– ๑ – ขั้นศรัทธา: ให้สังคมสามัคคี คนมีกำลังใจ

9 เมษายน 2564
เป็นตอนที่ 2 จาก 15 ตอนของ

– ๑ –
ขั้นศรัทธา:
ให้สังคมสามัคคี คนมีกำลังใจ

คราววิกฤติ โควิด-19 เราอยู่กันด้วยความรู้เข้าใจและหวังดี
สวดมนต์ สวดปริตร คืออย่างไร ควรได้ทั้งความรู้และจิตใจที่ดี

เพื่อให้อยู่กันด้วยความรู้เข้าใจ ก็มาทำความเข้าใจในเรื่องเก่าๆ กันไว้นิดหน่อย การสวดโพชฌงค์นี้ ก็เป็นเรื่องในพระพุทธศาสนา ที่เรามีประเพณีสวดมนต์ซึ่งนิยมกันมาอย่างหนึ่ง เรียกว่าสวดพระปริตร ถือว่าเป็นการให้ความคุ้มครองป้องกัน ช่วยให้ปลอดภัยพ้นอันตราย

คำว่า “ปริตร” นี้ ชาวบ้านมักอ่านออกเสียงว่า “ปะ-ริด” แต่ถ้าถืออย่างทางการ ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ท่านให้อ่านว่า “ปะ-หริด” แปลง่ายๆ อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า เป็นเครื่องคุ้มครองป้องกัน บทสวดเพื่อความคุ้มครองป้องกันอย่างนี้ บทหนึ่ง ก็เป็นปริตรหนึ่ง ท่านจัดประมวลมาตั้งแบบแผน เป็นชุดเล็กมี ๗ เรียกว่าเจ็ดตำนาน และชุดใหญ่มี ๑๒ เรียกว่าสิบสองตำนาน

ควรทราบความเป็นมาของปริตรไว้สักหน่อย อย่างที่รู้กันดี พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีป ที่นั่น เวลานั้น เขาถือว่าพราหมณ์ และฤษีดาบส เป็นบุคคลชั้นสูง เป็นคนศักดิ์สิทธิ์ มักมีฤทธิ์มีอำนาจพิเศษ

ถือกันว่า พราหมณ์ และฤษีดาบสที่เก่งๆ มีมนต์ขลัง รู้มนตร์ในคัมภีร์อาถรรพเวท เมื่อโกรธหรือจะลงโทษใคร ก็ร่ายมนต์ด้วยฤทธิ์เดชของตน หรืออ้างอำนาจของเทพเจ้า สาปแช่งให้เป็นไปต่างๆ เช่นให้ศีรษะแตกตายใน ๗ วัน สามารถร่ายมนต์สะกดคนหรือสัตว์ทั้งหลายให้อยู่ใต้อำนาจของตัว สั่งบังคับให้ทำอะไรๆ ได้ตามใจปรารถนา เช่น สะกดให้หลับ สะกดให้อ้าปากค้าง พูดไม่ออก ได้ทั้งนั้น หรือทำร้ายให้เป็นไปต่างๆ สุดแต่จะข่มเหงรังแกหรือแก้แค้นกันอย่างไรๆ

สำหรับคนทั่วไป ซึ่งไม่มีฤทธิ์เดช เมื่ออยากมีอยากใช้มนต์ ก็ไปเรียนจากพราหมณ์ จากฤษี หรือจะลักจำเอา ก็นำไปใช้การได้

เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ได้สอนให้คนมีเมตตาการุณย์ ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้าย ไม่ทำการรุนแรง จึงไม่มีการใช้มนต์/มนตร์ (บาลี เป็น มนฺต – มนต์, สันสกฤต เป็น มนฺตฺร – มนตร์)

แต่คนทั้งสังคมนั้น คุ้นอยู่กับวัฒนธรรมเวทมนตร์ บางคนก็เป็นมนตรการหรือชำนาญมนตรวิทยามาก่อน แล้วสลัดเลิกมาเข้าสู่พระพุทธศาสนา แม้มาถือหลักพระพุทธศาสนาแล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้เรียนรู้ ไม่มีการศึกษาหนักแน่นเพียงพอ เมื่ออยู่ในบรรยากาศอย่างเก่าของสังคมแบบนั้น ก็อาจจะรู้สึกอ้างว้างหรือหวั่นไหว นี่คือสภาพที่ทำให้เกิดมีปริตร (บาลี: ปริตฺต) ขึ้นมาปิดช่องว่าง หรือเป็นทางเบี่ยงเชื่อมต่อเข้าสู่พระพุทธศาสนา

