๑. การผูกสีมา ตามพระวินัย

11 มกราคม 2543
เป็นตอนที่ 5 จาก 8 ตอนของ

การมีสีมา ทำให้วัดมีฐานะเต็มบริบูรณ์

อ้อ ขอเพิ่มอีกนิดหนึ่ง ในแง่กฎหมายบ้านเมือง ในฐานะเป็นรัฐที่อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา มีพระพุทธศาสนาเป็นหลักเป็นศาสนาประจำชาติ บ้านเมืองก็เข้ามาเกี่ยวข้อง

นอกจากมีประเพณีพระราชทานวิสุงคามสีมา ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญแก่สีมา ที่เป็นเขตของสงฆ์ โดยทางราชการบ้านเมืองให้เกียรติไม่เข้าไปยุ่ง อย่างเรื่องสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่พูดไปแล้ว ยังมีข้อที่ควรทราบอีกอย่างหนึ่ง คือ กฎหมายปัจจุบัน ได้กำหนดสถานะวัดไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๑) ว่า วัดมี ๒ อย่าง คือ

(๑) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา

(๒) สำนักสงฆ์

จึงกลายเป็นว่า เรื่องพระราชทานวิสุงคามสีมานี้ได้มีความหมายโยงไปถึงประเภทวัดด้วย คือ เมื่อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว จึงจะเป็นวัดที่มีฐานะเต็มบริบูรณ์แท้จริง

ถ้ายังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา อย่างวัดเราก่อนหน้านี้ ก็เป็นสำนักสงฆ์ แม้จะได้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย โดยมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็ยังเป็นสำนักสงฆ์

ส่วนสำนักสงฆ์ที่เรียกกันทั่วไปนั้น เป็นสำนักสงฆ์เถื่อน คือเรียกกันไปเอง แต่โดยทางการจะมีฐานะเป็นสำนักสงฆ์ได้ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นวัดประเภทสอง ทีนี้ พอได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ก็กลายเป็นวัดประเภทหนึ่ง

เกี่ยวกับเรื่องโบราณราชประเพณี ยังมีเรื่องควรทราบต่อไปอีก เช่นการแบ่งวัด เป็นวัดราษฎร์ กับวัดหลวง ซึ่งทางการเรียกว่า พระอารามหลวง กับ วัดราษฎร์

พระอารามหลวงก็แบ่งไปอีก เป็นชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี ชั้นสามัญ

แต่อันนี้เป็นส่วนของความรู้เกี่ยวกับเรื่องวัด ถ้าจะให้สมบูรณ์จึงต้องพูด ๒ เรื่องคู่กัน คือความรู้เรื่องวัด กับเรื่องสีมา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ฝังลูกนิมิต-ผูกสีมา วัดญาณเวศกวัน๒. งานผูกสีมา ตามวัฒนธรรมไทย >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8

No Comments

Comments are closed.