- (กล่าวนำ)
- – ๑ – จิตใจของนักวิชาการ
- – ๒ – ความเป็นอยู่อย่างนักวิชาการ
- – ๓ – ความสัมพันธ์ในชุมชนทางวิชาการ
– ๓ –
ความสัมพันธ์ในชุมชนทางวิชาการ
เมตตากรุณาแม้จะดีมาก
แต่ไม่พอที่จะทำชีวิตและสังคมให้ดีจริง
คนไทยใช้คำว่าเมตตากรุณามาก จนกลายเป็นถ้อยคำสามัญในภาษาไทย แต่เมตตากรุณาเป็นเพียงธรรมส่วนร่วมในระบบองค์รวมที่เป็นชุดซึ่งมี ๔ ข้อด้วยกัน อีก ๒ ข้อคือ มุทิตา และอุเบกขา ทั้งชุดสี่อย่างนี้เรียกว่า พรหมวิหาร ๔
ให้สังเกตว่า ตามปกติ ธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ จะตรัสเป็นชุด นี่คือระบบองค์รวม หรือบูรณาการ ซึ่งถ้าปฏิบัติไม่เต็มชุดอาจจะเกิดปัญหา เพราะความดีนั้นไม่ใช่ทำให้เกิดผลดีเสมอไป กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลก็ได้ อกุศลก็เป็นปัจจัยแก่กุศลได้ อันนี้เป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่ง ถ้าปฏิบัติไม่ครบ จะมีปัญหาทั้งในเชิงกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล และในแง่ที่ว่า ไม่มีตัวคุม และเสียดุล ความดีต่างๆ ต้องมีขอบเขต และมีตัวมาดุล ถ้าขาดตัวดุลเสียแล้ว ความดีที่ดีเกินไป อาจจะกลายเป็นเสียไปเลย
เมตตากรุณาในสังคมไทยนี้เป็นปัญหา เนื่องจากใช้กันไม่ถูก เช่น ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ เป็นต้น เพราะเราเน้นแต่เมตตากรุณา พูดกันแค่เมตตากรุณา ไม่ก้าวไปสู่มุทิตา ยิ่งอุเบกขาด้วยแล้ว ไม่รู้เรื่องเลย
การปฏิบัติธรรมต้องให้ครบชุดของมัน เมตตากรุณาเป็นคุณธรรมที่เกี่ยวกับการศึกษาและการบริหารโดยตรง ผู้บริหารจะต้องมีคุณธรรมชุดนี้ ครูอาจารย์ปฏิบัติหน้าที่ต่อลูกศิษย์ก็ต้องมีธรรมชุดนี้ พ่อแม่เลี้ยงดูลูกก็ต้องมีธรรมชุดนี้ แต่สังคมไทยเราเน้นแค่เมตตากรุณา จนกระทั่งกลายเป็นคำไทยสามัญที่คุ้นกันที่สุด แม้แต่เมตตากับกรุณาเองก็สับสน แยกไม่ออกว่าต่างกันอย่างไร จึงขอเน้นอีกครั้งหนึ่งในที่นี้ เรามาดูว่ามันเป็นองค์รวมครบชุดอย่างไร
คุณธรรมชุดนี้เป็นท่าทีของจิตใจต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งแสดงออกต่อผู้อื่น ความหมายของมันจะชัดเมื่อเรามองดูสถานการณ์ที่ผู้อื่นประสบ เมื่อเขาประสบสถานการณ์อะไร เราจะต้องแสดงออกต่อเขาด้วยข้อไหน ถ้าตอบตรงนี้ได้ความหมายจะชัดมาก
สถานการณ์ที่ ๑ คือ สถานการณ์พื้นฐาน เมื่อคนอื่น เช่น นักเรียน หรือลูก หรือเพื่อนมนุษย์ เขาอยู่ดีเป็นปกติ เราก็มี เมตตา
เมตตานี่มาจากศัพท์ว่า มิตตะ แปลงอิเป็นเอ อะเป็นอา ก็เป็นเมตตา แปลว่า คุณสมบัติของมิตร คือ น้ำใจมิตร หรือความเป็นมิตรนั่นเอง ถ้าเป็นสันสกฤตก็เป็นไมตรี เรานำเมตตากับไมตรีมาใช้คนละความหมายในภาษาไทย แต่ที่จริงในภาษาเดิมเหมือนกัน เมตตานี้ใช้ในสถานการณ์ปกติ คือเมื่อเขาอยู่เป็นปกติ เราก็มีเมตตา มีความเป็นมิตร ปรารถนาดี อยากให้เขาเป็นสุข
