- บทนำ
- – ๑ – ขั้นศรัทธา: ให้สังคมสามัคคี คนมีกำลังใจ
- โพชฌงค์ หลักธรรมใหญ่ ใช้สวดมนต์ก็ได้ เพื่อปูพื้นใจที่ดี
- สามัคคี มีกำลังใจ ตั้งสติได้ ใช้ปัญญา ฝ่าวิกฤติพ้นไป
- เรานี้ก็มีเรี่ยวแรงสู้ปัญหา มีปัญญาดับทุกข์ได้
- – ๒ – ขั้นปัญญา: รู้เข้าใจ ใช้โพชฌงค์
- ปัญญาทำงานไป ใจมุ่งหน้า มั่นแน่ว
- ใจสมดุล งานสมบูรณ์
- – ๓ – ปฏิบัติการ: โพชฌงค์ ในชีวิตและกิจการ
- คนสู้ปัญหา พัฒนาได้แน่
- คนไทยมีคุณภาพแค่ไหน พิสูจน์ได้ด้วยโควิด-19
- คนทำให้งานสำเร็จ งานทำให้คนยิ่งพัฒนา
- ชาวพุทธไทยจะได้ตรวจสอบการปฏิบัติธรรมของตัว
- ได้บทเรียน เพื่ออนาคต
- บันทึกประกอบ
ได้บทเรียน เพื่ออนาคต
ข้อที่ ๓ มองอนาคตสืบจากปัจจุบัน ให้ได้บทเรียน คือมองปัจจุบันเป็นบทเรียนสำหรับอนาคต หมายความว่า ภัยอันตรายสิ่งเลวร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ แสดงให้เห็นเหตุปัจจัยในด้านต่างๆ คือเมื่อเรามองสภาพปัจจุบัน เราก็จะมองเห็นความเป็นไปของเหตุปัจจัยทั้งหลาย แล้วเราก็ประมวลสภาพความเป็นไปและเหตุปัจจัยเหล่านั้นไว้เป็นบทเรียนต่อไปในอนาคต อันจะทำให้เรามองเห็นทางแก้ปัญหา และเห็นแนวทางการพัฒนาว่าเราควรจะพัฒนาอย่างไรให้เป็นการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะป้องกันปัญหาเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นได้ต่อไป
การประมวลบทเรียนนี้ เป็นประโยชน์มาก สำหรับการเตรียมการเพื่ออนาคต
ในแง่ของบทเรียนเพื่ออนาคตนี้ ก็อยากจะพูดกว้างๆ สักหน่อย ในเวลายาวนานที่ผ่านมา บทเรียนของโลก บทเรียนของอารยธรรมนี้ เราก็ได้เป็นบทใหญ่ๆ ขึ้นมาเป็นครั้งเป็นคราว อย่าง ๕๐ กว่าปีก่อนนี้ เมื่อ ค.ศ. 1960s ปลายๆ ก็ได้เริ่มเกิดสภาพเลวร้ายที่เรียกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงขึ้นมาในประเทศที่เรียกว่าพัฒนาแล้ว ทำให้คนเกิดมีสำนึกในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม
แล้วจากนั้น ไม่นานมานี้ ก็ทำให้มนุษย์ถึงกับเปลี่ยนแนวความคิดใหญ่ที่เป็นกระแสหลักของโลกเลยทีเดียว ที่ว่านี้ก็คือ ย้อนหลังไป ๒ – ๓ พันปีมาแล้ว กระแสความคิดของอารยธรรมมนุษย์ในตะวันตกนั้น ถือว่าการพัฒนาความเจริญต่างๆ เกิดขึ้นได้ด้วยการเอาชนะธรรมชาติ มนุษย์ต้องพิชิตธรรมชาติ
แต่แล้ว ๕๐ กว่าปีก่อนนี้ เมื่อเริ่มเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นมาแล้ว ก็ทำให้คนเปลี่ยนแนวคิดจากการพิชิตธรรมชาติ หันมาคิดเป็นมิตรกับธรรมชาติ เวลานี้จะเห็นว่า ในประเทศที่เรียกว่าพัฒนาแล้วทั้งหลาย คนชอบพูดบอกกันว่า ต้องเป็นมิตรกับธรรมชาติ จะทำอะไรๆ ก็ให้ทำอย่างเป็นมิตรกับธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม จนกระทั่งเวลาผ่านมาเกินกว่า ๕๐ ปีแล้ว เดี๋ยวนี้เราก็ยังแก้ปัญหานั้นไม่ได้ ที่จริงก็คือไปได้ไม่ถึงไหนเลย
การเป็นมิตรกับธรรมชาตินี้ กลายเป็นความคิดกระแสหลักขึ้นมาแล้ว แต่ปรากฏว่า ในการที่จะเป็นมิตรกับธรรมชาตินั้น คนกลับมาเป็นศัตรูกันเอง
