๒. งานผูกสีมา ตามวัฒนธรรมไทย

11 มกราคม 2543
เป็นตอนที่ 6 จาก 8 ตอนของ

๒. งานผูกสีมา
ตามวัฒนธรรมไทย

การผูกสีมา พัฒนาเป็นงานบุญของคนไทย

ถาม: สุดท้าย อยากจะทราบขั้นตอน และรูปแบบตามประเพณี หรือวัฒนธรรมที่ทำกันมาในเรื่องการผูกสีมานี้ หรือว่าจะทำตามรูปแบบที่เป็นพุทธบัญญัติ ว่าจะต้องทำขั้นตอนอย่างไร ต้องใช้เวลาเท่าไร

พระธรรมปิฎก: อย่างที่กล่าวแล้วว่า การผูกสีมาเป็นเรื่องในส่วนของพุทธบัญญัติ กับในส่วนของวัฒนธรรมประเพณี ส่วนที่เป็นแกนแน่นอนที่จะต้องมี คือส่วนของพุทธบัญญัติ แต่ส่วนของวัฒนธรรมประเพณีนั้นก็แล้วแต่เราจะเอาแค่ไหน และเลือกปรับเปลี่ยนไปตามสมควร

ได้พูดไปแล้วในส่วนของแกนคือตัวพุทธบัญญัติ ทีนี้ก็พูดในแง่วัฒนธรรมประเพณีบ้าง เริ่มต้นก็คือว่า เรื่องของพระพุทธศาสนาเราถือว่าเป็นเรื่องของพุทธบริษัท ๔ ไม่ว่าอะไร แม้จะเป็นเรื่องของพระสงฆ์ เราก็จะให้ญาติโยมคฤหัสถ์ได้มีส่วนร่วม ซึ่งโดยมากก็จะเป็นการร่วมในแง่ที่มาสนับสนุนส่งเสริมอุปถัมภ์ เริ่มตั้งแต่องค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงอุปถัมภ์ด้วยการถวายวิสุงคามสีมาอย่างนี้ ญาติโยมก็มาร่วม แล้วแต่ว่ามีส่วนไหนที่จะเปิดโอกาสให้ญาติโยมได้ร่วมก็เปิดโอกาสให้เข้ามา โดยวิธีนี้ก็จึงเกิดประเพณีงอกขึ้นมาในงานผูกสีมา แทนที่จะเป็นเพียงสังฆกรรม ก็กลายเป็นงานพิธี มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นมา

การร่วมของชาวบ้านในเมืองไทยก็คือเรื่องที่เราเรียกว่าการทำบุญ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ ดังนั้นประเพณีการทำบุญที่เนื่องด้วยการผูกสีมาก็เข้ามา นอกจากเลี้ยงพระเป็นต้นแล้ว ตามปรกติ ชาวบ้านจะเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือทุกอย่างที่จะให้พระทำกิจของท่านได้สะดวก นี่เป็นแกนสำคัญ แต่ไม่ใช่แค่นั้น ชาวบ้านยังเห็นว่าการได้มามีส่วนร่วมทำอะไรในเรื่องนี้เป็นบุญเป็นกุศลทั้งนั้น และสิ่งที่ทำในงานนี้ก็เป็นของศักดิ์สิทธิ์ไปหมด

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๑. การผูกสีมา ตามพระวินัยคาถาเสริมบุญในการปิดทอง >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8

No Comments

Comments are closed.