ถ้าจะกตัญญู ก็ต้องบูชาด้วยการปฏิบัติ

16 มกราคม 2536
เป็นตอนที่ 16 จาก 17 ตอนของ

ถ้าจะกตัญญู ก็ต้องบูชาด้วยการปฏิบัติ

เพราะฉะนั้น ในวันนี้เราได้มาประชุมกัน ได้มาร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพแล้ว เราทั้งหลายมาระลึกถึงหลวงปู่ชาในฐานะที่ท่านเป็นกัลยาณมิตรท่านหนึ่งที่สำคัญ เป็นกัลยาณมิตรที่ดำเนินตามปฏิปทาของกัลยาณมิตรผู้สูงสุด คือพระพุทธเจ้า เราก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องต่อท่าน ในฐานะที่เป็นกัลยาณมิตรนั้น ให้ท่านเป็นเครื่องเตือนใจเรา ในฐานะที่เป็นผู้ให้คำสอน แสดงหลักที่ดีงาม และปฏิบัติเป็นแบบอย่างไว้แล้ว ให้เราดำเนินตาม เราระลึกถึงท่านในฐานะที่ว่า เมื่อยังอยู่ได้ทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร โดยมีคุณสมบัติแห่งความเป็นกัลยาณมิตร ที่เรียกว่า กัลยาณมิตรธรรม

เริ่มด้วยท่านมีความเป็น ปิโย เป็นผู้ที่น่ารัก ประกอบด้วยเมตตา ทำให้เราเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ ชื่นใจ มีความชุ่มฉ่ำใจ มีความรู้สึกว่ามีเพื่อนคอยช่วยเหลืออยู่ ไม่อ้างว้างว้าเหว่ เรามีความรู้สึกนี้ เราจึงมีความกตัญญูระลึกถึงท่าน มาประชุมกัน นี้เป็นประการที่ ๑ และเรามองเห็นท่านเป็น ครุ เป็นผู้มีคุณธรรมน่าเคารพ เป็นผู้หนักแน่น เป็นผู้มั่นคง พลอยทำให้เราเกิดความรู้สึกว่ามั่นคง เป็นหลักให้แก่เรา เราได้เกาะเกี่ยวกับท่านอยู่ กับทั้ง ภาวนีโย ท่านเป็นแบบอย่างให้เรา เป็นที่เจริญใจ ระลึกถึงท่านเมื่อไร ก็ทำให้เรารู้สึกว่ามีกำลังใจที่จะปฏิบัติให้ก้าวหน้าในธรรมยิ่งขึ้น แล้วก็ วตฺตา ท่านเป็นผู้บอกกล่าวชี้แจงแนะนำคำสอนไว้ให้แก่เราแล้ว เราก็เอาคำสอนนั้นมาประพฤติปฏิบัติตาม

นอกจากนี้คุณสมบัติอื่นอีก คือ ความเป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ ความเป็นผู้ที่แถลงแนะนำชี้แจงเรื่องราวที่ลึกซึ้ง การที่ท่านไม่ชักนำในอฐานะ ในเรื่องราวเหลวไหลไร้สาระอะไรต่างๆ ก็เป็นที่ปรากฏประจักษ์แก่ท่านทั้งหลายอยู่ ในเมื่อหลวงปู่ชาท่านมีความเป็นกัลยาณมิตรดังกล่าวมานี้ ท่านจึงเป็นที่เคารพรักของลูกศิษย์ทั้งหลาย ลูกศิษย์ทั้งหลายระลึกถึงท่านแล้ว ก็มีน้ำใจตอบแทน จึงพากันมาบูชาคุณของท่าน ดังที่ปรากฏวันนี้ว่า มีจำนวนมากมายเหลือเกิน นี้เป็นน้ำใจที่เราทั้งหลายแสดงออกตอบแทนต่อท่านที่เป็นครูอาจารย์ ที่เป็นกัลยาณมิตรของเรา จึงเป็นที่น่าอนุโมทนา

แต่ข้อสำคัญก็คือว่า เมื่อระลึกถึงกัลยาณมิตร มีความกตัญญูต่อท่านแล้ว กระทำการบูชาท่าน ก็จะต้องกระทำการบูชานั้นให้ถูกต้อง ด้วยการปฏิบัติบูชาให้ได้ คือต้องเข้าใจหลักความเป็นกัลยาณมิตร ตลอดขึ้นไปจนคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า พระองค์ทำหน้าที่เป็นผู้บอก เป็นผู้แนะนำพร่ำสอน เราจะต้องทำความเพียรด้วยตนเอง จะต้องพึ่งธรรม จึงจะพึ่งตนได้สำเร็จ ดังที่อาตมภาพได้กล่าวมา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ระลึกถึงพระพุทธเจ้าถูก ความสามารถของเราก็เป็นประโยชน์มาอยู่ต่อหน้าพระพุทธเจ้า ก็ลืมตาของเราออกดู >>

No Comments

Comments are closed.