๓ สาระและจุดหมายของศิลปศาสตร์

15 สิงหาคม 2532
เป็นตอนที่ 10 จาก 10 ตอนของ


สาระและจุดหมายของศิลปศาสตร์

รากฐานร่วมของศิลปศาสตร์

เป็นอันว่า ในที่นี้ ขอพูดไว้ ๖ แง่ด้วยกัน ในเรื่องที่ว่าเรามองการศึกษาศิลปศาสตร์อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่คิดว่าสำคัญๆ ทั้งนั้น ทั้งนี้ก็เพื่อเน้นให้เห็นว่าวิชาศิลปศาสตร์นั้นมีความสำคัญอย่างไร ถ้ามีการศึกษากันอย่างถูกต้องแล้ว ศิลปศาสตร์ที่เป็นวิชาพื้นฐานนี้จะเป็นวิชาซึ่งทำหน้าที่สำคัญอย่างที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า ในแง่จุดหมายปลายทาง เป็นวิชาที่สร้างบัณฑิต และอย่างน้อยในระหว่างกระบวนการของการศึกษา ก็เป็นวิชาที่สร้างนักศึกษา

วิชาศิลปศาสตร์ทั้งหมด แม้จะมีหลายอย่าง ดังที่โบราณว่ามี ๑๘ ประการ หรือนับตามที่จัดแบ่งกันในปัจจุบันก็เกือบจะถึง ๑๘ ประการ ถ้าแยกย่อยออกไปเป็นรายวิชาก็เกินกว่า ๑๘ ประการ อย่างที่คณะศิลปศาสตร์นี้แยกเป็น courses ต่างๆ สงสัยว่าจะถึงหรือจวนถึง ๔๐ – ๕๐ courses นับว่ามากมายด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ศิลปศาสตร์ที่มากมายเหล่านั้นก็ต้องโยงมาบรรจบกันได้ โยงกันที่ไหน จุดรวมอยู่ที่อะไร ตอบว่า มันโยงมาหาและบรรจบกันที่รากฐานของมัน รากฐานของศิลปศาสตร์ทั้งหมดคืออะไร ก็คือ สัจจธรรม

โดยนัยนี้ ศิลปศาสตร์ ถึงจะแตกแขนงเป็นวิชาการต่างๆ มากมายหลายประการก็ตาม แต่ในที่สุดมันก็มารวมลงที่รากฐานของมันเป็นอันเดียว คือ การมีสัจจธรรมเป็นรากฐาน และดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า สัจจธรรมเป็นสิ่งที่จะต้องรู้ด้วยปัญญา ดังนั้นหลักการทั้งหมดจึงมาบรรจบกัน ที่สิ่งซึ่งเป็นแก่นแท้ของการศึกษาศิลปศาสตร์ คือ การที่จะต้องพัฒนาปัญญาขึ้นมาให้รู้ศิลปศาสตร์จนถึงรากฐานคือสัจจธรรม

ความสำเร็จของศิลปศาสตร์ อยู่ที่สัจจะ จริยะ และศิลปะ

เราพูดถึงรากฐานของศิลปศาสตร์ ว่าได้แก่สัจจธรรม เมื่อเรารู้สัจจธรรม ก็คือรู้สิ่งที่เป็นแกนและเป็นรากฐานของศิลปศาสตร์ ดังนั้น เมื่อศึกษาศิลปศาสตร์แต่ละอย่าง จึงต้องศึกษาให้ถึงแก่น ให้ถึงเนื้อตัว ให้ถึงสาระของมัน คือ ให้ถึงสัจจธรรม เมื่อรู้สัจจธรรมแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร เมื่อเกิดปัญญารู้ในสัจจธรรมแล้ว นำความรู้นั้นมาใช้ ก็ปฏิบัติต่อชีวิต ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายรอบตัว ต่อธรรมชาติ ต่อสังคมโดยถูกต้อง ซึ่งเป็นไปตามหลักความจริงธรรมดาว่า คนจะปฏิบัติต่อสิ่งใดได้ถูกต้องก็จะต้องรู้จักสิ่งนั้น เมื่อเรารู้จักสิ่งนั้นแล้ว เรานำความรู้นั้นมาใช้ เราก็ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นถูกต้อง ปฏิบัติต่อโลกถูกต้อง ต่อชีวิตถูกต้อง ต่อประสบการณ์ต่างๆ ต่อสถานการณ์ต่างๆ ถูกต้อง

