- บทนำ
- – ๑ – ขั้นศรัทธา: ให้สังคมสามัคคี คนมีกำลังใจ
- โพชฌงค์ หลักธรรมใหญ่ ใช้สวดมนต์ก็ได้ เพื่อปูพื้นใจที่ดี
- สามัคคี มีกำลังใจ ตั้งสติได้ ใช้ปัญญา ฝ่าวิกฤติพ้นไป
- เรานี้ก็มีเรี่ยวแรงสู้ปัญหา มีปัญญาดับทุกข์ได้
- – ๒ – ขั้นปัญญา: รู้เข้าใจ ใช้โพชฌงค์
- ปัญญาทำงานไป ใจมุ่งหน้า มั่นแน่ว
- ใจสมดุล งานสมบูรณ์
- – ๓ – ปฏิบัติการ: โพชฌงค์ ในชีวิตและกิจการ
- คนสู้ปัญหา พัฒนาได้แน่
- คนไทยมีคุณภาพแค่ไหน พิสูจน์ได้ด้วยโควิด-19
- คนทำให้งานสำเร็จ งานทำให้คนยิ่งพัฒนา
- ชาวพุทธไทยจะได้ตรวจสอบการปฏิบัติธรรมของตัว
- ได้บทเรียน เพื่ออนาคต
- บันทึกประกอบ
สามัคคี มีกำลังใจ ตั้งสติได้ ใช้ปัญญา ฝ่าวิกฤติพ้นไป
ทีนี้ เมื่อเรื่องมาถึงเรา โดยมีทั้งโพชฌงค์ที่เป็นหลักปฏิบัติธรรม ที่เป็นองค์ของโพธิ และโพชฌงค์ที่เป็นปริตร ที่ใช้สวดเป็นพุทธมนต์ เราก็มองโพชฌงค์ได้ใน ๒ ระดับ คือ
๑. ระดับศรัทธา การเอาโพชฌงค์มาสวดเป็นปริตรนี่ เห็นได้ว่าเป็นการใช้ประโยชน์ในระดับศรัทธา คือมุ่งไปทางด้านจิตใจ ศรัทธาทำให้คนมีใจสดชื่น ร่าเริง แจ่มใส มีกำลังใจเข้มแข็ง ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะช่วยให้เป็นอยู่ดำเนินชีวิตได้ดี กำลังใจที่เข้มแข็งนั้นทำให้กายแข็งแรงได้ด้วย จึงเป็นส่วนช่วยให้หายโรคหายภัยได้ ตรงข้ามกับคนหมดกำลังใจ ที่ทรุดลงให้เห็นได้ชัดๆ
๒. ระดับปัญญา เป็นเรื่องของการรู้เข้าใจโพชฌงค์ที่เป็นหลักธรรมแล้วนำมาใช้มาปฏิบัติให้ก้าวไปจนได้บรรลุผลที่เป็นจุดหมายของการปฏิบัติโพชฌงค์นั้น คือการตรัสรู้ เริ่มตั้งแต่รู้เข้าใจตัวหลักธรรมโพชฌงค์ ๗ แต่ละข้อแต่ละองค์ว่า คืออะไร เป็นอย่างไร มีความหมายอย่างไร สัมพันธ์กันอย่างไร เอามาใช้มาปฏิบัติอย่างไร เป็นต้น
ทีนี้ก็พูดในระดับที่ ๑ ก่อน คือในระดับศรัทธา ที่ว่าเป็นด้านจิตใจ อย่างที่เอามาใช้สวดมนต์กันนี้
จะเห็นว่า ในสถานการณ์อย่างเวลานี้ เมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บถึงขั้นมีโรคระบาด เป็นเหตุการณ์ใหญ่ขึ้นมา ก็ทำให้คนตระหนกตกใจ หวาดหวั่นพรั่นพรึง ทำให้คนหลายพวกหลายหมู่ดำเนินชีวิตไม่สะดวก อะไรๆ ก็ไม่เป็นไปตามที่ตัวเองจะเป็นอยู่ได้ตามปกติ ต้องมาติดขัดเรื่องโน้นเรื่องนี้ บ้างก็ทำงานทำการไม่ได้ ถึงกับตกงาน ไม่มีงานทำ ชีวิตติดขัด จิตใจวุ่นวาย เป็นกันไปต่างๆ