สถานการณ์ที่ ๒ เมื่อเขาเปลี่ยนจากปกติลงไปในทางตกต่ำ คือตกทุกข์ได้ยากเดือนร้อน เราก็ย้ายจากเมตตาไปเป็นข้อที่สองคือ กรุณา ซึ่งแปลว่า พลอยหวั่นใจในทุกข์ของเขา ต้องการจะปลดเปลื้องเขาให้พ้นจากความทุกข์ ช่วยเขาให้เป็นอิสระ
สถานการณ์ที่ ๓ เขาขึ้นสูง ได้ดีมีสุข ประสบความสำเร็จ ทำสิ่งถูกต้องดีงาม เราก็ย้ายไปข้อที่สามคือ มุทิตา ได้แก่พลอยยินดีด้วยในความสุข ความสำเร็จ หรือความดีของเขา พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุน ข้อนี้คนไทยไม่ค่อยเน้น เรื่องส่งเสริมคนดี เราไม่ค่อยพูดถึง แสดงว่าค่อนข้างบกพร่องในข้อมุทิตา
สถานการณ์ที่ ๔ ข้อนี้ยาก เพราะสามสถานการณ์ก่อนนี้ก็ดูเหมือนครบแล้ว หนึ่ง เป็นปกติ สอง ตกต่ำ สาม ขึ้นสูง แล้วจะมีอะไรอีก คนเราจะเป็นอย่างไร นอกจากปกติ นอกจากตกต่ำ นอกจากขึ้นสูง ทีนี้ สี่ เขาเป็นอย่างไร เอาที่เขาเป็นอย่างไร ไม่ต้องพูดถึงว่าเราจะทำอย่างไร คือมองดูที่เขาเป็นอย่างไรก่อนแล้วเราจึงจะทำอย่างไร ข้อนี้ยาก
ข้อสี่นี่เป็นหัวใจ เป็นตัวคุมให้ทุกอย่างพอดี เป็นตัวสร้างดุลยภาพ และเชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับธรรม สามข้อแรกเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หรือคนกับคน แต่มนุษย์ไม่ได้อยู่กับมนุษย์ด้วยกันอย่างเดียว ชีวิตของเรานี้มีสองด้าน
ด้านหนึ่ง เราอยู่กับคนด้วยกัน คือเพื่อนมนุษย์ที่เรียกว่าสิ่งแวดล้อมทางสังคม เรามีความสัมพันธ์ที่ดี เรามีเมตตา กรุณา มุทิตา ช่วยเหลือกันดี ก็อยู่กันด้วยดี มีความร่มเย็นเป็นสุข
อีกด้านหนึ่ง ชีวิตของเราอยู่กับความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ อยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิต แม้แต่ร่างกายของเรานี้ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ซึ่งไม่ฟังใครทั้งสิ้น เป็นหน้าที่ของเราเองที่จะต้องรู้เข้าใจมัน และปฏิบัติตัวให้ถูกต้องสอดคล้องกับมัน ด้านนี้แหละที่สำคัญ ซึ่งเราจะมองข้ามหรือละเลยไม่ได้
ถ้าขาดอุเบกขา แม้แต่พ่อแม่ที่รักลูกมาก
ก็อาจจะใช้ความรักนั้นทำลายลูกโดยไม่รู้ตัว
เมตตา กรุณา มุทิตา นั้น มาช่วยในด้านที่หนึ่งที่ชีวิตของเราไปเกี่ยวข้องกับเพื่อนมนุษย์ แต่ด้านที่สอง ชีวิตของเราต้องเกี่ยวข้องกับความเป็นจริงของโลกและชีวิตที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ในด้านนี้คนจะต้องมีปัญญา รู้จักรับผิดชอบตัวเอง ที่จะดำเนินชีวิตให้ดีงามถูกต้องด้วยตนเอง จะรอให้คนอื่นมาช่วยไม่ได้
