๓ สาระและจุดหมายของศิลปศาสตร์

15 สิงหาคม 2532
เป็นตอนที่ 10 จาก 10 ตอนของ

ความผิดพลาดของอดีตที่รอการแก้ไข

ในระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่ถือกันว่าโลกได้เจริญเป็นอย่างมาก มีการพัฒนาอย่างสูง แต่สังคมก็ประสบปัญหาใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นและร้ายแรงยิ่งกว่าแต่ก่อน จนถึงกับกล่าวกันว่า สังคมมนุษย์เดินทางผิดพลาด การพัฒนาล้มเหลว และอารยธรรมของมนุษย์ติดตัน ปัญหาและความเสื่อมโทรมต่างๆ ที่เกิดมีในยุคที่พัฒนามากแล้วนี้ รุนแรงถึงขนาดที่อาจนำมนุษยชาติไปสู่ความพินาศสูญสิ้นก็ได้ นับเป็นภัยที่ร้ายแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อน

การที่การพัฒนาผิดพลาดล้มเหลว ย่อมหมายถึงความผิดพลาดล้มเหลวของวิชาการทั้งหลายด้วย และความผิดพลาดล้มเหลวของวิชาการต่างๆ ก็บ่งชี้ไปถึงความผิดพลาดล้มเหลวของการศึกษา และถ้าการศึกษาที่ผ่านมาผิดพลาดล้มเหลว การศึกษาศิลปศาสตร์ หรือวิชาพื้นฐานทั้งหลายก็ต้องรับผิดชอบโดยตรงทีเดียว จึงจะต้องมีการทบทวน ตรวจสอบสภาพการเรียนการสอนศิลปศาสตร์กันใหม่ จะต้องมีการปรับปรุงการศึกษา และการปรับปรุงในวงการทางวิชาการโดยทั่วไป ตลอดจนระบบและกระบวนการพัฒนาสังคมทั้งหมด

ดังเป็นที่ยอมรับกันแล้วในระดับโลก ซึ่งองค์การสหประชาชาติ ได้เริ่มต้นความเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนทิศทางของการพัฒนาใหม่แล้ว โดยได้ประกาศตามข้อเสนอขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม หรือ UNESCO ให้ พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๔๐ เป็นทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาทางวัฒนธรรม (World Decade for Cultural Development)

สหประชาชาติได้แถลงถึงความผิดพลาด ของการพัฒนาในสมัยที่ผ่านมา ซึ่งได้มุ่งความขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความเจริญพรั่งพร้อมทางวัตถุ โดยให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าบทบาทใหญ่ ในกระบวนการพัฒนา และประกาศให้เปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนาใหม่ โดยให้ยึดวัฒนธรรมเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา

จุดที่น่าสนใจในที่นี้ คือตัวเหตุปัจจัยว่า อะไรเป็นจุดอ่อน เป็นข้อบกพร่อง ที่ทำให้การพัฒนาในยุคที่ผ่านมาได้ผิดพลาดไป จนเกิดเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน

ในที่นี้ ขอเสนอข้อพิจารณาเกี่ยวกับจุดอ่อนและข้อบกพร่องที่สำคัญในวงวิชาการ และในกระบวนการพัฒนา ที่การศึกษาจะต้องตรวจสอบและปรับปรุง ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ของศิลปศาสตร์ หรือวิชาพื้นฐานทั่วไปจะต้องรับผิดชอบ และควรจะเข้ารับบทบาทเป็นผู้นำในการแก้ไขปรับปรุง

จุดอ่อน และข้อบกพร่องสำคัญของยุคสมัยที่ผ่านมา ซึ่งการศึกษาจะต้องรู้เข้าใจและแก้ไขปรับปรุง ที่เป็นข้อสำคัญขอเสนอไว้ดังนี้