ปริตร แปลว่าเครื่องรักษาคุ้มครองป้องกัน ก็เป็นบทสวด แต่ไม่มีเรื่องของการสาปแช่งทำร้ายใช้โลภะโทสะอย่างมนต์ของพราหมณ์ ของฤษี (ตามปกติ ในคัมภีร์ไม่ใช้คำว่าสวดปริตร แต่ใช้คำว่าทำปริตร คือ ปริตฺตกรณ หมายความว่าทำเครื่องปกป้องรักษา)

ปริตรนั้นเน้นเมตตานำหน้าหรือเป็นตัวยืน ตั้งแต่จะเริ่มสวด ก็ให้ตั้งจิตเมตตาขึ้นมาก่อน และปริตรหลายบทก็มีเนื้อความที่เป็นการแสดงเมตตา คือปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ ต่อทุกคน แม้ต่อคนที่คิดร้ายหรือตั้งตัวเป็นศัตรู

ปริตรบางบทบอกสาระว่ามีความมั่นใจในตนเองที่มองเห็นว่าได้ทำกิจหน้าที่ถูกต้องหรือมีคุณความดีอย่างนั้นๆ แล้ว พร้อมกับมีเมตตาปรารถนาดีต่อคู่กรณีหรือต่อผู้อื่น

ปริตรที่บอกความกว้างๆ ก็คืออ้างอิงพระรัตนตรัย ซึ่งมีพระคุณยิ่งใหญ่กว้างขวางครอบคลุมความจริง ความบริสุทธิ์ ความถูกต้อง ความดีงามทั้งหมด โดยระลึกขึ้นมาทำให้เกิดกำลังความมั่นใจ คุ้มครองรักษาพาตนให้ปลอดภัยพ้นอันตราย

อาจจะพูดถึงสาระของปริตรเป็นแนวกว้างๆ ว่า เริ่มต้นก็ให้ตั้งเมตตาจิตขึ้นมา ต่อจากมีเมตตานำหน้าพาใจให้สงบเย็นดีแล้ว ก็มีสตินึกระลึกเอาสัจจะ เอาความจริง เอาธรรม เอาคุณความดีที่ตนมีตนปฏิบัติ เป็นที่อ้างอิงในการป้องกันรักษาตัวให้ปลอดภัยพ้นอันตราย ทำให้เกิดความมั่นใจในตนเอง เข้มแข็งมั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่สะทกสะท้าน และมีสติมั่น ใจอยู่กับตัว แล้วก็ใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาจัดการกับสถานการณ์ได้อย่างดีที่สุด

ทีนี้ สำหรับคนที่สวดโดยไม่รู้เข้าใจความหมาย อย่างในเมืองไทย คนทั่วไปไม่รู้ภาษาบาลี ก็สวดด้วยศรัทธา แม้จะไม่รู้เข้าใจเนื้อความ ก็ได้ผลในแง่ที่ทำให้ใจสงบ ใจมาอยู่กับตัว คือตั้งสติได้ แล้วก็มีกำลังใจ มั่นใจ

ถ้าชุมนุมสวดมนต์ ก็มีเพื่อน มีมิตรร่วมใจ ได้กำลังใจมาเสริมกัน ถึงจะไม่มาชุมนุมกันเป็นกายสามัคคี ก็มีจิตสามัคคี เมื่อได้อย่างนี้แล้ว ถ้าไม่มัวเพลินเรื่อยเปื่อยจบไปเปล่าๆ ก็พร้อมที่จะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่คิดหมายไว้โดยพร้อมเพรียงกัน

ดังที่ว่าแล้ว ปริตรนี้เกิดมีขึ้นในบรรยากาศของสังคมแบบพราหมณ์ที่มีมนต์ดังกระหึ่ม และพึมพำๆ อยู่ทั่วไป ในบางครั้งบางคราว ท่านจึงเอาคำว่ามนต์นั้น มาเรียกปริตร ในเชิงเทียบเคียงทำนองล้อคำล้อความของพราหมณ์นั้นว่า นี่เป็น “พุทธมนต์” และก็มีท่านผู้รู้ในเมืองไทยนี้ เรียกมนต์/มนตร์ ที่เป็นปกติของพวกพราหมณ์นั้น ให้เห็นต่างแยกออกไปว่า “เวทมนตร์”

(พระเถราจารย์บางท่าน เมื่อโต้กับพราหมณ์ เรียกคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้าว่า “พุทธมนต์” เพื่อให้พราหมณ์คิดเทียบเอง)

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทนำโพชฌงค์ หลักธรรมใหญ่ ใช้สวดมนต์ก็ได้ เพื่อปูพื้นใจที่ดี >>

No Comments

Comments are closed.