๒. งานผูกสีมา ตามวัฒนธรรมไทย

11 มกราคม 2543
เป็นตอนที่ 6 จาก 8 ตอนของ

สีมานิมิตไปฝังอยู่ในใจ กลายเป็นกรรมนิมิตอย่างดี

นอกจากนี้ยังมีประโยชน์สำคัญในทางบุญกุศล ที่มีผลต่อจิตใจมาก คือในแง่ที่เรียกว่า “บุญญาภิสังขาร” แปลว่า บุญเครื่องปรุงแต่งจิตให้เกิดกรรมดี

คนเรานี้ เวลาอยู่ว่างๆ ไม่ได้ทำอะไร ก็จะคิดโน่นคิดนี่ จับเอาอารมณ์ที่ผ่านไปแล้วมาปรุงแต่งหรือคิดต่อ โดยเฉพาะอะไรที่เด่นๆ หรือเรื่องกระทบกระทั่งคั่งค้างอยู่ ใจก็จะแวบไปหา แล้วก็คิดวกวน ครุ่นกังวล หรือเครียดอยู่กับอารมณ์นั้น หรือไม่ก็ฟุ้งซ่านไป ทั้งหมดนี้ไม่ดีเลย

แต่ถ้าอารมณ์เด่นที่โผล่เข้ามาในจิตหรือจิตไปจับเอามานั้นเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องบุญกุศล ก็จะปรุงแต่งไปในทางตรงข้าม กลายเป็นว่าจะทำให้เกิดความเอิบอิ่ม ผ่องใส ใจร่าเริงยินดี มีปีติปราโมทย์

ที่ว่ามานี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ปุถุชน เพราะปุถุชนนั้นอยู่ในขั้นของการปรุงแต่ง ถ้าเป็นปุถุชนที่ดีและเก่ง ก็สามารถปรุงแต่งในทางดี ถ้าเป็นปุถุชนที่อ่อนแอยังไม่พัฒนา ก็ปรุงแต่งเรื่องร้ายๆ ที่เป็นบาปอกุศล ทำจิตใจให้เครียดขุ่นมัวเศร้าหมอง หาทุกข์ใส่ตัว เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น เพราะฉะนั้น ถ้ายังไปเหนือการปรุงแต่งไม่ได้ ก็ต้องฝึกตัวให้เก่งปรุงแต่งในทางดี

โดยเฉพาะที่สำคัญมาก คือ เวลาจะตายนี่นะ จิตจะเคว้งคว้างมากที่สุด มันหวาดกลัวบ้าง หรือถ้าไม่หวาดกลัวก็อาจจะฟุ้งซ่าน เพราะตอนนี้อยู่กับความไม่รู้ว่าเราจะไปอย่างไร โลกนี้ก็อยู่ไม่ได้ โลกหน้าจะไปอย่างไรก็ไม่รู้ ก็เคว้งคว้างฟุ้งซ่าน ในขณะนี้จิตก็จะไปยึดอารมณ์ต่างๆ ซึ่งไม่แน่ว่าจะดีหรือร้าย ตอนนี้ อันไหนเด่นขึ้นมามันก็ยึดอันนั้น ธรรมดาเรื่องของคนนั้นมากมายเหลือเกิน ทั้งที่อยู่ในความจำและคิดนึกไป ทีนี้ บางทีไปจับเอาอารมณ์ไม่ดีเข้า ก็จะเสียตอนนั้นแหละ เขาถึงได้เอาญาติพี่น้องมาให้สติ อย่างที่เรียกว่า “บอกอรหัง” เพื่อให้จิตมีที่ยึดที่ดี อยู่กับคุณพระรัตนตรัยและบุญกุศล

เวลาทำบุญอะไรใหญ่ๆ อย่างคนทั่วไปที่นิยมทางด้านวัตถุ ก็อาจทำให้มีจุดกำหนดที่เด่น เช่นไปสร้างโบสถ์ไว้ สร้างพระพุทธรูปไว้ ไปปิดทองลูกนิมิตแล้วมีความประทับใจไว้ ภาพพวกนี้จะปรากฏเด่นขึ้นมา เวลาอยู่ว่างๆ หรือจิตกำลังฟุ้งซ่าน เคว้งคว้าง จิตจะเกาะ เมื่อภาพการทำบุญพวกนี้เด่นขึ้นมา จิตก็จับอยู่กับบุญ สบายไป ถ้าเป็นเวลาใกล้ตายก็เลยได้ลูกนิมิตมาเป็นกรรมนิมิต

กรรมนิมิตนี่แหละ เป็นตัวสำคัญที่บอกถึงกรรมที่จะนำจิตไปสู่คติข้างหน้า

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๑. การผูกสีมา ตามพระวินัยคาถาเสริมบุญในการปิดทอง >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8

No Comments

Comments are closed.