๑. วิชาการทั้งหลายที่มากมายนั้น เป็นเหมือนกิ่งก้านที่แตกออกจากลำต้นหนึ่งเดียว และมีรากเหง้าเดียวกัน อย่างที่ได้กล่าวว่ามีรากฐานเดียวกันคือ สัจจธรรม การที่แตกแขนงออกไป ก็เพื่อเจาะลึกความจริงให้ชัดเจนลงไปในแต่ละด้าน จะได้ทำหน้าที่หรือทำงานเช่นแก้ปัญหาแต่ละด้านๆ นั้นได้เต็มที่ แต่จะต้องสำนึกตระหนักอยู่เสมอว่า การที่จะให้ได้ความจริงเป็นสัจจธรรมที่สมบูรณ์ และแก้ปัญหาของมนุษย์ได้แท้จริง วิชาการเหล่านั้น จะต้องเชื่อมโยงความรู้เข้าด้วยกันและประสานงานกัน อย่างที่เรียกว่าแยกแล้วโยง เพราะวัตถุประสงค์เดิมแท้ในการแยกออกไป ก็เพื่อช่วยกันหาความจริงด้านต่างๆ มาประกอบเป็นภาพรวมของความจริงที่สมบูรณ์

แต่ในการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า หรือการพัฒนาในยุคอุตสาหกรรมที่ผ่านมา เมื่อวิชาการต่างๆ แตกแขนงออกไปแล้ว ก็มุ่งดิ่งตรงไปข้างหน้าในด้านของตนๆ มีความก้าวหน้าไปไกลมากในแต่ละด้าน ทำให้พรมแดนแห่งความรู้ขยายกว้างออกไปมากมาย พร้อมกับที่กิจการของมนุษย์ ซึ่งสนองรับความรู้ของวิชาการด้านนั้นๆ ไปใช้ทำงาน ก็ได้สร้างความเจริญก้าวหน้าในด้านของตนออกไปอย่างรวดเร็วและน่าอัศจรรย์ จนมีลักษณะเด่นที่เรียกว่า เป็นยุคแห่งความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง

แต่ท่ามกลางความเจริญก้าวหน้า แบบชำนาญพิเศษเฉพาะทางนั้น มนุษย์แทบไม่รู้ตัวว่า หลักการเดิมข้อใหญ่ได้ถูกละเลย มองข้าม หรือหลงลืมไป คือการแยกเพื่อโยงให้เห็นชัดเจนสมบูรณ์ วิชาการและกิจการที่เนื่องกันกับวิชาการเหล่านั้น มองความจริงและดำเนินกิจกรรมมุ่งเฉพาะแต่ในด้านของตนๆ ไม่มาเชื่อมโยงบรรจบและไม่ประสานงานกัน

มนุษย์มาเริ่มรู้ตัวถึงความผิดพลาดขึ้นในขณะนี้ ก็เพราะได้เกิดปัญหามากมาย และร้ายแรง เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าเฉพาะด้านที่ติดตันทั้งในด้านการที่จะเข้าถึงความรู้จริงในสัจจธรรม และในการที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่สังคมมนุษย์ เพราะวิชาการเฉพาะด้าน แต่ละอย่างมองเห็นความจริงเฉพาะในแง่ด้านนั้นๆ และในขอบเขตหนึ่งเท่านั้น ไม่ทั่วตลอด

เมื่อมองเห็นความจริงไม่รอบด้าน ก็ไม่ได้ความรู้ที่ถูกต้องแท้จริง คือไม่เข้าถึงสัจจธรรม และกิจการที่เนื่องกับวิชาการเหล่านั้น เมื่อปฏิบัติไปตามความรู้ของวิชาการนั้น ให้สำเร็จผลในด้านของตนตามประสงค์ แต่ไม่รู้ตัวว่าได้ก่อให้เกิดผลกระทบหรือผลข้างเคียง ที่เป็นโทษในด้านอื่นที่นอกขอบเขตความรู้หรือความสนใจของตน ล้ำเข้าไปในแดนของวิชาการและกิจการอื่นๆ อย่างน้อยการแก้ปัญหาก็เป็นเพียงการแก้เป็นจุดๆ หย่อมๆ ไม่ครบ ไม่ทั่วถึง แก้ปัญหาไม่หมด ก็คือแก้ปัญหาไม่สำเร็จแท้จริง หรือแก้ด้านนี้ แต่กลายเป็นก่อปัญหาใหม่ด้านโน้น สร้างสรรค์ด้านหนึ่งเฉพาะหน้าในวงแคบ แต่กลายเป็นทำลายอีกด้านหนึ่งในวงกว้างและระยะยาว

