๑. การผูกสีมา ตามพระวินัย

11 มกราคม 2543
เป็นตอนที่ 5 จาก 8 ตอนของ

จะผูกสีมา สงฆ์ต้องมาประชุมตกลงกัน

เมื่อกะเขตไว้แล้ว และได้วัตถุที่เป็นนิมิตแล้ว สงฆ์ก็มาประชุมกัน การประชุมกันนี้ก็เป็นสังฆกรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งตกลงกันว่า เอานะ นี่เขตสีมา ซึ่งมีนิมิต เช่นก้อนหินเป็นเครื่องกำหนด ก้อนนี้ๆๆ สำหรับทิศนี้ๆๆ นิยมให้มี ๘ ทิศ เขตก็จะเป็นไปตามลูกนิมิต เมื่อวางลูกนิมิตไว้แล้ว พอดึงเส้นลากโยงจากลูกหนึ่งไปลูกหนึ่งๆๆ แล้วรูปร่างเขตก็เกิดขึ้นมา ปัจจุบันนิยมว่ามี ๘ ลูก นี้เป็นความนิยมนะ ไม่ได้หมายความว่าเป็นความจำเป็น

ขอแถมแทรกตรงนี้ขึ้นมานิดหนึ่งว่า ได้เกิดประเพณีปฏิบัติในเชิงวัฒนธรรมขึ้นมา ให้เพิ่มนิมิตอีกลูกหนึ่งเป็นลูกที่ ๙ อยู่ตรงกลาง เลยเรียกเป็นลูกประธาน ลูกตรงกลางอันที่จริงไม่ได้เป็นเขตอะไร แต่ก็พลอยเรียกเป็นลูกนิมิตไปด้วย ก็ถือว่าเป็นลูกแถมตามประเพณีก็แล้วกัน ส่วนของจริงก็คือลูกที่อยู่ข้างๆ ที่ชักเส้นถึงกันเป็นกำหนดเขต ซึ่งนิยมมีทั้งหมด ๘ ลูก

จากนั้นสงฆ์ก็มาประชุมกันแล้วก็ตกลงกำหนดว่า นี่นะ ที่เราใช้ก้อนหินหรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นนิมิตนี่ ในทิศนั้นใช้อันนี้เป็นนิมิต ทิศนั้นใช้อันนี้เป็นนิมิต ตกลงกันแล้วก็สวดประกาศว่า เอาแล้วนะ สงฆ์คือที่ประชุมได้สมมติ คือมีมติร่วมกันกำหนดสีมาคือเขตชุมนุมสงฆ์ไว้ การประชุมสงฆ์ทำการนี้ เป็นสังฆกรรมที่เรียกว่า สมมติสีมา (ภาษาบาลีเรียกว่า “สีมาสมฺมติ”)

ที่ว่าสมมติสีมา ก็คือทำให้เป็นเขตที่มีขึ้นด้วยการสมมติ หมายความว่ามีขึ้นโดยมติร่วมกัน ไม่ใช่เป็นของธรรมชาติ คำว่าสมมติแปลว่ามติร่วมกัน การทำให้เป็นเขตที่เกิดจากมติร่วมกันนี้เรียกว่า การสมมติสีมา ซึ่งเป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่ง

สังฆกรรมนี้เป็นจุดสำคัญ เพราะว่าเมื่อทำสังฆกรรมนี้แล้ว ที่ในบริเวณนั้นก็เรียกว่าเป็น พัทธสีมา แปลว่า สีมาที่ผูกแล้ว คือเป็นเขตที่สงฆ์ได้กำหนดขึ้นแล้ว เมื่อยังไม่ผูกก็ยังไม่เป็นพัทธสีมา แต่สำนวนไทยเราพูดว่าผูกพัทธสีมา

ที่จริงเราผูกสีมานี้ให้เป็น “พัทธสีมา” คือ ให้เป็นเขตที่สงฆ์ได้ตกลงกันผูกคือกำหนดไว้แล้ว นี่คือสาระสำคัญ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ฝังลูกนิมิต-ผูกสีมา วัดญาณเวศกวัน๒. งานผูกสีมา ตามวัฒนธรรมไทย >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8

No Comments

Comments are closed.