พึ่งตนคือพึ่งธรรม

16 มกราคม 2536
เป็นตอนที่ 9 จาก 17 ตอนของ

พึ่งตนคือพึ่งธรรม

และการที่ว่าเอาตนเองเป็นสรณะคืออย่างไร ก็คือเอาธรรมเป็นที่พึ่ง พึ่งตนคือพึ่งธรรม หรือเอาตนเป็นที่พึ่ง เอาตนเป็นสรณะก็คือเอาธรรมเป็นสรณะ หมายความว่าให้เอาธรรมเข้ามาใส่ไว้ในตน เอาธรรมมาใส่ตนแล้วตนก็เป็นที่พึ่งได้ ความหมายอย่างง่ายๆ ที่สุด ก็คือเอาธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้า และครูอาจารย์ที่สืบๆ กันมานี้ ท่านสอนเรา ท่านบอกแนะนำวิธีแก้ปัญหา แนะนำวิธีปฏิบัติ วิธีดำเนินชีวิตให้เราแล้ว เราก็เอาคำสอนเหล่านั้นมาปฏิบัติตาม นี่คือเอาธรรมมาใส่ตัว เมื่อเราทำตามคำสอนของท่านก็สำเร็จผล เราก็พึ่งตนเองได้ อันนี้ก็คือการที่ว่าพึ่งตน ก็คือพึ่งธรรม เมื่อเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้เป็นหลักในการครองชีวิต เราก็พึ่งตนได้ อันนี้เป็นความหมายอย่างหนึ่ง เป็นความหมายอย่างง่ายๆ

ทีนี้ลึกเข้าไปอีกจะเห็นว่า ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้พึ่งตนเองและพึ่งธรรมนั้น ความหมายว่าพึ่งธรรมของพระองค์ ลึกลงไปจนกระทั่งหมายถึงการที่ว่า มีสติครองใจ มีสติกำกับความคิดความเคลื่อนไหวของชีวิตจิตใจทุกขณะตลอดเวลา ไม่ให้จิตใจของเรานี้ ถูกความยินดียินร้าย อารมณ์ต่างๆ เข้ามาครอบงำ ไม่ตกเป็นทาสของความเป็นไปภายนอก ถ้าทำได้อย่างนี้ โดยมีสติครองใจอยู่ตลอดเวลา ก็เรียกว่าพึ่งตนได้ หลักการนี้ก็คือสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง

พระพุทธเจ้าทรงยกตัวอย่างมาเป็นอรรถาธิบายของการที่มีตนเป็นที่พึ่ง ได้แก่มีธรรมเป็นที่พึ่ง ถ้าเราปฏิบัติดำเนินชีวิตได้ตามหลักสติปัฏฐาน ๔ มีสติกำกับครองจิตครองใจได้ทุกขณะทุกเวลา เราก็พึ่งตนเองได้ ชีวิตก็จะมีความผาสุก ปลอดภัยไร้อันตราย อันนี้เป็นความหมายอย่างหนึ่ง แต่ในที่นี้ไม่มีเวลาที่จะอธิบายความหมายของการปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐานให้ละเอียดพิสดาร แต่ให้เราเข้าใจความหมายทั่วๆ ไปว่า การเอาสติมาเป็นหลักครองชีวิต มากำกับความคิด ความเคลื่อนไหว ความเป็นไปของชีวิตจิตใจได้ทุกขณะทุกเวลา ถ้าทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการพึ่งตน

ความหมายที่จะใช้ทั่วไปอีกอย่างหนึ่งก็คือ ดังที่กล่าวแล้วว่า ธรรมนั้น ก็คือความจริงของธรรมดา ความจริงของธรรมดาก็คือ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย การที่เราจะพึ่งตนให้ถูกต้องก็คือพึ่งธรรม พึ่งธรรมคืออย่างไร ก็คือเราต้องรู้เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย ว่ามันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ผลที่ต้องการย่อมเกิดขึ้นจากการทำที่เหตุปัจจัย ไม่ใช่หวังเลื่อนๆ ลอยๆ ลมๆ แล้งๆ อยากจะได้อะไรแล้วก็ไม่ต้องทำ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่พึ่งธรรม ถ้าไม่พึ่งธรรม ก็พึ่งตนเองไม่ได้ มันก็ไม่สำเร็จผล ถ้าใครจะพึ่งตนให้สำเร็จผล ก็ต้องรู้จักธรรม รู้จักความเป็นไปตามเหตุปัจจัย รู้ว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อม รู้ว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยของความเจริญ แล้วทำให้ถูกต้องตามเหตุปัจจัยนั้น อะไรเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อมก็ละเว้นเสีย ป้องกันเสีย แก้ไขกำจัดเสีย อะไรที่จะเป็นเหตุปัจจัยของความเจริญ ก็เร่งรัดจัดทำให้สำเร็จ อันนี้ เราก็พึ่งธรรม แล้วก็พึ่งตนได้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ท่านช่วยแล้ว ทำไมเราต้องทำเองด้วยทำถูกธรรม ไม่ต้องขอ ผลก็เกิดเอง >>

No Comments

Comments are closed.