ปัจจุบันนี้ วิชาการเฉพาะอย่างเหล่านั้นเจริญก้าวหน้าถึงขีดสูงสุด สภาพที่เต็มไปด้วยปัญหาเช่นนี้ก็ได้ปรากฏเด่นชัดขึ้นมาและรุนแรง จนมนุษย์ในสังคมที่พัฒนาแล้วต้องหันมาทบทวนตรวจสอบวิชาการ และกิจการต่างๆ ของตน และเริ่มพบสาเหตุดังได้กล่าวมานั้น และเกิดความตื่นตัวขึ้นในบางกลุ่มบางแห่งที่จะหาหนทางใหม่ในการแสวงหาความรู้และดำเนินกิจการต่างๆ ดังเช่นที่แนวความคิดแบบองค์รวม (holism) ได้เฟื่องฟูขึ้น

ในสภาพเช่นนี้ ศิลปศาสตร์ในฐานะเป็นวิชาพื้นฐาน เป็นศูนย์รวมของวิชาการต่างๆ ควรจะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมประสานวิชาการและกิจการต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงความรู้สมบูรณ์ที่เป็นสัจจธรรม และสามารถแก้ปัญหาสร้างสรรค์ความเจริญที่กลมกลืนและสมดุล ไม่ก่อผลกระทบในทางร้ายพ่วงมาในรูปต่างๆ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของศิลปศาสตร์โดยพื้นเดิมอยู่แล้วที่จะมีบทบาทเช่นนี้ ข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับสัจจธรรม

๒. ในยุคแห่งความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านที่ว่ามานั้น แม้แต่จริยธรรมก็ได้ถูกมองให้เป็นวิชาการอย่างหนึ่ง และเป็นกิจกรรมประเภทหนึ่ง ต่างหากจากวิชาการและกิจการอย่างอื่นๆ แทนที่จะเข้าใจตามเป็นจริงว่า จริยธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ติดอยู่ด้วยกัน หรือซึมซ่านอยู่ในวิชาการและกิจกรรมทุกอย่างและทุกขณะของมนุษย์ ถ้าจะเปรียบเทียบ ก็เหมือนกับน้ำเลี้ยงในต้นไม้ที่ซึมซ่านไปหล่อเลี้ยงกิ่งก้านทุกส่วนของมัน ดำรงความมีชีวิตของต้นไม้นั้นไว้ หรือพูดให้ถูกต้องตรงแท้กว่านั้นอีก ก็คือ การเจริญเติบโต และทำหน้าที่อย่างถูกต้องขององค์ประกอบแต่ละส่วนของต้นไม้ ที่ทำให้ต้นไม้นั้นมีชีวิตงอกงามอยู่ต่อไป

จริยธรรม ก็คือ อาการของการกระทำ หรือลักษณะของการปฏิบัติในวิชาการหรือกิจการนั้นๆ ที่ถูกต้องดีงามตรงตามคุณค่าของมันนั่นเอง จึงไม่อาจแยกออกต่างหากจากวิชาการหรือกิจการนั้นๆ ได้

อย่างน้อยที่สุดหรืออย่างพื้นฐานที่สุด จริยธรรมก็คือการปฏิบัติในเรื่องของวิชาการหรือกิจการนั้นๆ ในทางที่จะให้เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคม ตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของวิชาการหรือกิจการนั้นๆ เช่น วิชาการแพทย์มีความมุ่งหมายเพื่อบำบัดโรค ช่วยให้คนเจ็บไข้หายโรคมีสุขภาพดี จริยธรรมในกรณีนี้ก็คือ การปฏิบัติของแพทย์หรือปฏิบัติการทางการแพทย์ ที่มุ่งช่วยให้คนเจ็บไข้หายโรคและมีสุขภาพดี ความขาดจริยธรรมเกิดขึ้นเมื่อแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ ใช้วิชาการแพทย์เป็นเครื่องมือมุ่งหาผลประโยชน์ส่วนตัว หรือทำลายผู้อื่นในรูปใดรูปหนึ่ง

จริยธรรมเป็นตัวคุม และเป็นเครื่องนำทางให้วิชาการและกิจการนั้นๆ เกิดผลดีตามความมุ่งหมายของมัน หรือเป็นตัวการปฏิบัติ ที่ทำให้ความรู้ในสัจจธรรมเกิดผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย จึงเป็นสิ่งจำเป็นคู่กันกับสัจจธรรม และเมื่อคู่กับสัจจธรรม ก็คู่กับวิชาการต่างๆ ทุกอย่างที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งสัจจธรรมด้วย

