๑. การผูกสีมา ตามพระวินัย

11 มกราคม 2543
เป็นตอนที่ 5 จาก 8 ตอนของ

สีมาที่ไม่ต้องผูก ก็มี

มีความรู้เพิ่มเติมอีกว่า ความจริงสีมานี้ไม่จำเป็นต้องผูกก็ได้ แต่วันนี้เราพูดถึงเฉพาะสีมาที่ผูกซึ่งเรียกว่าพัทธสีมา แต่ที่จริงสงฆ์ไม่จำเป็นต้องผูกสีมาก็ได้ คือถือตามกำหนดเขตที่มีอยู่แล้ว หมายความว่า บ้านเมืองเขามีกำหนดเขตเป็นตำบล อำเภอ จังหวัด เป็นต้นอยู่แล้ว สงฆ์คือพระส่วนรวมก็ถือสีมาคือเขตตามนั้น ถ้าถือตามนั้นก็เป็นอันว่าไม่ต้องมาประชุมสมมติขึ้น คือไม่ต้องสมมติสีมา

อย่างไรก็ตาม ถ้าถือตามกำหนดของบ้านเมืองเป็นต้นก็อาจจะลำบาก เช่นว่าเมื่อถือตามตำบล เมื่อเขตตำบลมีแค่ไหน พระที่อยู่ในตำบลนั้นถึงคราวมีเรื่องส่วนรวมต้องมาประชุมร่วมกันหมด ขาดองค์เดียวไม่ได้ และถ้าพระองค์ไหนที่อยู่นอกเขตผ่านเข้ามาในเขตตำบลนั้น ก็ต้องมาเข้าที่ประชุม แล้วใครจะไปตามไหว ถ้าปฏิบัติไม่ได้ตามนี้ก็กลายเป็นว่าสังฆกรรมนั้นเป็นโมฆะ เพราะฉะนั้นการผูกสีมาจึงสะดวกกว่า

สีมาชนิดที่ว่าพระสงฆ์ไม่ได้มาประชุมตกลงกันกำหนดขึ้น แต่ถือตามเขตบ้านเมือง หรือถ้าอยู่ในป่าในทะเลที่เป็นของธรรมชาติ ก็เอาระยะหรือเนื้อที่เป็นกำหนด (เช่นในป่า ให้วัดจากศูนย์กลางออกไปโดยรอบด้านละ ๗ อัพภันดร คือด้านละประมาณ ๙๘ เมตร) อย่างนี้ ก็เป็นสีมาอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า อพัทธสีมา

เป็นอันว่ามี สีมา คือเขตที่ผู้อยู่ภายในต้องมาร่วมทำสังฆกรรม ๒ ประเภท คือ

๑. พัทธสีมา เขตที่สงฆ์ได้ตกลงกันกำหนดขึ้น

๒. อพัทธสีมา เขตที่สงฆ์ไม่ได้กำหนด แต่ถือตามบ้านเมืองเป็นต้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ฝังลูกนิมิต-ผูกสีมา วัดญาณเวศกวัน๒. งานผูกสีมา ตามวัฒนธรรมไทย >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8

No Comments

Comments are closed.