ไตรสิกขา: ระบบการศึกษา ซึ่งพัฒนาชีวิตที่ดำเนินไปทั้งระบบ

1 สิงหาคม 2544
เป็นตอนที่ 5 จาก 11 ตอนของ

ไตรสิกขา: ระบบการศึกษา ซึ่งพัฒนาชีวิตที่ดำเนินไปทั้งระบบ

ในระบบการดำเนินชีวิต ๓ ด้าน ที่กล่าวแล้วนั้น เมื่อศึกษาฝึกชีวิต ๓ ด้านนั้นไปแค่ไหน ก็เป็นอยู่ดำเนินชีวิตที่ดีได้เท่านั้น ฝึกอย่างไร ก็ได้อย่างนั้น หรือสิกขาอย่างไร ก็ได้มรรคอย่างนั้น

สิกขา คือการศึกษา ที่ฝึกอบรมพัฒนาชีวิต ๓ ด้านนั้น มีดังนี้

๑. สิกขา/การฝึกศึกษา ด้านสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม จะเป็นสิ่งแวดล้อมทางสังคม คือเพื่อนมนุษย์ ตลอดจนสรรพสัตว์ หรือสิ่งแวดล้อมทางวัตถุก็ตาม ด้วยอินทรีย์ (เช่น ตา หู) หรือด้วยกาย วาจา ก็ตาม เรียกว่า ศีล (เรียกเต็มว่า อธิสีลสิกขา)

๒. สิกขา/การฝึกศึกษา ด้านจิตใจ เรียกว่า สมาธิ (เรียกเต็มว่า อธิจิตตสิกขา)

๓. สิกขา/การฝึกศึกษา ด้านปัญญา เรียกว่า ปัญญา (เรียกเต็มว่า อธิปัญญาสิกขา)

รวมความว่า การฝึกศึกษานั้น มี ๓ อย่าง เรียกว่า สิกขา ๓ หรือ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งพูดด้วยถ้อยคำของคนยุคปัจจุบันว่า เป็นระบบการศึกษาที่ทำให้บุคคลพัฒนาอย่างมีบูรณาการ และให้มนุษย์เป็นองค์รวมที่พัฒนาอย่างมีดุลยภาพ

เมื่อมองจากแง่ของสิกขา ๓ จะเห็นความหมายของสิกขาแต่ละอย่างดังนี้

๑. ศีล คือ สิกขาหรือการศึกษาที่ฝึกในด้านการสัมพันธ์ติดต่อปฏิบัติ จัดการกับสิ่งแวดล้อม ทั้งทางวัตถุและทางสังคม ทั้งด้วยอินทรีย์ต่างๆ และด้วยพฤติกรรมทางกาย-วาจา พูดอีกอย่างหนึ่งว่า การมีวิถีชีวิตที่ปลอดเวรภัยไร้การเบียดเบียน หรือการดำเนินชีวิตที่เกื้อกูลแก่สังคม และแก่โลก

๒. สมาธิ คือ สิกขาหรือการศึกษาที่ฝึกในด้านจิต หรือระดับจิตใจ ได้แก่การพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ ของจิต ทั้ง…

ในด้านคุณธรรม เช่น เมตตา กรุณา ความมีไมตรี ความเห็นอกเห็นใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความสุภาพอ่อนโยน ความเคารพ ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู

ในด้านความสามารถของจิต เช่น ความเข้มแข็งมั่นคง ความเพียรพยายาม ความกล้าหาญ ความขยัน ความอดทน ความรับผิดชอบ ความมุ่งมั่นแน่วแน่ ความมีสติ สมาธิ และ

ในด้านความสุข เช่น ความมีปีติอิ่มใจ ความมีปราโมทย์ร่าเริงเบิกบานใจ ความสดชื่นผ่องใส ความรู้สึกพอใจ

พูดสั้นๆ ว่า พัฒนาคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพของจิต

๓. ปัญญา คือ สิกขาหรือการศึกษาที่ฝึกหรือพัฒนาในด้านการรู้ความจริง เริ่มตั้งแต่ความเชื่อที่มีเหตุผล ความเห็นที่เข้าสู่แนวทางของความเป็นจริง การรู้จักหาความรู้ การรู้จักคิดพิจารณา การรู้จักวินิจฉัย ไตร่ตรอง ทดลอง ตรวจสอบ ความรู้เข้าใจ ความหยั่งรู้เหตุผล การเข้าถึงความจริง การนำความรู้มาใช้แก้ไขปัญหา และคิดการต่างๆ ในทางเกื้อกูลสร้างสรรค์

เฉพาะอย่างยิ่ง เน้นการรู้ตรงตามความเป็นจริง หรือรู้เห็นตามที่มันเป็น ตลอดจนรู้แจ้งความจริงที่เป็นสากลของสิ่งทั้งปวง จนถึงขั้นรู้เท่าทันธรรมดาของโลกและชีวิต ที่ทำให้มีจิตใจเป็นอิสระ ปลอดปัญหา ไร้ทุกข์ เข้าถึงอิสรภาพโดยสมบูรณ์

หลักทั้ง ๓ ประการแห่งไตรสิกขา ที่กล่าวมานี้ เป็นการศึกษาที่ฝึกคนให้เจริญพัฒนาขึ้นไปในองค์ประกอบทั้ง ๓ ด้านของชีวิตที่ดีงาม ที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น

ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การฝึกศึกษาที่จะให้มีชีวิตที่ดีงาม เป็นสิกขา ชีวิตดีงามที่เกิดจากการฝึกศึกษานั้น เป็นมรรค

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ชีวิตมี ๓ ด้าน การฝึกศึกษาก็ต้องประสานกัน ๓ ส่วน พัฒนาคนแบบองค์รวม จึงเป็นเรื่องธรรมดาของการศึกษาระบบแห่งสิกขา เริ่มด้วยจัดปรับพื้นที่ให้พร้อมที่จะทำงานฝึกศึกษา >>

No Comments

Comments are closed.