ในยุคที่ผ่านมา สังคมประสบปัญหาอย่างหนักเนื่องจากการปฏิบัติ ที่ไม่เป็นไปเพื่อให้เกิดผลตามความมุ่งหมายที่แท้ของวิชาการหรือกิจการนั้นๆ วิชาการและกิจการต่างๆ ถูกบิดเบนไปใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ สนองความเห็นแก่ตัวบ้าง ใช้เป็นเครื่องมือเบียดเบียนทำลายกันบ้าง ใช้เป็นเครื่องมือสร้างความลุ่มหลงหมกมุ่นมัวเมาบ้าง

การที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ จะต้องกำจัดความผิดพลาดของอดีตในข้อนี้ให้ได้ คือจะต้องเข้าใจความหมายของจริยธรรมให้ถูกต้อง และให้การศึกษาชนิดที่สร้างสรรค์จริยธรรมขึ้นมาผนึกผสานไว้ด้วยในเนื้อตัวของวิชาการทั้งหลาย เพื่อคุมและนำทางให้การปฏิบัติในเรื่องของวิชาการนั้นๆ เป็นไปเพื่อผลดีตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของมัน การศึกษาส่วนที่จะทำหน้าที่นี้โดยตรง ก็คือ ศิลปศาสตร์หรือวิชาพื้นฐานนั่นเอง ข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับจริยธรรม

๓. ประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น มักถูกมองแยกต่างหากจากกัน ในลักษณะที่มีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องตรงกันข้าม เป็นคู่แข่งแย้งกัน ไปด้วยกันไม่ได้ จะต้องเลือกเอาอย่างหนึ่ง หรือจะต้องแย่งชิงกัน ทำให้เกิดความรู้สึกที่จะคอยเพ่งจ้องเอาประโยชน์ให้แก่ตนเอง ระแวงระวังกลัวจะไม่ได้ผลประโยชน์ กลัวผลประโยชน์จะถูกแย่งชิงไป ตลอดจนมีความคิดที่จะกีดกันผู้อื่นออกไป เป็นการเสริมย้ำความรู้สึกเห็นแก่ตัวให้รุนแรงยิ่งขึ้น

อาการที่เป็นอย่างนี้ เกิดจากความขาดการศึกษาที่จะทำให้รู้ตระหนักถึงความจริงที่ลึกลงไป ซึ่งเป็นพื้นฐานยิ่งกว่านั้นว่า ทั้งตนและผู้อื่นนั้นมีจุดรวมร่วมกัน คือความเป็นชีวิต หรือแม้แต่แคบเข้ามาคือความเป็นมนุษย์ ประโยชน์ที่เป็นคุณค่าแท้จริงนั้นคือประโยชน์ที่เกื้อกูลแก่ชีวิต ประโยชน์ต่อชีวิตเป็นประโยชน์อย่างเป็นกลางๆ เป็นประโยชน์ร่วมกัน

ประโยชน์ของชีวิต ทำให้ประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น เนื่องอยู่ด้วยกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว สิ่งที่เกื้อกูลแก่ชีวิตย่อมเกื้อกูลทั้งแก่ตนเอง และเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ในแง่นี้ สิ่งที่เป็นผลดีแก่ตนเอง ก็เป็นผลดีแก่ผู้อื่นด้วย คือดีสำหรับชีวิตของเขา ก็ดีสำหรับชีวิตของเราด้วย

ประโยชน์แก่ชีวิต หรือประโยชน์แก่มนุษย์อย่างนี้ เป็นประโยชน์พื้นฐานที่มีคุณค่าเสมอกัน ทั้งแก่ตนเองและแก่คนอื่น การศึกษาที่แท้จริงมุ่งให้คนเข้าถึงประโยชน์อย่างนี้ และให้ช่วยกันสร้างสรรค์ส่งเสริมประโยชน์อย่างนี้ ซึ่งเป็นสาระของระบบความสัมพันธ์ที่อิงอาศัยและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ส่วนประโยชน์ตนและประโยชน์ของคนอื่น ชนิดที่เป็นการแบ่งแยก ต้องแย่งต้องแข่งกันนั้น เป็นเรื่องที่ซ้อนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งการศึกษาจะต้องพัฒนาคนให้ปฏิบัติด้วยความระมัดระวังใน ๒ ระดับ เพื่อรักษาไว้ ซึ่งระบบความสัมพันธ์แบบอิงอาศัยซึ่งกันและกัน และเกื้อกูลกันนั้น

