การศึกษาที่แท้ ก็คือตรงตามธรรมชาติที่เป็นความจริงของชีวิต

7 กันยายน 2544
เป็นตอนที่ 3 จาก 4 ตอนของ

การศึกษาที่แท้ ก็คือตรงตามธรรมชาติที่เป็นความจริงของชีวิต

การศึกษานั้นเกิดในชีวิตของคน การศึกษาจึงเริ่มต้นตั้งแต่คนเริ่มมีชีวิต ตามหลักพุทธศาสนาถือว่าชีวิตเป็นการศึกษา ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เรามีชีวิตก็คือเราเป็นอยู่ การเป็นอยู่ก็คือการได้ประสบการณ์ใหม่ พบคนใหม่ เจอสถานการณ์ใหม่ ที่จะต้องหาทางปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ให้ถูกต้อง ต้องเป็นอยู่ให้ถูกต้อง ต้องปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งที่ได้พบ ให้ได้และให้ใช้ประสบการณ์อย่างถูกต้อง การพยายามอย่างนี้เรียกว่าการศึกษา เพราะฉะนั้นตราบใดที่เรายังมีชีวิต เราต้องมีการศึกษาตลอดทุกเวลา

ถ้าคนไม่มีการศึกษา ก็เรียกว่าสักแต่ว่ามีลมหายใจ คนที่เป็นอยู่สักแต่มีลมหายใจ ทางพระเรียกว่าเป็นพาล ถ้าจะเป็นคนให้ถูกต้อง ก็ต้องเป็นอยู่ดี มีการศึกษาตลอดเวลา เพราะฉะนั้นหลักพุทธศาสนาจึงบอกว่า ถ้าเราจะดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง ก็ต้องมีการฝึกอยู่ตลอดเวลา คือต้องศึกษา ต้องเรียนรู้

คนเรานี้ เป็นสัตว์พิเศษ เกิดมาทำอะไรไม่เป็น จะอยู่ด้วยสัญชาตญาณก็ไม่ไหว จึงต้องเรียนรู้ทุกอย่าง เริ่มด้วยอาศัยพ่อแม่ เรียนรู้แม้กระทั่งการขับถ่าย แม้แต่นั่ง แม้แต่นอน ต้องเรียนรู้หมด

การเรียนคือการฝึกตน พระพุทธเจ้าตรัสว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกและฝึกได้ เพราะฝึกได้ จึงเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ คติของพุทธศาสนาจึงบอกว่า ในหมู่มนุษย์ คนที่ฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐ คือผู้ที่มีการศึกษา

การศึกษาเป็นเรื่องของชีวิตตั้งแต่เกิด คือ การที่เราหาทางที่จะเป็นอยู่ดี การเป็นอยู่ดี ก็คือการเป็นคนมีการศึกษา เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงต้องเน้นกันตั้งแต่ในบ้านในครอบครัว ดูว่าเกิดมาแล้วจะเป็นอยู่อย่างไร กิน บริโภคอย่างไร แม้แต่การกินอาหารก็เป็นการศึกษา การใช้เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มก็เช่นกัน ทุกอย่างเป็นการศึกษาหมด การใช้ตาดู หูฟัง ก็เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน

จะเห็นว่าการศึกษาในพุทธศาสนาท่านเริ่มที่การรู้จักกินอยู่ใช้สอยเสพบริโภคปัจจัยสี่ อย่างที่พูดแบบภาษาพระว่า ปฏิสังขาโย คือบริโภคปัจจัยสี่โดยพิจารณาให้รู้วัตถุประสงค์ที่แท้จริง เช่นว่า กินเพื่ออะไร ใช้ตาดูหูฟังเป็นหรือไม่ ดูฟังแล้วเกิดมีอะไรขึ้นในจิตใจ ได้ปัญญา ได้ความรู้ ได้คติ ได้ประโยชน์ หรือได้โทษ ได้ความลุ่มหลงมัวเมา มีแต่โมหะ ทั้งหมดนี้เป็นการศึกษาทั้งนั้น

เมื่อเราให้การศึกษาถูกทาง เด็กก็เป็นอยู่ถูกต้อง มีชีวิตที่ดี พอทั้งสามด้านของการดำเนินชีวิต ประสานกัน คนก็เจริญงอกงามพัฒนา ทั้งสามด้านที่ประสานกัน คือ

