๑ ความหมาย ขอบเขต และความเป็นมาของศิลปศาสตร์

15 สิงหาคม 2532
เป็นตอนที่ 2 จาก 10 ตอนของ

ศิลปศาสตร์ในสายวัฒนธรรมตะวันออก

ความจริง คำว่าศิลปศาสตร์ที่เป็นภาษาไทยมาแต่เดิมก็มี ถ้าเราไม่เอาศิลปศาสตร์ไปผูกมัดกับคำจากตะวันตก คือไม่เอาไปพูดในฐานะเป็นศัพท์บัญญัติที่แปลจาก Liberal Arts ก็จะเห็นว่า ที่จริงแล้วทางตะวันออกก็มีศิลปศาสตร์เหมือนกัน ในสมัยโบราณเราพูดถึงวิชาการต่างๆ ที่ได้ศึกษากันมา เช่น ในคัมภีร์อย่างราชนีติ และโลกนิติ เป็นต้น ก็มีการกล่าวถึงศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ แสดงว่าคำว่า “ศิลปศาสตร์” นี้ มีในรากฐานของวัฒนธรรมสายตะวันออกด้วย

ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการนี้ ที่จริงไม่ได้เรียกศิลปศาสตร์ ตัวศัพท์แท้ๆ เรียกแค่ศิลปะเท่านั้น คือเรียกว่า สิปฺป ในภาษาบาลี และ ศิลฺป ในภาษาสันสกฤต ศิลปะนั้นเป็นวิชาการอยู่ในตัวของมันเอง คือเรียกวิชาการทั้งหมดว่าเป็นศิลปะ ซึ่งก็แปลกที่ไปตรงกับภาษาอังกฤษ ที่ว่าในสมัยโบราณนั้นฝรั่งก็เรียกวิชาการต่างๆ ที่ศึกษาว่า Arts เท่านั้น เพิ่งจะมีคำว่า Sciences ขึ้นมาในตอนหลังนี้เอง แต่ก่อนโน้นวิชาการที่เรียนกันเป็น Arts ทั้งนั้น จึงมาตรงกับฝ่ายตะวันออกที่เรียกวิชาการที่ศึกษาว่า “ศิลปะ” เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น คำว่า สิปฺป หรือ ศิลฺป ในความหมายเดิมจึงไม่ใช่เป็นศิลปะอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน ที่เป็นวิชาการเกี่ยวกับความงาม แต่เป็นเรื่องของวิชาที่ศึกษาเล่าเรียนทั้งหลายทั้งหมด

เป็นอันว่าทางตะวันออกในสมัยโบราณเรียกวิชาที่ศึกษาเล่าเรียนกันว่า สิปฺป หรือ ศิลฺป มีศิลปะที่นิยมเรียนกันทั้งหมดเรียกว่า ศิลปะ ๑๘ ประการ แม้แต่พระพุทธองค์ของเราก็มีประวัติว่า ก่อนที่จะได้ออกบรรพชาก็ได้ทรงเล่าเรียนจบศิลปะ ๑๘ ประการ ซึ่งเรามาเรียกกันว่าศิลปศาสตร์

ทำไมศิลปะจึงกลายมาเป็นศิลปศาสตร์ คำว่า ศาสตร์ ที่ต่อท้ายศิลปะนั้น แปลว่า ตำรา ถ้าเป็นบาลีก็เป็น สิปฺปสตฺถ คำว่า ศาสตร์ ตรงกับคำในภาษาบาลีว่า สตฺถ ซึ่งแปลว่า ตำรา สิปฺป แปลว่า วิชาการที่ศึกษาเล่าเรียน สตฺถ แปลว่า ตำรา เพราะฉะนั้น สิปฺปสตฺถ ก็แปลว่าตำราที่บรรจุวิชาการต่างๆ แต่ไปๆ มาๆ คำว่า สตฺถ หรือตำรา มีความหมายแปรไป กลายเป็นตัวความรู้ไปเสียเอง ผลที่สุดคำว่าศาสตร์ก็ได้ความหมายเป็นวิชาความรู้เหมือนกัน

เมื่อชักจะยุ่งนุงนังและสับสน ตอนหลังก็มีการบัญญัติหรือทำความเข้าใจกันใหม่ ทำให้คำว่า “ศิลปศาสตร์” หรือ “สิปฺปสตฺถ” มีความหมายเป็น ๒ อย่าง คือ

