวดนี้แยกย่อยเป็นหมวดละ ๒ ข้อ ดังนี้

๑. เพื่อประโยชน์แก่สงฆ์หรือส่วนรวม

๑.๑ “สังฆสุฏฐุตายะ” เพื่อความยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์ คือ เพื่อความดีงามของสถาบันสงฆ์ทั้งหมดโดยส่วนรวม ที่จะมีความเรียบร้อย อยู่กันด้วยดี ด้วยการตั้งวินัยขึ้นมาบนฐานแห่งการยอมรับร่วมกัน ที่ว่า “ยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์” หมายความว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช้วิธีบังคับขืนใจ แต่ทรงบัญญัติสิกขาบทเพื่อผลดีร่วมกัน และโดยความยอมรับร่วมกัน

๑.๒ “สังฆผาสุตายะ” เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ ไม่ใช่เฉพาะแต่อยู่เรียบร้อยดี ต้องอยู่สบายด้วย และเป็นความสบายของส่วนรวม

๒. เพื่อประโยชน์แก่ตัวบุคคล

๒.๑ เพื่อกำราบคนหน้าด้าน (ทุมมังกุ = ผู้เก้อยาก)

๒.๒ เพื่อความอยู่ผาสุกของภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก

พูดสั้นๆ ว่า เพื่อส่งเสริมคนที่ประพฤติดี และกำราบคนที่ประพฤติชั่ว หรือเพื่อปิดช่องคนร้าย-ให้โอกาสคนดี

๓. เพื่อประโยชน์แก่ชีวิตของมนุษย์เอง คือคำนึงถึงผลดีและผลร้ายที่จะเกิดกับชีวิตของมนุษย์ เช่น เรื่องความดี ความชั่ว เป็นต้น โดยมุ่งที่จะสร้างสภาพเอื้อต่อชีวิตที่ดีงาม

๓.๑ เพื่อปิดกั้นผลเสียหายที่จะเกิดในปัจจุบัน

๓.๒ เพื่อป้องกันผลเสียหายที่จะเกิดในอนาคต

๔. เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป คือ เพื่อผลดีแก่จิตใจของประชาชน ทำให้คนมีจิตใจผ่องใสด้วยอาศัยความดีงามของพระสงฆ์เป็นสื่อ

๔.๑ เพื่อความเลื่อมใสของประชาชนที่ยังไม่มีความเลื่อมใส

๔.๒ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งๆ ขึ้นไปของประชาชนที่มีความเลื่อมใสอยู่แล้ว
สองข้อนี้มุ่งเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนเอง เพราะว่าความสัมพันธ์ระหว่างพระศาสนากับประชาชนมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ทำให้เขามีจิตใจที่สงบ แช่มชื่น สบาย ผ่องใส เกิดศรัทธา มีปีติและความสุข เป็นกุศลพื้นฐานที่จะนำไปสู่คุณความดีที่สูงยิ่งขึ้นไป

๕. เพื่อประโยชน์แก่ตัวพระศาสนา
๕.๑ เพื่อให้สัทธรรม คือธรรมที่แท้ หรือหลักการที่แท้ของพระศาสนา ดำรงอยู่ได้มั่นคงยั่งยืน
๕.๒ เพื่ออนุเคราะห์วินัย คือ เพื่อช่วยค้ำจุนให้ระเบียบแบบแผนและระบบการต่างๆ เกิดมีผลในการปฏิบัติตามหลักการอย่างหนักแน่นมั่นคง เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างยั่งยืน (เพื่อให้วินัยเกิดผลสมวัตถุประสงค์)

แต่ละครั้งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบท พระองค์จะทรงแถลงวัตถุประสงค์เหล่านี้ทุกครั้ง เพราะฉะนั้น จะขอเล่าวิธีบัญญัติสิกขาบทในพระวินัยของพระพุทธเจ้า (วินัยคือรวมสิกขาบททั้งหมด)

กล่าวตามวิวัฒนาการในสังฆะ เมื่อสงฆ์คือชุมชนของพระภิกษุยังเล็กอยู่ (เมื่อพระพุทธเจ้าตั้งสงฆ์ใหม่ๆ) บุคคลที่เข้ามาในตอนแรกรู้ชัดในวัตถุประสงค์ของชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ว่า เราเข้ามาเพื่อจะพัฒนาชีวิต ด้วยการเรียนรู้ และฝึกตนในไตรสิกขา เพื่อเข้าถึงชีวิตที่ดีงามที่ประเสริฐ ตามหลักการของพระพุทธศาสนาที่ถือว่า มนุษย์จะประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกหาประเสริฐไม่ ผู้ที่ฝึกแล้วหรือศึกษาแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด แม้ยิ่งกว่าเทพเจ้า