การนำความรู้ในสัจจธรรมมาใช้ ซึ่งทำให้ดำเนินชีวิตและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องนั้นเอง คือ สิ่งที่เรียกว่า จริยธรรม

อนึ่ง ในการที่ปฏิบัติอย่างนั้น การที่เรามีความถนัดจัดเจนคล่องแคล่วในการปฏิบัติ คือสิ่งที่เรียกว่า ศิลปะ ซึ่งแทรกอยู่ในศิลปศาสตร์ ความเป็นศิลปะในศิลปศาสตร์ ถ้าไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นก็ยากที่จะทำให้ศิลปศาสตร์นั้นเกิดผลที่ต้องการได้

ความเป็นศิลปะ ก็ดังได้บอกแล้วว่า ได้แก่ ความถนัดจัดเจนแคล่วคล่อง ในการปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลที่ต้องการ ดังนั้น คนที่มีศิลปะก็จึงสามารถที่จะนำเอาความรู้มาใช้ปฏิบัติให้เกิดผล ตรงข้ามกับคนบางคนซึ่งทั้งที่รู้แต่ไม่มีศิลปะ ทำแล้วก็ไม่เกิดผลที่ต้องการหรือไม่ได้ผลดี

ศิลปะนี้เป็นตัวแทรกสำคัญ สำหรับใช้คู่กันกับจริยธรรม จริยธรรมเป็นตัวการนำความรู้มาปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิตตามวัตถุประสงค์ ส่วนศิลปะก็คือความแคล่วคล่องชำนิชำนาญจัดเจนในการปฏิบัติ ที่จะให้การใช้ความรู้สำเร็จผลอย่างนั้น

แต่จะต้องย้ำไว้ด้วยว่า ศิลปะนั้นจะต้องให้มาคู่กันกับจริยธรรม หรือจะต้องให้มีจริยธรรมมาด้วยเสมอไป คือ จะต้องใช้ศิลปะโดยมีจริยธรรมกำกับ หรือให้ศิลปะเป็นเครื่องเสริมจริยธรรมนั่นเอง เพราะถ้าใช้ศิลปะโดยไม่มีจริยธรรม ความแคล่วคล่องจัดเจนในการปฏิบัติ ก็จะไม่เป็นไปเพื่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคม ตามความมุ่งหมายของวิชาการนั้นๆ หรือกิจกรรมนั้นๆ แต่อาจจะถูกใช้ให้บิดเบือนเบี่ยงเบนจากความมุ่งหมายแท้จริง ที่เป็นสัจจธรรมกลายเป็นการกระทำเพื่อสนองความเห็นแก่ตัว และเพื่อการทำลายในรูปต่างๆ ที่พูดสั้นๆ ว่า เพื่อสนองโลภะ โทสะ และโมหะ หรือตัณหา มานะ และทิฏฐิไปก็ได้

ด้วยเหตุนี้ ศิลปศาสตร์จะสำเร็จประโยชน์ตามความหมาย ตามเนื้อหาสาระ และตามความมุ่งหมายอย่างมีประสิทธิผล ก็ต่อเมื่อได้ศึกษาจนเข้าถึงสัจจธรรม แล้วปฏิบัติถูกต้องโดยเป็นไปตามจริยธรรม และลงมือจัดทำอย่างมีศิลปะ

ขอพูดถึงจริยธรรมอีกนิดว่า จริยธรรมเป็นแกนร้อยประสาน นำทางศิลปศาสตร์ทั้งหมดให้ดำเนินไปสู่จุดหมาย เพราะว่าจริยธรรมเป็นตัวทำการที่นำความรู้ในสัจจธรรมมาปฏิบัติให้เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคม การที่จะนำความรู้ในสัจจธรรมมาปฏิบัติ ให้เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมนั่นแหละ เป็นแกนร้อยประสานศิลปศาสตร์ทุกวิชาเข้าด้วยกัน

