จะจัดจะแก้ไขอะไร ก็ต้องรู้จักสิ่งที่ตัวจะจัดจะแก้ไขนั้น

7 กันยายน 2544
เป็นตอนที่ 2 จาก 4 ตอนของ

จะจัดจะแก้ไขอะไร ก็ต้องรู้จักสิ่งที่ตัวจะจัดจะแก้ไขนั้น

เรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่อันดับแรกก็คือ เมื่อเป็นชาวพุทธก็ต้องรู้จักว่าพุทธศาสนาคืออะไร และเชื่ออย่างไรปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูก เมื่อพุทธศาสนาสัมพันธ์กับความเป็นไทย ก็โยงไปสู่สิ่งที่เรียกว่า รากเหง้าของความเป็นไทย หรือรากฐานของสังคมไทย

คนไทย โดยเฉพาะคนที่มีการศึกษาสูง ต้องรับผิดชอบต่อสังคม จะต้องมีความรู้ความเข้าใจตนเองให้ถูกต้อง เพราะคนจะทำอะไรจะแก้ไขอะไร ก็ต้องรู้สิ่งที่ตัวจะทำ การรู้การเข้าใจจะทำให้ทำอะไรๆ ได้ถูก จะแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์อะไรก็ทำได้ แต่ถ้าเราไม่รู้จักสิ่งที่เราทำ เราจะแก้ไขให้ถูกต้องได้อย่างไร

เราพูดว่าอุดมศึกษานั้นจัดขึ้นเพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาไปเป็นผู้นำบ้าง เป็นผู้สร้างสรรค์สังคมบ้าง ไปร่วมแก้ไขปัญหาของสังคมบ้าง แต่ถ้าผู้สำเร็จการศึกษาไม่รู้จักประเทศไทย สังคมไทย วัฒนธรรมไทย นั่นคือไม่รู้จักสิ่งที่ตนทำ ไม่รู้ว่าตรงไหนเป็นอะไรอย่างไร ของนั้นทำมาอย่างไร แล้วจะไปแก้ไขได้อย่างไร ไม่ต้องไปดูเรื่องนามธรรมหรอก วัตถุนี่แหละ ถ้าเราจะสร้างวัตถุแล้วเราไม่รู้จักวัตถุนั้น เราจะทำได้อย่างไร ถ้าเราจะแก้ปัญหาสังคมไทย แต่ไม่รู้จักสังคมไทย เราก็ทำไม่ได้เรื่อง

ยิ่งกว่านั้น เราไปเรียนเมืองนอกมา เราไม่รู้ว่าสังคมฝรั่งนั้นเป็นอย่างไร เราไปเรียนเพียง ๔-๕ ปี และไม่ได้ใส่ใจสืบค้น ก็เข้าไม่ถึงความเป็นอเมริกัน เราก็ไปได้มาอย่างไม่สมบูรณ์ ก็เลยครึ่งๆ กลางๆ

ในแง่ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ จะเห็นได้ว่า ภูมิหลังของสังคมไทย กับสังคมอเมริกันนั้นต่างกัน สังคมอเมริกันเจริญมาตามคติ “frontier” คือการบุกฝ่าขยายพรมแดน เป็นวิถีชีวิตแบบบุกฝ่าไปข้างหน้า เริ่มแต่หนีภัยจากยุโรปมาหาอิสรภาพ มุ่งมาหาความสุขสมบูรณ์ หาดินแดนที่ทำกินใหม่ที่อเมริกา พบแต่ป่าดงพงไพร พบแต่อันตราย ทั้งจากธรรมชาติ ทั้งจากพวกอินเดียนแดง ทั้งจากพวกมาหาอาณานิคม จึงต้องบุกฝ่าไปข้างหน้า ขยายพรมแดนออกไปประมาณ ๓๐๐ ปี เฉลี่ยปีละ ๑๐ ไมล์ ปีจึงจบ ๓,๐๐๐ ไมล์ นี่คืออดีตของอเมริกา

แต่สังคมไทยมีลักษณะตามคติที่เราพูดกันว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” สังคมไทยมีวิถีชีวิตแบบอยู่กับที่ ไม่ต้องเคลื่อนย้ายไปไหน เพราะมีแต่ความอุดมสมบูรณ์ ภูมิหลังจึงต่างกับอเมริกา เมื่อภูมิหลังต่างกัน อะไรที่ใช้กับอเมริกาจึงเข้ากับภูมิหลังไทยได้ยาก

