– ๑ – หลักการพื้นฐาน

28 มีนาคม 2539
เป็นตอนที่ 3 จาก 5 ตอนของ

กฎหมายเพื่อสังคมมนุษย์ จะไม่สมจริง
ถ้าหยั่งไม่ถึงความจริง แห่งธรรมชาติมนุษย์

ขอย้ำว่า “วินัย” มีความหมาย ๓ ชั้น
ชั้นที่ ๑ คือ การจัดตั้งวางระเบียบชีวิต และวางระบบกิจการ
ชั้นที่ ๒ คือ ข้อกำหนดที่บอกให้รู้ว่าจะจัดตั้งวางระเบียบระบบให้เป็นอย่างไร
ชั้นที่ ๓ คือ  ก) การใช้ระเบียบและระบบที่จัดวางขึ้นนั้น เป็นเครื่องมือสร้างเสริมโอกาสให้คนพัฒนาชีวิตให้ดียิ่งขึ้น หรือการชักนำดูแลให้คนใช้ระเบียบและระบบนั้นเป็นเครื่องมือ(ที่จะช่วยกันทำให้สังคมเป็นแหล่งอำนวยโอกาสในการ)พัฒนาชีวิตของตน หรือ
ข) การใช้ระเบียบและระบบที่จัดวางขึ้นนั้น เป็นเครื่องมือบังคับควบคุมคนให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย หรือการบังคับควบคุมคนให้เป็นอยู่และประพฤติปฏิบัติดำเนินกิจการตามระเบียบและระบบที่จัดวางขึ้นนั้น

ความหมายของ “วินัย” ที่เราเข้าใจกันมาก คือความหมายที่ ๒ ได้แก่ระเบียบแบบแผนที่บอกว่าจะให้จัดตั้งวางระบบอย่างไร หรือข้อกำหนดที่เป็นแม่บทในการจัดตั้ง

ตัวอย่างเช่น พระมาอยู่ร่วมกัน ต้องมีวิธีแสวงหาและการจัดสรรแบ่งปันปัจจัยสี่ คืออาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค

ในเรื่องนี้วินัยก็จะบอกว่า พระภิกษุมีวิธีที่จะได้มาและจัดสรรแบ่งปันปัจจัยสี่กันอย่างไร เมื่อมีใครมานิมนต์พระ จะให้ใครเป็นผู้ทำหน้าที่ในการบอกให้พระรูปไหนไป และจะจัดอย่างไร เช่น จะให้ใครไปก่อนไปหลัง ปัจจัยสี่ อย่างไหนพระภิกษุจะเก็บสะสมได้หรือไม่ได้ เก็บได้มากเท่าใดและนานเท่าไร จะเก็บอย่างไร ใครจะเป็นผู้เก็บ เมื่อมีการขัดแย้งกันขึ้น หรือมีพระทำความผิด จะดำเนินคดีอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น นี่คือเรื่องของวินัยในความหมายที่สอง ซึ่งตรงกับ กฎหมาย

ความหมายของวินัยอย่างที่ ๓ ก็คือ การปกครอง วินัยในความหมายนี้เป็นเรื่องของการปกครอง เพราะการดูแลให้บุคคลเป็นอยู่ประพฤติปฏิบัติตามกฎกติกาและให้กิจการต่างๆ ดำเนินไปตามครรลอง ก็คือการปกครองในความหมายที่ครอบคลุมทั้งหมด ต่อจากนั้นจึงแยกออกเป็นรายละเอียดในการบริหาร ซึ่งทั้งหมดนั้นต้องมีการจัดดำเนินการที่เป็นงานรวม เพื่อให้หมู่ชนหรือสังคมดำเนินไปอย่างใดอย่างหนึ่ง อันได้แก่ การปกครอง

โดยนัยนี้ คำว่า วินัย จึงมีความหมายกว้าง และไปโยงกับที่ได้กล่าวถึงในตอนแรกว่า กฎหมายเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการปกครองมาก เพราะวินัยเอง จะแปลว่า การปกครองก็ได้