ในข้อ ๑-๒-๓ นั้น คนช่วยกันด้วยความรู้สึกที่ดีงาม แต่ข้อสี่ในความสัมพันธ์กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตที่ไม่เข้าใครออกใครนั้น เราจะต้องปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง โดยใช้ปัญญา ทุกคนจึงต้องรู้จักรับผิดชอบตนเอง ไม่ใช่รอการช่วยเหลือพึ่งพา
ยกตัวอย่างพ่อแม่เลี้ยงลูก ถ้าเอาแต่เมตตา กรุณา มุทิตา ก็ทำให้ลูกหมดทุกอย่าง แต่ลูกไม่ได้อยู่กับพ่อแม่หรืออยู่กับมนุษย์ด้วยกันอย่างเดียว อีกด้านหนึ่งชีวิตของลูกต้องอยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิต เขาจะต้องไปมีชีวิตของเขาเองในโลก ในสังคม ซึ่งเขาจะต้องรับผิดชอบตัวเอง ปัญหาก็คือเขารับผิดชอบชีวิตของเขาเองได้หรือไม่ ถ้าเราเอาแต่ช่วยเขาด้วยเมตตากรุณามุทิตา เขาอาจจะไม่รู้จักทำอะไรให้เป็นด้วยตัวเอง และรับผิดชอบตัวเองไม่ได้ คือไม่สามารถพึ่งตนเอง ในระยะยาวพ่อแม่ไม่ได้อยู่กับเขาตลอดไป เขาจะต้องอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง ที่มันไม่เข้าใครออกใคร เขาจะต้องรับผิดชอบชีวิตของตัวเองให้ได้ ตอนนี้แหละที่ท่านให้ใช้ข้อสี่ คือ สามข้อแรกนี่พ่อแม่จะทำให้ลูก แต่ข้อสี่ พ่อแม่จะดูให้ลูกทำ ข้อสี่นี่แหละคืออุเบกขา
อุเบกขา แปลว่า คอยดู หรือดูอยู่ใกล้ๆ มาจาก อุป แปลว่า คอย หรือ ใกล้ๆ และอิกข แปลว่ามองดู อุเบกขาจึงแปลว่ามองดูอยู่ใกล้ๆ หรือคอยมองดู แต่ไม่ใช่ดูเปล่าๆ ดูให้เขาทำ คือตัวเองต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่า ต่อไปลูกเราจะโต จะต้องหัดดำเนินชีวิตเองให้ได้ จะต้องรับผิดชอบตัวเองได้ จะต้องทำอะไรเป็นบ้าง เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นแล้ว ก็มาฝึกให้ลูกทำ ให้เขาฝึกตัวเอง แล้วเราดูอยู่ใกล้ๆ ถ้าเขาทำไม่ถูก ทำไม่ได้ผล ทำผิด จะได้ช่วยแก้ไข แนะนำ จนเขาทำเป็นหรือทำได้ด้วยตนเอง
ถ้าเราไม่รีบใช้อุเบกขาเสียแต่บัดนี้ ต่อไปเราไม่ได้อยู่กับเขา พอเขาโตขึ้น เขารับผิดชอบตัวเองไม่เป็น ทำไม่เป็น เขาทำผิดเราก็ไม่มีโอกาสไปแก้ไข ไม่มีโอกาสจะช่วยแนะนำ เพราะฉะนั้น จึงต้องฝึกเขาตั้งแต่บัดนี้ ตรงนี้แหละ อุเบกขาจึงมา เพื่อให้เขามีโอกาสพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่เอาแต่รักแล้วทำให้เขาหมดทุกอย่าง จนกลายเป็นว่าพ่อแม่ปิดกั้นการพัฒนาของลูก หรือถึงกับทำลายลูกด้วยความรักไม่เป็น อุเบกขานี่มากับปัญญา ต้องมีปัญญาจึงจะมี อุเบกขาได้ นี่แหละข้อสี่
“รัก” ต้องมี “รู้” มาเข้าคู่ให้สมดุล
ตามที่พูดมานี้จะเห็นว่า สถานการณ์ที่ ๔ ก็คือ สถานการณ์ที่มนุษย์สัมพันธ์กับมนุษย์ในกรณีที่ไปเกี่ยวข้องกับตัวธรรม