ระดับที่ ๑ คือ ระดับประโยชน์ซ้อน หรือประโยชน์ชั้นนอก พยายามไม่ให้การแสวงหาประโยชน์ตน เป็นไปโดยขัดแย้ง หรือกระทบกระทั่งบั่นทอนทำลายประโยชน์ของผู้อื่น เท่าที่จะเป็นไปได้ และ

ระดับที่ ๒ ที่สำคัญกว่านั้น คือระดับประโยชน์พื้นฐาน จะต้องไม่ให้การแสวงหาประโยชน์ตนนั้น เป็นการทำลายก่อความเสียหายต่อประโยชน์ของชีวิต หรือประโยชน์ของมนุษย์ที่เป็นกลางๆ อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น

อย่างไรก็ดี การปฏิบัติในเรื่องเหล่านี้ จะเป็นไปอย่างพอดี ไม่สุดโต่ง ก็ต่อเมื่อเป็นการปฏิบัติด้วยปัญญา โดยมีความรู้เท่าทันธรรมดาแห่งโลกสันนิวาสประกอบอยู่ด้วย

คนที่เข้าใจตระหนักในเรื่องประโยชน์ของชีวิตหรือประโยชน์ของมนุษย์ที่เป็นกลางๆ อย่างนี้แล้ว จะสามารถเข้าใจได้ต่อไปถึงระบบความสัมพันธ์แบบอิงอาศัยเกื้อกูลซึ่งกันและกันในวงกว้างออกไป ที่เป็นระบบใหญ่ครบถ้วนสมบูรณ์ คือจะรู้ตระหนักถึงความเป็นประโยชน์ที่เนื่องกัน และความประสานเกื้อกูลอย่างอิงอาศัยกันระหว่างชีวิตกับสังคม และกับธรรมชาติแวดล้อม

เมื่อใดคำนึงถึงประโยชน์ของชีวิต หรือประโยชน์ของมนุษย์อย่างเป็นกลางๆ เมื่อนั้นก็จะได้ทั้งประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น พร้อมกันไปอย่างเป็นอันเดียว โดยไม่มีการแบ่งแยก และพร้อมกันนั้น ประโยชน์ของชีวิต หรือประโยชน์ของมนุษย์ ก็จะโยงไปหาสังคมและธรรมชาติ ทำให้มนุษย์ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของสังคม และประโยชน์ของธรรมชาติแวดล้อมด้วย เพราะมองเห็นความสัมพันธ์อิงอาศัยกันและมีผลกระทบต่อกัน แล้วมนุษย์ก็จะมองเห็นความสำคัญของสิ่งที่เป็นประโยชน์พื้นฐาน คือประโยชน์ร่วมกันของระบบความสัมพันธ์ของชีวิต สังคม และธรรมชาติทั้งหมด

มนุษย์จะมีความรู้เข้าใจว่า การรักษาและส่งเสริมประโยชน์พื้นฐาน เป็นการทำให้เกิดผลเกื้อกูลแก่องค์ประกอบทุกส่วน ที่สัมพันธ์อิงอาศัยกันอยู่นั้น ทำให้ทั้งระบบและทุกองค์ประกอบดำรงอยู่และดำเนินไปได้ด้วยดี

การพัฒนาในยุคที่ผ่านมาได้เกิดความผิดพลาดในเรื่องนี้มาก และเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาร้ายแรงที่สังคมและโลกทั้งหมดกำลังประสบอยู่ ดังที่ได้เริ่มตื่นตัวรู้กันขึ้นแล้ว และเป็นปัญหาซึ่งการศึกษาที่แท้จะต้องเป็นเจ้าบทบาทในการแก้ไข วิชาการที่จะทำให้การศึกษาส่วนนี้ทำหน้าที่สำเร็จผลได้ก็คือ วิชาศิลปศาสตร์หรือวิชาพื้นฐานนั่นเอง ข้อนี้ก็เป็นปัญหาทางจริยธรรมอีกอย่างหนึ่ง

