๑. การผูกสีมา ตามพระวินัย

11 มกราคม 2543
เป็นตอนที่ 5 จาก 8 ตอนของ

สีมากำหนดตัวผู้ต้องเข้าร่วมสังฆกรรม

ขอแถมอีกหน่อยเรื่องวิวัฒนาการทางฝ่ายสงฆ์เอง เดิมนั้นหลักการหรือสาระสำคัญในเรื่องนี้ก็อย่างที่พูดแล้วว่า พระที่อยู่ในสีมาคือเขตเดียวกัน เมื่อมีเรื่องราวก็ต้องมาร่วมกันพิจารณา ต่อมาภายหลัง ท่านคงจะไม่สะดวกแล้วก็อาจจะเอาความสะดวกเข้าว่า คือที่จริงเครื่องกำหนดความสามัคคี หรือความพร้อมเพรียงพร้อมกันก็ควรจะทั้งวัด หมายความว่าจะต้องผูกเขตกำหนดกันทั้งวัด แต่ต่อมาท่านกำหนดเอาเฉพาะสถานที่ประชุมกันจริงๆ อย่างที่เราทำกัน

ปัจจุบันนี้กำหนดเอาเฉพาะตรงที่มาประชุมกัน ก็เลยกลายเป็นว่าพระในวัดที่อยู่นอกโบสถ์ก็อยู่นอกสีมาที่กำหนด คือข้างนอกลูกนิมิตที่กำหนด เวลามีประชุมก็ไม่ต้องเข้าร่วมประชุมก็ได้ กลายเป็นเอาสะดวกเข้าว่า เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนี้ พระในวัดที่ไม่ได้มาในโบสถ์ ถึงไม่มาก็ไม่เป็นไร

ตามหลักนั้น เมื่ออยู่ในสีมา ถ้ามาประชุมไม่ได้ เช่นป่วย ก็ต้องมอบฉันทะ1 เป็นที่มาของระเบียบการประชุมสภาเป็นต้นที่เอาคำศัพท์ของท่านมาใช้ ซึ่งมาจากเรื่องการประชุมของพระนี่แหละ หากไม่ได้ดำเนินการตามพุทธบัญญัติ สังฆกรรมก็เป็นโมฆะ

เป็นอันว่า ตามประเพณีที่เป็นวิวัฒนาการยุคหลัง นิยมผูกสีมาเฉพาะตัวสถานที่ที่จะใช้เป็นที่ประชุม คือที่ตัวอาคารอุโบสถ หรือตัวโบสถ์

ถาม: แต่พระที่อยู่ในสีมาที่จะต้องมาประชุม หมายถึงพระในวัดนั้นใช่ไหม

พระธรรมปิฎก: ตามกำหนด อย่างน้อยพระที่อยู่ในเขตต้องมาประชุม แต่พระที่อื่นจะมาร่วมประชุมในบางเรื่องก็ได้

ถาม: ในเขตนี้หมายถึงเขตไหน

พระธรรมปิฎก: ก็เขตที่เรากำหนด ซึ่งมีลูกนิมิตเป็นที่กำหนด

ถาม: ก็มีแต่พระในโบสถ์ซิ

พระธรรมปิฎก: ใช่ เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าเอาสะดวก จึงได้เป็นอย่างนี้ คือกลายเป็นว่าเราจะเอาใครมาประชุมก็ไปนิมนต์ ที่จริงไม่ต้องนิมนต์เพราะเป็นเรื่องของกิจการงานในความรับผิดชอบ เป็นหน้าที่เลย โดยหลักการนั้นคือหน้าที่รับผิดชอบ เมื่อมีเรื่องส่วนรวมต้องมาประชุม คือทั้งสองฝ่าย

๑. สมาชิกแต่ละบุคคลมีหน้าที่รับผิดชอบต้องมาประชุม ถ้าไม่มาก็มีความผิด

๒. ที่ประชุม ถ้าไม่รอให้ครบ การประชุมของตัวเองก็ไม่มีผล เป็นโมฆะ

ทั้งสองฝ่ายอาศัยซึ่งกันและกัน นี้คือหลักความรับผิดชอบ แล้วก็เป็นเรื่องของการปกครองหรือบริหารร่วมกัน อันนี้คือสาระสำคัญ

เป็นอันว่า ปัจจุบันนี้เอาสะดวกเข้าว่า จึงเหลือแต่เพียงว่ามีสีมาแค่สถานที่ประชุม ตามที่เรามีลูกนิมิต เช่นบวชพระ เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าผู้ที่จะบวชไปเลือกนิมนต์พระมา แทนที่จะเป็นเรื่องของที่ประชุมซึ่งพระทุกองค์ต้องรับผิดชอบ เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นต้องมาประชุมเอง มันกลับกันเสีย อันนี้เป็นความรู้ประกอบ

นี่เป็นข้อคิดที่ชาวพุทธจะต้องรู้ไว้ เพื่อว่าต่อไปอาจจะมีทางฟื้นฟู อย่างน้อยต้องพยายามรักษาสาระไว้ มิฉะนั้นจะเหลือแต่รูปแบบและเพี้ยนกันไปเรื่อย

เอาเป็นว่า ปัจจุบันนี้ผูกสีมาเฉพาะเขตที่กำหนดเป็นที่ประชุม เมื่อใครเข้ามาในสีมาแล้วถ้าเป็นพระภิกษุต้องเข้าที่ประชุม ถ้าไม่เข้าก็ทำให้สังฆกรรมเสีย และระหว่างที่มีสังฆกรรมอยู่จะมีภิกษุอื่นเข้ามาในเขตไม่ได้ ถ้ามีก็ต้องเข้าที่ประชุมหมด ทีนี้ระหว่างที่ทำสังฆกรรมถ้าเกิดมีพระอื่นเข้ามาในเขต ก็จะทำให้สังฆกรรมเสียได้ ในบางวัดก็เลยต้องคอยระวังเพราะมีสีมาใหญ่ ต้องมีคนคอยดูว่ามีพระอื่นมาไหม

เดี๋ยวนี้ก็ยังมีบางวัดที่ผูกสีมาทั้งวัด ในเมืองไทยนี้ดูเหมือนจะมีอยู่ ๒ วัด คือ วัดราชบพิธ กับวัดราชประดิษฐ์ ถ้าผูกสีมาไว้ทั้งวัดจะมีชื่อต่อท้ายว่า “สถิตมหาสีมาราม” คือ ผูกสีมาทั้งวัดเลย เพราะฉะนั้นอย่างวัดที่ว่านี้ เวลามีสังฆกรรม พระทั้งวัดต้องเข้าที่ประชุมทั้งหมด และต้องมีโยมไปเฝ้าประตูวัด

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ฝังลูกนิมิต-ผูกสีมา วัดญาณเวศกวัน๒. งานผูกสีมา ตามวัฒนธรรมไทย >>

เชิงอรรถ

  1. ถ้าเป็นการสวดปาติโมกข์ พระที่อาพาธมอบปาริสุทธิ์ คือ แจ้งความบริสุทธิ์ของตนให้เพื่อนภิกษุไปบอกแจ้งแก่ที่ประชุมสงฆ์

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8

No Comments

Comments are closed.