๑. คำว่าศิลปศาสตร์ หรือ สิปฺปสตฺถ ในความหมายที่สืบจากเดิม คือ เป็นตำราว่าด้วยวิชาความรู้ที่จะศึกษาเล่าเรียนซึ่งมี ๑๘ ประการ ในแนวทางของวัฒนธรรมตะวันออก โดยเฉพาะสายอินเดีย

๒. คำว่า ศิลปศาสตร์แยกออกเป็น ๒ ศัพท์ คือ ศิลปะ และ ศาสตร์ ใกล้กับความหมายของคำว่า Arts and Sciences อย่างที่นิยมจัดประเภทวิชาการกันในสายตะวันตกยุคปัจจุบัน

ในสมัยหลังๆ ที่มีการแยกศิลปศาสตร์ ออกเป็นศิลป กับ ศาสตร์ นี้ ก็ได้มีการกำหนดความหมายแยกให้ต่างจากกันด้วย เช่น มีการจำกัดความ “ศิลป” ว่าเป็นวิชาการที่มุ่งต่อความงาม หรือเป็นวิชาการที่เกี่ยวกับการใช้หรือแสดงฝีมือ ส่วน “ศาสตร์” หมายถึง วิชาการที่มุ่งต่อความจริง

สำหรับศิลปะ ๑๘ ประการ หรือ ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ ในสายวัฒนธรรมตะวันออกนั้น เท่าที่พบในตำราเก่าๆ เขียนไว้ลักลั่น สับกันบ้าง เพี้ยนกันไปบ้าง แต่ก็มีหลายอย่างที่ตรงกัน และมีบางอย่างที่คงจะคลาดเคลื่อนไปเพราะกาลเวลาล่วงไปยาวนาน จะยกเอามากล่าวไว้สักชุดหนึ่งเป็นตัวอย่าง ได้แก่วิชานิติศาสตร์ โบราณคดี แพทย์ ตำนานหรือประวัติศาสตร์ ดาราศาสตร์ ไวยากรณ์ วาทศิลป์ การประพันธ์ นาฏศิลป์ คำนวณ การบริหารร่างกาย ความรู้เกี่ยวกับกฎธรรมเนียมต่างๆ วิชาช่างเครื่องยนต์ การยิงธนู ตำรับพิชัยสงคราม มนต์ (วิชาความรู้การอันทำให้เกิดมงคล) และความรู้ทั่วไป ที่กล่าวนี้เป็นคำแปลจากภาษาบาลี-สันสกฤต

เพื่อเป็นความรู้ประกอบ สำหรับประดับปัญญาบารมี จะขอนำชื่อวิชาศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ ที่เป็นภาษาบาลี-สันสกฤต มาแสดงไว้สักชุดหนึ่ง คือ