๑) พฤติกรรมที่แสดงออก การติดต่อสื่อสารกับภายนอก และความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ซึ่งจะดำเนินไปอย่างไร ก็ขึ้นต่อ…

๒) คุณสมบัติในจิตใจที่เป็นฐาน ถ้าคุณสมบัติในจิตใจพัฒนาไปพร้อมกับการสัมพันธ์ภายนอกก็จะเป็นการพัฒนาอย่างดี แต่ทั้งหมดนี้จะต้องมี…

๓) ความรู้เข้ามาชี้นำช่องทางและขยายเขตแดนให้เดินหน้าต่อไป

ทั้งหมดนี้ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง

ศีล คือการติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอก ด้วยกายวาจา สมาธิ คือเรื่องของจิตใจ ซึ่งมีศูนย์รวมอยู่ที่เจตนาจะนำไป ถ้าพัฒนาจิตใจให้มีคุณภาพ เจตนาก็นำออกมาสู่พฤติกรรมการสัมพันธ์กับโลกภายนอกที่ดี แต่ทั้งนี้ต้องมีปัญญา ซึ่งทำให้สามารถปรับแก้พฤติกรรมและปรับแก้สภาพจิตใจให้ดีขึ้น

เมื่อพบอะไร ถ้าไม่รู้ ไร้ปัญญา ก็ติดขัดคับข้อง พอเจอสถานการณ์ใหม่ ไม่รู้ว่าคืออะไร ปฏิบัติไม่ถูก จิตใจก็อึดอัด พูดสั้นๆ ว่าทุกข์เกิดขึ้น แต่พอมีปัญญาก็เป็นอิสระทันที เพราะฉะนั้นปัญญาจึงเป็นคุณสมบัติสำคัญ และจึงต้องให้ศีล สมาธิ ปัญญา ประสานไปด้วยกันตลอด

การดำเนินชีวิตที่ประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญาก็เป็นมรรค คือวิถีชีวิตที่ดี ซึ่งดำเนินไปด้วยไตรสิกขา คือการศึกษาครบทั้งสามด้าน พูดสั้นๆ ว่า ฝึกอย่างไรก็ได้อย่างนั้น ไตรสิกขามาแค่ไหน มรรคก็ได้แค่นั้น นี่เป็นเรื่องของหลักพุทธศาสนาที่นำความจริงของธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ในการสร้างวิถีชีวิตของมนุษย์

ปัจจุบันนี้การศึกษาไม่รู้ว่าความหมายเป็นอย่างไรกันแน่ เราก็ว่ากันไปตามปรัชญา ตามสำนักโน่นสำนักนี่ การศึกษาสำหรับคนทั่วไปมักมองความหมายแค่ว่าคือการไปเรียนแล้วได้มีวิชาชีพ ซึ่งเป็นเพียงส่วนปลีกย่อยอย่างหนึ่งของการศึกษา เป็นองค์ที่ ๕ ของมรรค คือสัมมาอาชีวะ ได้เพียงข้อเดียว แถมยังไม่เอาใจใส่ด้วยว่าเป็นสัมมาอาชีวะหรือไม่ ถ้าอย่างนี้ก็ไปไม่รอด จะเป็นการศึกษาได้อย่างไร การศึกษาจะต้องครบทั้งศีล สมาธิ ปัญญา

การศึกษาที่ว่าเป็นแนวใหม่ ก็คือแนวเดิมแท้ที่ตรงตามความจริงของธรรมชาติ โดยเฉพาะธรรมชาติของชีวิต การนำเอาพุทธธรรมมาใช้เป็นเรื่องง่ายนิดเดียว คือการเข้าใจธรรมชาตินั่นเอง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าโลกและชีวิต ซึ่งทำให้ดูได้ชัดว่าชีวิตของเราจะเจริญก้าวหน้าไปได้ท่ามกลางโลกแห่งความเป็นจริงอย่างไร

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จะจัดจะแก้ไขอะไร ก็ต้องรู้จักสิ่งที่ตัวจะจัดจะแก้ไขนั้นอุดมศึกษาจะสูงสุดจริง ต้องลงไปถึงบ้านที่เป็นฐานของสังคม >>

No Comments

Comments are closed.