คนคิดจะเป็นมิตรกับธรรมชาติ แต่คนกลับมาเป็นศัตรูกันเองอย่างไร คือคนนั้นมาขัดแย้งกันเอง ที่เป็นปัญหาใหญ่คือขัดกันในเรื่องผลประโยชน์ มนุษย์พวกที่ไม่ยอมเป็นมิตรกับธรรมชาตินั้นถือว่า เขาจำเป็นต้องพิชิตธรรมชาติ เขาต้องเอาชนะธรรมชาติ ต้องรุกรานทำลายธรรมชาติ เพราะเขาต้องทำเพื่อเศรษฐกิจ
เพราะฉะนั้น ปัญหาเศรษฐกิจก็ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งเรายังประสบกันอยู่ เป็นเรื่องหลักจนกระทั่งทุกวันนี้ และเป็นปัญหาที่จะยืดเยื้อยืนยาวต่อไป
ปัญหาใหญ่ๆ ในปัจจุบัน จะเป็นปัญหาโควิด หรือปัญหาฝุ่นควันพิษที่เรียกว่า PM 2.5 ก็ตาม อะไรพวกนี้ มองตื้นๆ ก็ได้บ้าง ต้องมองลึกลงไปบ้าง เป็นเรื่องความสัมพันธ์ของคนกับธรรมชาติ แล้วธรรมชาติอันนี้ก็มาอยู่ที่ตัวมนุษย์เองนั่นแหละ
มนุษย์เรานี้ ด้านหนึ่งก็อยู่กับสังคม ดังที่เรียกว่าเป็นสัตว์สังคม อีกด้านหนึ่งก็มีชีวิตที่เป็นธรรมชาติ เรียกว่าเป็นสัตว์โลก
ว่าโดยพื้นฐาน มนุษย์เป็นชีวิต เมื่อยังมีชีวิต จึงเป็นมนุษย์ ชีวิตเป็นตัวแท้ของมนุษย์ ตัวแท้ตัวจริงของมนุษย์จึงเป็นธรรมชาติ นี่คือความหมายแท้ที่ว่า มนุษย์โดยพื้นฐานเป็นธรรมชาติ
ส่วนอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นอีกขั้นหนึ่ง ก็คือ บนฐานของชีวิต ที่เป็นสัตว์โลกนั้น ก็มีบุคคลเกิดขึ้นมา บุคคลนี้เป็นสัตว์สังคม
อารยธรรมในอดีตยาวนานที่ผ่านมา ที่มนุษย์เป็นศัตรูกับธรรมชาติ มุ่งหน้ารุกรานทำลายธรรมชาตินั้น เป็นอารยธรรมที่มีเป้าหมายมุ่งจะบำรุงบำเรอมนุษย์ในด้านตัวบุคคล ที่เป็นสัตว์สังคม
เมื่อมนุษย์มุ่งหมายมองอยู่แค่นี้ ก็เลยกลายเป็นว่า เขามองข้ามความสัมพันธ์พื้นฐานกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นเนื้อตัวของชีวิตที่เป็นตัวแท้ตัวจริงของเขาเอง นี่คือเขามองข้ามไป เขาคำนึงไม่ค่อยถึงความเป็นมนุษย์ในด้านของชีวิตที่เป็นธรรมชาติ
แท้จริงนั้น ไม่ว่ามนุษย์ที่เป็นตัวบุคคลจะทำอะไร ก็มีความเป็นเหตุปัจจัยโยงลงไปถึงธรรมชาติ เริ่มจากชีวิตของเขาเองโยงสัมพันธ์กับธรรมชาติทั้งหมด ที่ภาษาชาวบ้านว่าดินน้ำลมไฟ มนุษย์จะทำอะไร จึงต้องมองให้ลึกลงไปถึงธรรมชาติ ไม่ใช่มองอยู่แค่ตัวบุคคลที่เป็นสัตว์สังคม
มนุษย์ด้านบุคคลกินเอร็ดอร่อย ด้านชีวิตอึดอัด สุดท้ายคนเป็นโรคอ้วน อารยธรรมปัจจุบัน วัดกันด้วยสภาพชีวิต (สภาพตัวบุคคล?) และสังคม ของประเทศที่เรียกว่าพัฒนาแล้ว แต่มาบัดนี้ปรากฏว่า ประเทศที่พัฒนาลิ่ว เต็มไปด้วยคนเป็นโรคอ้วน นี่เป็นสัญญาณเตือนคนให้ระวังความแปลกแยกกับชีวิตของตน
มนุษย์ควรมีสตินึกได้ ไม่ปล่อยตัวให้มีชีวิตที่พึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไป จนกลายเป็นขึ้นต่อเทคโนโลยีถึงขั้นที่ว่าพอเจอสถานการณ์ที่ขาดหายใช้เทคโนโลยีไม่ได้ ชีวิตก็ติดขัดจนแทบเป็นอยู่ไม่ได้ มีความสุขไม่ได้ ไม่สามารถเป็นอยู่ด้วยการดำรงชีพพื้นฐาน ที่เป็นอยู่กับธรรมชาติ หรือไม่ก็อยู่ไม่ได้เพราะธรรมชาติได้ถูกทำลายไปมากมายเสียแล้ว
