๑. การผูกสีมา ตามพระวินัย

11 มกราคม 2543
เป็นตอนที่ 5 จาก 8 ตอนของ

จะเป็นสีมาได้ ก็ต้องมีลูกนิมิต

ถาม: สีมาเป็นอย่างนี้ แล้วลูกนิมิตมาอย่างไร?

พระธรรมปิฎก: การกำหนดเขตคือสีมานั้นก็ต้องมีเครื่องหมาย คนอื่นเขาจะได้รู้ด้วย และผู้ที่อยู่ภายในเขตเองก็จะได้ไม่ลืม จะได้ใช้เป็นที่กำหนดว่าเราอยู่ในเขตหรือไม่ และก็รู้ว่าเขตของเราแค่ไหน

พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตวัตถุ ๘ ชนิดให้ใช้เป็นเครื่องหมายกำหนดเขตที่เรียกว่า สีมา สีมาก็คือเขต

วัตถุ ๘ ชนิดอย่างใดอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องหมายเขตได้ คือ ภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ และน้ำ ถ้าใช้วัตถุที่ไม่มั่นคงทนทาน พัทธสีมาที่ผูกคือกำหนดกันไว้ ก็ไม่มั่นคงยั่งยืน มาถึงปัจจุบันจึงนิยมกันลงตัว เอาศิลาขนาดที่เป็นหลักเป็นฐาน

คำว่าเครื่องหมายในภาษาบาลีเรียกว่า นิมิต เพราะฉะนั้น วัตถุ ๘ อย่างที่ใช้กำหนดจึงเรียกว่า “นิมิต” หมายความว่าเป็นเครื่องหมาย เครื่องหมายของอะไร ก็คือเครื่องหมายของสีมา หรือเขตนั่นเอง เพราะฉะนั้น บางครั้งจึงเรียกเต็มๆ ว่า “สีมานิมิต” (เครื่องหมายของสีมา หรือเครื่องหมายเขต)

ได้บอกแล้วว่า ปัจจุบันนิมิตนั้นนิยมใช้ก้อนหิน หรือศิลา และตั้งใจแต่งให้เรียบร้อยงดงามเป็นลูกกลมๆ ก็เลยเรียกว่า “ลูกนิมิต”

ถาม: เห็นข้างโบสถ์มีใบเสมาด้วย เป็นอะไรกันกับลูกนิมิตหรือเปล่า?

พระธรรมปิฎก: อันนี้เป็นของแถม วินัยไม่ได้กำหนดไว้ คือ เมื่อมีลูกนิมิตแล้ว แต่ลูกนิมิตนั้นฝังอยู่ในดิน มองไม่เห็น ต่อมาก็เลยนิยมทำแผ่นหิน แผ่นอิฐ หรือแผ่นไม้ ไว้เหนือหลุม หรือเรียงไว้บนกำแพงตรงเหนือหลุมที่ฝังลูกนิมิตไว้นั้น แล้วเรียกกันว่า “ใบเสมา” หรือ “ใบสีมา” เป็นที่สังเกตว่าลูกนิมิตอยู่ตรงนั้น

แท้จริงนั้น ถ้าใบสีมาเป็นศิลาที่ใหญ่พอ และปักติดลงไปในดิน ก็ใช้ใบสีมานั้นเป็นนิมิตได้เลย ไม่ต้องมีลูกนิมิตต่างหาก แต่ปัจจุบันนี้นิยมกันให้มีทั้งลูกนิมิตและใบสีมา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ฝังลูกนิมิต-ผูกสีมา วัดญาณเวศกวัน๒. งานผูกสีมา ตามวัฒนธรรมไทย >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8

No Comments

Comments are closed.