ในสภาพอย่างนี้ จิตใจของคนก็มีอาการเป็นไปต่างๆ บ้างก็ตระหนกตกใจ บ้างก็หวาดกลัว บ้างก็วิตกกังวล บ้างก็ห่วงใยคนนั้นคนนี้ บ้างก็โกรธ ขัดเคือง ไม่พอใจ บ้างก็ซึมเศร้าเหงาหงอย บ้างก็กระวนกระวาย กลุ้มอกกลุ้มใจ บ้างก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เป็นไปต่างๆ รวมแล้วก็เป็นสภาพจิตที่ไม่ดี แล้วก็แปลกแยกกัน ถึงกับแตกแยกกันก็มี อย่างนี้ก็คือจิตใจคนชักจะระส่ำระสาย แล้วถ้าจัดการไม่ได้นำทางไม่ดี ก็จะไปถึงขั้นที่สังคมระส่ำระสาย
ในสภาพเช่นนี้ ถ้าจะให้ดี ต้องแก้ปัญหาให้ถึงพื้นฐาน ขั้นที่ ๑ ก็คือ ทำอย่างไรจะให้คนมีใจสงบลงรวมเป็นอย่างเดียวหรือไปในทางเดียวกัน
เมื่อคนทั้งหลายมีใจว้าวุ่นขุ่นมัวรู้สึกนึกคิดกันไปต่างๆ นั้น พอทุกคนมีใจสงบลงได้ ก็มีใจรวมกัน คือรวมกันในความสงบเป็นอย่างเดียวกัน นี่เป็นการรวมกันในขั้นพื้นฐาน
แล้วทีนี้จะให้ดี ก็ร่วมเดินร่วมดำเนินความคิดความเห็นทำการทั้งหลายไปในทางเดียวกัน อย่างนี้ก็เป็นความพร้อมเพรียงสามัคคี เหมือนมีใจลงเรือด้วยกันไปในทางเดียว เมื่อสามัคคีกัน ก็จะทำอะไรต่ออะไรได้โดยพร้อมเพรียง แล้วก็จะสำเร็จผลได้ง่าย
เวลานี้ คนทั้งหลายในประเทศนี้ ในสังคมนี้ ก็เหมือนคนลงเรือลำเดียวกัน แล่นหลีกหลบฝ่าพายุร้ายโควิด-19 ไปด้วยกันบนทะเลใหญ่ ถ้าสามัคคีมีใจรวมร่วมไปในทางเดียวกัน ทำอะไรๆ ประสานสอดคล้องไปด้วยกันในการฝ่าคลื่นลมที่แรงร้าย เรือไทยก็จะผ่านพ้นภัยอันตรายไปถึงจุดหมายแห่งความสุขได้โดยสวัสดี
การสวดมนต์ และฟังสวดมนต์นี่ ช่วยทำให้ใจสงบ ตามปกติ คนที่สวดมนต์และฟังสวดมนต์ ก็คือญาติโยมประชาชนคนที่มีศรัทธาอยู่แล้ว พอฟังพระสวดมนต์ หรือตนเองสวดมนต์ก็ตาม ใจก็นึกโน้มไปในเรื่องบุญเรื่องธรรม ในความดีงาม ทำให้เป็นจิตใจที่ดี เกิดมีปีติในบุญในธรรม พอได้ฟังได้สวดนั้น
หนึ่ง เสียงสวดคำสวดก็มาครองใจแทนที่หรือไม่ก็กั้นความคิดความรู้สึกที่ตื่นตระหนกตกใจฟุ้งซ่านขุ่นมัวเศร้าหมองวุ่นวายอะไรต่างๆ ให้เงียบหายไป ใจก็สงบ เมื่อคนที่สวดที่ฟัง ต่างมีใจสงบ ก็มีใจรวมกันในความสงบหรือมีใจสงบเหมือนกัน
สอง มิใช่แค่นั้น การฟังการสวดนั้นยังพาใจให้นึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ นึกถึงคนที่ร่วมใจปรารถนาดี และอะไรต่ออะไรที่ดีงาม ก็ทำให้มีกำลังใจ เกิดความเข้มแข็งขึ้นมา
ทีนี้ เมื่อใจคนเป็นอย่างเดียวกันอย่างนี้ ก็เหมือนกับว่าตัวคนมารวมกัน ถ้าเขามาสวดด้วยกัน ก็เรียกว่ามีกายสามัคคี คือ กายมาพร้อมเพรียงอยู่ด้วยกัน เมื่อคนมาร่วมรวมกันมีกายสามัคคี ก็รู้สึกอุ่นใจ มาเสริมเพิ่มกำลังกัน ให้แต่ละคนเข้มแข็งมากขึ้น