หมายความว่า ศิลปศาสตร์ทั้งหมดมีแกนร้อยอันเดียวกัน คือการปฏิบัติให้ถูกต้องในทางที่จะเกิดประโยชน์แก่ชีวิตและสังคม ซึ่งก็คือจริยธรรมนั่นเอง ด้วยเหตุนั้น จริยธรรมจึงเป็นตัวนำทิศทางของศิลปศาสตร์ทั้งหมด นี้คือความสำคัญของจริยธรรม ส่วนศิลปะก็แทรกอยู่ในนี้

ผู้บรรลุจุดหมายหรือผลผลิตสุดท้ายของศิลปศาสตร์

เมื่อรู้ความจริง ปฏิบัติได้ถูกต้องตามความรู้นั้น และมีความแคล่วคล่องจัดเจนในการปฏิบัติ ก็ได้ผลที่ต้องการ ศิลปศาสตร์ก็อำนวยคุณค่าที่แท้จริง คือ แก้ปัญหาของมนุษย์ และแก้ปัญหาของสังคมได้ ทำให้มนุษย์พัฒนาขึ้นมา พ้นปัญหา พ้นทุกข์ ประสบความสุข มีอิสรภาพ การที่มนุษย์เข้าถึงอิสรภาพนี้แหละ เป็นจุดหมายขั้นสุดท้าย ซึ่งเป็นจุดหมายที่แท้และสูงสุดที่ต้องการของชีวิต

สาระสำคัญ ๓ อย่างที่กล่าวมานี้คือ คุณสมบัติของบัณฑิต คนที่ศึกษาจบจริงๆ จะต้องมีคุณสมบัติ ๓ ประการนี้ คือ

๑. มีปัญญา รู้ถึงสัจจธรรม

๒. ใช้ความรู้นั้นดำเนินชีวิต โดยปฏิบัติตนและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ถูกต้อง เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมด้วยจริยธรรม โดยมีศิลปะ และ

๓. เข้าถึงจุดหมายของชีวิต คือแก้ปัญหาได้ พ้นทุกข์ พ้นปัญหา ประสบอิสรภาพ

คุณสมบัติ ๓ อย่างนี้ประกอบกันเข้าเป็นคุณสมบัติของมนุษย์ที่สมบูรณ์เป็นบัณฑิตที่แท้ บัณฑิตนี้เราเรียกอีกอย่างหนึ่งในขั้นที่สูงว่าเป็น “พุทธ” ในพระพุทธศาสนา คำว่า “บัณฑิต” นั้นบางครั้งเป็นศัพท์ใช้แทนกันได้กับคำว่า “พุทธ” ผู้ที่เป็นบัณฑิตที่แท้จริงก็เป็นพุทธด้วย คำว่าพุทธนั้น ไม่ใช่ใช้เฉพาะกับพระพุทธเจ้าเท่านั้น พุทธนั้นแบ่งเป็น ๓ ประเภทก็ได้ เป็น ๔ ประเภทก็ได้

๑. ผู้ที่ค้นพบสัจจธรรมได้ด้วยตนเอง ด้วยปัญญาของตนเอง ด้วยการพัฒนาตนเองอย่างยิ่ง จนเข้าถึงสัจจธรรมด้วยตนเอง และเมื่อค้นพบแล้วก็ประกาศสัจจธรรมนั้นแก่ผู้อื่นด้วย เราเรียกว่า “พระสัมมาสัมพุทธ”

๒. ผู้ที่ค้นพบด้วยตนเองแล้ว ไม่ได้ทำหน้าที่ในการที่จะเผยแพร่สั่งสอนแก่ผู้อื่น เราเรียกว่า “ปัจเจกพุทธ”

๓. ผู้ที่รู้ตามเมื่อเข้าใจคำสอนคำประกาศของพระสัมมาสัมพุทธแล้ว ก็เป็นพุทธเหมือนกัน เรียกว่า “สาวกพุทธ” หรือ “อนุพุทธ” คือผู้ตรัสรู้ตาม และ

๔. บางครั้งท่านเรียกแม้แต่คนที่ยังศึกษาอยู่ ยังไม่หมดกิเลส แต่มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธประกาศไว้เป็นอย่างดี ว่าเป็นพุทธประเภทหนึ่ง เรียกว่า “สุตพุทธ” จัดเป็นบัณฑิต แล้วก็จะพัฒนาไปเป็นพุทธที่แท้ในที่สุดได้ด้วย