๑. สูติ ความรู้ทั่วไป

๒. สัมมติ ความรู้กฎธรรมเนียมต่างๆ

๓. สังขยา การคำนวณ

๔. โยคยันตร์ การช่างยนต์

๕. นีติ นีติศาสตร์

๖. วิเสสิกา ความรู้การอันทำให้เกิดมงคล

๗. คันธัพพา วิชานาฏศิลป

๘. คณิกา วิชาบริหารร่างกาย

๙. ธนุพเพธา วิชายิงธนู

๑๐. ปุราณา โบราณคดี

๑๑. ติกิจฉา วิชาแพทย์

๑๒. อิติหาสา ตำนานหรือประวัติศาสตร์

๑๓. โชติ ดาราศาสตร์

๑๔. มายา วิชาพิชัยสงคราม

๑๕. ฉันทสา การประพันธ์

๑๖. เกตุ วาทศิลป์

๑๗. มันตา วิชามนต์

๑๘. สัททา ไวยากรณ์

ศิลปศาสตร์ แบบตะวันออก หรือแบบตะวันตก

มีข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ ในสมัยโบราณนี้ หรือถ้าจะเรียกตามคำเดิมแท้ๆ ว่า ศิลปะ ๑๘ ประการนี้ ถ้าเทียบกับการจัดแบ่งประเภทวิชาการแผนปัจจุบันแล้ว จะเห็นว่า แม้ว่าหลายอย่างเข้าเกณฑ์ที่จะเรียกว่าเป็นวิชาศิลปศาสตร์ อย่างที่จัดกันว่าเป็นวิชาพื้นฐาน แต่อีกหลายอย่างเป็นจำพวกวิชาชีพและวิชาเฉพาะ กล่าวได้ว่า คำว่าศิลปศาสตร์ หรือที่เดิมเรียกว่าศิลปะนั้น ในวัฒนธรรมสายอินเดียแต่เดิมมาเป็นคำเรียกวิชาการที่นิยมนับถือกันว่า สูงหรือสำคัญโดยทั่วไป การแยกประเภทคงจะไม่เหมือนกับในวัฒนธรรมตะวันตก และในแง่ที่เกี่ยวกับการแบ่งชนชั้นของคน สังคมตะวันตกกับสังคมตะวันออกในสมัยนั้น ก็ไม่เหมือนกันในขณะที่สังคมกรีกแบ่งคนเป็นพวกเสรีชน กับคนชั้นข้าทาส แต่สังคมอินเดียแบ่งเป็น ๔ วรรณะ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร การแบ่งชนชั้นที่ต่างกัน ย่อมมีผลต่อความแตกต่างทางการศึกษาด้วย

ข้อสังเกตนี้เป็นเครื่องเสริมย้ำความที่ว่า เรื่องศิลปศาสตร์ที่เราจะพูดกันในที่นี้ จะต้องว่าไปตามความหมายของศิลปศาสตร์ ในฐานะเป็นศัพท์ที่บัญญัติสำหรับ Liberal Arts ตามคติแห่งการจัดแบ่งประเภทวิชาการแบบตะวันตก ที่เรานำมาใช้ในปัจจุบัน การนำเรื่องศิลปศาสตร์แบบตะวันออก อย่างสมัยโบราณมาพูดไว้ในที่นี้ ถือได้ว่าเป็นเพียงการบรรยายประดับความรู้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ก็ขอให้สังเกตไว้พร้อมกันด้วยว่า การที่กล่าวอย่างนี้มิได้หมายความว่า ในสายวัฒนธรรมตะวันออก จะไม่มีการศึกษาวิชาการชนิดที่เป็นพื้นฐาน แท้จริงแล้ว การศึกษาพื้นฐานเช่นนั้น เป็นสิ่งที่เน้นย้ำมากในวัฒนธรรมสายตะวันออก โดยเฉพาะในคติแห่งพระพุทธศาสนา แต่ความแตกต่างทางวัฒนธรรมย่อมหมายถึงความแตกต่างแห่งการจัดระบบความคิด และบัญญัติทางภาษาด้วย สาระแห่งศิลปศาสตร์อย่างสมัยใหม่ที่พูดกันในที่นี้ อาจปรากฏในชื่ออื่นในระบบความคิดของตะวันออก

เพราะฉะนั้น แม้ว่าต่อไปนี้จะพูดถึงเรื่อง ศิลปศาสตร์ตามบัญญัติอย่างตะวันตก หรืออย่างสมัยใหม่ แต่สาระทางความคิด ก็ใช้ได้สำหรับการศึกษาวิชาการอย่างตะวันออกด้วยเช่นกัน หรืออาจจะเป็นไปในทางกลับกันด้วยซ้ำ คือ เป็นการกล่าวถึงสาระแห่งการศึกษาตามแนวคิดแบบตะวันออก ในโฉมหน้าหรือภายในรูปแบบของการจัดประเภทอย่างตะวันตก

อย่างไรก็ตาม สาระตามแนวคิดแบบตะวันออกที่ว่านั้น ก็มิใช่จะผิดแผกแตกต่างเป็นคนละเรื่องออกไปเลย เพราะเบื้องหลังโฉมหน้าและรูปแบบที่แตกต่างนั้น ก็มีสาระอย่างเดียวกันอันเป็นสากล คือ ความเป็นการศึกษาของมนุษย์ หรือการศึกษาเพื่อประโยชน์สุขของชีวิตและสังคม และจะต้องตั้งอยู่บนรากฐานอันเดียวกัน กล่าวคือ สัจจธรรม ดังจะได้กล่าวข้างหน้าต่อไป

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (กล่าวนำ)๒ การศึกษาศิลปศาสตร์ >>

หน้า: 1 2

No Comments

Comments are closed.