๒. ปรับการปฏิบัติให้ดำเนินตามไตรสิกขา

5 พฤษภาคม 2539
เป็นตอนที่ 12 จาก 16 ตอนของ

๒. ปรับการปฏิบัติให้ดำเนินตามไตรสิกขา

ที่ว่ามานี้เป็นการพูดขยายกว้างออกไปจากเรื่องสมาธิ ที่รู้กันดีว่าเป็นองค์ธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา มีประโยชน์มากมาย

แต่ฐานะของสมาธิในพระพุทธศาสนานั้นชัดเจน คือสมาธินั้นอยู่ในกระบวนการของไตรสิกขา หรืออยู่ในระบบสัมพันธ์ของการปฏิบัติธรรมที่เรียกว่า ไตรสิกขา ซึ่งเป็นกระบวนการปฏิบัติที่องค์ธรรมทุกข้อต้องสัมพันธ์ส่งผลต่อกันในการเคลื่อนเดินหน้าไปสู่จุดหมาย ถ้ายังไม่ถึงจุดหมายแล้วหยุดไม่ได้ องค์ธรรมทุกข้อต้องส่งผลอย่างที่ว่านั้น จะเป็นองค์ธรรมด้วนๆ ลอยๆ ปฏิบัติไปโดยมีผลเฉพาะตัวไม่ได้

ผู้ปฏิบัติจะต้องมองเห็นว่าธรรมะข้อนี้ส่งผลไปสู่ธรรมะข้อไหนอย่างไร ถ้าตีข้อนี้ไม่ออก ก็แสดงว่ายังไม่เข้าใจธรรมะนั้นชัด

จุดนี้สำคัญ เพราะเป็นหลักการของไตรสิกขาที่บอกว่า องค์ธรรมทุกข้อ เป็นหน่วยหนึ่งในกระบวนการปฏิบัติที่สัมพันธ์กัน ต้องส่งผลหนุนเนื่องกันไปสู่จุดหมาย

จุดนี้เป็นเรื่องที่มักจะพลาด เวลามองความหมายของธรรมะ เรามักจะมองแต่ละข้อ พอมองแต่ละข้อแล้ว ก็หยุดอยู่แค่นั้น ไม่ไปสัมพันธ์กับข้ออื่น ถ้ามองไม่สัมพันธ์กับข้ออื่นแล้ว ก็หยุดอยู่แค่นั้น และแม้แต่ความหมายของธรรมข้อนั้นเองก็ไม่ชัด

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๑. ปรับอินทรีย์ให้สมดุลสันโดษ >>

No Comments

Comments are closed.