นี่ก็เป็นความหมาย ที่มาบรรจบกันอีกครั้งหนึ่ง ของหัวข้อที่พูดไว้แต่เบื้องต้นจนถึงข้อสุดท้าย การเรียนการสอนศิลปศาสตร์ จะเป็นไปอย่างถูกต้องตามความหมายและความมุ่งหมายที่แท้จริงจนปรากฏคุณค่า และให้สำเร็จผล ตามวัตถุประสงค์ของความเป็นศิลปศาสตร์อย่างแท้จริง ก็ด้วยวิธีการศึกษา โดยมีความเข้าใจดังที่กล่าวมานั้น

ศิลปศาสตร์นำสู่รุ่งอรุณของการศึกษา

เมื่อเรียนและสอนอย่างถูกต้องแล้ว แม้จะเป็นการเรียนการสอนที่เรียกว่าขั้นพื้นฐานหรือเป็นชั้นเบื้องต้น แต่ที่จริงแล้วกลับมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จะว่าสำคัญที่สุดก็ได้ เพราะเป็นการศึกษาที่จะอำนวยผล มีอิทธิพลต่อการเรียนวิชาที่เรียกว่าชั้นสูงต่อไปโดยตลอด

ถ้าไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมไว้ดี ด้วยศิลปศาสตร์แล้ว เราจะไม่เป็นผู้พร้อมและไม่มีทัศนคติที่ถูกต้อง ในการที่จะไปศึกษาเล่าเรียนวิชาชีพ และวิชาเฉพาะต่างๆ เช่น มีแรงจูงใจที่ผิดในการศึกษา ไม่ศึกษาไปเพื่อพัฒนาชีวิต และเพื่อพัฒนาสังคม แต่ศึกษาไปสนองเพิ่มความเห็นแก่ตัว ศึกษาโดยขาดความใฝ่รู้ศึกษาโดยไม่รู้วิธีคิด ศึกษาโดยคิดไม่เป็น ศึกษาโดยเรียนไม่เป็น ศึกษาโดยไม่รู้จักค้นคว้าหาความแจ้งจริง กลายเป็นการศึกษาที่ผิดพลาดไป และไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ไม่นำไปสู่การที่จะรู้จักดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ตลอดจนนำความรู้วิชาชีพ และวิชาเฉพาะที่เป็นอุปกรณ์นั้น ไปใช้ในทางที่ผิดพลาด เป็นโทษแก่ชีวิตและสังคม

เพราะฉะนั้น ศิลปศาสตร์จึงมีความสำคัญในแง่ที่ทำให้เป็นผู้พร้อมที่จะเรียน ทำให้มีทัศนคติที่ถูกต้องในการเรียน และทำให้สามารถใช้วิชาที่เป็นอุปกรณ์เหล่านั้นอย่างถูกต้อง ถ้าไม่มีศิลปศาสตร์ที่ศึกษาอย่างถูกต้อง วิชาการอื่นๆ จำพวกวิชาชีพและวิชาเฉพาะที่เรียกว่าชั้นสูงนั้น ก็จะไม่เกิดผลเกิดคุณค่าอำนวยประโยชน์อย่างแท้จริง บางทีก็อาจจะเกิดโทษแก่ชีวิตและสังคมดังที่ได้กล่าวมา

ความพร้อมและท่าทีที่ถูกต้องในการศึกษาวิชาการต่างๆ โดยเฉพาะวิชาชีพและวิชาเฉพาะทั้งหลายนั้น เป็นสิ่งที่การศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ จะต้องทำให้เกิดขึ้น และเป็นเครื่องวัดผลการศึกษาวิชาศิลปศาสตร์เองด้วย ว่าได้ดำเนินไปอย่างถูกต้องหรือไม่

ความพร้อมและท่าทีที่ถูกต้องนั้น แม้จะได้กล่าวถึงไปแล้วบ้าง ก็เพียงเล็กน้อย ยังไม่เพียงพอ แต่ก็ไม่มีโอกาสจะแจกแจงอธิบายในที่นี้ได้ จึงจะแสดงไว้เพียงเป็นเรื่องแทรก และระบุไว้แต่เพียงหัวข้อ พอเป็นเชื้อสำหรับการวิเคราะห์และค้นคว้าต่อไป

