๒. งานผูกสีมา ตามวัฒนธรรมไทย

11 มกราคม 2543
เป็นตอนที่ 6 จาก 8 ตอนของ

ปิดทองลูกนิมิตอย่างไร ให้ได้บุญจริงๆ

อย่างปิดทองลูกนิมิตนี่ จะเอาไหม ในเมื่อมันไม่ใช่ตัววินัย หรือพุทธบัญญัติ ซึ่งมีแค่ว่ามีลูกนิมิตที่ทางพระใช้กำหนดเอา ก็จบเรื่อง แต่จะปิดทองไหม นี่เป็นประเพณี ถ้าเราตกลงให้มีการปิดทองก็เป็นการอนุรักษ์ประเพณี แต่จะปิดทองเพื่อหาเงิน หรือจะเพียงให้ชาวบ้านได้บุญ แค่นั้นพอไหม สมมุติว่าเราไม่มุ่งหาเงิน แต่แค่ชาวบ้านบอกว่าได้บุญจากปิดทอง พอไหม? หรือว่าเราควรจะให้อะไรที่เป็นความหมายเป็นสาระยิ่งกว่านั้น อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องคิด นี่อาตมาว่าเป็นจุดบรรจบ หรือจุดแยกที่สำคัญ

ถ้าพูดสั้นๆ ก็คือ ถ้าเรายอมให้มีการปิดทองลูกนิมิต ก็คือเราไม่หักหาญตัวประเพณี แต่เราร่วมอนุรักษ์ประเพณีด้วย แต่พร้อมกันนั้น เราก็ควรใช้ประเพณีเป็นโอกาสที่จะช่วยให้ประชาชนได้ประโยชน์ที่เป็นแก่นสารจากพระพุทธศาสนาด้วย รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน เราจะจัดอะไรให้ได้สาระในงานบุญ

ส่วนร่วมของคฤหัสถ์จะมีอีกตอนหนึ่ง คือตัวพิธี หรือตอนสังฆกรรมในการผูก

จะขอเล่าให้ฟังถึงกิจกรรมที่วัดทั้งหลายนิยมทำกัน นอกจากโฆษณากันเต็มที่ และมีมหรสพใหญ่ๆ แล้ว ก็มุ่งหาเงินด้วยวิธีต่างๆ เช่นบางวัดก็ตั้งลูกนิมิตไว้รอบโบสถ์เป็นจุดๆ เสร็จแล้วก็จัดที่นั่งให้พระประจำอยู่ที่ลูกนิมิตแต่ละลูก พร้อมทั้งมีขันน้ำมนต์ไว้ประจำ พอมีใครมาปิดทอง ก็พรมน้ำมนต์ให้ ทำอยู่อย่างนี้ ชาวบ้านก็อยากจะได้บุญปิดทองด้วย พรมน้ำมนต์ด้วย การปฏิบัติในรูปนี้ ทำกันมาก ทีนี้เราจะเอาอย่างไร ก็ไม่จำเป็นต้องรีบคิด

อาตมาเคยคิดไว้บ้าง เช่นว่า เมื่อเราไม่มุ่งหาเงินแล้ว ถ้าเราอนุวัตรยอมตามประเพณีว่าให้มีการปิดทอง ก็เป็นการให้โอกาสชาวบ้านได้มีส่วนร่วม ซึ่งเป็นโอกาสที่เขาจะได้ทำอะไรบ้าง ไม่ใช่มาเฉยๆ และไม่ได้ทำประโยชน์อะไร อย่างน้อยก็ได้มีส่วนร่วมคือปิดทอง

ถ้ามองในความหมายนี้ก็คือการที่ชาวบ้านได้รู้สึกตัวว่าได้มีส่วนร่วมในพระพุทธศาสนาของเขา ในการที่ได้มาปิดทองลูกนิมิตที่ทำให้เป็นสีมาของวัดนี้ ทำให้วัดนี้มีพัทธสีมาได้ และมีส่วนร่วมทำให้เกิดโบสถ์หลังนี้ ที่พระสงฆ์จะได้ทำสังฆกรรมกัน

อะไรที่จะให้เกิดจิตสำนึก หรือเกิดความรู้สึกอย่างนี้ เราก็พุ่งเป้าหมายไปที่นั่น คือให้เกิดความรู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมในการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นบุญอย่างแท้ที่สำคัญ แทนที่จะไปเน้นอยู่แค่ว่าฉันปิดทองแล้วได้บุญแบบเลื่อนลอย แล้วจะได้ขึ้นสวรรค์ และไปติดความงมงายอยากจะให้พรมน้ำมนต์โดยไม่ได้ความรู้อะไร มาแล้วก็ได้แต่ความหลงกลับไป

นอกจากความรู้สึกมีส่วนร่วมแล้ว ก็อาจจะให้เขาได้คติธรรม ยกตัวอย่างวัดเจ้าคุณพยอม ท่านไม่สร้างโรงอุโบสถ เมื่อท่านผูกสีมา ฝังลูกนิมิต ท่านก็จัดรายการอภิปรายธรรมทุกวันๆ นี่เป็นการยกตัวอย่าง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๑. การผูกสีมา ตามพระวินัยคาถาเสริมบุญในการปิดทอง >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8

No Comments

Comments are closed.