สังคมที่ดีจึงควรมีระบบชีวิตที่มีการดำรงชีพพื้นฐาน ซึ่งคนมีชีวิตที่ถึงกันกับธรรมชาติ และอยู่ดีไปด้วยกันกับธรรมชาติ เป็นฐานประกันไว้ก่อนชั้นหนึ่ง จะได้ไม่ต้องอยู่ใต้บังคับของระบบเศรษฐกิจของสังคม และไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไป ถ้ามองในแง่เศรษฐกิจ นี่ก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียง ที่พึ่งตนได้
ในยามที่เกิดมีภัยพิบัติร้ายแรง เช่นสงคราม หรืออย่างวิกฤติโควิด-19 นี้ ถ้าสังคมมีอันเป็นไปถึงกับซวนเซ จะพึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ไม่ได้ ชาวบ้านต้องพูดได้ว่า เอ้อ… ลำบากหน่อย แต่ไม่เป็นไร ดินน้ำลมไฟยังดีอยู่ พวกเรารู้เข้าใจอาชีวะที่จะให้อยู่ได้ด้วยการดำรงชีพพื้นฐาน
เมื่อใดชาวบ้านหมั่นเพียรสามัคคี ทำถิ่นไทยให้เป็นรมณีย์ ที่ต้นไม้งาม มีน้ำดี เป็นที่น่าอยู่ น่าดู น่าเดิน เมื่อนั้นธรรมชาติเป็นที่สบายแก่คน สังคมไทยก็จะมั่นคง มีการพัฒนาที่ยั่งยืนได้
ในขั้นเปลือกนอก บุคคลครอบครองใช้เทคโนโลยี ชีวิตที่เป็นแกนในของเขา ต้องเข้าถึงกันดีกับธรรมชาติด้วย
คนต้องทันเทคโนโลยี พร้อมทั้งถึงกันกับธรรมชาติ ต้องพัฒนาตัวเอง ให้สามารถทำและใช้เทคโนโลยีมิให้ทำลายธรรมชาติ แต่เอาแค่ควบคุมได้ และคุ้มครอง เกื้อหนุนธรรมชาติ
มนุษย์ที่ห่างเหินธรรมชาติ ก็คือแปลกแยกกับชีวิตของตัวเขาเองที่เป็นธรรมชาติด้วย เวลานานผ่านไป แม้แต่หลักการต่างๆ ทางสังคมของเขา ก็มีความหมายที่แปลกแยก เพี้ยนไปจากความจริงของชีวิตและธรรมชาติ ดังเช่นเสรีภาพ แทนที่จะหมายถึง การที่ทำได้ตามที่รู้ความจริงรู้เหตุผลความถูกต้อง ก็กลายเป็นว่า เสรีภาพ คือการทำอะไรได้ตามที่รู้สึกชอบใจไม่ชอบใจ ใจอยากก็ทำไป คือทำได้ตามความรู้สึกและความคิดเห็นที่เป็นไปตามความรู้สึกนั้น หาได้โยงและอ้างอิงไปถึงความรู้เข้าใจความจริงและความถูกต้องตามเหตุผลไม่
ตอนนี้ ถึงเวลาที่มนุษย์จะต้องมาบูรณาการการพัฒนาของโลก ให้การพัฒนาเพื่อสังคม หรือเพื่อบุคคลที่เป็นสัตว์สังคมนี้ กลมกลืนเข้ากับการพัฒนาเพื่อความมีชีวิตทั้งกายใจที่ดีงามมีความเกษมสุขด้วย อันนี้เป็นเรื่องยากที่สุด ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับมนุษย์ยุคปัจจุบันว่า อารยธรรมมนุษย์จะไปไหวหรือไม่
ถึงเวลาบัดนี้ เราพูดได้เลยว่า ยังไม่มีความสำเร็จ แม้แต่จะก้าวให้คืบหน้า ก็ยังไปได้ไม่ถึงไหนเลย
ฉะนั้น อันนี้คือปัญหาที่ท้าทายมนุษย์ทั้งโลก เป็นปัญหาที่ท้าทายอารยธรรมของมนุษยชาติ และมันก็ท้าทายมนุษย์แต่ละคนนี้ด้วย
เพราะฉะนั้น ในที่สุด ปัญหาโควิด-19 ก็มาจบลงที่ปัญหาระยะยาว คือการที่มนุษย์จะต้องหาทางพัฒนาอารยธรรมของมนุษยชาตินี้ เพื่อความดีงามความเกษมสุขของชีวิต ที่บูรณาการกับพัฒนาการที่เป็นความเจริญก้าวหน้าของสังคมมนุษย์นั้น ให้เป็นสันติสุขที่ยั่งยืนสืบไป
No Comments
Comments are closed.