ความพร้อมและท่าทีที่ถูกต้องในการศึกษานี้ เป็นหลักธรรมที่เรียกชื่อว่า รุ่งอรุณของการศึกษา แต่เพราะมิใช่จะเป็นความพร้อม และท่าทีที่ถูกต้องในการศึกษาเท่านั้น ยังเป็นความพร้อม และท่าทีที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิตและในการปฏิบัติต่อคน ต่อสัตว์ ต่อสิ่งทั้งหลายทั่วไปทั้งหมดด้วย จึงเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม แสดงไว้แต่เพียงหัวข้อ ๗ ประการ ดังนี้

๑. รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดี คือ การรู้จักเลือกสรรและใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ดี เฉพาะอย่างยิ่งรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่เป็นกัลยาณมิตร ซึ่งเอื้ออำนวยความรู้จริงและการสร้างสรรค์ความดีงาม

๒. มีชีวิตและอยู่ร่วมสังคมเป็นระเบียบด้วยวินัย คือ มีวินัยในการดำเนินชีวิต หรือรู้จักจัดระเบียบชีวิต เช่น รู้จักใช้เวลาแบ่งเวลา รักษาวินัยของชุมชนและสังคม และรู้จักจัดระเบียบความสัมพันธ์ในสังคมให้เรียบร้อยเกื้อกูล รวมทั้งความประพฤติดีงามสุจริต ไม่เบียดเบียนก่อเวรภัยแก่สังคม เรียกสั้นๆ ว่า มีศีล

๓. พร้อมด้วยแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ คือ มีแรงจูงใจที่ถูกต้อง ที่เรียกว่า ฉันทะ ได้แก่ การรักความจริง รักความดีงาม ที่แสดงออกเป็นแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์

๔. มุ่งมั่นพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ คือ มีความมั่นใจในศักยภาพของตนที่พัฒนาได้ หรือในฐานะเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และมีจิตสำนึกในการศึกษา มุ่งมั่นพัฒนาตนให้เต็มที่จนถึงความสมบูรณ์แห่งศักยภาพ

๕. ปรับทัศนคติและค่านิยมให้สมแนวเหตุผล คือ มีความเชื่อถือ แนวความคิดความเข้าใจ ทัศนคติ และค่านิยมที่ดีงามถูกต้อง สอดคล้องกับหลักความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือมีโลกทัศน์และชีวทัศน์ ที่เรียกว่า ทิฏฐิ ดีงามถูกต้องตามแนวทางของเหตุปัจจัย

๖. มีสติกระตือรือร้นตื่นตัวทุกเวลา คือ มีจิตสำนึกต่อกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ตื่นตัว และกระตือรือร้นในการเรียนรู้พัฒนาตน และเร่งรัดจัดทำการต่างๆ ไม่ปล่อยปละละเลย หรือเฉื่อยชา เรียกง่ายๆ ว่า ไม่ประมาท

๗. แก้ปัญหาและพึ่งพาตนได้ด้วยความรู้คิด คือ รู้จักคิด รู้จักพิจารณา รู้จักสำเหนียก รู้จักมองหาคุณค่าและเรียนรู้จากสิ่งต่างๆ หรือเหตุการณ์ สถานการณ์ และประสบการณ์ทุกอย่าง คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น รู้จักคิดวิเคราะห์สืบสาวเหตุปัจจัยให้เข้าถึงความจริง ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า โยนิโสมนสิการ

เป็นหน้าที่ของการศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ และก็เป็นหน้าที่ของการศึกษาวิชาพื้นฐานทั่วไป ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นเนื้อตัวแท้ๆ ของการศึกษา ที่จะต้องสร้างคุณสมบัติเหล่านี้ หรือรุ่งอรุณของการศึกษานี้ ให้มีขึ้นในผู้เรียน ซึ่งก็คือการสร้างความเป็น นักศึกษา นั่นเอง และคุณสมบัติที่เป็นรุ่งอรุณของการศึกษาเหล่านี้ทั้งหมด ก็มีจุดรวมอยู่ที่การพัฒนาปัญญา การพัฒนาปัญญาเป็นแกนกลางของการปลูกฝังคุณสมบัติเหล่านี้ทั้งหมด

