ช่วยให้ตายเร็ว หรือช่วยให้ตายดี

21 กรกฎาคม 2541
เป็นตอนที่ 1 จาก 6 ตอนของ

ช่วยให้ตายเร็ว หรือช่วยให้ตายดี1

ขอเจริญพร ท่านรองอธิบดีกรมการแพทย์ผู้เป็นประธาน ท่านผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ท่านสหธรรมมิก และญาติโยมสาธุชนทุกท่าน

เริ่มต้นคงจะต้องขอประทานอภัยออกตัวนิดหน่อย เกี่ยวกับชื่อเรื่องที่ได้รับนิมนต์มาพูดวันนี้ ตอนแรกก็แปลกใจหน่อย เพราะเป็นคำใหม่ ไม่เคยได้ยินมาก่อน แม้ว่าอาจจะเป็นคำที่ได้บัญญัติในวงการแพทย์ใช้กันมา แต่ตัวเองเพิ่งได้ยิน ตอนแรกก็งงหน่อย แม้พระที่อยู่ใกล้ได้ยินคำนี้ ท่านก็ไม่เข้าใจว่า “พินัยกรรมชีวิต” นี้ คืออะไร แต่พิจารณาดูก็พอจับความได้

ว่าที่จริงก็เป็นเรื่องที่เคยมีผู้ถามมาแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่มีการบัญญัติชื่อกัน จนกระทั่งเมื่อวานนี้ มาเปิดดูหนังสือนิมนต์ ปรากฏว่าไม่ได้มีเฉพาะคำว่า “พินัยกรรมชีวิต” เท่านั้น แต่มีต่อท้าย ว่า “ผลต่อศาสนา” เลยยิ่งงงใหญ่ ว่า เอ๊ะ…เรื่องนี้จะมีผลต่อศาสนาอย่างไร ก็เป็นความผิดของตัวเองที่ไม่ได้ดูให้ชัดเสียก่อน พอเวลากระชั้นเข้าเลยไม่มีโอกาสถามให้แน่นอน จากความไม่ชัดเจนนี้ก็อาจจะทำให้การพูดวันนี้ไม่เข้าสู่แนวทางที่ต้องการก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แน่ใจก็คือ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความตาย หรือว่าให้ชัดขึ้นอีกว่า เป็นเรื่องระหว่างชีวิตกับความตาย คือการที่ชีวิตจะสิ้นสุดลง และจะสิ้นสุดอย่างไร บุคคลที่เกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่เจ้าของชีวิต ซึ่งในกรณีของการเจ็บไข้ได้ป่วยก็คือตัวผู้ป่วยเอง จะปฏิบัติต่อชีวิตของตนในขั้นสุดท้าย หรือต้อนรับความตายได้อย่างไร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งญาติ ทั้งแพทย์ ผู้รักษา พยาบาล จะมีท่าทีและปฏิบัติอย่างไร โดยเฉพาะในยุคนี้ที่การแพทย์ได้เจริญมาก เรามีเทคโนโลยีอำนวยอุปกรณ์ที่เรียกว่ายืดอายุได้ เรื่องก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปตายดีคืออย่างไร และสำคัญอย่างไร? >>

เชิงอรรถ

  1. “ปาฐกถาธรรม ตามคำอาราธนาของสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ ณ ห้องประชุม โรงพยาบาลสงฆ์ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑ (เดิมชื่อเรื่องว่า “พินัยกรรมชีวิต: ผลต่อศาสนา”)

No Comments

Comments are closed.