แต่ถึงแม้ตัวไม่ได้มา ไม่ได้กายสามัคคี แต่ถ้าใจสามัคคี ใจพร้อมเพรียงกัน คือใจเป็นอย่างเดียวกัน รวมกันในความสงบ รวมกันในศรัทธา ก็เป็นใจที่มีความสามัคคี เรียกว่ามีจิตสามัคคี ก็ยิ่งมีกำลังแรง เพราะจิตสามัคคีเป็นฐานของกายสามัคคี
เมื่อคนมีจิตสามัคคีแล้ว กายสามัคคีจึงจะมีความหมาย ถ้าเอากายมารวมกันเป็นกายสามัคคี แต่ใจไม่เอาด้วยกันนี่ กายสามัคคีก็ไม่มีความหมาย กำลังพลมากมายก็ไปไม่รอด
ฉะนั้น จิตสามัคคีหรือใจสามัคคีนี่สำคัญ คนที่ฟังที่สวดมนต์ มีจิตใจมารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในความสงบ มีใจระลึกนึกถึงด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า ในธรรม ในความดีงามต่างๆ ในเรื่องที่ดีมีประโยชน์อันควรจะทำ ก็เป็นจิตใจที่ดีงาม มีความสงบ แล้วมีปีติ สดชื่น เบิกบาน แจ่มใส ก็มีกำลังใจขึ้นมา
พอใจสงบดีมีกำลังใจ ใจนั้นก็ตั้งหลักได้ ก็มีสติขึ้นมา พอสติมา ตั้งหลักได้ จะทำอะไร ใจก็พร้อม ทีนี้ก็เอาละ ถ้าเป็นคนที่ได้เรียนรู้ มีทุนความรู้เข้าใจ ปัญญาก็ทำงานเดินหน้าไปได้ นี่คือสติตั้งหลักให้ แล้วปัญญาก็คิดพิจารณาว่า ในสถานการณ์อย่างนี้ เรามีความรู้ในเรื่องนี้อย่างนี้ เราจะทำอะไร จะปฏิบัติอย่างไร กลายเป็นว่า ปัญญาก็จะนำความรู้ต่างๆ มาใช้ประโยชน์ได้
นี่เป็นขั้นที่รวมใจรวมพลให้เกิดความสามัคคี และให้เกิดความพร้อมที่จะปฏิบัติการดำเนินการต่างๆ ต่อไป
ในสมัยก่อนนั้น ที่ท่านจัดให้มีการสวดมนต์นี้ มิใช่ว่าจะมีแค่สวดมนต์ แต่การสวดมนต์เป็นกิจกรรมชนิดที่ว่ารวมพล รวมคน รวมใจ เพื่อให้พร้อมที่จะทำการอันใดอันหนึ่งต่อไป นี่คือ ตอนนี้คนมีใจสงบแล้วนะ รวมกันเป็นหนึ่งเดียวแล้ว และก็มีสติตั้งหลักให้พร้อมละ เออ… ทีนี้จะทำอะไรล่ะ ท่านก็ต่อด้วยการฟังธรรม
สมัยก่อนจะเป็นอย่างนี้ คือ มีหลักว่า พอสวดมนต์จบ ก็ฟังธรรม ทีนี้ ในความหมายกว้างๆ ฟังธรรมก็รวมไปถึงการเอาเรื่องดีงามที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตเป็นอยู่ มาบอกเล่าแนะนำกัน เช่นเรื่องที่ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรในเวลาที่เกิดโรคภัยไข้เจ็บ อย่างที่มีโควิด-19 เกิดขึ้นนี้ มีวิธีป้องกันตัวดำเนินชีวิตที่ดีงามให้เป็นไปได้อย่างไร นี่คือ เมื่อใจคนสงบด้วยการสวดมนต์แล้ว ก็ได้โอกาสนำเอาความรู้นี้มาบอกกัน และนอกจากความรู้ทั่วไปที่เป็นประโยชน์แล้ว ก็เอาธรรมะมาสอนอีก ก็ดีกันใหญ่
No Comments
Comments are closed.