ถ้าหันหลังย้อนไปดูความหมาย และความมุ่งหมายของ Liberal Arts หรือศิลปศาสตร์ ตามที่ปราชญ์กรีกสมัยโบราณได้แสดงไว้ จะเห็นว่า ถ้าตัดความคิดเกี่ยวกับการแบ่งชนชั้นของปราชญ์กรีกออกไปแล้ว แนวความคิดทั่วไปจะสอดคล้องกัน เข้ากันได้กับเนื้อหาสาระที่ได้กล่าวมาในที่นี้ คือ ศิลปศาสตร์เป็นวิชาที่ต้องใช้ความสามารถทางสติปัญญา เป็นเครื่องพัฒนาสติปัญญาและยกระดับจิตใจของผู้เรียน ทำให้เกิดความดีงามล้ำเลิศทางปัญญาและจริยธรรม

สำหรับความหมาย ในด้านที่เป็นการแบ่งแยกชนชั้น ดังที่ปราชญ์กรีกว่าศิลปศาสตร์เป็นวิชาการสำหรับเสรีชน ตรงข้ามกับวิชาประเภทแรงงานฝีมือ ซึ่งเป็นวิชาการสำหรับชนชั้นข้าทาสนั้น ก็อาจจะดัดแปลงเสียใหม่ โดยตัดความคิดเกี่ยวกับการแบ่งชนชั้นออกไปเสียทั้งหมด แล้วให้ความหมายที่เป็นไปตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งถือว่า อิสรภาพเป็นจุดหมายของชีวิต

เมื่อตกลงตามนี้แล้ว ก็จะได้ความหมายใหม่ที่สอดคล้องกับหลักธรรมว่า ทุกคนควรจะพัฒนาตนให้เข้าถึงอิสรภาพ ซึ่งพูดให้เข้ากับคำศัพท์ที่ใช้ในที่นี้ว่า ทุกคนควรพัฒนาตนให้เป็นเสรีชน

เสรีชน ในที่นี้ไม่ใช่เรื่องของการแบ่งชั้นวรรณะ แต่หมายถึงบุคคลทุกคนที่ได้พัฒนาปัญญา จนบรรลุจุดหมายสูงสุดเข้าถึงอิสรภาพแล้ว ซึ่งเรียกว่าเป็น บัณฑิต ในความหมายว่าเป็นผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา หรือในขั้นสูงสุด เรียกว่าเป็น พุทธ ในความหมายว่า เป็นผู้เข้าถึงปัญญาอันสูงสุดเต็มบริบูรณ์แห่งการพัฒนาศักยภาพ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน และเป็นเสรีชนที่แท้จริง เพราะได้บรรลุอิสรภาพโดยสมบูรณ์

ศิลปศาสตร์ในความหมายอย่างนี้ เป็นวิชาการสำหรับคนทุกคน ไม่ใช่ของชนชั้นใดชั้นหนึ่งหรือพวกใดพวกหนึ่ง คือเป็นวิชาการสำหรับคนทุกคน ที่จะได้ศึกษาเพื่อพัฒนาตนให้เป็นเสรีชน หรือเป็นบุคคลผู้เข้าถึงอิสรภาพ และศิลปศาสตร์ในความหมายอย่างนี้แหละจะเป็นศิลปศาสตร์ที่มีความหมาย และความมุ่งหมายสมบูรณ์ ตามหลักแห่งพุทธธรรม

ในที่นี้อาจให้ความหมายแบบประมวลความ ซึ่งเป็นการประสานแนวความคิดของตะวันตก เข้ากับหลักแห่งพุทธธรรมได้ดังนี้ว่า

ศิลปศาสตร์ คือวิชาการที่ต้องใช้ความสามารถทางสติปัญญา เป็นเครื่องพัฒนาสติปัญญา และยกระดับจิตใจของผู้เรียนให้เข้าถึงอิสรภาพเป็นเสรีชน ผู้เพียบพร้อมด้วยความดีงามล้ำเลิศทางปัญญาและจริยธรรม ซึ่งจะเป็นผู้สร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคมได้อย่างแท้จริง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< แง่ที่ ๖ ศิลปศาสตร์ มองในแง่การพัฒนาปัญญาที่เป็นแกนของการพัฒนาศักยภาพ และการเข้าถึงอิสรภาพ

หน้า: 1 2

No Comments

Comments are closed.