วินัย นั้น โดยรากศัพท์ แปลว่า การนำไปให้วิเศษ มาจาก วิ แปลว่า ให้วิเศษ และ นี ตัวเดียวกับใน “นีติ” แปลว่า นำ รวมกันเป็น “วินัย” แปลว่าการนำไปให้วิเศษ หมายความว่า ทำให้คนมีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น และทำให้กิจการต่างๆ ดำเนินไปด้วยดี เป็นความหมายทั้งในระดับบุคคลและสังคม เป็นได้ทั้งกฎหมายและการปกครอง ที่จะจัดสรรให้เกิดความเรียบร้อยดีงามขึ้นในสังคมมนุษย์

(ถ้าเป็นกฎหมาย ก็แปลว่าเครื่องนำไปให้วิเศษ ถ้าเป็นการปกครอง ก็แปลว่าการนำไปให้วิเศษ)

จึงพูดได้ว่า ในที่สุดแล้ว เรื่องของกฎหมายและการปกครอง หรือเรื่องของวินัย ก็คือ การจัดการให้เกิดความเรียบร้อยหรือมีสันติสุขขึ้นในสังคม นี้เป็นความหมายของวินัยในระดับหนึ่ง

แต่แท้จริง สิ่งนี้คือจุดหมายของวินัย หรือกฎหมายและการปกครอง จริงหรือไม่ จุดหมายของนิติศาสตร์ คืออะไรแน่?

ถ้ามองในแง่ของวินัย ตามความหมายของพระพุทธศาสนา ความสงบเรียบร้อยอยู่กันด้วยดีในสังคม ยังมิใช่เป็นจุดหมาย ทำไมจึงยังไม่ใช่ ถ้ามองเผินๆ ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะการปกครองโดยมีกฎหมาย วางระเบียบกฎเกณฑ์ขึ้นมา ก็เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยดี โดยสงบเรียบร้อย เพราะฉะนั้น การมีความสงบก็น่าจะเป็นการบรรลุจุดหมาย แต่แท้จริงความสงบเรียบร้อยในสังคมนั้นเราถือว่าเป็นปัจจัย ไม่ใช่เป็นจุดหมาย

ความสงบเรียบร้อยของสังคมไม่ใช่เป็นจุดหมาย ถ้าจะให้ได้คำตอบต้องถามต่อไปว่า ทำไมจึงต้องมีวินัย?

ได้พูดแล้วว่า การมีวินัยสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของสงฆ์ คือ สังฆะหรือชุมชนของพระภิกษุ หรือพระสงฆ์ทั้งหลายที่มาอยู่ร่วมกัน

ทำไมจึงเกิดสงฆ์? ทำไมพระพุทธเจ้าจึงตั้งสังฆะขึ้นมา เรื่องนี้โยงไปถึงธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งจะทำให้เห็นว่าจุดมุ่งหมายของการมีการปกครอง มีกฎหมาย มีระเบียบกฎเกณฑ์กติกาของสังคมนั้น เพื่ออะไร

ในการจัดตั้งหรือจัดสรรสังคม เรามองธรรมชาติของมนุษย์อย่างไร? ถ้าเรามองโยงลงไปไม่ถึงธรรมชาติของมนุษย์ ศาสตร์ทั้งหลายจะไม่เกิดประโยชน์แก่มนุษย์ได้จริง

ศาสตร์ทุกศาสตร์จะต้องหยั่งลงไปถึงธรรมชาติของมนุษย์ และจะต้องตั้งอยู่บนฐานของปัญญาที่เข้าใจความจริงตั้งแต่ธรรมชาติของมนุษย์ เพราะว่าในที่สุดนั้น การจัดตั้งวางระบบทุกอย่างเราทำขึ้นมาเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ ถ้าไม่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ เราก็ไม่รู้ว่ามนุษย์จะมีชีวิตอยู่ไปทำไม เขาต้องการอะไร และเราควรจะทำอะไรให้เขา

ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมชาติหรือความจริงแห่งชีวิตของมนุษย์ สิ่งที่เราทำให้เขานั้น แทนที่จะเป็นประโยชน์ อาจจะกลายเป็นโทษเป็นพิษภัยแก่เขาก็ได้ ทั้งที่เราอาจจะมีเจตนาดีก็ตาม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทนำ นิติศาสตร์กับ ธรรมศาสตร์– ๒ – หลักแห่งปฏิบัติการ >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12

No Comments

Comments are closed.