สังคมอเมริกันเป็นสังคมแบบบุกฝ่าขยายพรมแดน คำว่า “frontier” กลายเป็นหัวข้อที่ใช้ในการหาเสียงของผู้นำของเขา เช่น ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ก็ใช้ประเด็นการบุกฝ่าขยายพรมแดนหาเสียงและตั้งนโยบาย “New Frontier” ขึ้นมา คนอเมริกันขยายพรมแดนจากแอตแลนติคไปแปซิฟิคจบไปแล้ว เดี๋ยวนี้บุกฝ่าไปในอวกาศ แล้วก็ขยายไปใน cyberspace วิถีชีวิตของอเมริกาเป็นอย่างนี้มาหลายร้อยปี

แต่ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ ชวนให้ไม่ดิ้นรนขวนขวาย เพราะไม่มีอะไรบีบเค้น เราจึงควรคิดว่าจะเอาคติอะไรมาทำให้คนไทยมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่นิ่งเฉยเฉื่อยชา เราจะต้องจัดต้องปรับสร้างวิถีชีวิตที่เหมาะกับตนเอง หากเราไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้จักความแตกต่างของตนเองกับคนอื่นที่เกี่ยวข้อง ก็จะทำให้เราจับจุดผิดพลาด

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการอุดมศึกษา ซึ่งความหมายของศัพท์ก็บอกอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่าคือการศึกษาขั้นสูงสุด

ในการวัดผลผลิต เมื่อเป็นอุดมศึกษา ก็ต้องพัฒนาคนให้มีคุณภาพสูงสุด ยอดเยี่ยม ดีงาม เป็นเลิศ ประเสริฐ คนอย่างนี้จึงจะชื่อว่าเป็นผู้สำเร็จอุดมศึกษา มีความดีเลิศ มีความประเสริฐในตนเอง และพร้อมกันนั้นต้องสามารถที่จะเป็นผู้นำสังคม หรือชุมชน

การศึกษาที่ว่ามีความเป็นเลิศนั้น อยู่ที่ทำให้ได้คนอย่างเลิศ หรือคนที่มีคุณภาพเป็นเลิศ ไม่ใช่เลิศที่รูปร่างหรือบรรดารูปธรรมภายนอก

เป็นงานสำคัญมากที่เราจะต้องคิดในเรื่องของอุดมศึกษา ที่จะให้ได้ความหมายตรงตามหลักการนี้ คือ ให้ได้คนที่มีคุณภาพถึงขั้นที่เลิศประเสริฐจริง

สภาสถาบันราชภัฏมีนโยบายจะสร้างมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ โดยมีความเป็นไทยและสู่ความเป็นไท ซึ่งก็คือจะต้องมีคุณภาพ และคุณภาพนั้นจะต้องสัมพันธ์กับพื้นฐานรากเหง้าหรือภูมิหลังของตนเอง ซึ่งจะต้องเชื่อมต่อกันให้ได้ อย่างที่พูดแล้วตั้งแต่ต้น คือ

๑) ต้องรู้จักสิ่งที่ตนเข้าไปจัดทำ หรือจะแก้ไขก็แล้วแต่

๒) เมื่อสิ่งที่ทำนั้นคือตัวของตัวเอง ก็ต้องรู้จักตัวเองให้ชัดเพียงพอ

ถ้าตัวของตนเองยังไม่รู้ว่าเป็นใคร แล้วจะปฏิบัติกับตัวเองได้อย่างไร

เรื่องนี้ต้องนำมาคิดให้ชัดเจน แม้แต่แนวคิดปรัชญาที่ใช้ในการศึกษาปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าเราไปนำเอามาจากยุโรป และจากอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีภูมิหลังไม่เหมือนเรา เหตุปัจจัยที่ทำให้จัดอย่างนั้นๆ จึงแปลกแยกจากตัวเรา ไม่เหมือนกัน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การแก้ปัญหาที่ตรงไปตรงมา คือให้ชาวพุทธรู้จักศาสนาที่ตัวบอกว่านับถือการศึกษาที่แท้ ก็คือตรงตามธรรมชาติที่เป็นความจริงของชีวิต >>

No Comments

Comments are closed.