หลักการของพระพุทธศาสนามีอย่างไร ผู้เข้ามารู้ตระหนักชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้น สังฆะในระยะแรกจึงดำรงอยู่โดยไม่มีกฎหรือข้อบังคับ วินัยมีอยู่โดยหลักการอย่างเป็นไปเอง วินัยมีอยู่แล้วทั้งๆ ที่ไม่มีสิกขาบท มีแต่เพียงหลักการ และข้อนัดหมาย หรือข้อหมายรู้ร่วมกันตามหลักการนั้น

ให้ตั้งข้อสังเกตว่า วินัย ไม่จำเป็นต้องมีสิกขาบท คือมีระบบแบบแผนโดยไม่ต้องมีข้อบัญญัติ หรือมีการปฏิบัติตามหลักการโดยไม่ต้องมีข้อกำหนด

ตอนแรกมีวินัยโดยไม่ต้องมีสิกขาบท พระก็อยู่กันได้ด้วยดี โดยถือหลักการ ปฏิบัติไปตามหลักการ มีหลักการเป็นเครื่องรักษาควบคุม ดังปรากฏว่า ในวันอุโบสถ เมื่อภิกษุทั้งหลายประชุมกัน พระพุทธเจ้าก็ทรงแถลงหลักการของพระพุทธศาสนา เป็นการทบทวนว่าพระพุทธศาสนามีอุดมการณ์อย่างนี้ มีหลักการอย่างนี้ (พูดสั้นๆ ว่า มีแต่โอวาทปาติโมกข์ คือหลักการแม่บท ไม่มีอาณาปาติโมกข์ คือกฎหมายแม่บท) ทรงปฏิบัติเช่นนี้ตลอดมาเป็นเวลาประมาณ ๒๐ ปี จนกระทั่งเมื่อมีการบัญญัติสิกขาบทแล้ว จึงทรงบัญญัติให้ภิกษุทั้งหลายประชุมกันทบทวนตรวจสอบความประพฤติด้วยสิกขาบทเหล่านั้น (พูดสั้นๆ ว่า ต่อจากนั้นจึงมีอาณาปาติโมกข์) (องฺ.อฏฺฐก.๒๓/๑๑๐/๒๐๗; วินย.อ.๑/๒๑๒, ๒๑๔, ๒๔๘; อุ.อ.๓๑๙)

ขอยกตัวอย่างหลักการใหญ่ๆ เช่นที่เรานำมาสวดกันว่า “ไม่ทำชั่ว ทำความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส” หรือ “นิพพานเป็นบรมธรรม” หรือ “บรรพชิตในพระพุทธศาสนา มีลักษณะสำคัญคือเป็นผู้ไม่ทำร้ายใคร ไม่เบียดเบียนใคร” หลักการเหล่านี้พระพุทธเจ้าทรงแถลงทบทวนกับที่ประชุมของพระสงฆ์ โดยไม่มีข้อบัญญัติย่อยละเอียดลงไปเป็นกฎข้อบังคับที่จะลงโทษแก่ผู้ทำผิด พระสงฆ์ในระยะแรกอยู่กันด้วยหลักการ

ความเป็นมาของการที่จะบัญญัติสิกขาบทมีเรื่องราวที่น่าสนใจว่า (วินย.๑/๗-๘) ครั้งหนึ่งพระสารีบุตรซึ่งเป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้า ได้ทูลถามพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับศาสนาของพระพุทธเจ้าในอดีตที่พูดถึงในขณะนั้น ซึ่งมีพระพุทธเจ้าที่ออกพระนาม ๕ พระองค์

พระสารีบุตรทูลถามว่า ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ไหนที่มั่นคงยั่งยืน ของพระองค์ไหนไม่มั่นคงยั่งยืน พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ศาสนาของพระวิปัสสี พระสิขี และพระเวสสภู ตั้งอยู่ไม่นาน ไม่มั่นคงยั่งยืน แต่ศาสนาของพระกกุสันธะ และพระโกนาคมนะ ตั้งอยู่มั่นคงยั่งยืนยาวนาน

พระสารีบุตรทูลถามต่อไปว่า เพราะเหตุใดศาสนาของ ๓ พระองค์แรกจึงไม่มั่นคงยั่งยืน และเพราะเหตุใดของ ๒ พระองค์หลังจึงมั่นคงยั่งยืน พระพุทธเจ้าตรัสเฉลยว่า เพราะว่า พระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ที่ออกพระนามมาข้างต้นนั้น ไม่ค่อยจะได้ทรงสั่งสอน และมีคำสอนที่เป็นหลักการต่างๆ น้อย อีกทั้งไม่ได้ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ และไม่ได้มีการประชุมทบทวนประมวลบทบัญญัติที่เรียกว่า “ปาติโมกข์” ต่างจากศาสนาของพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์หลัง ซึ่งมีคำสั่งสอนมาก มีการบัญญัติสิกขาบท คือตราข้อกฎหมายไว้เป็นแบบแผน เรียบร้อย

พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบว่า พระภิกษุทั้งหลายมาจากชาติตระกูลต่างๆ กัน ภูมิหลังต่างๆ กัน เหมือนกับดอกไม้นานาพันธุ์ที่เขานำมาวางบนพื้นกระดาน ถ้าไม่ได้ร้อยไว้ด้วยเส้นด้าย ลมมาก็พัดกระจุยกระจาย แต่ถ้าเอาด้ายร้อยไว้ก็จะคุมกันอยู่ แม้ลมพัดมาก็จะไม่กระจุยกระจาย

สำหรับพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ เวลานั้นมีหลักคำสอนมากแล้ว แต่ยังไม่ได้บัญญัติสิกขาบท พูดง่ายๆ ว่ากฎหมายยังไม่มี พระสารีบุตรจึงทูลอาราธนาว่า ถ้าเช่นนั้น เพื่อจะให้พระศาสนาของพระองค์ในบัดนี้ มั่นคงยั่งยืนต่อไป ขอให้พระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบท พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ยังไม่ถึงเวลา”

พระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่าเมื่อใดจะถึงเวลา คือเมื่อมีเหตุเกิดขึ้น มีข้อเสียหายเกิดขึ้น จึงจะทรงบัญญัติสิกขาบท และข้อเสียหายต่างๆ นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อ สังฆะนี้

๑. ตั้งมาได้เป็นเวลายาวนานพอสมควร

๒. ขยายตัวใหญ่โตขึ้น

๓. มีผลประโยชน์เกิดมากขึ้น

เมื่อนั้นแหละจะเกิดปัญหามีข้อเสียหายขึ้นมา และจะทรงบัญญัติสิกขาบท นี้เป็นแนวทัศนะอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับนิติศาสตร์

ผลประโยชน์เป็นเรื่องใหญ่ที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นความสำคัญ นี่คือเรื่องของมนุษย์ แม้แต่ในพระสูตรที่ตรัสถึงการปกครองของมนุษย์ ก็ตรัสว่า แต่เดิม มนุษย์ยังไม่มีการปกครอง ต่อมามีผู้คนจำนวนมากขึ้น และมีผลประโยชน์เกิดขึ้น ซึ่งในยุคแรกเป็นเรื่องของพืชผลในที่ดิน จึงมีการจัดแบ่งสรรปันเขตที่ดิน และต่อมาก็เกิดมีการขัดแย้งแย่งชิงผลประโยชน์ในที่ดินนั้น จึงมีการตั้งผู้ปกครองขึ้นมา

ด้วยเหตุนี้ ในพระพุทธศาสนาจึงเล่าประวัติการเกิดขึ้นของผู้ปกครอง โดยถือเป็นเรื่องของวิวัฒนาการในสังคมมนุษย์ (ที.ปา.๑๑/๖๑-๖๓/๙๙–๑๐๑) ต่างจากในศาสนาพราหมณ์ที่ถือว่า พระพรหมเทพเจ้าจัดตั้งกำหนดผู้ปกครองมาให้ และเมื่อมีการปกครอง ก็ต้องมีกฎเกณฑ์ข้อบังคับ อย่างน้อยก็คือข้อตกลงกัน จึงมีสิ่งที่เรียกว่า กฎหมาย (กฎหมายนี้ศาสนาพราหมณ์ก็ว่าเป็นบัญญัติของพระพรหมเช่นกัน)

ข้อกำหนดของกฎหมาย หรือสิกขาบทในวินัย ท่านบัญญัติไว้ก็เพื่อให้ได้ผลตามหลักการ ดังวัตถุประสงค์ทั้ง ๑๐ ประการ ที่กล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งพูดได้ว่า ข้อสุดท้าย คือ ข้อ ๑๐ เป็นข้อที่คุมและคลุมทั้งหมด

วัตถุประสงค์ข้อที่ ๑๐ ตามคำบาลีว่า “วินยานุคฺคหาย” แปลว่า เพื่ออุดหนุนหรือค้ำจุนวินัย หมายความว่า บัญญัติสิกขาบท คือตรากฎหมายขึ้น ก็เพื่อค้ำจุนระบบที่จัดตั้งไว้ หรือพูดอีกความหมายหนึ่งว่า เพื่อเกื้อหนุนการปกครอง

