- ช่วยให้ตายเร็ว หรือช่วยให้ตายดี
- ตายดีคืออย่างไร และสำคัญอย่างไร?
- แม้ถึงวาระสุดท้าย มนุษย์ก็ไม่หมดโอกาสที่จะได้สิ่งดีที่สุดของชีวิต
- ต้องยอมรับว่าเรายังรู้ไม่เพียงพอต่อความจริงของธรรมชาติ จึงต้องปฏิบัติการด้วยความไม่ประมาท
- การรู้ความจริงของธรรมชาติ กับการตัดสินใจปฏิบัติ เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์
- หลักการใหญ่: ปฏิบัติการด้วยเจตนาดีที่สุด บนฐานแห่งปัญญาที่รู้ถ่องแท้ที่สุด
แม้ถึงวาระสุดท้าย
มนุษย์ก็ไม่หมดโอกาสที่จะได้สิ่งดีที่สุดของชีวิต
ยิ่งกว่านั้น ทางพุทธศาสนาถือว่า ชีวิตคนมีโอกาสตลอดเวลา จนถึงวาระสุดท้าย แม้แต่จะบรรลุประโยชน์สูงสุดของชีวิต ในขณะจะดับจิต โดยเฉพาะการบรรลุธรรมซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ยอดสุดของชีวิต เรียกง่ายๆ ก็คือการบรรลุนิพพานนั้น แม้แต่ป่วยไข้กำลังจะตายก็มีโอกาส มนุษย์จึงมีโอกาสจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ไม่มีอะไรจะได้แล้วก็ยังสามารถได้สิ่งสูงสุดของชีวิต ดังมีท่านที่บรรลุธรรมในขณะจิตสุดท้ายตอนจะดับ ที่เรียกเป็นศัพท์ว่า “ชีวิตสมสีสี” คือบรรลุธรรมสูงสุดพร้อมกับสิ้นชีวิต
การที่มีโอกาสมากถึงขนาดนี้ บางครั้งก็ขัดกันกับเรื่องทางร่างกาย คือแม้แต่ร่างกายเจ็บปวดทุกข์ทรมานที่สุดแล้วจิตก็ยังมีโอกาสอยู่ ตามปกติเราย่อมต้องการให้ทั้งกายทั้งจิตดีทั้งคู่ จึงจะมีสุขเต็มพร้อม แต่ดังที่กล่าวแล้วว่าคนเราไม่หมดโอกาส แม้ร่างกายเจ็บปวดสุดทรมานอย่างจะขาดใจ บางทีความทุกข์ทรมานเป็นต้นที่เกิดขึ้นนั้นกลับมาเป็นอารมณ์ของปัญญา ทำให้เข้าใจหยั่งเห็นความจริงของชีวิต และบรรลุโพธิญาณได้ เลยตรัสรู้ในตอนที่จะดับจิตนั้น กลายเป็นพระอรหันต์ไป เป็นอันว่า คนแม้จะตายจนถึงวาระสุดท้าย ก็ยังมีโอกาสที่จะบรรลุธรรมสูงสุด ที่เป็นประโยชน์สุดยอดของชีวิต จึงเป็นข้อที่ต้องคำนึงไว้อย่างหนึ่ง
มีเรื่องในพระไตรปิฎกกล่าวถึงพระสาวกที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งก็คงจะไม่แพ้คนที่เจ็บป่วยในปัจจุบัน อย่างคนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งบางชนิดที่ทุกข์ ทรมานอย่างมาก ยิ่งสมัยก่อนนั้นเราต้องนึกว่ายังไม่มีเครื่องอุปกรณ์มาช่วย ยาระงับความเจ็บปวดก็คงได้ผลไม่เท่าสมัยนี้ คนสมัยก่อนจึงคงจะต้องเจ็บปวดทรมานอย่างที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นก็ปรากฏว่า บางท่านในขณะสุดท้ายที่ทุกข์ทรมานอย่างยิ่งนั้น ก็ได้เกิดปัญญามองเห็นธรรมรู้เข้าใจความจริงของชีวิตอย่างแท้จริง แล้วก็วางจิตต่อชีวิตของตนและต่อโลกได้ถูกต้อง จิตใจก็โปร่งโล่ง หลุดพ้นเป็นอิสระ จึงบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์อย่างที่กล่าวเมื่อกี้
ที่พูดมานี้เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงอย่างหนึ่งในการที่จะปฏิบัติต่อคนที่เจ็บป่วย คนที่ช่วยเหลือจะต้องเข้าใจเรื่องนี้ แล้วเราอาจจะกลับไปช่วยคนเจ็บไข้ได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากช่วยในทางสภาพจิตที่ดีงาม ให้ยึดเหนี่ยวในสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล ซึ่งก็ดีอยู่แล้ว เราอาจจะก้าวต่อไปอีกขั้นหนึ่ง คือ การช่วยทางปัญญา
ด้านปัญญานี้คนมักจะไม่ค่อยนึกถึง มักจะมองแค่เรื่องที่จะให้จิตยึดสิ่งที่ดีไว้ เกาะเกี่ยวกับบุญกุศลไว้ ซึ่งยังเป็นความยึดถืออย่างหนึ่ง ถ้าพ้นจากขั้นนี้ไปได้ เหนือขึ้นไป ก็จะอยู่ด้วยความสว่างโปร่งโล่งของปัญญาที่บรรลุธรรม
คนเราที่เกิดมานี้ บางทีอยู่ด้วยความสุขสบายมาตลอดชีวิต ถ้าขาดความรู้เท่าทัน วางใจไม่ถูก ชีวิตที่อยู่มาดีนั้น กลับส่งผลย้อนกลับมาทำให้ยึดมั่นในชีวิตมากขึ้น หรือยึดมั่นเข้าไปเต็มที่ แล้วความยึดมั่นในชีวิตนั้นแหละ พอถึงเวลาจะต้องละจากไป ก็เป็นเหตุให้มีความทุกข์ขุ่นมัวเศร้าหมองมากขึ้น เพราะฉะนั้นในวาระสุดท้ายที่ว่าเมื่อกี้ ถ้าเกิดแสงสว่างแห่งปัญญาขึ้นมาก็หลุดไปได้อีกที
เรื่องนี้มองในสายตาของเรา อาจจะคิดไม่ถึงว่าอะไรดีที่สุด แต่ในทางพระศาสนาท่านสอนให้เรารู้ว่า การเกิดปัญญาเข้าถึงความจริงนั้นแหละ เป็นความสุขที่สมบูรณ์ที่สุด ถึงตอนนั้นเราจะปลงใจวางใจต่อทุกอย่างถูกต้องไปหมด จิตใจโปร่งโล่งสว่างไสว อย่างไม่มีอะไรมาขีดคั่นจำกัด
ชีวิตของทุกคนที่เกิดมาควรจะได้ถึงขั้นนี้ แต่ถ้าหากว่าตอนที่สุขสบายอยู่ยังไม่ได้ แล้วคนเจ็บป่วยทุกข์ทรมานกลับได้ขึ้นมา เราก็ต้องยอมรับว่าเขาได้สิ่งประเสริฐกว่าเรา อันนี้เป็นข้อที่นำมาเสนอไว้ให้เห็นทัศนคติหรือท่าทีของพระพุทธศาสนาต่อเรื่องความตายนี้ในส่วนหนึ่ง
No Comments
Comments are closed.