ระบบไตรสิกขาเพื่อการพัฒนาอย่างองค์รวมในทุกกิจกรรม

1 สิงหาคม 2544
เป็นตอนที่ 10 จาก 11 ตอนของ

ระบบไตรสิกขาเพื่อการพัฒนาอย่างองค์รวมในทุกกิจกรรม

ได้กล่าวแล้วว่า ในกระบวนการพัฒนาของไตรสิกขานั้น องค์ทั้ง ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา จะทำงานประสานโยงส่งผลต่อกัน เป็นระบบและกระบวนการอันหนึ่งอันเดียว

แต่เมื่อมองไตรสิกขานี้ โดยภาพรวมที่เป็นระบบใหญ่ของการฝึก ก็จะเห็นองค์ ๓ นั้นเด่นขึ้นมาทีละอย่าง จากหยาบแล้วละเอียดประณีตขึ้นไปเป็นช่วงๆ หรือเป็นขั้นๆ ตามลำดับ คือ

ช่วงแรก เด่นออกมาข้างนอก ที่อินทรีย์และกายวาจา ก็เป็นขั้น ศีล

ขั้นที่สอง เด่นด้านภายใน ที่จิตใจ ก็เป็นขั้น สมาธิ

ช่วงที่สาม เด่นที่ความรู้ความคิดเข้าใจ ก็เป็นขั้น ปัญญา

แต่ในทุกขั้นนั้นเอง องค์อีก ๒ อย่างก็ทำงานร่วมอยู่ด้วยโดยตลอด

หลักการทั้งหมดนี้ ได้อธิบายข้างต้นแล้ว แต่มีเรื่องที่ขอพูดแทรกไว้อย่างหนึ่ง เพื่อเสริมประโยชน์ในชีวิตประจำวัน คือ การทำงานของกระบวนการฝึกศึกษาพัฒนา ที่องค์ทั้งสาม ทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา ทำงานอยู่ด้วยกัน โดยประสานสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยแก่กัน

การปฏิบัติแบบที่ว่านี้ ก็คือ การนำไตรสิกขาเข้าสู่การพิจารณาของโยนิโสมนสิการ หรือการโยนิโสมนสิการในไตรสิกขา ซึ่งควรปฏิบัติให้ได้เป็นประจำ และเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้จริงโดยไม่ยากเลย ดังนี้

ในการกระทำทุกครั้งทุกอย่าง ไม่ว่าจะแสดงพฤติกรรมอะไร หรือมีกิจกรรมใดๆ ก็ตาม เราสามารถฝึกฝนพัฒนาตนและสำรวจตรวจสอบตนเองตามหลักไตรสิกขานี้ ให้มีการศึกษาครบทั้ง ๓ อย่าง ทั้ง ศีล สมาธิ และ ปัญญา พร้อมกันไปทุกครั้งทุกคราว คือ เมื่อทำอะไรก็พิจารณาดูว่า

พฤติกรรม หรือการกระทำของเราครั้งนี้ จะเป็นการเบียดเบียน ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ใครหรือไม่ จะก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมเสียหายอะไรๆ บ้างไหม หรือว่าเป็นไปเพื่อความเกื้อกูล ช่วยเหลือ ส่งเสริม และสร้างสรรค์ (ศีล)

ในเวลาที่จะทำนี้ จิตใจของเราเป็นอย่างไร เราทำด้วยจิตใจที่เห็นแก่ตัว มุ่งร้ายต่อใคร ทำด้วยความโลภ โกรธ หลง หรือไม่ หรือทำด้วยเมตตา มีความปรารถนาดี ทำด้วยศรัทธา ทำด้วยสติ มีความเพียร มีความรับผิดชอบ เป็นต้น และ ในขณะที่ทำสภาพจิตใจของเราเป็นอย่างไร เร่าร้อน กระวนกระวาย ขุ่นมัว เศร้าหมอง หรือว่ามีจิตใจที่สงบ ร่าเริง เบิกบาน เป็นสุข เอิบอิ่ม ผ่องใส (สมาธิ)

เรื่องที่ทำครั้งนี้ เราทำด้วยความรู้ความเข้าใจชัดเจนดีแล้วหรือไม่ เรามองเห็นเหตุผล รู้เข้าใจหลักเกณฑ์และความมุ่งหมาย มองเห็นผลดีผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น และหนทางแก้ไขปรับปรุงพร้อมดีแล้วหรือไม่ (ปัญญา)

ด้วยวิธีปฏิบัติอย่างนี้ คนที่ฉลาดจึงสามารถฝึกศึกษาพัฒนาตน และสำรวจตรวจสอบวัดผลการพัฒนาตนได้เสมอตลอดทุกครั้งทุกเวลา เป็นการบำเพ็ญไตรสิกขาในระดับรอบเล็ก (คือครบสิกขาทั้งสาม ในพฤติกรรมเดียวหรือกิจกรรมเดียว)

พร้อมกันนั้น การศึกษาของไตรสิกขาในระดับขั้นตอนใหญ่ ก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้นไปทีละส่วนด้วย ซึ่งเมื่อมองดูภายนอก ก็เหมือนศึกษาไปตามลำดับทีละอย่างทีละขั้น ยิ่งกว่านั้น ไตรสิกขาในระดับรอบเล็กนี้ก็จะช่วยให้การฝึกศึกษาไตรสิกขาในระดับขั้นตอนใหญ่ยิ่งก้าวหน้าไปด้วยดีมากขึ้น

ในทางย้อนกลับ การฝึกศึกษาไตรสิกขาในระดับขั้นตอนใหญ่ ก็จะส่งผลให้การฝึกศึกษาไตรสิกขาในระดับรอบเล็ก มีความชัดเจนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

ตามที่กล่าวมานี้ ต้องการให้มองเห็นความสัมพันธ์อย่างอิงอาศัยซึ่งกันและกันขององค์ประกอบที่เรียกว่าสิกขา ๓ ในกระบวนการศึกษาและพัฒนาพฤติกรรม เป็นการมองรวมๆ อย่างสัมพันธ์ถึงกันหมด

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การศึกษา[ที่สังคม]จัดตั้ง ต้องไม่บดบังการศึกษาที่แท้ของชีวิตปฏิบัติการฝึกศึกษาด้วยสิกขา แล้ววัดผลด้วยภาวนา >>

No Comments

Comments are closed.