เมื่อผลเป็นไปตามวัตถุประสงค์ทั้ง ๑๐ ประการนั้น ก็จะเกิดสภาพเอื้อโอกาสและเกื้อหนุนให้สมาชิกทุกคนของสังคม/สังฆะ สามารถพัฒนาชีวิตสู่ความดีงามและประโยชน์สุขที่สูงยิ่งขึ้นไป ดังกล่าวข้างต้น

หันกลับมาพูดเรื่องการบัญญัติสิกขาบทว่า ต่อมามีเหตุไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นซึ่งพระสงฆ์และประชาชนติเตียน พระพุทธเจ้าจึงทรงเริ่มบัญญัติสิกขาบท ในการบัญญัติสิกขาบทแต่ละข้อ หรือแต่ละมาตรานี้ พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติตามลำดับทำนองนี้ คือ

๑. มีพระภิกษุทำเรื่องเสียหายเกิดขึ้น

๒. ประชาชนหรือพระสงฆ์กล่าวติเตียนว่าเป็นสิ่งเสียหาย ไม่ดีไม่งาม แล้วเรื่องมาถึงพระพุทธเจ้า

พระสงฆ์เองถือเป็นหน้าที่ พอได้ยินประชาชนโจษขานว่าพระองค์นั้นองค์นี้ประพฤติไม่เหมาะ ก็จะมีพระนำความมากราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงเรียกประชุมสงฆ์ ให้พระภิกษุทั้งหลายมาประชุมกัน และเรียกตัวบุคคลที่ทำความผิดเสียหายนั้นมาซักถามในที่ประชุม เมื่อยอมรับว่าเป็นความจริงแล้ว พระพุทธเจ้าจะทรงชี้แจงโทษความเสียหายว่าการกระทำนั้นไม่ดีไม่ถูกต้องอย่างไร ขัดกับหลักการของพระพุทธศาสนาอย่างไร เมื่อชี้แจงเสร็จแล้วจึงตรัสว่าจะทรงบัญญัติสิกขาบท โดยทรงแถลงวัตถุประสงค์ ๑๐ ประการในการบัญญัติสิกขาบท แล้วจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงยกสิกขาบทขึ้นแสดง (เป็นหลักอ้างอิง) ดังนี้ว่า . . .”

โดยนัยนี้จึงเกิดเป็นข้อบัญญัติที่เรียกว่าสิกขาบท ขึ้นมาทีละข้อ สิกขาบทแต่ละข้อนั้นมีบัญญัติต้นเดิมก่อน หากต่อมาปรากฏว่ายังไม่เหมาะ เช่นควรมีข้อยกเว้น และจะทรงปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติม ก็ทรงเรียกประชุมสงฆ์อีก แล้วตรัสชี้แจงเหตุที่เกิดขึ้น และปรับแก้สิกขาบทนั้นใหม่

การบัญญัติครั้งแรก เรียกว่า มูลบัญญัติ หรือบัญญัติเดิม ส่วนข้อแก้ไขเพิ่มเติม เรียกว่า อนุบัญญัติ สิกขาบทบางสิกขาบทจึงมีทั้งมูลบัญญัติและอนุบัญญัติ และอนุบัญญัตินั้นอาจจะมีหลายครั้งด้วย

ขอยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งพระภิกษุเดินทางไปกับภิกษุณี ประชาชนติเตียนว่า พระเดินทางไปกับภิกษุณี สงสัยว่าจะเป็นสามีภรรยากัน ชาวบ้านโจษขานกันไป ติเตียนให้เสียหาย พระพุทธเจ้าทรงเรียกประชุมสงฆ์และดำเนินขั้นตอนตามแบบแผน แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ไม่ให้พระภิกษุเดินทางไกลไปไหนกับภิกษุณี นี้เป็น มูลบัญญัติ

ต่อมาปรากฏว่า เมื่อมีการเดินทาง ภิกษุไม่ยอมเดินทางร่วมกับภิกษุณี และเมื่อแยกกันเดินทาง ภิกษุณีถูกประทุษร้าย เกิดปัญหาเป็นเรื่องมาถึงพระพุทธเจ้า ก็ทรงประชุมสงฆ์ และทรงบัญญัติสิกขาบทแก้ไขเพิ่มเติมจากมูลบัญญัติว่า ไม่ให้เดินทางร่วมกัน เว้นแต่สมัย คือ เมื่อมีเหตุอันสมควร ได้แก่ หนึ่ง เดินทางไปกับกองคาราวาน สอง มีภัยอันตราย (วินย.๒/๔๕๒/๒๙๐) ข้อที่บัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมใหม่นี้เรียกว่า อนุบัญญัติ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทนำ นิติศาสตร์กับ ธรรมศาสตร์– ๒ – หลักแห่งปฏิบัติการ >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12

No Comments

Comments are closed.