๑. การผูกสีมา ตามพระวินัย

11 มกราคม 2543
เป็นตอนที่ 5 จาก 8 ตอนของ

โบสถ์อยู่ในสีมา

ถาม: ของเรานี่คงเฉพาะที่โบสถ์

พระธรรมปิฎก: ก็ได้แค่นั้นแหละ เพราะเป็นเรื่องของวิสุงคามสีมาที่เป็นประเพณีของบ้านเมืองลงตัวไปแล้ว อยากจะแทรกนิดหนึ่งก่อน คือว่าพระพุทธเจ้ากำหนดเรื่องเขตทำสังฆกรรม เขตสามัคคีของสงฆ์ที่ผู้อยู่ในเขตต้องมาร่วมประชุม เขตนี้ไม่จำเป็นต้องมีอาคารก็ได้เพราะมันเป็นเขต แต่พระองค์ก็ทรงมีพุทธานุญาตให้มีตัวอาคารสำหรับเป็นที่ประชุมได้ เรียกว่า โรงอุโบสถ

อุโบสถก็เกิดขึ้นจากจุดนี้ คือจากพุทธบัญญัติที่ว่า เมื่อมีการประชุมขึ้นในสีมานี้ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สร้างตัวอาคารขึ้นมาสำหรับเป็นที่ประชุมได้เรียกว่า อุโปสถัคคะ หรือ อุโปสถาคาร

อุโบสถที่จริงไม่ใช่ชื่อสถานที่ แต่เราเรียกสั้นๆ แบบไทย ชื่อเต็มว่า อุโปสถัคคะ หรืออุโปสถาคาร ไทยเราขี้เกียจเรียกยาวอย่างนั้นก็เรียกแค่ อุโบสถ แถมอุโบสถก็ยังยาวไป เลยตัดให้เหลือ โบสถ์ อีก สั้นเข้าไปทุกที แต่เรียกง่ายขึ้น

เป็นธรรมดาว่า ถ้าจะมีโบสถ์ ก็ต้องสร้างโบสถ์ไว้ภายในสีมา หรือเท่ากับสีมา

ถาม: มีคำว่าพระอุโบสถ กับอุโบสถ ถ้าเป็นพระอุโบสถนี้เป็นอย่างไร

พระธรรมปิฎก: อ๋อ นี่เป็นเรื่องของเมืองไทย ที่มีวัดหลวง กับวัดราษฎร์ เท่านั้นเอง ของวัดหลวงก็เรียก “พระอุโบสถ”

ทำไมอาคารที่ประชุมจึงเรียกว่า โรงอุโบสถ เพราะว่า สังฆกรรม คืองานส่วนรวมที่ต้องทำประจำอยู่เสมอก็คืออุโบสถ อุโบสถ ก็คือการที่พระไปประชุมกันทุกวันกลางเดือน และวันสิ้นเดือน ที่เรียกว่า วันพระกลางเดือน และวันพระสิ้นเดือน เพื่อจะสวดปาติโมกข์ซักซ้อมวินัย อุโบสถนี้ต้องทำเป็นประจำ ส่วนสังฆกรรมอื่นก็แล้วแต่ฤดูกาลบ้าง แล้วแต่เรื่องจะเกิดขึ้นบ้าง อุโบสถที่ต้องทำเป็นประจำนี้ ก็เลยเป็นที่มาของชื่ออาคารนี้ คือเป็นอาคารสำหรับทำอุโบสถ อาคารอุโบสถก็เกิดขึ้นมาอย่างนี้

เป็นอันว่าเรื่องสีมากับเรื่องโบสถ์นั้นสัมพันธ์กัน ทีนี้ก็ตอบหมดข้อความเมื่อกี้แล้ว

ถาม: การผูกสีมา ต้องผูกด้วยอะไรหรือเปล่า

พระธรรมปิฎก: คำว่า “ผูก”นี่เป็นเพียงสำนวนภาษา “ผูก” ในที่นี้หมายความว่าที่ประชุมตกลงกำหนดเขตโดยหมายรู้ร่วมกันว่า ทิศนี้มีวัตถุนี้เป็นเครื่องหมาย ทิศนั้นมีวัตถุนั้นเป็นเครื่องหมาย การทำอย่างนี้ คือตกลงพูดกันบอกกันในที่ประชุมสงฆ์แล้วประกาศอย่างนี้ ท่านเรียกว่า “ผูกสีมา” เป็นเพียงสำนวน

ถาม: มีกฎมีเกณฑ์อะไรหรือเปล่า

พระธรรมปิฎก: อ๋อ ก็ต้องประชุมสงฆ์ก่อน

ถาม: แล้วมีเกณฑ์ที่กำหนดว่าจะต้องกว้างยาวเท่าไรหรือไม่

พระธรรมปิฎก: อ๋อ ก็ต้องมีกำหนดเขต ตามวินัยวางไว้ว่าสีมาจะต้องจุพระไม่น้อยกว่า ๒๑ รูป เพราะมีสังฆกรรมบางอย่างที่ต้องใช้พระ ๒๐ แล้วก็มีตัวบุคคลที่รับสังฆกรรมนั้นอีก ๑ รวมเป็น ๒๑ นี่อย่างต่ำ แล้วก็ใหญ่ไม่เกิน ๓ โยชน์ นี่คือกำหนดเขต

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ฝังลูกนิมิต-ผูกสีมา วัดญาณเวศกวัน๒. งานผูกสีมา ตามวัฒนธรรมไทย >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8

No Comments

Comments are closed.