คำฝากแด่อาจารย์ศิลปศาสตร์

ศิลปศาสตร์ ที่ว่าเป็นวิชาพื้นฐาน ก็เพราะเป็นที่รองรับไว้ซึ่งวิชาการอื่นๆ ทั้งหลาย โดยเฉพาะที่เรียกว่าวิชาชีพและวิชาเฉพาะต่างๆ โดยเป็นหลักประกันที่จะให้วิชาการเหล่านั้นบังเกิดผลดี สมตามความมุ่งหมายที่มนุษย์ได้จัดให้มีวิชาการเหล่านั้นขึ้น และความเป็นพื้นฐานนั้น ยังมีความหมายต่อไปอีกด้วยว่า เป็นการแผ่กว้างออกไปอย่างทั่วถึง เพื่อทำหน้าที่ในการรองรับให้สำเร็จ เพราะสิ่งที่จะเป็นพื้นฐานรองรับสิ่งอื่นได้ ก็จะต้องแผ่ออกไปให้มีเนื้อที่กว้างขวางเพียงพอและทั่วถึง ที่จะให้สิ่งซึ่งตนเองรองรับนั้นตั้งอาศัยอยู่ และทำกิจของมันได้

ความแผ่กว้างทั่วถึงของศิลปศาสตร์ ที่เป็นวิชาพื้นฐานนี้ หมายถึง การแผ่ไปกว้างทั่วถึงเรื่องราวของโลกและชีวิตทั้งหมด ทั้งเรื่องของมนุษย์ สังคม และธรรมชาติแวดล้อม ทั้งความเป็นไปในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทั้งใกล้และไกล ทั้งภายในและภายนอก ทั้งเรื่องของตนเอง และเรื่องของผู้อื่น ทั้งเรื่องรูปธรรมและเรื่องนามธรรม ทั้งเรื่องวัตถุและเรื่องจิตใจ ฯลฯ กว้างขวาง หลากหลาย และมากมาย แต่ก็ไม่พร่ามัวสับสน เพราะมีหลักการที่เป็นทั้งแกนและเป็นเครื่องกำหนดขอบเขตของการทำหน้าที่ ที่จะให้ภาพรวมที่กว้างขวางครอบคลุม และหยั่งลึกทั่วตลอด อันจะให้เกิดความชัดเจน ในการแก้ปัญหาของมนุษย์ และสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคมให้สำเร็จ เพื่อให้มนุษย์ดำรงอยู่ด้วยความโปร่งโล่ง ปลอดพ้นความบีบคั้นติดขัดคับข้อง บรรลุภาวะไร้ทุกข์ ประสบสันติสุขและอิสรภาพดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ขอย้ำในที่สุดว่า การเข้าถึงศิลปศาสตร์ ไม่ใช่การรู้วิชานั้นๆ แต่เพียงข้อมูล แต่ต้องเข้าถึงสาระของมัน เมื่อเข้าถึงสาระของศิลปศาสตร์แล้วก็จะทำให้เราไปศึกษาวิชาอื่นที่เรียกว่าวิชาชีพ และวิชาเฉพาะต่างๆ อย่างเข้าถึงสาระของวิชานั้นๆ ด้วย

ความสำเร็จผลของการศึกษาศิลปศาสตร์ อยู่ที่การประจักษ์แจ้งสัจจธรรม เกิดมีจริยธรรม และได้ความมีศิลปะ ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้หลุดพ้นปลอดโปร่ง ไปถึงภาวะไร้ทุกข์ ประสบสันติสุขและอิสรภาพ

ดังนั้น เราจะต้องเรียนให้เข้าถึงสัจจธรรมโดยมีจริยธรรมและมีศิลปะ หรือพูดให้สั้นที่สุดว่า เรียนให้ได้สัจจะ จริยะ และศิลปะ เราจะไม่ศึกษาวิชาศิลปศาสตร์และแม้วิชาต่างๆ ทั้งหลายอย่างเป็นเพียงข้อมูลที่ไร้ชีวิตชีวา

ถ้าเรียนไม่เป็น ศิลปศาสตร์จะเป็นเพียงข้อมูลที่ไร้ชีวิตชีวา เป็นข้อมูลสำหรับเอามาท่องจำแล้วก็ไปถ่ายเทออกในเวลาสอบ เวลาเรียนก็ท่องไว้ จำข้อมูลเก็บไว้ รอไว้พอถึงเวลาสอบก็ไปถ่ายออก ก็จบ สอบผ่านไปแล้วก็เลิก อย่างนี้ศิลปศาสตร์ก็ไม่มีความหมาย