ธรรมคือความเป็นจริงของธรรมชาติ พูดอีกสำนวนหนึ่งว่าหลักการ หรือกติกาของธรรมชาติ คือ กฎธรรมชาติ ได้แก่ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ความถูกต้องตามกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผล ความสมเหตุสมผล หรือความสมควรตามเหตุและผล รวมทั้งสิ่งที่เรียกว่า ความเป็นธรรม หรือความชอบธรรม
จากหลักการหรือกฎของธรรมชาตินี้ มนุษย์เราก็มาบัญญัติระบบในสังคมของตน เพื่อให้มนุษย์ดำรงอยู่ในความดีงาม ก็เกิดเป็นหลักการหรือกฎในสังคมมนุษย์ กลายเป็นกฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกา
เมื่อใดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไปส่งผลกระทบเสียหายต่อธรรม คือ ทำให้เสียหลักการแห่งความเป็นจริง ความถูกต้องดีงาม ความสมตามเหตุผล ความชอบธรรม ความเป็นธรรม เช่นผิดกฎหมาย หรือกติกาสังคม เราต้องหยุดช่วยเหลือ เพื่อให้เขารับผิดชอบต่อธรรม นี่คือ อุเบกขา เพราะฉะนั้น อุเบกขาจึงเป็นตัวคุมหมด ทำให้สามข้อแรกมีขอบเขต
เมตตา กรุณา มุทิตาจะเลยขอบเขตไม่ได้ เมื่อช่วยกันไปถ้าจะละเมิดหลักการ ละเมิดกติกา ละเมิดความเป็นธรรม ต้องหยุด เราเลยแปล “อุเบกขา” เป็นไทยว่า เฉย หมายความว่าเฉยต่อคนนั้น ในภาษาบาลีท่านอธิบายว่าไม่ขวนขวาย(ที่จะช่วย) เหมือนกับบอกว่าฉันไม่เอากะคุณละนะ
เราช่วยเหลือกันตลอดเวลา โดยมีเมตตา กรุณา มุทิตา แต่ถ้าจะทำให้เสียหลักการ เสียความเป็นธรรม ฉันต้องหยุด ฉันไม่เอากับคุณแล้วนะ กฎต้องเป็นกฎ ตรงนี้เรียกว่าอุเบกขา
อุเบกขา คือเฉยต่อคนนั้น เพื่ออะไร เพื่อไม่ละเมิด เพื่อไม่ก้าวก่ายแทรกแซงธรรม ธรรมจะออกผลอย่างไรต้องว่าไปตามนั้น ในขณะที่ เมตตา กรุณา มุทิตา รักษาคน แต่อุเบกขา รักษาธรรม
ที่จริง อุเบกขาก็เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันนั่นแหละ แต่ในกรณีนี้ความสัมพันธ์นั้นไม่อยู่แค่มนุษย์แล้ว แต่มันไปเกี่ยวข้องกับตัวธรรมด้วย คือไปเกี่ยวข้องกับหลักการ กฎเกณฑ์ กติกา ทั้งในธรรมชาติ และที่มาบัญญัติกันในสังคมมนุษย์
ฉะนั้น อะไรที่เป็นเรื่องที่เขาสมควรจะช่วยตัวเอง ควรรับผิดชอบตามความเป็นจริงของความเป็นเหตุเป็นผล เราไม่เข้าไปแทรกแซง ไม่ใช่ช่วยเรื่อยเปื่อย ต้องช่วยในขอบเขตของความสมเหตุสมผล และช่วยเฉพาะในขอบเขตที่ไม่ละเมิดธรรม ไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ กติกาต่างๆ ฉะนั้น อุเบกขาจึงเป็นตัวคุม และรักษาดุล ให้การช่วยเหลือกันไม่เลยขอบเขตจนเสียธรรม
ถึงตอนนี้ คงจะประมวลคำอธิบายพรหมวิหารข้อสุดท้ายมาสรุปลงเป็นความหมายของอุเบกขาได้ว่า
สถานการณ์ที่ ๔ เมื่อเขาสมควรจะต้องรับผิดชอบการกระทำของตน (รวมทั้งฝึกหัดความรับผิดชอบนั้น) คือในกรณีที่ถ้าเราเข้าไปช่วยเหลือด้วยเมตตาก็ตาม กรุณาก็ตาม มุทิตาก็ตาม จะเป็นการละเมิดก่อความเสียหายต่อธรรม ต่อความจริงความถูกต้องดีงาม ความสมควรตามเหตุผล หรือทำลายหลักการ กฎ กติกาที่ชอบธรรม เราจะต้องตั้งตัวหรือวางตนอยู่ในอุเบกขา คือ หยุดการขวนขวายช่วยเหลือ เพื่อให้มีการปฏิบัติไปตามธรรม ตามหลักการ หรือตามกติกา โดยไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง
ในสังคมไทยเมื่อคนไม่รู้จักอุเบกขา ก็เฉย แต่กลายเป็นเฉยไม่รู้เรื่องรู้ราว เฉยไม่เอาเรื่องเอาราว และเฉยไม่ได้เรื่องได้ราว อย่างนี้ทางพระท่านมีศัพท์ให้ด้วย เรียกว่า อัญญาณุเบกขา แปลว่า เฉยโง่ ซึ่งเป็นอกุศล เป็นบาป คนไทยเรานี้ถ้าไม่ระวังให้ดีจะเฉยโง่กันมาก เฉยที่แท้ต้องเป็นเฉยด้วยปัญญา เพราะว่าอุเบกขานี้จะมีได้ต้องอาศัยปัญญา
สามข้อต้นนั้นหนักด้านความรู้สึก ในการพัฒนามนุษย์ด้านความรู้สึก ที่เรียกเพี้ยนกันไปว่าด้านอารมณ์นี้ เรามุ่งให้มีเมตตา กรุณา มุทิตา ซึ่งเป็นฝ่าย emotion ที่ดี แต่ emotion นี้จะต้องถูกคุมด้วยปัญญา มิฉะนั้น emotion คือด้านอารมณ์ หรือด้านความรู้สึก อาจจะเลยขอบเขตไม่ถูกต้อง และถ้าเราไม่มีปัญญาคุม เมื่อเราช่วยเขาไม่ได้ จิตใจเราจะร้อนรน กระวนกระวาย เป็นทุกข์ แต่พอปัญญาคือด้านความรู้มา ก็จะสร้างดุลยภาพ ทำให้จิตใจสงบ จึงต้องเอาความรู้มาคุมความรู้สึก ฉะนั้น พุทธศาสนาจึงไปจบที่ปัญญา
เหมือนอย่างที่พูดข้างต้นว่า ในการพัฒนาปัญญา เราเริ่มด้วยศรัทธาซึ่งเป็นฝ่ายความรู้สึก หรือ emotion แต่ต้องมีปัญญาเป็นจุดหมายและดำเนินไปโดยมีปัญญามาคุมศรัทธา ด้านรู้ต้องคุมด้านรู้สึก แล้วเมื่อปัญญาด้านรู้พัฒนาไป ก็จะพัฒนาด้านความรู้สึกให้เป็นกุศลยิ่งขึ้น เพราะด้านความรู้สึกนั้นมีฝ่ายอกุศล เช่น โกรธ เกลียด ชัง ริษยา ระแวง เห็นแก่ตัว เป็นต้น พอปัญญามาก็พัฒนาความรู้สึกคือ พวก emotion ให้มาเป็น emotion ที่ดี เป็นฝ่ายเมตตา กรุณา หรือความรัก เป็นต้น แต่แม้จะเป็นความรู้สึกที่ดีแล้วก็ต้องอยู่ในความควบคุมของปัญญา
เป็นอันว่า สามข้อต้นหนักในด้านความรู้สึก คือ ความรัก ส่วนข้อสี่หนักในด้านปัญญา คือ ความรู้ ต้องให้ปัญญานำเอาอุเบกขามาคุมความรู้สึกไว้
สามข้อแรกคือ เมตตา กรุณา มุทิตา ไม่ต้องใช้ปัญญา เพียงแต่มีความรู้สึกที่ดีก็พอ คือ เขาอยู่เป็นปกติเราก็รู้สึกรัก เขาทุกข์ร้อนเราก็รู้สึกสงสาร เขาได้ดีมีสุขเราก็รู้สึกยินดีด้วย แต่ในข้อสี่นี่ถ้าไม่มีปัญญาก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะต้องรู้ว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผล อะไรเป็นความจริง อะไรเป็นความถูกต้อง อะไรเป็นหลักการ จึงจะปฏิบัติได้ ข้อสี่จึงต้องเน้นปัญญา และเป็นตัวที่สำคัญที่สุด ซึ่งจะสร้างดุลยภาพ หรือความพอดีให้เกิดขึ้น
เมื่อมีความรักโดยไม่ขาดความรู้ คือ ใช้เมตตากรุณาโดยมีปัญญามาโยงเข้ากับอุเบกขา ก็จะเกิดความสมดุลและความถูกต้องพอดี
No Comments
Comments are closed.