ศิลปศาสตร์จะเกิดคุณค่าที่แท้จริง ก็ต้องทำดังที่กล่าวมา จึงได้พูดแต่ต้นว่า การที่จะให้วิชาศิลปศาสตร์ เกิดผลที่แท้จริงแก่ผู้เรียนนั้น จำเป็นต้องอาศัยผู้สอนที่เข้าถึงวิชาศิลปศาสตร์อย่างแท้จริง คือสอนวิชาศิลปศาสตร์อย่างเข้าใจความหมายและความมุ่งหมายของมัน เข้าถึงเนื้อตัวสาระของศิลปศาสตร์แล้ว จึงจะเป็นผู้สามารถที่จะมาสร้างนักศึกษาได้ และทำให้นักศึกษาเหล่านั้นเติบโตพัฒนาขึ้นไป เป็นบัณฑิตในที่สุด

เพราะฉะนั้น จึงได้พูดไว้ว่า “จะสอนวิชาชีพและวิชาเฉพาะให้ใช้ผู้เชี่ยวชาญ แต่จะสอนวิชาพื้นฐานต้องใช้นักปราชญ์” ซึ่งมีความหมายดังที่กล่าวมานี้

จึงขอให้ผู้เป็นปราชญ์ทั้งหลาย มาช่วยกันสอนวิชาศิลปศาสตร์ โดยทำคนที่เรียนให้เป็นนักศึกษา แล้วก็เติบโตพัฒนาขึ้นไป ถึงจุดหมายปลายทางที่เป็นบัณฑิต แม้กระทั่งเป็นพุทธ ซึ่งเป็นเสรีชนที่แท้จริงโดยสมบูรณ์ เพื่อจะได้บังเกิดผลดีเป็นประโยชน์สุขแก่บุคคล และสังคมตามวัตถุประสงค์

อาตมภาพได้พูดมา ในเรื่องวิชาศิลปศาสตร์ตามแนวพุทธ ก็เป็นเวลาพอสมควร คิดว่า ได้เสนอความคิดเห็นสำหรับประดับปัญญาบารมีดังที่ได้กล่าวมา ถ้าประดับดีก็เกิดความงาม ถ้าประดับไม่ดีก็กลายเป็นสิ่งรุงรัง แล้วแต่ว่าที่พูดมานี้จะทำให้งามหรือรุงรัง ถ้าหากเป็นสิ่งรุงรังก็ทิ้งไป ถ้าเป็นสิ่งที่งามก็นำเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ เสริมปัญญาบารมีที่มีอยู่แล้วนั้นให้งดงามยิ่งขึ้น

ขอถือโอกาสนี้ อวยพรแด่ทุกท่าน ในฐานะที่วันนี้เป็นวันดีเป็นวันสิริมงคลของคณะศิลปศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้มีอายุครบ ๒๗ ปี รอดพ้นภยันตรายอุปสรรคทั้งหลาย และประสบความเจริญงอกงามสืบมา ขอให้คณะศิลปศาสตร์เจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป ด้วยอานุภาพคุณพระรัตนตรัยพร้อมทั้งกุศลเจตนา ความดีงาม และประโยชน์ทั้งหลายที่ท่านได้บำเพ็ญไปแล้ว ซึ่งล้วนแต่เป็นบุญกุศล ที่จะเกิดผลงอกเงยแก่ชีวิตของนักศึกษาทั้งหลาย

ขอให้บุญกุศลเหล่านั้น จงอำนวยอานิสงส์ให้เกิดความสุขความเจริญแก่ทุกๆ ท่าน โดยประสบจตุรพิธพรชัย มีความเจริญงอกงามด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา ในการที่จะทำหน้าที่เพื่ออำนวยวิชาศิลปศาสตร์ให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่กล่าวมา เพื่อสันติสุขของชีวิตและสังคม ตลอดกาลนาน เทอญ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< แง่ที่ ๖ ศิลปศาสตร์ มองในแง่การพัฒนาปัญญาที่เป็นแกนของการพัฒนาศักยภาพ และการเข้าถึงอิสรภาพ

หน้า: 1 2

No Comments

Comments are closed.